Tuesday, April 7, 2009

เชนคัมแบ็ค



เชนคัมแบ็ค



โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์


หนังสือพิมพ์ลงข่าวที่ผมอ่านไม่ค่อยรู้เรื่องว่า กรมราชองครักษ์คิดจะเอาปืนไปแจกชาวบ้านในสามจังหวัดภาคใต้ เพื่อเอาไว้ป้องกันตนเอง แน่นอน คงแจกได้ไม่ทั่ว จำเป็นต้องเลือกแจกแก่คนที่เลือกสรรเท่านั้น ผมเดาต่อว่าคนที่จะถูกเลือกให้มารับแจกปืน ก็คงเป็นคนที่ชีวิตของเขาเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายมากกว่าคนอื่น

อย่างไรก็ตาม หากไปถามประชาชนในสามจังหวัดว่า ชีวิตใครบ้างที่ต้องเสี่ยงกับการถูกทำร้าย เขาคงตอบว่าทุกคนหรือเกือบทุกคน แม้จะยอมรับว่าบางคนเสี่ยงแบบไม่มีทางเลี่ยง บางคนยังพอเลี่ยงได้บ้าง เช่นคนที่มีอาชีพกรีดยาง ซึ่งต้องทำในเวลาที่คนอื่นเขายังนอนอยู่บนเรือน ย่อมถูกลอบทำร้ายได้ง่าย สมาชิกร้านน้ำชาย่อมเสี่ยงมากกว่าคนที่นั่งดูทีวีอยู่ในบ้าน, คนที่เป็นตัวแทนของอำนาจรัฐไทย เช่นครู, ข้าราชการ, กำนันผู้ใหญ่บ้าน ย่อมถูกมุ่งทำร้ายมากกว่าคนอื่น

แต่จะแจกปืนแก่คนเหล่านี้ทั้งหมดหรือ ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะมีปืนไม่พอแจกแน่ จะเลือกเอาใครมารับแจกในบรรดาคนเหล่านี้ ผมเดาเอาว่า ก็ต้องเป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจว่า ไม่ได้เป็นพวกเดียวกันกับคนที่ไปเที่ยวทำร้ายคนอื่นอยู่ในเวลานี้

อีกอย่างหนึ่งที่ยังไม่ค่อยเข้าใจเนื้อข่าวนักก็คือ กรมราชองครักษ์คืออะไร ดูจากชื่อผมก็คงต้องเดาว่าเป็นทหาร และด้วยเหตุดังนั้นก็น่าจะสังกัดกับกองทัพใดกองทัพหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็ขึ้นกระทรวงกลาโหมโดยตรง (เพื่อเอาทหารทั้งสามเหล่าทัพมารวมเป็นกรมทหารได้) ด้วยเหตุดังนั้น กรมราชองครักษ์จึงไม่อาจมีนโยบายที่เป็นอิสระจากกองทัพ หรือจากกระทรวงกลาโหมได้

ผมไม่เคยได้ยินว่ากองทัพหรือกระทรวงกลาโหมมีนโยบายแจกปืนแก่พลเรือนในสามจังหวัด และด้วยเหตุดังนั้นก็ไม่น่าจะตั้งงบประมาณไว้ซื้อปืนไปแจก กรมราชองครักษ์เอางบประมาณจากไหนมาซื้อ และกรมราชองครักษ์อยู่ในฐานะที่จะวิเคราะห์สถานการณ์ทางทหารในภาคใต้ได้ดีพอจะรับผิดชอบ สร้างนโยบายเองและแจกเองแล้วหรือ

ความคิดที่จะแจกปืนแก่พลเรือนเพื่อป้องกันตนเองนั้นมีมานานแล้ว แต่ไม่เคยทำได้จริง ฝ่ายรัฐบาลในกรุงเทพฯคิดบ้าง ฝ่ายผู้ถูกคุกคามเช่นครูในพื้นที่เสนอบ้าง แต่เมื่อทุกฝ่ายคิดทบทวนกันแล้ว ก็เห็นว่าได้ไม่คุ้มเสีย จึงระงับความคิดอย่างนี้ไปทุกที

เสียงทักท้วงที่เคยมีมาก่อน ก็อาจใช้ได้ในกรณีนี้อีกเหมือนกัน และเสียงทักท้วงเหล่านั้นได้แก่

1/ การมีปืนป้องกันการลอบทำร้ายไม่ได้ เพราะฝ่ายลอบทำร้ายไม่ได้ปรากฏตัวออกมาสู้รบด้วย หากใช้ทีเผลอของเป้าหมายต่างหาก ฉะนั้น แม้แต่ทหารและ อส.ที่ติดอาวุธเต็มเพียบก็ยังถูกลอบทำร้ายอยู่ตลอดเวลา การป้องกันการลอบทำร้ายทำได้ด้วยวิธีอื่น อย่างที่เขาทำกันแก่ผู้นำประเทศทั่วไป ซึ่งก็เกินกำลังที่กรมราชองครักษ์จะทำได้

2/ ร้ายไปกว่านั้น เมื่อผู้มีอาวุธปืนถูกลอบทำร้าย ปืนก็จะถูกแย่งชิงไปอยู่ในมือของผู้ก่อการ จึงเท่ากับช่วยกระจายอาวุธใส่มือผู้ก่อการมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยิ่งเป็นเหตุให้ผู้ได้รับแจกปืนกลายเป็นเป้ามากขึ้น นอกจากข่มขวัญฝ่ายรัฐได้แล้ว ยังได้อาวุธปืนไว้ใช้อีกหนึ่งกระบอก

3/ ปืนจะเป็นประโยชน์ในการป้องกันตนเองได้ระดับหนึ่ง ก็ต่อเมื่อมีการฝึกเพื่อพัฒนาความสามารถส่วนบุคคลอย่างหนัก ไม่ใช่แค่ฝึกยิงปืนหรือฝึกยิงให้แม่นเท่านั้น แต่หมายถึงการฝึกทางยุทธวิธีที่เหมาะกับการต่อสู้ในสถานการณ์ภาคใต้โดยเฉพาะ

ผมเคยคุยกับนายพลท่านหนึ่งซึ่งแม้มีตำแหน่งสูง แต่ไม่เคยถูกใช้ให้รับผิดชอบส่วนใดของภารกิจกองทัพในภาคใต้เลย ท่านกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปในการปฏิบัติภารกิจของกองทัพในภาคใต้ตลอดมาคือ การพัฒนาความสามารถส่วนบุคคลของทหารให้เหมาะกับยุทธวิธีสำหรับสถานการณ์ในภาคใต้ ทำให้เกิดความสูญเสียสูงมากเกินจำเป็น

ฉะนั้น การแจกปืนโดยขาดการฝึกอย่างหนักจึงไม่มีประโยชน์ และการฝึกอย่างหนักที่จะทำให้ต่อสู้กับฝ่ายผู้ก่อการได้นั้น หมายถึงการฝึกของกองทหาร ไม่ใช่ของคนๆ เดียว ซึ่งทำให้ยุทธวิธีในการต่อสู้จำกัดลง เว้นแต่จะฝึกให้คนๆ นั้นกลายเป็นแรมโบ้ ผมค่อนข้างแน่ใจว่า กรมราชองครักษ์คงไม่ได้คิดให้ป๊ะอะไรสักคนในจังหวัดนราธิวาสกลายเป็นลุงแรมโบ้

4/ ผมยอมรับว่า การมีอาวุธปืนนั้นอาจป้องกันตัวเองจากการลอบทำร้ายในบางลักษณะได้บ้าง เช่น มีข่าวทางทีวีว่ามีกำนันคนหนึ่งถูกลอบทำร้ายมาหลายครั้งแล้ว ท่านจึงแปลงบ้านเรือนของท่านให้กลายเป็นป้อมปราการ มีรูตามกำแพงผนังบ้านไว้ยิงต่อสู้กับผู้ลอบทำร้าย มีตาข่ายกันระเบิดรอบบ้านฯลฯ

คนทั่วไปผู้รับแจกปืนคงไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ ในขณะที่ความหวาดระแวงต่อผู้ที่ตนเห็นว่ามีพิรุธก็ยังมากเท่าเดิม แต่บัดนี้เขามีปืนอยู่ในมือแล้ว เขาจะตอบสนองต่อความหวาดระแวงอย่างไร ผมเดาว่าคง "ยิงก่อน ถามทีหลัง"

ในฐานะผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากกรมราชองครักษ์ถึงกับได้รับแจกปืน เขาย่อมรายงานแก่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองว่า คนที่เขายิงจนตายหรือบาดเจ็บนั้น คือสมาชิกของผู้ก่อการที่กำลังจะทำร้ายเขา หากเจ้าหน้าที่เชื่อด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ก็น่าประหวั่นว่า ความรุนแรงในภาคใต้จะยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีก หากเจ้าหน้าที่ไม่เชื่อและดำเนินคดีกับเขา ก็นับว่าน่าเวทนาแก่เขาอย่างยิ่ง เพราะเขาคือ มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งย่อมมีความกลัวเป็นธรรมชาติเหมือนคนอื่นๆ

เรากำลังปั่นให้ความกลัวอันเป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของมนุษย์กลายเป็นความรุนแรง แต่ความกลัวไม่เคยถูกขจัดไปได้ด้วยความรุนแรง ในทางศาสนาท่านว่าขจัดเสียได้ด้วยความรู้ ในทางโลกย์หรืออารยธรรมทั้งหลาย ท่านว่าให้ขจัดเสียด้วยการจัดการในระดับรัฐ ไม่ใช่การกลับไปสู่ยุคมนุษย์ถ้ำกันใหม่ ที่ทุกคนต้องถือกระบองไว้ตีคนอื่นตลอดเวลา

5/ ปืนเพิ่มสมรรถภาพของผู้ถือให้ทำร้ายผู้อื่นได้ง่ายขึ้น ปืนจึงเป็นอำนาจ การแจกปืนคือการแจกอำนาจ ซ้ำเป็นอำนาจที่ตรวจสอบควบคุมได้ยาก (แค่ยกขึ้นมายิงขึ้นฟ้าสักสามสี่นัด คนทั่วไปก็รู้ว่าต้องสงบเสงี่ยมให้มากกว่าที่สงบเสงี่ยมอยู่แล้ว) อำนาจที่ผู้รับแจกปืนมีเพิ่มขึ้น ไม่จำเป็นจะต้องนำไปใช้กับผู้ลอบทำร้ายเพียงอย่างเดียว อาจใช้กับเพื่อนบ้าน, คู่ค้า, หรือแม้แต่กับลูกเมียตัวเองก็ยังได้

ความแตกต่างแห่งอำนาจระหว่างผู้ที่รัฐไว้วางใจ กับที่รัฐยังไม่ไว้วางใจจึงจะเห็นได้ประจักษ์มากขึ้น จะดีแก่การแก้ไขสถานการณ์ในภาคใต้ละหรือ

แผนการแจกปืนของกรมราชองครักษ์เวลานี้ติดอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย เพราะมีอะไรบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับระเบียบการครอบครองปืนของกระทรวงมหาดไทย กรมราชองครักษ์จึงขอความร่วมมือจากมหาดไทยให้แก้ระเบียบหรือผ่อนปรนระเบียบ เพื่อให้แผนการแจกปืนดำเนินไปได้

ผมไม่ได้ข่าวว่า กระทรวงมหาดไทยพิจารณาเรื่องนี้ออกมาอย่างไร แต่เดาว่าคงอนุโลมกระมัง

ที่น่าวิตกก็คือ แผนการแจกปืนของกรมราชองครักษ์ จะเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายของรัฐที่จะแจกปืนกันอย่างกว้างขวาง ความไม่สงบในภาคใต้จะขยายกว้างขึ้นอย่างยากที่จะหาทางเยียวยาได้ในอนาคต

หน้า 6  


ที่มา : มติชนรายวัน,วันที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2552  ปีที่ 32 ฉบับที่ 11349    


 

No comments: