"ความรุนแรงข้างใต้สันติวิธี"
โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล
มีคนจำนวนไม่น้อยได้พยายามกระทำในหลายวิถีทาง เพื่อป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งทางการเมืองแปรไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่กันในปัจจุบัน
ความพยายามดังกล่าวซึ่งมาจากหลายฝ่ายเป็นสิ่งที่ควรต้องได้รับการผลักดันและสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นเสียงสะท้อนของบรรดาพวก "2 ไม่เอา" อันหมายถึง กลุ่มคนที่ไม่ได้เข้าไปยืนอยู่กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างเต็มตัว และรวมถึงกลุ่มซึ่งต้องการมองหาทางออกจากความขัดแย้งที่ดูราวกับว่าจะหาทางเดินหน้าต่อไปไม่ได้
แต่การกระทำที่เอ่ยถึงมาข้างต้น คงไม่อาจจะประสบความสำเร็จได้ง่ายๆ ถ้าหากมุ่งเป้าไปเฉพาะที่การประณามการตีหัวกันไม่ว่าจะเป็นระหว่าง 2 ฝ่าย หรือโดยเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนเท่านั้น
ควรเข้าใจว่าการตีหัวหรือทำร้ายกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลือง/เสื้อแดง มิใช่เป็นผลมาจากการเหยียบตาปลาหรือการเหม็นขี้หน้าอีกฝ่ายเท่านั้น การลงมือทำร้ายกลุ่มคนที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยมีเรื่องบาดหมางส่วนตัวกัน แทบจะไม่รู้ด้วยว่าอีกฝ่ายเป็นใครมาจากไหน แม้กระทั่งอีกฝ่ายหมดทางป้องกันตัวแล้วยังมีการทำร้ายได้อย่างต่อเนื่อง ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะการกระทำในลักษณะเช่นนี้ แม้กระทั่งกับสัตว์เดรัจฉาน ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากสำหรับคนธรรมดาทั่วไป
อะไรคือเหตุผลสำคัญของเรื่อง และจะทำให้ความรุนแรงนี้บรรเทาลงได้อย่างไร
การแสดงออกที่กล่าวมาข้างต้นเป็นผลมาจากกระบวนการกล่อมเกลา การให้ข้อมูล อย่างต่อเนื่องที่ทำให้รู้สึกว่าอีกฝ่ายคือศัตรู เมื่อเป็นศัตรูหรือหมายถึงผู้ที่ไม่ควรจะดำรงอยู่รวมกันแล้ว การใช้กำลังในลักษณะที่คนธรรมดาไม่กระทำต่อกันจึงบังเกิดขึ้น
หากพิจารณาความยุ่งยากที่ปรากฏตัวอยู่ ณ ปัจจุบัน ไม่อาจกล่าวได้ว่าเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเพียงแค่ความเห็นต่างทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย หากมีสภาพที่กำลังดำเนินไปสู่การสร้างสงครามขึ้นระหว่างคนสองกลุ่ม โดยที่ต้องกำจัดอีกกลุ่มหรืออีกฝ่ายให้สูญสิ้นไป การใช้วลี "สงคราม" มาเป็นคำอธิบายการเคลื่อนไหว และรวมไปถึงการสร้าง "นักรบ" ไม่ว่าจะเป็นศรีวิชัยหรือพระเจ้าตาก จึงไม่ได้มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น แต่มีส่วนอย่างสำคัญต่อการกำหนดท่าทีว่าควรและจะกระทำอย่างไรต่ออีกฝ่ายหนึ่ง
เมื่อเป็นสงครามเสียแล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องสู้เพื่อให้รู้แพ้รู้ชนะ ในสงครามการเสมอหรือเจ๊ากันเป็นสิ่งที่บรรดาแม่ทัพนายกองทั้งหลายไม่ประสงค์จะให้เกิดขึ้นแน่นอน
ในการต่อสู้เพื่อให้ได้ชัยชนะ การปลุกเร้าผู้สนับสนุนและกองกำลังของตนจึงเป็นสิ่งที่ต้องใช้ภาษาและเรื่องเล่าที่จะนำมากระตุ้น ชี้นำ เพื่อนำไปสู่ทั้งความเกลียดชังต่ออีกฝ่ายและความฮึกเหิมให้เพิ่มทวีมากขึ้น
ต้องทำให้อีกฝ่ายไร้ความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทำให้อีกฝ่ายคือพวกที่กระทำความผิด ชั่วช้าสารเลว ผิดอย่างไม่อาจให้อภัยได้ ด้วยการละเมิดต่อหลักการหรือสถาบันบางอย่างที่มีความสำคัญต่อความหมายของฝ่ายตน การกระทำของฝ่ายเราคือการพิทักษ์ความดีที่ควรได้รับการยกย่องอย่างไร้ข้อกังขา
เมื่อเป็นดังนี้ จึงทำให้การตีหัวหรือทำร้ายอีกฝ่ายเกิดขึ้นได้ ดังเช่นที่ "ผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์" เคยกระทำต่อ "พวกคอมมิวนิสต์" มาแล้วกลางเมืองหลวงเมื่อ 30 ปีก่อน
การห้ามปรามหรือประณามการตีหัวอาจเป็นส่วนหนึ่งของการบรรเทาความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ แต่หากยังปล่อยให้กระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนี้ ยังคงมีลักษณะที่เป็นไปในรูปของสงคราม ไพร่พลที่อยู่ในทั้ง 2 ฝ่ายซึ่งสะสมความเกลียดชังอีกฝ่ายเอาไว้อย่างแน่นอน ก็พร้อมที่จะระเบิดความรู้สึกดังกล่าวออกมาได้ เมื่อมีสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยในวันใดวันหนึ่ง
การยุติความรุนแรงจึงมิใช่แต่เพียงด้วยการห้ามการตีหัว หากหมายรวมไปถึงการทำให้เกิดการมองผู้อื่นว่าเป็นมนุษย์เช่นเดียวกันกับตน มีเลือดมีเนื้อ มีญาติพี่น้อง มีคนที่รักเขาและมีคนที่เขารัก ที่สำคัญกว่าอื่นใดก็คือทั้งหมดล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมแห่งนี้ รวมถึงมีเหตุผลอะไรสนับสนุนการกระทำหรือการเลือกข้างของเขาเช่นเดียวกับที่เรามีคำอธิบายในการตัดสินใจเลือกฝ่ายของตน
การทำความเข้าใจมากกว่าการประณามแบบสาดเสียเทเสีย จะเป็นสิ่งที่ทำให้มองเห็นได้ว่าอะไรคือปัญหาข้อบกพร่องของสังคมการเมืองไทย รวมทั้งจะหาวิธีการออกไปจากปัญหาด้วยความร่วมมือ และความเห็นร่วมกันของสังคมได้อย่างไร
ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่สงคราม และไม่อาจจัดการได้ด้วยการใช้กำลังเข้ากวาดล้างอีกฝ่าย เพื่อให้เกิดยุคพระศรีอารีย์ขึ้นภายในพริบตา
ทางข้างหน้าที่ก้าวไปต่อเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ความคิดและความเอื้ออาทรในฐานะของเพื่อนร่วมสังคมที่ต่างก็ต้องอาศัยอยู่ในสังคมแห่งนี้ต่อไปรวมถึงลูกหลานของทุกฝ่าย ไม่มีใครสามารถนำสังคมไทยในวันนี้ไปได้ด้วยเพียงลำพังกลุ่มตนแต่เพียงกลุ่มเดียว
ทางออกไปจากความรุนแรงที่แอบแฝงในขณะนี้ เป็นไปได้ก็ด้วยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะการลดทอนภาวะของสงครามให้หมดสิ้นลง ซึ่งกระทำได้ด้วยการเผชิญหน้ากับข้อขัดแย้งต่างๆ ด้วยความจริงให้มากขึ้น การใช้ข้อมูลเพื่อสร้างอารมณ์ความรู้สึก การปั้นข้อมูลเท็จในเรื่องนับร้อยพันในห้วงเวลาที่ผ่านมาของทุกฝ่ายต้องถูกตั้งคำถามหรือตรวจสอบ การละเลยโดยปล่อยการโป้ปดผ่านสื่อมวลชนต่างๆ ไม่ว่าจะสื่อของเอกชนหรือรัฐต้องไม่ถูกปล่อยให้เป็นเสรีภาพเพื่อสร้างความเกลียดชัง
อาจมีความเห็นต่างระหว่างแต่ละกลุ่ม แต่ต้องไม่ทำให้ความเห็นต่างนั้นนำไปสู่ความไม่เป็นมนุษย์ เงื่อนไขเช่นนี้ต่างหากที่จะทำให้ความเห็นที่แตกต่างหรือขัดแย้งดำเนินไปอย่างสันติและเคารพในความเป็นมนุษย์ระหว่างกันและกัน
การเคลื่อนไหวที่แฝงไปด้วยความเกลียดชัง และพร้อมจะตีหัวผู้อื่นทุกเมื่อ ย่อมไม่อาจนับเป็นสันติวิธีได้หากเป็นเพียงเครื่องมืออันน่ารังเกียจของผู้แสวงหาประโยชน์ทางการเมืองไม่ว่าจะกระทำโดยฝ่ายใดก็ตาม
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์,วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2551
No comments:
Post a Comment