บก.ลายจุด: ประเมินการชุมนุมคนเสื้อแดง
บก.ลายจุด
ที่มา: กระดานข่าวพันทิพ ห้องราชดำเนิน หัวข้อ “ดร.วรพล พูดถึงปริมาณมวลชนจำนวนมากเพื่อป้องกันความรุนแรง”, 7 เมษายน 2552
หลายวันมานี้ ผมกังวลเรื่องความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในที่ชุมนุมคนเสื้อแดง
การประกาศไม่เจรจาของแกนนำ ในกรณีที่ตัวละครหลักๆ ยังไม่มีการลาออกนั้น เป็นการกดดันให้ฝ่ายอำมาตย์หมดทางเลือก ดังนั้นฝ่ายอำมาตย์มีเพียงทางเลือกน้อยมาก คือ ลาออก หรือก็กวาดล้าง สลายการชุมนุม
ผมขอข้ามเรื่องลาออก เพราะถ้าลาออกก็จบ ประเทศจะกลับมาสู่โหมดการเลือกตั้งอีกครั้ง แต่ถ้ากวาดล้าง และสลายการชุมนุม สิ่งที่ต้องคิดคือ ฝ่ายอำมาตย์คิดอะไร และ ต้องพิจารณาองค์ประกอบใดบ้าง
หนึ่ง.....ปริมาณของผู้เข้าชุมนุม
ย่อม เป็นปัจจัยสำคัญในการออกแบบแผนการกวาดล้าง เพราะถ้าคนมาก การกวาดล้าง จะยิ่งทำให้สถานการณ์ยกระดับ และ จะควบคุมสถานการณ์ได้ยากลำบาก ข้อเสนอนี้ ดร.วรพล (วรพล พรหมิกบุตร) ได้นำเสนอไว้ว่า การระดมคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่ทำได้ มากจนอำมาตย์ไม่กล้าใช้วิธีการกวาดล้าง จะเป็นการป้องกันความรุนแรง
สอง....ประเด็นที่จะใช้ในการกวาดล้าง
ตอน นี้ฝ่ายอำมาตย์ใช้วิธีการสามัญเหมือนกับหลายๆ ครั้งที่ผ่านๆ มา คือ การนำประเด็นสถาบันฯ มาเป็นข้ออ้าง แม้ว่าบนเวทีจะชี้ชัดหลายครั้งแล้วว่า คู่กรณีนั้นขีดเส้นไว้แค่ที่พลเอกเปรมเท่านั้นก็ตามที แต่หากพิจารณาย้อนกลับไปตั้งแต่ 14 ต.ค. 6 ต.ค. หรือแม้แต่ตอนที่ทหารไปกระทืบคนในเดือน พ.ค. 35 ฝ่ายรัฐก็ใช้ประเด็นสถาบันฯมาเป็นเครื่องมืออยู่ทุกครั้งไป ครั้งนี้โหมกันแรงขนาดนี้ เป็นการเขียนบทกันไว้ก่อน
สาม....สถานการณ์เผชิญหน้า
จำได้ว่า ตอน พ.ค. 35 จุดแตกหักคือ แยกผ่านฟ้า โดยฝ่ายทหารตั้งแนวไว้ และห้ามไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนผ่านแยกผ่านฟ้า โดยอ้างว่าเข้าเขตพระราชสถาน จน พลตรี จำลอง นำทัพมวลชนแหวกมติที่ชุมนุมจากสถานหลวงปะทะกับทหารในแนวเขตผ่านฟ้า เสียงปืนจึงลั่นออกมา เชื่อว่าคราวนี้ แนวทหารจะอยู่ใน 2 จุดใหญ่ ๆ คือ บ้านสี่เสา และ สวนจิตร ซึ่งสวนจิตรคงไม่มีใครไปกัน แต่บ้านสี่เสา รับรองว่า มวลชนจะไปดันกันจนพื้นที่ดังกล่าวอ่อนไหว และต้องไม่ลืมว่า ป๋าประกาศนอนเล่นอยู่ในบ้านพัก ณ วันที่เสื้อแดงบุกแน่นอน ซึ่งเหมือนกับวันที่ 22 ก.ค. ที่ นปก. บุกบ้านป๋าเปรม วันนั้นป๋าก็นอนฟังคนด่าอยู่ด้านนอกจนเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมในเวลาต่อมา
สี่.....ใครคือคนมีอำนาจสั่งการ
ผมไม่คิดว่า รัฐบาลเป็นตัวละครหลักในการสั่งการเรื่องนี้ แต่ฝ่ายความมั่นคงน่าจะเป็นคนประเมินสถานการณ์และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจใน การสั่งการ ดังนั้นจับตาลูกป๋าให้ดี หากพวกนี้เคลื่อนไหว ปราบปราม ก็รับรองได้ว่า อาจมีการรัฐประหาร เหมือนตอนหลัง 6 ต.ค. 19
ห้า.....ช่วงชุลมุน ควรทำอย่างไร
เมื่อครั้ง พ.ค. 35 มวลชนแตกสลายจาก ถ.ราชดำเนิน ไปรวมกันที่รามคำแหง คำถามคือว่า คราวนี้ ฐานที่มั่นที่ 2 อยู่ที่ไหน และใครคือตัวสำรองของการยืนระยะหากการปราบปรามเกิดขึ้น
หก....ตำรวจ ทหาร ชั้นผู้น้อย
มี การวิเคราะห์ว่า ตำรวจ และ ทหารชั้นผู้น้อย ที่มาจากรากหญ้า มีความคิดทางการเมืองไปทางเสื้อแดง ดังนั้น ผู้บังคับบัญชาต้องระวังตัวให้ดี อย่าลืมใส่เสื้อเกราะไว้ จำกรณีนางคานธี ไว้ด้วย
เจ็ด.....โลกล้อมประเทศ(ไทย)
ถ้าเป็นเมื่อก่อน เสื้อแดงโดนกวาดไปนานแล้ว แต่ที่เป็นมาได้ถึงวันนี้ เพราะโลกเปลี่ยนไป การเฝ้าจับตาของนานาชาติต่อการแสดงออกทางการเมืองของไทย จะเป็นตัวป้องกันและเป็นประจักษ์พยานสำคัญต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น เสื้อแดงควรยึดมั่นต่อแนวทางสันติวิธี กล้าหาญที่จะไม่หยิบจับอาวุธ แม้แต่เป็นแค่ท่อนไม้ก็ตามที (ไม่มีประโยชน์สู้กับปืน) จงเตรียมข้อความสัญลักษณ์ในการต่อสู้ ยกป้ายและข้อความนั้นเมื่อมีสื่อเข้ามาถ่ายภาพ ต้องยึดมั่นแนวทางสันติวิธี และต่อสู้ต่อไป จะเตรียมสีสเปรย์ไว้พ่นตามถนน หรือ กำแพง เพื่อประท้วงหากมีการใช้ความรุนแรง สิ่งนี้จะทรงพลังที่สุด
ป.ล. ..จงมุ่งมั่นที่จะมีชัย แต่อย่าเร่งรีบที่จะคว้าชัยชนะ โปรดรักษาตัวด้วย
ที่มา : prachatai.com