วันที่ 25 ธ้นวาคม พ.ศ. 2551
“ "อุบัติเหตุ” ในโครงสร้างที่ไม่เสมอภาค”
โดย อรรถจักร สัตยานุรักษ์
แม้ว่าการเมืองวันนี้จะดูสงบขึ้นกว่าก่อนอยู่บ้าง แต่ความสงบทางการเมืองนี้เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว หรือเป็นเพียงฉากเฉพาะหน้าซ่อนความไม่สงบอยู่เบื้องหลังที่รอวันปะทุขึ้นมา เพราะในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาทางการเมืองคือปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทุกๆ ด้านยังไม่ได้รับการพิจารณาให้แก้ไขแต่อย่างใด ความไม่เท่าเทียมกันนี้เป็นโครงสร้างที่พร้อมจะทำให้เกิด "สถานการณ์" หรือ "เหตุการณ์" อะไรก็ได้ที่อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ แต่กลับก่อให้เกิดความไม่สงบที่รุนแรงขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย
นักประวัติศาสตร์มีชื่อเคยกล่าวไว้ว่าไม่มี "อุบัติเหตุ" ในประวัติศาสตร์ หมายความว่าแม้ว่าการจุดชนวนอาจจะดูไม่มีเหตุผลหรือไม่มีน้ำหนักมากพอ แต่กลับก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงนั้นก็เกิดขึ้น เพราะโครงสร้างที่พร้อมจะทำให้เกิดความรุนแรงอยู่แล้ว
การเมืองไทยที่ดูเหมือนจะสงบลงบ้างในวันนี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่พร้อมจะทำให้เกิด "อุบัติเหตุ" ทางการเมืองได้ และหากเกิด "อุบัติเหตุ" ทางการเมืองขึ้นแล้วก็จะยุติได้ยากมากขึ้น
เราจะทำอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสของการเกิด "อุบัติเหตุ" ในโครงสร้างที่พร้อมจะทำให้เกิดเช่นนี้
สังคมไทยต้องมองเห็นปัญหาความไม่เสมอภาคนี้ให้ชัดเจน แล้วช่วยกันกดดันให้รัฐบาลสร้างความหวังให้แก่ประชาชนว่าสังคมไทยกำลังเดินหน้าไปสู่การแก้ไขปัญหาโครงสร้าง เพื่อที่จะทำให้คนจำนวนมากในสังคมพอที่จะยอมรับผลกระทบกระเทือนจากเหตุการณ์หนึ่งๆ ที่จะเกิดขึ้นมาโดยเห็นว่าพอจะทนกันต่อไปได้อีกสักหน่อย เพื่อที่จะได้แก้ไขโครงสร้างกัน หากทำเช่นนั้นได้ก็จะทำให้โอกาสของการเกิด "อุบัติเหตุ" ก็จะลดน้อยลง
ความไม่เสมอภาค นี้ สามารถพิจารณาได้สองด้าน ด้านแรก ได้แก่ ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ การพัฒนาประเทศที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดความแตกต่างของรายได้อย่างมหาศาล การลดช่องว่างทางเศรษฐกิจนี้แก้ไม่ได้ด้วยนโยบายประชานิยม หากแต่จะต้องสร้างนโยบายที่ทำให้การสะสมทุนของคนรวยนั้นไม่สามารถส่งทอดต่อได้ร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างที่เป็นอยู่ โดยจะต้องวางนโยบายให้สังคมเห็นว่าคนรวยขึ้นมาได้จากเนื้อของสังคม และจะต้องคืนให้แก่สังคมมากที่สุด รูปธรรมที่ชัดเจน อาทิเช่น การเก็บภาษีมรดก การเก็บภาษีที่ดินที่เป็นสินค้าเก็งกำไร การกระจายการถือครองที่ดิน ฯลฯ
ความไม่เสมอภาคด้านที่สอง ได้แก่ ความไม่เสมอภาคทางการเมือง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจรรโลงความไม่เสมอภาคทางการเมืองไว้อย่างชัดเจน การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางการเมืองจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง และจะต้องเป็นการแก้ไขเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้กว้างขวางที่สุด
ที่น่าแปลกใจ ก็คือ รัฐบาลนี้กลับพยายามกลบเกลื่อนปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ด้วยการซื้อเวลาตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาข้ออ่อนด้อยของรัฐธรรมนูญแทนการแก้ไข เพื่อยกร่างใหม่ ซึ่งการซื้อเวลาเช่นนี้กลับยิ่งทำให้สังคมรู้สึกว่ารัฐบาลไม่จริงใจในการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจของสังคมให้เหมาะสม อันเท่ากับกำลังสุมไฟ "อุบัติเหตุ" ให้แก่โครงสร้างที่พร้อมจะระเบิดอยู่แล้ว
ความไม่เสมอภาคทั้งสองด้านนี้กำลังทำให้เกิดความขัดแย้งลึกซึ้งขึ้นในสังคมไทย อันทำให้เกิดสภาวะของการเตรียมจะสงครามทางชนชั้นขึ้น คนจำนวนไม่น้อยไร้ความหวังที่จะประคับประคองสังคมไทยให้รอดพ้นสภาวะที่พร้อมจะเกิดสงครามเช่นนี้แล้ว และพร้อมที่จะยอมรับหากความเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้อง "นองเลือด" กล่าวได้ว่าความคิดเช่นนี้ ก็คือ ความคิดที่ "ทอดอาลัยตายอยาก" กับสถานการณ์เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี โดยหวังง่ายๆ เพียงว่าหากเกิดการ "นองเลือด" สักครั้งหนึ่งแล้วทุกอย่างก็จะดีขึ้น
หากสังคมไทย "ทอดอาลัยตายอยาก" กับการเมืองไทยมากขึ้น ปล่อยให้สถานการณ์เดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ จนถึงสภาวการณ์ที่รุนแรงในคราวนี้แล้ว ในคราวนี้รับรองได้ว่าสิ่งที่คิดว่าหากนองเลือดแล้วทุกอย่างจะดีขึ้นนั้น จะไม่มีทางเกิดขึ้นจริง ความรุนแรงครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น จะสั่นคลอนทุกระบบของสังคมอย่างที่ไม่สามารถจะจินตนาการถึงการพังทลายของสังคมได้เลย
การปล่อยให้นักเคลื่อนไหวทางการเมืองเสื้อแกนนำทั้งสองสี ควบคุมการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยโดยที่ทั้งสองฝ่ายผลักดันทุกอย่างให้เป็นไปตามเป้าหมายของฝ่ายตนเองเท่านั้น และพยายามดึงคนในสังคมเข้าไปเป็นฝ่ายตนเอง ยิ่งจะทำให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ สังคมไทยจะร่วมกันสร้าง "มติสาธารณะ" ที่เน้นการสร้างความเสมอภาคขึ้นในสังคมให้มีพลังในการกำกับความเปลี่ยนแปลงให้รอดพ้นจากโอกาสการเกิดความรุนแรงนี้ได้อย่างไร
วันนี้ สังคมไทยเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงนานัปการ โดยที่ไม่มีความพร้อมทางด้านสังคมเลยแม้แต่น้อย เราอาจจะพบกับการจลาจลในขนาดที่ใหญ่เท่าๆ หรือมากกว่าจลาจลในประเทศกรีซ เราอาจจะพบกับสภาวะอนาธิปไตยที่ยาวนาน โดยที่เราทำอะไรไม่ได้เลยแม้แต่น้อย
คงต้องเน้นว่าวันนี้ อะไรก็เกิดได้ในสังคมไทย และอะไรที่จะเกิดขึ้นนั้นจะทำลายเราทั้งหมดด้วย
ผมอาจจะมองโลกในแง่ร้าย แต่อยากให้ท่านผู้อ่านทุกท่านช่วยกันคิดว่าปัญหาจริงๆ ของสังคมคืออะไร เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร และเรามีทางจะช่วยกันสร้าง "ความหวัง" ให้แก่คนในสังคมไทยว่าเรามีโอกาสที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าร่วมกันอย่างมีความสงบสุขและสันติอย่างไร
รศ. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
รองศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
http://newsroom.bangkokbiznews.com/comment.php?id=5621&user=attachak