โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
กระบวนการสานเสวนาเป็นกระบวนการที่ใช้ในกรณีของความขัดแย้งสองฝ่าย อันที่จริง ความหมายตามตัวอักษรของคำว่า dialogue คือทวิวัจนา หรือการเจรจาของสองฝ่าย แต่เป้าหมายสำคัญสุดของการสานเสวนาคือ "ฟัง" ทำให้สองฝ่ายที่ขัดแย้งกันได้ "ฟัง" อีกฝ่ายหนึ่ง
เพราะสิ่งที่ขาดหายไปเสมอในกรณีพิพาทก็คือการฟัง
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของไทยปัจจุบัน แม้ว่าฝ่ายที่ขัดแย้งกันอย่างออกหน้าจะมีสองฝ่าย คือนปช.กับรัฐบาลพรรค พปช.ฝ่ายหนึ่ง และ พธม.กับฝ่ายค้านพรรค ปชป.อีกฝ่ายหนึ่ง แต่ที่จริงยังมีฝ่ายที่สามซึ่งเป็นฝ่ายที่ใหญ่มาก คือประชาชนโดยทั่วไปซึ่งไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
ไม่แต่เพียงเป็นฝ่ายที่ใหญ่สุดเท่านั้น กระบวนการสานเสวนาในกรณีใดในโลกก็ตามย่อมพุ่งเป้าไปที่ฝ่ายที่สามนี้เสมอ นั่นคือไม่แต่เพียงสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันได้"ฟัง"กันเท่านั้น ฝ่ายที่สามซึ่งไม่ได้อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็จะได้"ฟัง"ไปด้วย แม้ว่าอาจไม่ได้ฟังโดยตรง แต่ก็ต้องรู้ว่าเนื้อหาหลักคืออะไร (เพราะการเจรจาที่ทำให้"ฟัง"กันได้ดีขึ้นในบางเงื่อนไข อาจควรทำโดยคู่เจรจาเชื่อว่า จะไม่มีใครได้ยินอีกนอกจากฝ่ายที่เข้าร่วมการเจรจา)
เพราะถึงที่สุดของที่สุดแล้ว ฝ่ายที่สามนี้ต่างหากที่เป็นผู้ตัดสินว่า ทางออกของความขัดแย้งคืออะไร
ในส่วนของคู่ความขัดแย้ง ประเด็นที่ขัดแย้งกันนั้นไม่สู้จะชัดนัก ถ้าจะหาส่วนที่เห็นพ้องต้องกันระหว่างสองฝ่ายอาจจะเห็นได้ชัดกว่า
ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ระบบการเมืองที่เป็นอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ไม่เหมาะสม ฝ่าย พธม.+ปชป.เห็นว่ารัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่เวลานี้ไม่เหมาะสม เพราะมาจากการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต ฝ่าย นปช.+พปช.เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ไม่เหมาะสม เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระบบการเมืองเสียใหม่ ฝ่าย พธม.เห็นว่าต้องใช้ "การเมืองใหม่" ซึ่งยังไม่ชัดเจนโดยรายละเอียดว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ส่วน ปชป.ไม่ชัดเจนในเรื่องนี้นัก ได้แต่คอยโหนกระแสและกระพือไฟความขัดแย้งไปเรื่อยๆ ส่วน นปช.และพปช.(บางส่วน) เห็นว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น
ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ความขัดแย้งที่ปรากฏนี้เป็นเพียงหน้าฉากเท่านั้น ความจริงแล้วมีผลประโยชน์ของคนอื่นชักไยอยู่เบื้องหลัง และหากทำได้ก็อยากจะดึงคนที่อยู่เบื้องหลังออกมาสู่สนามความขัดแย้งอย่างเปิดเผย
เพราะความเห็นพ้องประการหลังนี่แหละที่ทำให้ความไม่ไว้วางใจระหว่างกันมีสูงยิ่ง เพราะต่างเชื่อว่าอีกฝ่ายหนึ่งมีญัตติซ่อนเร้นบางอย่างในข้อเสนอของตนเสมอ ลามไปถึงข้อเสนอของฝ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยก็ถูกมองจากทั้งสองฝ่ายว่า เป็นญัตติแอบแฝงของ "มือที่มองไม่เห็น" แล้วแต่ว่าข้อเสนอนั้นจะถูกใจตัวหรือไม่ จนกระทั่งเกิดปรากฏการณ์ไม่มี "คนกลาง" เหลืออยู่ในสังคมไทย
อันที่จริงความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย เท่าที่เผยให้ปรากฏ เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ นั่นคือแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนระบบการเมืองให้เหมาะสมเท่านั้น ในขณะที่ไม่มีความขัดแย้งเรื่องอื่นปะปนอยู่อีกเลย ทั้งนี้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ,คนตกงานซึ่งจะเพิ่มขึ้น,ความไม่สงบในภาคใต้ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น,รวมไปถึงอนาคตอีกหลายด้านของสังคมไทยซึ่งไม่มีแววว่าจะจัดการได้ ฯลฯ
และเรื่องอื่นๆ นี่แหละที่ฝ่ายที่สาม คือคนส่วนใหญ่ซึ่งไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดสนใจ รวมทั้งเห็นว่ามีความสำคัญเกี่ยวโยงกับชีวิตของเขามากที่สุด แต่ฝ่ายที่สามคือฝ่ายที่ไม่มีปากมีเสียงใดๆ ในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเลย (และทำท่าว่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสานเสวนาอีกด้วย)
กระบวนการสานเสวนาที่จัดกันขึ้นจึงควรให้ความสนใจแก่ฝ่ายที่สามให้มากขึ้น แม้ใน "คำร้องขอต่อมโนสำนึกของพลเมืองไทยทุกคน" ของสภาพัฒนาการเมือง ก็มุ่งหวังว่าจะสร้างพลังของสังคมโดยรวม "... จนกว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งรับที่จะมาร่วมสานเสวนาหาทางออกให้ประเทศไทยอย่างจริงจัง"
นั่นก็คือยอมรับว่าพลังสังคมเป็นพลังสำคัญที่สุด ซึ่งจะทำให้การสานเสวนาเกิดขึ้นได้
แต่การดำเนินงานที่ปรากฏเป็นข่าวมาจนถึงวันนี้ ดูจะเน้นหนักที่การดึงเอาฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งโดยตรง (2+2 คือ 4 ฝ่าย) เข้ามา "สานเสวนา" กัน แทบไม่เห็นการทำงานกับสังคมโดยรวม มากไปกว่าการสัมมนาเปิดตัว และรณรงค์ติดสติ๊กเกอร์ ส่วนการดำเนินการดึงเอาสี่ฝ่ายมา "สานเสวนา" จะประสบความสำเร็จเพียงใดก็ยังไม่แน่นัก เพราะฝ่าย พธม.ตั้งเงื่อนไขแต่แรกว่า การสานเสวนาที่จะยอมรับได้มีเพียงระหว่างฝ่ายตนกับรัฐบาลเท่านั้น
ด้วยท่าทีเช่นนี้ หากเกิดการสานเสวนาขึ้นได้จริง ก็เกรงว่าจะมีแต่การตั้งเงื่อนไขให้แก่กันและกัน มากกว่าการฟังกัน เท่ากับไม่บรรลุเป้าหมายของการสานเสวนา จนกลายเป็นการเจรจาธรรมดาๆ ไม่ใช่การสานเสวนาจริง
ในขณะที่พลังทางสังคมซึ่งหวังว่าจะบีบบังคับให้ทุกฝ่ายเข้าร่วมการสานเสวนาไม่เกิดขึ้น
สิ่งสำคัญในการเริ่มต้นกระบวนการสานเสวนา จึงไม่ใช่การทำให้ฝ่ายที่อยู่ในความขัดแย้งโดยตรงยอมฟังกันและกัน หากอยู่ที่สร้างเงื่อนไขทางสังคมที่เป็นผลบังคับให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องยอมฟังกันและกันก่อน (เงื่อนไขเช่นนี้ในกรณีความขัดแย้งในประเทศอื่นๆ อาจเป็นมติของชาวโลก,ของมหาอำนาจ,ของสังคมที่เห็นแล้วว่า ความขัดแย้งนั้นไม่นำไปสู่อะไรนอกจากความเสียหายแก่ส่วนรวม,หรือของคู่ความขัดแย้งที่พบว่า ไม่มีทางชนะกันอย่างเด็ดขาดได้ ฯลฯ)
องค์กรที่ร่วมจัดการสานเสวนาในครั้งนี้ จึงควรให้ความสนใจด้านนี้ให้มากขึ้นกว่าการรณรงค์ เพราะผู้คนในสังคมไทยมีปัญหาของตัวเองที่ไม่เกี่ยวอะไรกับความขัดแย้งทางการเมืองอีกมากมาย แต่ปัญหาเหล่านี้กลับถูกละเลยหรือลดความสำคัญในสื่อ ทั้งๆ ที่ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นความเป็นความตายของคนส่วนใหญ่ทั้งสิ้น
การรณรงค์ทางสังคม (หากจะเรียกว่าการรณรงค์) จึงควรออกมาในเชิงรูปธรรมที่มีผลต่อนโยบายสาธารณะด้วย องค์กรร่วมจัดอาจจัดการประชุมโต๊ะกลม,การสัมมนา,การเสวนา ฯลฯ ที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาเหล่านี้ด้วย เพื่อนำข้อเสนอที่หลากหลายต่างๆ เข้าสู่สังคม ให้มากกว่า"การเมืองใหม่" หรือ "การต่อต้านรัฐประหาร"
ขอยกเป็นตัวอย่างให้ดูบางเรื่อง
ในยามที่เราหลีกหนีผลกระทบทางเศรษฐกิจของวิกฤตการเงินโลกไม่พ้น รัฐน่าจะต้องเข้ามามีบทบาทในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนกลุ่มต่างๆ มากขึ้น มีเรื่องที่สังคมไทยต้องคุยกันมากทีเดียว เช่นเราควรปรับเปลี่ยนระบบภาษีอย่างไร เพื่อบรรเทาปัญหาและเพิ่มพลังของรัฐในการเข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนกลุ่มต่างๆ
คงภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7% ก็มีข้อดีหลายอย่าง แต่มองเรื่องนี้จากสายตาพ่อค้าฝ่ายเดียวซึ่งย่อมต้องการรักษากำลังซื้อของตลาดไว้ อาจทำให้รัฐไม่มีเงินเพียงพอที่จะทำหน้าที่ในยามวิกฤตเศรษฐกิจก็ได้ นักวิชาการสามารถคำนวณผลกระทบของการคงภาษีไว้ที่ 7% หรือเพิ่มถึง 10% ให้เห็นเป็นตัวเลขได้ อันเป็นแนวทางสำหรับการสานเสวนากันระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ นับตั้งแต่ผู้บริโภค,นักวิชาการ,นักการเงิน, อุตสาหกร,พ่อค้า ฯลฯ
แม้ไม่อาจสรุปผลอะไรออกมาได้ แต่สังคมโดยรวมจะถูกดึงให้มาสนใจปัญหาอื่นๆ นอกจากความขัดแย้งทางการเมือง
มีปัญหาทำนองนี้อีกมากมายที่สังคมควรได้รับรู้ และร่วมคิด เช่นจะจัดการศึกษากันอย่างไร จึงจะสามารถเพิ่มสมรรถภาพของคนไทยในโลกาภิวัตน์ได้ทันกาล ไม่เฉพาะแต่ในทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่รวมถึงด้านสังคมและวัฒนธรรมซึ่งเปลี่ยนไปอย่างมาก
จะเตรียมการในโลกที่พลังงานฟอสซิลหายากขึ้นได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน,กระแสไฟฟ้า, เชื้อเพลิงเพื่อการผลิต,และเชื้อเพลิงเพื่อการขนส่งคมนาคม
แม้แต่ปัญหาการเมืองก็อาจนำมาคุยกันได้ โดยมีคนหลากหลายกลุ่มเข้าร่วม และนำไปสู่การมองปัญหาการเมืองจากมิติที่หลากหลายกว่าถูก-ผิด
สร้างเวทีของการ"ฟัง"กันและกันขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายฉลาดขึ้นหรือรู้จักคิดอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นั่นก็คือมองเรื่องเดียวกันจากมุมมองหลายมุมได้
พลังสังคมจะเกิดขึ้นจากการกระทำที่เป็นรูปธรรมเช่นนี้ ในขณะที่พลังของกลุ่มขัดแย้งก็จะลดลงไปพร้อมกัน จน-กระทั่งกลุ่มเหล่านี้พร้อมจะเข้าร่วมสานเสวนาตามความประสงค์ได้จริง
หน้า 6
ที่มา : มติชนรายวัน,วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
No comments:
Post a Comment