วันที่ 11 ฟฤศจิกายน พ.ศ. 2551
"ตรวจสอบการเมืองภาคประชาชนเชิงสถาบัน"
โดย ประภาส ปิ่นตบแต่ง
ความไม่เพียงพอของประชาธิปไตยแบบตัวแทนของสังคมไทยได้นำมาสู่การยืดขยาย และทำให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยการสร้างการเมืองภาคประชาชนในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อการเลือกตั้งเป็นสิ่งจำเป็นแต่ไม่เพียงพอเสียแล้ว เราจึงเห็นความพยายามที่จะออกจากปัญหาดังกล่าวเรื่อยมา
หลังการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 (ซึ่งคณะผู้ยกร่างฯ บอกว่าหัวใจอยู่ที่การเมืองภาคประชาชน) เป็นเวลามากกว่า 1 ปี จึงควรมาช่วยกันดูว่า มีความคืบหน้า ล้าหลัง กันไปอย่างไรบ้าง
ด้านหนึ่ง มีกฎหมายลูกเพื่อทำให้เกิดพื้นที่ กลไก ของการเมืองประชาชน ที่จะต้องออกตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 1 ปี (มีบางฉบับกำหนดไว้ 2 ปี) จะพบว่ามีความคืบหน้าน้อยมาก ที่ก้าวหน้ามากที่สุด ก็คือ ร่าง พ.ร.บ. การทำประชามติ ซึ่งอยู่ในขั้นวุฒิสภา อาจจะเป็นเพราะรัฐบาลคุณสมัครต้องเร่งทำให้เสร็จ เพื่อจะเอามาเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง
กฎหมายอื่นๆ ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นการยกร่างเท่านั้น อาทิเช่น ร่างพระราชบัญญัติการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ (ตาม ม. 190) ร่าง พ.ร.บ. องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม (ตาม ม. 67) ร่าง พ.ร.บ. การมีส่วนร่วมของประชาชน (ตาม ม. 87 และ 287) ฯลฯ
ข้อสังเกตโดยเบื้องต้น ก็คือ กฎหมายเหล่านี้มีความสำคัญที่จะช่วยขยายพื้นที่การเมืองภาคประชาชนเชิงสถาบันให้ลงรากปักฐาน แต่กลับไม่มีความคืบหน้ามากนัก ไม่มีใครให้ความสนใจเข้าไปตรวจสอบ กำกับ หรือผลักดันให้เป็นไปในทิศทางที่ดี กฎหมายเหล่านี้ จึงไม่ได้ร่างโดยผู้คนในสังคม กระบวนการพิจารณาร่างโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ดังเช่น ร่าง พ.ร.บ. การทำประชามติ ก็ไม่มีใครเข้าไปตรวจ กำกับ แต่อย่างใด
ภาคประชาชนเคยตั้งท่าที่จะเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายลูกเหล่านี้ ควบคู่ไปกับฝ่ายรัฐบาลที่มอบหมายให้มีผู้ยกร่างฯ แต่ก็แทบจะไม่มีการดำเนินการเลย
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ซึ่งติดตามและผลักดัน และยกร่างพระราชบัญญัติการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พยายามรวบรวมรายชื่อให้ครบ 10,000 ชื่อ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2551 โดยรณรงค์หน้ากระทรวงการต่างประเทศ แต่ก็ดูเหมือนว่า จะถอดใจ โดยได้ส่งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวยื่นไปที่กระทรวงต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้ยกร่างฝ่ายรัฐบาลโดยตรง
ร่าง พ.ร.บ. องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม เครือข่ายองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมให้ความสนใจ และมีการยกร่างฯ ขึ้นมา ส่วนความพยายามรวบรวมรายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน ก็ดูเหมือนจะตกอยู่ในสถานะเดียวกัน
ตัวอย่างเหล่านี้ พอแสดงให้เห็นถึงสถานะ และชะตากรรมของกฎหมายลูกตามรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า คงไม่เสร็จตามกำหนดเวลา 1 ปี (ในราวเดือน ก.พ. 2552) และคงจะเป็นกฎหมายที่ถูกยกร่างฯ จากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก
ทีนี้ ลองดูการใช้กลไกการเมืองภาคประชาชน ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2550 ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ช่องทางสำคัญหนึ่ง คือ การเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน จะพบว่ามีความพยายามของประชาชนที่จะใช้ช่องทางดังกล่าวนี้อยู่บ้าง แต่ไม่กว้างขวางมากนัก และยังมีอุปสรรคสำคัญในเชิงการจัดการ และต้นทุนที่สูง
กฎหมายที่มีความพยายามใช้ช่องทางนี้อย่างแข็งขันที่สุด ก็คือ ร่าง พ.ร.บ. สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่ผลักดันโดยสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2550 และมีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2550 โดยตั้งเป้าว่าจะรวบรวมให้เสร็จภายในเดือนมีนาคม 2551 เพื่อให้ทันกับวันครบรอบ 15 ปี โศกนาฏกรรมเคเดอร์ไฟไหม้ตึกถล่ม (ตรงกับวันที่ 10 พฤษภาคม 2551) แต่จนถึงปัจจุบันรายชื่อทั้งหมดสามารถรวบรวมได้ประมาณ 5,000 รายชื่อ คุณสมบุญ สีคำดอกแค บอกว่า ปัญหาใหญ่สำหรับการจัดการ คือ เรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงมาก
ร่างกฎหมายโดยประชาชนที่ดูจะไปได้มากที่สุดในแง่การจัดการ ก็คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญพร้อมรายชื่อประชาชน สองแสนหนึ่งหมื่นรายชื่อ เพื่อประกอบในการยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ตามมาตรา 291 (1) ต่อประธานรัฐสภา ที่เสนอโดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ (คปพร.) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2551
ที่น่าสนใจอีกฉบับหนึ่ง ก็คือ ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) รายชื่อยังอยู่ระหว่างการรวบรวม ซึ่งตั้งแต่เริ่มต้น (คัดค้านตั้งแต่การเข้าสู่ที่ประชุม สนช. จนผ่านความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2550 และเริ่มรวบรวมรายชื่อในวันที่ 21 ธันวาคม 2550) จนถึงตอนนี้ สามารถรวบรวมได้เพียง 8,000 รายชื่อ
ด้านกลไกการถอดผู้บริหารโดยประชาชน มีการเสนอรายชื่อการถอดถอนนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีสาธารณสุข โดยมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค และเครือข่าย/ชมรมแพทย์ต่างๆ ซึ่งถือเป็นการทดลองการเข้าชื่อครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญใหม่ อีกกรณีหนึ่ง ก็คือ การถอดถอนนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.และ ส.ว.จำนวนหนึ่ง ที่ร่วมลงนามเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยพันธมิตร
ข้อสังเกต ก็คือ กลไกเชิงสถาบันของการเมืองภาคประชาชน มักถูกหยิบขึ้นมาใช้เพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในระดับที่ต้องการให้กลายเป็นประเด็นทางการเมือง ให้เป็นข่าว เมื่อหมดหน้าที่ของมันในลักษณะดังกล่าวก็จะถูกเมินเฉย หรือโยนทิ้งไป ไม่แยแสอีกต่อไป ปัญหาการจัดการ ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้ชาวบ้าน คนงาน และคนจน ใช้กลไก ช่องทางเหล่านี้ลำบาก
สิ่งสำคัญที่ตามมา ก็คือ เมื่อใช้เป็นเพียงเครื่องมือแคบๆ เช่นนี้ เราจะไม่สามารถหาบทเรียนและพัฒนากลไกเหล่านี้ให้ลงรากปักฐาน และให้คนเล็กคนน้อยสามารถใช้ได้ในระยะยาวต่อไป เรื่องเช่นนี้จะช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ได้อย่างไร ก็เห็นทีจะยาก เพราะไม่ได้อยู่ในอารมณ์ และความสนใจของผู้คนในสังคมขณะนี้เอาเสียเลย
( bangkokbiznews.com)
No comments:
Post a Comment