วันที่ 24 ธ้นวาคม พ.ศ. 2551
"สังคมไทยยาม "พักรบ"
โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล
มีใครเชื่อบ้างว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ถูกแก้ไขให้ลุล่วงไปแล้วบ้าง หากไม่หลอกตัวเองจนเกินไปนัก ก็คงพอมองเห็นได้ว่าปัญหาความขัดแย้งทั้งหมดยังคงดำรงอยู่ สถานการณ์ในห้วงเวลาปัจจุบันเป็นเพียงการ "พักรบ" ชั่วขณะเท่านั้น ซึ่งพร้อมจะหวนกลับคืนมาสู่การเผชิญหน้ากันอีกครั้งหนึ่งได้ไม่ยาก
แม้จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสังคมไทยจะหวนกลับเข้าสู่สถานการณ์ "สู้รบ" อีกเมื่อไร แต่อย่างน้อยก็อาจเป็นเวลาดีที่เราจะได้ใช้เวลาและปัญญาไตร่ตรอง เพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ และสามารถมองเห็นปัญหาต่างๆ ได้ชัดเจนมากขึ้น
ดูเหมือนว่ารัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ จะถูกคาดหวังไว้อย่างมากว่าจะนำพาสังคมให้พ้นห้วงเวลาวิกฤตินี้ รวมถึงตัวนายกรัฐมนตรีเองก็ปวารณาตนว่าจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่สร้างความสมานฉันท์ให้กับสังคมไทย อย่างไรก็ตาม เพียงแค่การจัดตั้งรัฐบาลขึ้นก็ได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่าการแก้ไขปัญหาในขณะนี้ ต้องการความสามารถมากกว่าการใช้โวหารเพียงอย่างเดียว
ไม่ใช่แค่เฉพาะความยุ่งยากที่เกิดขึ้นภายในพรรคประชาธิปัตย์ ยังมีวิบากกรรมอีกมากที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องเผชิญ โดยเหตุที่การจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากครรลองของระบบรัฐสภาอย่างตรงไปตรงมา หากด้วยกำลังภายในภายนอกของหลายฝ่าย รวมถึงการต่อรองระหว่างนัก/พรรคการเมือง ทั้งหมด ทำให้รัฐบาลชุดปัจจุบันจะต้องอยู่ภายใต้อำนาจของอีกหลายส่วน ที่มีบทบาทในการทำให้การจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้
การพึ่งพาจำนวนมือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนอกพรรคประชาธิปัตย์ การสนับสนุนจากกลุ่มอำนาจนอกระบบล้วนแต่ทำให้พรรคนี้ต้องแหยมากขึ้นในการบริหารงาน รวมถึงอาจต้องทนให้โครงการที่มีกลิ่นตุๆ เกิดขึ้นได้
เว้นเสียแต่ว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะไม่สนใจกับความมั่นคงของรัฐบาล ซึ่งในปัจจุบันก็เห็นได้ชัดว่าไม่ได้เป็นในทิศทางดังกล่าว การหันมาจูบปากกับคุณเนวิน ชิดชอบ และการถูกกระหน่ำจากลูกพรรคในขณะนี้คงบอกความหมายให้เราได้เข้าใจได้ไม่น้อย
แทนที่จะฝากความหวังไว้กับรัฐบาลที่ไม่สู้จะมีอนาคตมากสักเท่าไร สังคมควรกลับมาขบคิดและสร้างความรู้เพื่อเป็นพลังในการเผชิญหน้ากับปัญหาที่กำลังรายล้อมอยู่จะไม่เป็นการดีกว่าหรือ
ภาวะความขัดแย้งและความยุ่งยากทางการเมืองที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะสามารถแก้ไขได้ด้วยคำอธิบายง่ายๆ ว่า เพราะชาวบ้านโง่ จน เจ็บ เลือกเอาแต่ผู้แทนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ เมื่อใดก็ตาม ที่คำอธิบายเป็นไปตามตรรกะนี้ทางแก้ไขดูเหมือนว่าจะมีเพียงการแสวงหาคนดีมาเป็นผู้แทน หรือคัดเอาแต่ผู้บรรลุธรรมมาเป็นผู้ปกครอง
อาจต้องทำความเข้าใจมากขึ้นกับระบบการเมืองว่าเหตุใดกลุ่มรากหญ้าจึงจงรักภักดีกับบางพรรคการเมืองเป็นอย่างมาก แม้ว่าจะเปลี่ยนชื่อไปสองหรือสามชื่อแล้วก็ตาม ใช่หรือไม่ว่าการสร้างนโยบายตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในระดับล่างแทบไม่เคยเป็นประเด็นสำคัญของพรรคการเมืองอย่างชัดเจนมาก่อนตราบจนกระทั่งการเกิดนโยบายประชานิยม
ในขณะที่ชนชั้นกลางก็ได้รับปรนเปรอด้วยนโยบายประชานิยมมาอย่างต่อเนื่อง นโยบายต่างๆ ในการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการหรือในยุคประชาธิปไตย ก็ล้วนแต่ทุ่มไปยังกลุ่มคนเมืองหรือชนชั้นกลาง อาทิเช่น ค่าไฟฟ้าราคาถูก ระบบการขนส่งมวลชนที่ใช้เงินทุนมหาศาล การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในเขตเมือง การกดราคาพืชผลทางการเกษตรในระดับต่ำ เป็นต้น
แต่ทั้งหมดนี้ กลับไม่เคยมีใครมากล่าวหาเลยว่าชนชั้นกลางถูกมอมเมาด้วยประชานิยม
การให้การสนับสนุนอย่างสุดหัวใจของรากหญ้าจึงไม่ใช่เรื่องของความโง่ ความเขลา ตรงกันข้าม นี่คือ สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองเสียด้วยซ้ำ หากไปเลือกพรรคการเมืองที่ไม่ได้เคยผลักดันนโยบายอะไรให้เกิดขึ้นอย่างเป็นชิ้นเป็นอันกับตนเลย พฤติกรรมแบบนี้ต่างหากที่ควรจะถูกกล่าวว่าโง่
การสร้างนโยบายที่สร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับคนทุกกลุ่มในสังคมจึงควรต้องถูกนำเสนอ การใช้มาตรการทางภาษีเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ การกระจายในการตัดสินใจเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ นโยบายด้านการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน หรือระบบการศึกษาที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ฯลฯ รวมกระทั่งการเขียนรัฐธรรมนูญด้วยกระบวนการที่สร้างความชอบธรรมและการยอมรับอย่างกว้างขวาง ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องได้รับความสนใจและผลักดันจากทุกฝ่า
หากสามารถทำความเข้าใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้นได้พ้นไปจากเพียงการประณามอีกฝ่าย ก็จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้สังคมจะสามารถมองเห็นการออกจากปัญหานี้ได้กว้างขวางขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากยังติดอยู่กับการมองปัญหาทางการเมืองแบบดี/ชั่ว การแก้ไขความยุ่งยากก็อยู่เพียงแค่การพยายามล้มรัฐบาลอีกฝ่าย หรือทำให้ชาวบ้านมีเสียงเบาลงในระบบการเลือกตั้ง ซึ่งจะไม่ทำให้สังคมไทยสามารถหลุดพ้นไปจากความขัดแย้งได้ในระยะยาวแต่อย่างใด
http://newsroom.bangkokbiznews.com/comment.php?id=5615&user=somchai
No comments:
Post a Comment