Friday, August 27, 2010

ตลาดขายเสรีภาพในระบอบอำนาจนิยม ปักกิ่ง, มอสโก, ดูไบ-อาบูดาบี



วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553
เวลา 20:00:00 น. มติชนออนไลน์

ตลาดขายเสรีภาพในระบอบอำนาจนิยม ปักกิ่ง, มอสโก, ดูไบ-อาบูดาบี

โดย เกษียร เตชะพีระ

คำถามหลักที่จอห์น แคพเนอร์ ตั้งไว้ในหนังสือ Freedom for Sale (ค.ศ.2009) คือ:


"ทำไมผู้คนมากหลายทั่วโลกไม่ว่าจะอยู่ในวัฒนธรรม, สภาพการณ์, ภูมิศาสตร์, หรือประวัติศาสตร์ใด, ดูเหมือนเต็มใจจะสละเสรีภาพบางอย่างเพื่อแลกกับความมั่นคงหรือเจริญรุ่งเรือง?"


โดยอาศัยสมมติฐานขั้นต้นจากการวิเคราะห์การเมืองสิงคโปร์-ว่าสภาพดังกล่าวเกิดจากข้อตกลงที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (the unwritten pact) ซึ่งผู้คนพลเมืองมากหลายยอมขายเสรีภาพสาธารณะ (public freedom) ในการมีส่วนร่วมกับกิจการบ้านเมืองทั้งของตนเองและพลเมืองร่วมชาติ แลกกับเสรีภาพเอกชน (private freedom) ในการทำมาหาเงิน, ใช้จ่ายเงินและอื่นๆ โดยมีพันธมิตร [ผู้นำการเมือง+ภาคธุรกิจ+คนชั้นกลาง] เป็นพลังรองรับข้อตกลงที่ว่า และอาศัยลัทธิบริโภคนิยมเป็นยากล่อมย้อมใจให้ยอมทน ตราบเท่าที่ผู้ได้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้ค่อยทวีจำนวนขึ้นและความต้องการบางอย่างของพวกเขาได้การตอบสนองจากรัฐตามสมควร.....


แคพเนอร์ก็ออกสำรวจตลาดขายเสรีภาพในประเทศต่างๆ ว่ามีสภาพรูปธรรมเฉพาะเช่นใดเริ่มจากกลุ่มภายใต้ระบอบอำนาจนิยม

ได้แก่ จีน.....


คำถามนำของแคพเนอร์ในจีนคือ การขายเสรีภาพสาธารณะแลกกับเสรีภาพเอกชนมีลักษณะและเงื่อนไขเฉพาะเช่นใด?


เขาพบว่าคนจีนแสดงความเห็นเรื่องนี้เปิดเผยตรงไปตรงมามากไม่ว่ายามพูดคุยส่วนตัวหรืออภิปรายรวมหมู่ ทุกคนเห็นตรงกันว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา จีนก้าวหน้าไปอย่างน่าทึ่ง

การที่มหาอำนาจเศรษฐกิจของโลกยอมขยายวงที่ประชุม G8 (สหรัฐ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น, แคนาดา, รัสเซีย+กลุ่มสหภาพยุโรป) ออกไปและเปิดบทบาทหลักให้ G20 (G8+อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, บราซิล, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, เม็กซิโก, ซาอุดีอาระเบีย, แอฟริกาใต้, เกาหลีใต้, ตุรกี) แทนนั้น นอกจากแสดงความตระหนักว่า G8 หมดสภาพแล้ว

ยังเท่ากับยอมรับโดยนัยว่าอำนาจในโลกทุกวันนี้เอาเข้าจริงอยู่กับ G2 (คือสหรัฐกับจีน) ต่างหากด้วย


ทว่าปัญหาคือจากจุดนี้แล้วจีนจะไปไหนต่อ?

จะมุ่งปฏิรูปประเทศแบบไหนกัน?

จะมีวันที่จีนปฏิรูปเปิดกว้างสิทธิทางการเมืองและสิทธิมนุษยชน (หรือนัยหนึ่งเปิดเสรีภาพสาธารณะ) ให้แก่ประชาชนบ้างไหมอย่างไร?


ปรากฏว่า ดูเหมือนไม่มีใครรู้ชัดว่า "หลักหมายสุดเขต (เสรีภาพสาธารณะ)" (แปลว่าห้ามออกนอกเขต-เรื่องต่อไปนี้ห้ามแตะ.....) ในจีนมันอยู่ที่ไหนกันแน่? เพราะมันขยับย้ายไปเรื่อยวันต่อวัน, ท้องที่ต่อท้องที่, เวทีต่อเวที ฯลฯ

ตัวอย่างเช่นเสรีภาพในการแสดงออกในจีนถูกจำกัดอย่างเป็นทางการโดยเฉพาะในอินเตอร์เน็ต แต่กลับเปิดให้พอควรตามท้องถนนและในพื้นที่กึ่งส่วนตัว ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลจีนไม่อาจปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกเสียหมดหากต้องการให้สังคมวัฒนธรรมความรู้มีพลวัตและเศรษฐกิจเปิดกว้างเพื่อแข่งขันได้ในตลาดโลก ดังนั้น จึงพยายามเข้าไปจัดการและชักนำมันแทนโดยใช้ทั้งไอที (สำหรับเซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ตที่มีชื่อทางการว่า จินตุ้นกงเฉิง หรือ "โครงการเกราะทอง" แต่มักเรียกกันทั่วไปว่า The Great Firewall of China หรือ กำแพงไฟอันยิ่งใหญ่ของจีน ดู www.greatfirewallofchina.org), เทคนิคสร้างภาพปั่นข่าว, และกำลังดิบเถื่อนผสมผสานกัน


อุปมาอุปไมยว่า เสรีภาพสาธารณะเหมือนท่อน้ำประปา หากตัดท่อทิ้ง สังคมเศรษฐกิจจีนก็จะแห้งตาย แต่ถ้าปล่อยให้ไหลเสรี น้ำก็อาจจะบ่าท่วมการเมืองจีนได้ กลเม็ดของผู้ปกครองระบอบอำนาจนิยมใหม่แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21 อย่างจีนจึงอยู่ตรงรู้จักเปิดก๊อกเสรีภาพบ้างปิดบ้าง ณ จังหวะเวลาอันเหมาะสม


ข้อที่พิสดารในทรรศนะแคพเนอร์อยู่ตรงคนชั้นกลางจีนดูจะรู้สึกว่าพวกตนมีประโยชน์โภชผลน้อยที่สุดในอันที่จะเปิดพหุนิยมทางการเมือง (เช่น ให้มีระบบหลายพรรค) และยอมให้คนจนคนชั้นล่างจีนหลายร้อยล้านผู้มีลำดับความต้องการทางการเมืองต่างจากพวกตนได้มีสิทธิออกคะแนนเสียงทางการเมืองอย่างแท้จริง ที่คนชั้นกลางจีนคิดเช่นนี้ไม่ใช่เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนบอกเท่านั้น หากเป็นเพราะว่าการขาดประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญยังคงเป็นเนื้อหาส่วนที่พึงปรารถนาให้คงไว้ในข้อตกลงขายเสรีภาพที่ขับเคลื่อนโดยพวกเขาเองด้วย

ข้างพรรคคอมมิวนิสต์ก็เข้าใจดีว่าพรรคจะประสบความสำเร็จและครองอำนาจนำยืนนานได้ก็แต่โดยเสนอสนองปรนเปรอสิ่งอำนวยความสะดวกและความสุขสบายนานัปการให้แก่โลกชีวิตเอกชนของพลเมืองจีนเท่านั้น


อันดับถัดไปคือรัสเซีย.....


แคพเนอร์เคยไปทำข่าวเยี่ยมเยียนรัสเซียเป็นประจำมาร่วม 30 ปีแล้ว จึงสะสมสหายเก่าไว้เยอะตั้งแต่สมัยคอมมิวนิสต์โซเวียตที่การจะได้ของบางอย่างมานั้นต้องอาศัยอำนาจอภิสิทธิ์เป็นสำคัญกว่าอำนาจซื้อ และการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศต้องไปกันเป็นคณะโดยทางการอนุญาตเท่านั้น

แคพเนอร์พบว่า อดีตสหายเหล่านี้พากันไชโยโห่ฮิ้วที่รัฐประหารโดยพวกคอมมิวนิสต์หัวเก่าเมื่อปี ค.ศ.1991 ล้มเหลวและระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์พังทลายลง

พวกเขาค้นพบและปลาบปลื้มดื่มด่ำกับเสรีภาพใหม่ๆ ที่ได้มา จนกระทั่งบอริส เยลต์ซิน สถาปนาอำนาจเป็นปึกแผ่นด้วยการเล่นเล่ห์กลจนชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในปี ค.ศ.1996 โดยโลกตะวันตกเห็นชอบอยู่ในที แต่นั้นมาประชาธิปไตยรัสเซียก็กลายเป็นเรื่องของความสับสนวุ่นวายและโกงกินสกปรกไป


การขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน อดีตเจ้าหน้าที่เคจีบีและทายาทการเมืองที่เยลต์ซินเลือก (ผู้ตอบสนองพระคุณด้วยการประกาศนิรโทษกรรมและคุ้มกันเยลต์ซินไม่ให้ถูกฟ้องร้องด้วยคดีใดๆ) นับว่าสอดรับกับสถานการณ์

ด้านหนึ่งปูตินก็ใช้ไม้แข็งเล่นบทโหดปราบหนักทั้งกบฏแยกดินแดนเชชเนียและคอร์รัปชั่นเพื่อรื้อฟื้นความราบคาบมั่นคง

อีกด้านหนึ่งราคาน้ำมันและก๊าซในตลาดโลกที่ถีบตัวสูงก็ช่วยให้รายได้จากการส่งออกไหลมาเทมาจนเศรษฐกิจอู้ฟู่ขึ้น


ในภาวะที่รัสเซียกลับมามั่งคั่งและค่อยแข็งกล้าขึ้นในเวทีโลก สหายเก่าทั้งหลายของ แคพเนอร์ ก็พากันเสพดอกผลเสรีภาพเอกชนของตัวกันอย่างบันเทิงเริงใจ นั่งเครื่องบินเจ็ตไปเที่ยวไหนต่อไหน เช่น ชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ, เล่นสกีที่คูเชอเวลบนเทือกเขาแอลป์, ซื้อหานาฬิกาเครื่องประดับอัญมณียี่ห้อคาร์เทียร์หรูเลิศใช้ พร้อมทั้งขนเงินไปฝากหรือลงทุนนอกประเทศด้วย

(กันเหนียวเผื่อโดนรัฐบาลสั่งยึดทรัพย์ข้อหาเบี้ยวภาษี/คอร์รัปชั่น/ฉ้อโกง/ฟอกเงิน ฯลฯ แบบที่ปูตินเคยเชือดเศรษฐีคณาธิปัตย์รัสเซียยุคหลังคอมมิวนิสต์บางรายให้ดูเป็นตัวอย่าง อาทิ บอริส เบเรซอฟสกี้, มิคาอิล คอโดร์คอฟสกี้; หรือกรณียึดทรัพย์ทักษิณและครอบครัวญาติมิตรในไทยเป็นต้น)


ขณะเดียวกันเศรษฐีใหม่รัสเซียเหล่านี้ก็ปล่อยให้พวกนักการเมืองและหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงปกครองประเทศไปตามใจชอบ แม้ว่าจะมีพวกนักหนังสือพิมพ์หรือนักรณรงค์สิทธิมนุษยชนบางคนสืบสวนเปิดโปงและตั้งคำถามเอากับพฤติการณ์กดขี่ข่มเหงฉวยใช้อำนาจในทางมิชอบของรัฐบาลบ้าง แต่นั่นก็เป็นคนส่วนน้อย

ขณะที่ชาวรัสเซียส่วนใหญ่สยบสมยอมตามข้อตกลงขายเสรีภาพโดยดุษณี


และลำดับสุดท้ายสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งแคพเนอร์เห็นว่าเป็นสัญลักษณ์บริสุทธิ์ ของข้อตกลงขายเสรีภาพในระดับโลก โดยเฉพาะรัฐดูไบที่ชอบทำกร่างอวดมั่งอวดมี และรัฐเศรษฐีน้ำมันอาบูดาบีที่สงบเสงี่ยมกว่า ดังที่บรรดานักค้าในตลาดหุ้นตลาดเงินตะวันตกเล็งการณ์ว่าศูนย์กลางการเงินโลกจะย้ายจากนิวยอร์ก-ลอนดอน-แฟรงก์เฟิร์ตในปัจจุบันไปยัง "เซี่ยงไฮ้-มุมไบ-ดูไบ" ในอนาคตอย่างแน่นอน


สำหรับชาวต่างประเทศนานาชาติไม่ว่าหนุ่มสาวนักค้าเงินค้าหุ้นชาวอังกฤษ, เจ้าพ่อมาเฟียรัสเซีย, คนดังจากหมู่เกาะแหล่งฟอกเงินเลี่ยงภาษีแถวแคริบเบียน ฯลฯ นั้น ชี้คหรือผู้ปกครองชาวอาหรับแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เสนอข้อตกลงในการมาตั้งหลักแหล่งที่ยั่วใจยิ่ง

กล่าวคือ ทรัพย์สินเอกชนของยูมีแต่จะสั่งสมพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จากการลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือกินเงินเดือนปลอดภาษีที่นี่ แลกกับการที่พวกยูอย่าแกว่งเท้าหาเรื่องเดือดร้อนป่วนการเมืองก็แล้วกัน


ยิ่งรัฐดูไบที่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นชาวต่างชาติด้วยแล้ว ยิ่งโอ๋เอาอกเอาใจฝรั่งตาน้ำข้าวหนักข้อเข้าไปอีกโดยยอมผ่อนคลายข้อกำหนดทางศาสนาอิสลามลง ปล่อยให้ใช้ชีวิตส่วนตัวกันได้ค่อนข้างเสรีดังใจปรารถนา จะโดนเล่นงานเอาเรื่องบ้างก็เฉพาะกรณีเมาอาละวาดหนักหรือลามกอนาจารกันสุดโต่งโจ๋งครึ่มเท่านั้น มองไปทางไหนในรัฐแห่งนี้ก็เห็นแต่โรงแรมเอยอาคารชุดเอยแข่งกันผุดขึ้นระฟ้าเป็นดอกเห็ดประดุจอุทยานอนุสาวรีย์แห่งความรวยเลิศหรูล้นก็มิปาน


ชี้คแห่งดูไบหลงเชื่อว่าตัวแบบเศรษฐกิจการเมืองฟองสบู่ยักษ์พิเศษเฉพาะของตนจะไม่สะทกสะท้านต่อวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ของตะวันตก จึงหาญกล้าให้ Nakheel บริษัทย่อยทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในสังกัด Dubai World อันเป็นบริษัทลงทุนของรัฐ ทุ่มทุนสร้างและเปิดหอคอยดูไบ (Burj Dubai) ที่สูงโด่เด่ที่สุดในโลกขึ้นมาเมื่อต้นปีนี้

โครงการดังกล่าวส่งผลให้รัฐดูไบติดหนี้สินล้นพ้นตัวกว่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จนสภาพคล่องขาดมือ ต้องเจรจาขอเลื่อนการผ่อนชำระหนี้ออกไป 6 เดือนและดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์ของดูไบตกลงเกือบครึ่ง


ในเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่อันผันผวน จึงไม่แน่ว่าข้อตกลงขายเสรีภาพจะดำเนินงานได้ราบรื่นดีเสมอไปในสภาพที่ผู้ปกครองอำนาจนิยมใหม่ไม่ต้องพร้อมรับผิดใดๆ ในเชิงสถาบันต่อการบริหารผิดพลาดที่ตนกระทำและขาดกลไกทัดทานแก้ไขตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดเหล่านั้นจนปัญหาหมักหมมเน่าเฟะและลุกลามขยายตัว



"คนขายเสรีภาพ"


วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553
เวลา 21:00:00 น. มติชนออนไลน์

"คนขายเสรีภาพ"

โดย เกษียร เตชะพีระ

ขณะนายกฯอภิสิทธิ์เดือดเนื้อร้อนใจที่ "มีคนอยู่ดีๆ มาว่าว่าผมขายชาติ" (รายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์", เว็บไซต์ คมชัดลึก, 8 สิงหาคม 2553) ผมกลับคิดว่าเรื่องน่าเป็นห่วงสำหรับอนาคตการเมืองไทยและหลายประเทศในโลกอยู่ที่อาการ "ขายเสรีภาพ" มากกว่า


นี่เป็นประเด็นหลักของหนังสือซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักวิเคราะห์การเมืองอังกฤษ-อเมริกันอย่างกว้างขวางเรื่อง Freedom for Sale : How We Made Money and Lost Our Liberty (เสรีภาพสำหรับขาย : เราทำมาหาเงินและสูญเสียเสรีภาพไปได้อย่างไร-ตีพิมพ์ในอังกฤษเมื่อกันยายน ค.ศ. 2009, และฉบับอัพเดตออกในอเมริกา มีนาคม ศกนี้) เขียนโดย จอห์น แคพเนอร์และกำลังแปลเป็นภาษาอิตาเลียน, รัสเซีย, อาหรับ ฯลฯ


แคพเนอร์เป็นชาวอังกฤษที่เกิดในสิงคโปร์เมื่อ ค.ศ.1962 ประกอบอาชีพเป็นนักเขียนนักวิจารณ์และผู้ประกาศข่าว


เขาเคยเป็นผู้สื่อข่าวประจำกรุงเบอร์ลิน (ช่วงกำแพงเบอร์ลินแตกและเยอรมนีรวมประเทศ) และมอสโก (ช่วงรัฐประหารโดยแกนนำคอมมิวนิสต์หัวเก่าล้มเหลวและระบอบโซเวียตล่มสลาย) ให้หนังสือพิมพ์ Daily Telegraph และสำนักข่าว Reuters อยู่เกือบ 10 ปี (ค.ศ.1984-กลางคริสต์ทศวรรษ 1990) ก่อนจะกลับอังกฤษมาเป็นหัวหน้าผู้สื่อข่าวการเมืองให้หนังสือพิมพ์ Financial Times และนักวิจารณ์การเมืองให้สำนักข่าว BBC


เขาประสบความสำเร็จสูงสุดในวิชาชีพหนังสือพิมพ์เมื่อเข้าเป็นบรรณาธิการการเมือง (จาก ค.ศ.2002) และเลื่อนเป็นบรรณาธิการใหญ่ของนิตยสาร New Statesman (ค.ศ.2005-2008) โดยปรับปรุงนิตยสารจนยอดขายขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปี เขาได้รางวัลต่างๆ อาทิ :


- รางวัล Journalist of the Year และ Film of the Year ในปี ค.ศ.2002 จาก Foreign Press Association สำหรับภาพยนตร์สารคดีความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่เขาทำให้ BBC เรื่อง The Ugly War


- รางวัล Book of the Year ในปี ค.ศ.2003 จากหนังสือพิมพ์ Times, Sunday Times และ Observer สำหรับหนังสือของเขาเรื่อง Blair"s Wars


- รางวัล Current Affairs Editor ประจำปี ค.ศ.2006 จาก British Society of Magazine Editors


- ล่าสุดหนังสือ Freedom for Sale ของเขาก็ได้รับคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายเพื่อชิงรางวัล Orwell Prize อันทรงเกียรติเมื่อเดือนพฤษภาคมศกนี้


ปัจจุบัน จอห์น แคพเนอร์ เป็นหัวหน้าผู้บริหารของ Index on Censorship อันเป็นองค์การส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกทั่วโลกของอังกฤษ ที่พัฒนาขึ้นมาจากนิตยสารชื่อเดียวกันตั้งแต่ปี ค.ศ.1972

คำถามหลักของแคพเนอร์ใน Freedom for Sale คือ : -


"ทำไมผู้คนมากหลายทั่วโลกไม่ว่าจะอยู่ในวัฒนธรรม, สภาพการณ์, ภูมิศาสตร์, หรือประวัติศาสตร์ใด, ดูเหมือนเต็มใจจะสละเสรีภาพบางอย่างเพื่อแลกกับความมั่นคงหรือเจริญรุ่งเรือง?"


คำถามนี้กระแทกใจเขาเมื่อปลายปี ค.ศ.2007 จากนั้นแคพเนอร์ก็ออกเดินทางสำรวจแสวงหาคำตอบไปหลายประเทศทั่วโลก ได้แก่ สิงคโปร์ จีน รัสเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย อิตาลี อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ


เกณฑ์ในการเลือกของเขาคือ เป็นประเทศภายใต้ระบอบอำนาจนิยม (authoritarianism - 4 ประเทศแรก) ไปจนถึงเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy - 4 ประเทศหลัง) ที่ล้วนยอมรับเงื่อนไขของโลกาภิวัตน์


โดยหลีกเลี่ยงประเทศภายใต้ระบอบทรราชที่ปกครองด้วยปากกระบอกปืนอย่างไม่อินังขังขอบฉันทานุมัติของประชาชนอย่างพม่า เกาหลีเหนือ ซิมบับเว ฯลฯ และประเทศที่มีเงื่อนไขเฉพาะพิเศษ เช่น อิสราเอลที่ยึดครองและขัดแย้งอยู่กับปาเลสไตน์, แอฟริกาใต้ภายหลังระบอบแบ่งแยกสีผิวซึ่งยังคงมรดกความเหลื่อมล้ำแตกแยกระหว่างชนต่างสีผิวอยู่, เวเนซุเอลาภายใต้ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ที่อาศัยทรัพยากรน้ำมันอันอุดมดำเนินนโยบายประชานิยมเอียงซ้ายและต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา ทำให้กลุ่มทุนต่างๆ และคนชั้นกลางแปลกแยกเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล เป็นต้น


แคพเนอร์ใช้สิงคโปร์ในฐานะถิ่นกำเนิดซึ่งเขาผูกพันทางจิตใจเป็นพิเศษ เป็นเสมือนต้นแบบของการขายเสรีภาพด้วยแนวคิด "ข้อตกลงที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร" หรือ "การได้อย่างเสียอย่าง" (the unwritten pact or tradeoff) ซึ่งทำให้เพื่อนฝูงชาวสิงคโปร์ของเขา - ทั้งที่เคยเดินทางท่องเที่ยวมาแล้วทั่วโลกและจบอุดมศึกษาชั้นสูง - กลับปกป้องระบบที่ยกย่องความสำคัญของการเหนี่ยวรั้งจำกัดเสรีภาพปัจเจกบุคคลเพื่อแลกกับสิ่งที่เรียกว่า "ประโยชน์ส่วนรวม"


แรกเริ่มเดิมทีเขาคิดว่านี่เป็นกลุ่มอาการทางการเมืองเฉพาะตัวของโลกตะวันออกที่มองต่างมุมและกำลังลุกขึ้นมาท้าทายโลกตะวันตกอย่างฮึกเหิมในทำนอง "นโยบายมุ่งมองบูรพา" (Look East Policy) ของอดีตนายกฯมหาธีร์ โมฮัมหมัด แห่งมาเลเซีย หรือ "ค่านิยมเอเชีย" (Asian values) ของอดีตนายกฯลี กวน ยู แห่งสิงคโปร์


แต่เมื่อเพ่งสำรวจพินิจอย่างลึกซึ้ง แคพเนอร์ก็พบว่า อ้าว, เราทำกันอย่างนั้นทั้งนั้นนี่หว่า ไม่ว่าตะวันออกหรือตะวันตก, อำนาจนิยม กึ่งอำนาจนิยมหรือเสรีประชาธิปไตย, ขงจื๊อหรือคริสต์, สิงคโปเรียนหรือแยงกี้..เราต่างก็ใกล้เคียงกันกว่าที่คิดและยอมเสียสละเสรีภาพของเราเพื่อแลกให้ได้เงินมาด้วยกันทั้งนั้น

ในความหมายนี้ ข้อตกลงขายเสรีภาพจึงเป็นสากล ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะบางวัฒนธรรมหรือระบอบการเมือง


แน่นอนรูปธรรมการคลี่คลายขยายตัวของข้อตกลงขายเสรีภาพย่อมผันแปรไปบ้างตามสภาพการณ์, วัฒนธรรมและอัตราเร่งที่แตกต่างกัน พูดง่ายๆ เราต่างก็เลือกเสรีภาพที่เราพร้อมจะเสียสละชนิดต่างๆ กันไปในแต่ละประเทศของตน


บางประเทศก็ยอมสละเสรีภาพในการแสดงออก (เช่น สิงคโปร์)


บ้างก็สละสิทธิ์ในการโหวตไล่รัฐบาลออกจากตำแหน่ง (เช่น จีน)


บ้างก็สละศาลตุลาการที่เที่ยงธรรมไม่ลำเอียง (เช่น กัมพูชาและมาเลเซีย)


บ้างก็สละความสามารถที่จะดำเนินชีวิตปกติโดยไม่ถูกสปายสายลับดักฟังสอดแนมล้วงอ่านหรือกล้องวงจรปิดตามส่องดู (เช่น อเมริกาและอังกฤษ)


บ้างก็ยอมเสียสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะเพื่อแสดงความเห็นทางการเมือง (เช่น พื้นที่ภายใต้ประกาศภาวะฉุกเฉินยืดเยื้อทั่วโลก) ฯลฯ


เพราะเอาเข้าจริงข้อเหนี่ยวรั้งจำกัดสิทธิเสรีภาพเหล่านี้มันกระทบแค่คนจำนวนน้อย ซึ่งก็ล้วนแต่เป็น "พวกตัวป่วน ชอบหาเรื่อง ก่อความวุ่นวายมือไม่พายเอาตีนราน้ำแถมโคลงเรืออีกต่างหาก" หรือ "พวกไม่รักชาติ ไม่สมานฉันท์ ไม่รู้ใช่คนไทยหรือเปล่า?" อาทิ นักข่าวนักหนังสือพิมพ์ที่วิจารณ์รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ หรือยิงคำถามและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ทำให้ภาพลักษณ์ของบรรดา ฯพณฯ และประเทศชาติเสียหาย, นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนผู้ว่าความให้สื่อมวลชนเหล่านี้หรือปกป้องผู้ต้องหาที่ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานหรืออุ้มหายหรือทำร้ายจนถึงแก่ความตาย, พวกเอ็นจีโอ, นักการเมืองฝ่ายค้าน, แกนนำเสื้อสี.....


ขณะที่คนส่วนใหญ่ 99% ของประเทศไม่เห็นเค้าเดือดเนื้อร้อนใจอะไรด้วย ต่างก็ดำเนินชีวิต ทำมาหาเงิน เดินห้างติดแอร์เย็นฉ่ำช็อปปิ้งตามใจชอบเป็นปกติ...แล้วพวกมึงแค่ไม่กี่คนจะโวยวายทำไรฟะ?


ข้อตกลงขายเสรีภาพโดยเนื้อหาจึงเป็นการขายเสรีภาพสาธารณะ (public freedoms) อันเกี่ยวกับพฤติกรรมในพื้นที่สาธารณะ อย่างเช่น เสรีภาพในการชุมนุม, เสรีภาพในการรวมตัวก่อตั้งสมาคมและองค์การ, เสรีภาพในการพูด, เสรีภาพในการเลือกตั้งในระบบหลายพรรค ฯลฯ หรือนัยหนึ่งเสรีภาพในการเคลื่อนไหวกดดันอย่างแข็งขันให้เกิดผลต่อเรื่องส่วนรวมร่วมกัน - ซึ่งก็คือสิ่งที่ ฯพณฯ มักเรียกว่าเสรีภาพในการก่อความวุ่นวายนั่นเอง


เสรีภาพสาธารณะแบบนี้มีใครที่ไหนอยากใช้หรือ? ใครสักกี่คนกันที่ต้องการหาญกล้าลุกขึ้นท้าทายบรรดา ฯพณฯ ผู้นั่งเรียงแถวหน้าสลอนประกาศคำสั่งและแถลงข่าวอยู่บนจอทีวีเหล่านั้น?


มิสู้ขายมันทิ้งเพื่อแลกกับเสรีภาพเอกชน (private freedoms) ในอันที่จะดำรงชีวิตโดดเดี่ยวเหี่ยวๆ เห่ยๆ เหมือนอะตอมของตัวเองดีกว่า อย่างเช่น เสรีภาพในการเลือกโรงเรียนให้ลูก, เสรีภาพในการเดินทางท่องเที่ยว, เสรีภาพในการแสดงออกได้ตามใจในเงื่อนไขพื้นที่เอกชนของตัว, เสรีภาพในการดำเนินวิถีชีวิตเอกชนของกูแบบที่กูปรารถนา, เสรีภาพในการแต่งกายทำผมลงรอยสักบนเนื้อตัวตามแฟชั่น, เสรีภาพในการซื้อหาบ้านช่องรถราข้าวของเครื่องใช้, และเหนืออื่นใดคือเสรีภาพในการทำมาหาเงินและจับจ่ายใช้เงิน


นี่ไม่ใช่หรือเสรีภาพที่สำคัญที่สุดสำหรับเรา? มีแค่นี้ก็ "ฟรี" พอแล้วไม่ใช่หรือ?


แคพเนอร์วิเคราะห์ว่าในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา พลังการเมืองที่รองรับข้อตกลงขายเสรีภาพดังกล่าวในประเทศต่างๆ มักประกอบด้วยพันธมิตรของ [ผู้นำการเมือง+ภาคธุรกิจ+คนชั้นกลาง] ถึงไม่ระบุชัดเป็นลายลักษณ์อักษรโต้งๆ แต่ข้อตกลงนี้ก็ดำรงอยู่ในรูปชุดความเข้าใจที่ชัดเจนทว่าแนบเนียนไม่โฉ่งฉ่าง ประเด็นสำคัญของข้อตกลงดังกล่าวในทางปฏิบัติก็คือ จำนวนผู้ได้ประโยชน์จากมันจะต้องค่อยๆ เพิ่มขึ้นและรัฐต้องยืดหยุ่นพลิกแพลงพอที่จะตอบสนองความต้องการต่างๆ ของพวกเขา


ความต้องการที่ว่าก็ได้แก่รัฐต้องช่วยค้ำประกันและอุดหนุนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน, กฎหมายนิติกรรม-สัญญา, การปกป้องสิ่งแวดล้อม, การเลือกไลฟ์สไตล์ต่างๆ, และสิทธิในการเดินทาง ทว่าเหนืออื่นใดในยุคโลกาภิวัตน์ทางการเงินนี้คือ รัฐต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในอันที่จะทำมาหาเงินและเก็บสะสมเงิน


และเพื่อช่วยให้การขายเสรีภาพดำเนินไปได้อย่างสะดวกกายสบายใจก็ต้องมีลัทธิบริโภคนิยมเป็นยาสลบหรือยาชาช่วยกล่อมประสาททางการเมืองให้มึนตึ้บสงบลงได้ชะงัดนักแล (ดู "ททท. จัดงาน SMILE@SIAM คืนรอยยิ้มให้เมืองไทย 14-15 สิงหาคม, www.media-shaker.com/pr-news/756.html)


เพียงเท่านี้ พวกเขาก็พร้อมจะเสียสละเสรีภาพสาธารณะ- รวมทั้งเสรีภาพในการเห็นอาชญากรรมที่รุนแรงที่สุดกลางเมืองและเสรีภาพในการจำโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่แห่งชาติ - ทั้งของตัวเองและของคนอื่น ที่เป็นพวกตัวป่วนไม่กี่คนมาเป็นเครื่องบัดพลีบูชายัญให้แก่รัฐอย่างยิ้มแย้มหน้าชื่นตาบาน (ชมวิดีโอตำรวจนอกเครื่องแบบ 6 นาย รุมจับและอุ้ม นที สรวารี ตัวป่วนผู้บังอาจใช้เสรีภาพสาธารณะของปัจเจกบุคคลในการจำและพูดที่ราชประสงค์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ศกนี้ ได้ที่ www.youtube.com/watch?v=3KiJRjXIN4Q)



Tuesday, January 19, 2010

เขายายเที่ยง

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
เสียดายที่ผมไม่ได้เป็นโฆษกของสำนักงานอัยการสูงสุด เพราะผมน่าจะให้เหตุผลที่ไม่ฟ้องพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ดีกว่านี้ แต่ในขณะเดียวกัน สำนักงานอัยการสูงสุดก็คงพังไปมากกว่านี้ด้วย หากได้ผมไปเป็นโฆษก

เหตุผลที่ท่านโฆษกแถลงการณ์ไม่ฟ้องพลเอกสุรยุทธ์ก็คือ ไม่มีเจตนา ในทรรศนะของผมแล้ว นี่ฟังไม่ขึ้นเลยครับ

ซื้อที่ดิน 20 ไร่ โดยปราศจากเอกสารสิทธิใดๆ เพียงแต่แจ้งให้องค์กรปกครองท้องที่ทราบว่า ตนจะเป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่เป็นรายต่อไป ผู้ซื้อทราบหรือไม่ว่า ลักษณะการซื้อขายที่ดินเช่นนี้ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมาย กรณีซื้อที่ดิน "มือเปล่า" เช่นนี้เกิดในเมืองไทยมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว และเป็นที่รู้โดยทั่วไปว่า นี่เป็นการซื้อขายที่กฎหมายไม่รับรอง และมักจะเกิดในที่ดินซึ่งโดยกฎหมายแล้วซื้อขายไม่ได้ เช่น ป่าสงวน, พื้นที่ซึ่งรัฐมอบให้ประชาชนยากจนทำกิน, พื้นที่ ส.ป.ก. ฯลฯ

ผมยอมรับว่า ผู้ซื้อที่ดินประเภทนี้บางราย สามารถใช้อำนาจเงินหรืออำนาจทางอื่นของตน ไปทำให้เจ้าหน้าที่กรมที่ดินออกเอกสารสิทธิให้ได้ในภายหลัง เป็นเอกสารสิทธิที่ออกให้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่แล้วรัฐก็ไม่สามารถตามไปเอาคืนได้ บางรายไม่สนใจว่าจะได้เอกสารสิทธิหรือไม่ แต่ใช้ที่ดินนั้นทำธุรกิจหากำไร และมักจะทำได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ โดยรัฐไม่เคยสนใจจะไปขับไล่แต่อย่างใด อย่างเดียวกับเปิดสถานบันเทิงในกรุงเทพฯโดยไม่ต้องขออนุญาต เพราะรัฐก็ไม่เคยไปตรวจสอบหรือปิดกิจการ ยกเว้นแต่เกิดเหตุไฟไหม้จนคนตาย หรือเปิดบ่อนให้อึกทึกเกินไปเท่านั้น

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กฎหมายไทยมีไว้ แต่มักไม่ค่อยได้บังคับใช้จริงจัง โดยเฉพาะกฎหมายที่ดินสาธารณะทั้งหลาย
หากเป็นชาวบ้านธรรมดา ซื้อขายที่ดินประเภทนี้โดยไม่รู้ว่าใบรับเงินเสียภาษีท้องที่ไม่ใช่เอกสารสิทธิ ก็พอเข้าใจได้หรอกครับ แต่คนที่เป็นแม่ทัพภาค, แม่ทัพบก, ผบ.สส., องคมนตรี และนายกรัฐมนตรี บอกว่าสำคัญผิดในเรื่องการถือครองที่ดินประเภทนี้ จึงรับซื้อมาโดยไม่เข้าใจกฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมาย จะฟังขึ้นหรือครับ
และถ้าพลเอกสุรยุทธ์รู้สถานะที่แท้จริงของที่ดินซึ่งตัวรับซื้อมาแต่ต้น จะบอกว่าไม่เจตนาได้หรือครับ

เจตนาคืออะไร ถ้าไม่ใช่ความรู้ว่าตัวทำอะไรอยู่ และมีผลกระทบอย่างไรต่อกฎหมายและสังคมโดยรวม หากแถลงเหตุผลที่ไม่ฟ้องพลเอกสุรยุทธ์อย่างนี้ จะมิเป็นการส่งสัญญาณให้คนมีเงินและมีอำนาจทั้งหลายรู้ว่า จงสั่งสมที่ดินประเภทนี้ไว้เถิด เพียงแต่อย่าซื้อโดยตรงจากชาวบ้านผู้ได้รับสิทธิทำกินบนที่ดิน หาชาวบ้านอื่นมารับซื้อไปก่อน แล้วท่านจึงค่อยรับซื้อต่อจากชาวบ้านรายที่สอง เพื่อแสดงว่าท่านไม่ได้มีเจตนาบุกรุกที่ดินอันเป็นสมบัติสาธารณะ อย่างเลวร้ายที่สุดก็คือรัฐยึดที่ดินนั้นคืนไป แต่ท่านไม่มีความผิดตามกฎหมาย

เพราะฉะนั้น หากผมเป็นโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ผมจะไม่แถลงเหตุผลอย่างนี้เป็นอันขาด แต่ผมจะแถลงว่า เฮ้ย ใครๆ เขาก็ทำกันอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ

นักกฎหมายไทยคงร้องกันขรมว่า พูดอย่างนี้ได้อย่างไร เพราะไม่ว่ากฎหมายจะถูกละเมิดอย่างไร กฎหมายก็ยังเป็นกฎหมายอยู่นั่นเอง อย่างไรเสียก็ต้องรักษาความ "ศักดิ์สิทธิ์" ของกฎหมายเอาไว้

แต่ผมซึ่งไม่เคยเรียนกฎหมายเลยกลับเห็นตรงกันข้าม ความ "ศักดิ์สิทธิ์" ของกฎหมายไม่ได้มีขึ้นเพราะมันเป็นกฎหมาย หรือเพราะเคยถูกพิมพ์ในราชกิจจาฯ ถ้าความ "ศักดิ์สิทธิ์" เกิดได้เพียงเท่านั้น ผมเสนอให้เราเขียนกฎหมายเป็นภาษาบาลีดีกว่า จะได้เอาไว้สวดกันทุกเช้า-เย็นด้วย

ความ "ศักดิ์สิทธิ์" ของกฎหมายเกิดขึ้นได้ เพราะถูกบังคับใช้เป็นประจำและอย่างสม่ำเสมอครับ กฎหมายใดไม่ถูกบังคับใช้เป็นประจำ หรือไม่ถูกบังคับใช้อย่างสม่ำเสมอ กฎหมายนั้นก็หมดความ "ศักดิ์สิทธิ์" ลง หมดลงในชีวิตจริงของผู้คนนะครับ ไม่ว่านักกฎหมายจะร้องแรกแหกกระเชออย่างไรก็ตาม

กฎหมายที่บังคับให้ผู้ขี่จักรยานในถนนสาธารณะต้องมีใบขับขี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้ยกเลิกกฎหมายนี้ แต่ไม่มีใครบังคับใช้มานานเต็มทีแล้ว จนกระทั่งหากตำรวจจราจรคนใดจับคนขี่จักรยานที่ไม่มีใบขับขี่ ผมคิดว่าผู้บังคับบัญชาควรสั่งขังตำรวจจราจรคนนั้นทันที เพราะ "มึงจะไถเขาแน่"

ในสหรัฐ ศาลยกฟ้องจำเลยมามากแล้ว หากสามารถพิสูจน์ได้ว่า กฎหมายที่เขาละเมิด (ไม่ว่าจะมีเจตนาหรือไม่) เป็นกฎหมายที่ไม่เคยบังคับใช้เป็นปกติ หรือไม่ได้บังคับใช้อย่างสม่ำเสมอ

ในประเทศที่อำนาจตุลาการเป็นอิสระอย่างแท้จริง กล่าวคือ ไม่ใช่อิสระเฉพาะการบังคับบัญชาและระบบเงินเดือน แต่อิสระเข้าไปถึงวิธีคิดหรือสมองของผู้พิพากษาด้วย อำนาจตุลาการจะคอยถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารอย่างรัดกุมเสมอ กฎหมายที่ไม่ได้บังคับใช้เป็นปกติหรือไม่ได้บังคับใช้อย่างสม่ำเสมอ คือการมอบอำนาจให้รัฐอย่างไม่มีประมาณ เพราะรัฐอาจเลือกปฏิบัติต่อพลเมืองได้ตามใจชอบ มีกฎหมายไว้ปราบปรามกดขี่เฉพาะคนที่เป็นศัตรูกับรัฐ จึงเป็นอันตรายต่อสังคมเสียยิ่งกว่าปล่อยผู้ละเมิดให้พ้นผิด... ครับ เพื่อผดุงความ "ศักดิ์สิทธิ์" ของกฎหมายเอาไว้

หากโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดแถลงอย่างนี้ จะเปิดให้คนพากันละเมิดกฎหมายกันเป็นการใหญ่หรือไม่ เปิดครับ เปิดแน่เลย จนกลายเป็นเงื่อนไขบังคับให้กระบวนการยุติธรรมของไทยต้องเลิกเลือกปฏิบัติ หรือ "สองมาตรฐาน" ตามสำนวนของแกนนำเสื้อแดงเสียที และอย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปัญหาเรื่องการบุกรุกที่ดินสาธารณะนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงบ้านพักตากอากาศของพลเอกสุรยุทธ์เท่านั้น แต่รวมเป็นพื้นที่คงจะหลายล้านไร่ทั่วประเทศ จะแก้ไขกันอย่างไร ก็ต้องคิดอย่างจริงจังเสียที เพื่อให้เกิดทั้งสมรรถนะและความเป็นธรรมในสังคม

ฉะนั้น เมื่อพูดถึงพลเอกสุรยุทธ์กับเขายายเที่ยงแล้ว จึงอดที่จะพูดถึงเสื้อแดงกับเขายายเที่ยงด้วยไม่ได้

ตราบเท่าที่เสื้อแดงยังต่อสู้ให้ทักษิณ ผมเชื่อว่าพลังของเสื้อแดงมีแต่จะเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ (เช่นเดียวกับเสื้อเหลือง หากยังต่อสู้เพื่อขจัดทักษิณเป็นประเด็นหลัก ผมก็เชื่อว่าพลังของเสื้อเหลืองมีแต่จะเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ เช่นกัน) ร้ายยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการดูแคลนคนไทยโดยทั่วไป ทั้งที่สวมและไม่ได้สวมเสื้อแดง

จะยกขึ้นไปบนเขายายเที่ยงก็ไม่ว่า แม้แต่จะเอาพลเอกสุรยุทธ์เป็นเป้าทางยุทธวิธีก็ไม่ว่าอีกเหมือนกัน เพราะทำให้เห็นรูปธรรมได้เด่นชัด แต่ขอโทษเถิดครับ ยุทธศาสตร์คืออะไรเล่าครับ หากยุทธศาสตร์มีเพียงเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้ทักษิณ จะหวังให้คนส่วนใหญ่เข้าไปร่วมย่อมเป็นไปไม่ได้

เพราะการเลือกปฏิบัติด้วยสองมาตรฐานนั้นเป็นปัญหาแก่คนไทยทั้งประเทศ เป็นปัญหาเสียยิ่งกว่าที่ทักษิณโดนเสียอีก ยิ่งคิดเลยไปถึงการกระจายการถือครองที่ดินของไทย ก็ยิ่งจะเห็นปัญหามหึมาที่คนไทยส่วนใหญ่ต้องเผชิญอยู่เวลานี้ นั่นคือเข้าไม่ถึงที่ดิน ไม่ว่าจะเพื่อใช้ประโยชน์ในการผลิต หรือเพียงเพื่อจ่อมอาศัยกินอยู่หลับนอนเหมือนมนุษย์ปกติ

อย่าคิดแต่เรื่องเกษตรกรรมเท่านั้นนะครับ การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเลวร้ายดังที่มีในประเทศไทย ย่อมหมายถึงการลงทุนภาคอุตสาหกรรมและบริการที่สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น เพราะต้องลงทุนซื้อที่ดิน (อันเป็นปัจจัยการผลิตที่ไม่ผลิต) ในสัดส่วนที่สูงมากของเงินลงทุน - ผมคิดว่าราคาที่ดินเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนมากกว่าสิ่งแวดล้อมที่ดีเสียอีก ไม่จำเป็นต้องขู่ว่านักลงทุนญี่ปุ่นจะย้ายทุนหนีเพราะกรณีมาบตาพุด นักลงทุนญี่ปุ่นสามารถทำสกปรกในเมืองญี่ปุ่นได้เท่ากับมาบตาพุดหรือ คนไทยเป็นสัตว์ชั้นต่ำขนาดที่ไม่มีสิทธิจะมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีเท่าพี่ยุ่นหรือ - นอกจากนี้ควรคิดเลยไปถึงแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการอีกมาก ที่น่าจะสามารถเช่าห้องพักได้ถูกลง จนกระทั่งมีมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้นอีกด้วย หรือแม้แต่คนชั้นกลางจะสามารถวางดาวน์ผ่อนบ้านได้มากขึ้นด้วย

นี่เป็นตัวอย่างของปัญหาที่คนไทยเผชิญอยู่จำนวนมาก ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับทักษิณเลย รวมทั้งตัวทักษิณเองก็ไม่เคยมีประวัติว่าได้พยายามหรือแม้แต่คิดจะแก้ปัญหาการกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน "สองมาตรฐาน" นั้นไม่ใช่คุณสมบัติพิเศษของรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่เป็นมาตรการปกติที่รัฐบาลไทยทุกรัฐบาลทำมาอย่างต่อเนื่อง (ตั้งแต่สุโขทัย) แล้ว เราอยากได้ประชาธิปไตยก็เพื่อจะไม่มีใครถูกเลือกปฏิบัติอีกไงครับ

โดยไม่เกี่ยวอะไรกับทักษิณ เสื้อแดง (รวมทั้งเสื้อเหลือง) ต้องพูดถึงความไม่เป็นธรรมที่คนไทยส่วนใหญ่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร แรงงาน ผู้หญิง ผู้พิการ ผู้ติดเชื้อ ผู้ถูกท่องเที่ยว ผู้ถูก "พัฒนา" คนจน คนสลัม ผู้ค้ารายย่อย นักเรียนอาชีวะ ฯลฯ และต้องรณรงค์เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของคนเหล่านั้น คนเหล่านั้นคือผู้ที่ถูก "สองมาตรฐาน" เอารัดเอาเปรียบและกลั่นแกล้งมามากและนาน ทั้งมากและนานกว่าทักษิณเสียอีก

เหตุใดเราจึงต้องไปควักกระเป๋าและทนลำบากร่วมกับเสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง เพื่อสนับสนุนหรือพิฆาตทักษิณ ในเมื่อเรามีปัญหาจริงในชีวิตจริงอีกมากมายที่ต้องเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลง ถึงทักษิณกลับมาเป็นนายกฯ เราก็ต้องต่อสู้กับทักษิณเหมือนกับที่ต้องต่อสู้กับนายกฯ คนอื่นๆ นั่นแหละ


ที่มา : มติชนออนไลน์, 18 ม.ค. 53