Friday, June 26, 2009

"ข้อคำนึงเรื่องการเมืองนำการทหารที่ชายแดนใต้"



วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11430 มติชนรายวัน


"ข้อคำนึงเรื่องการเมืองนำการทหารที่ชายแดนใต้"

โดย เกษียร เตชะพีระ



ท่ามกลางเหตุการณ์ไม่สงบชายแดนภาคใต้ที่ดุเดือดรุนแรงยิ่งขึ้นในระยะหลังนี้ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับผู้บัญชาการทหารบก พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ยืนยันตรงกันว่าทางราชการจะยึดมั่นแนวทางการเมืองนำการทหาร ในการแก้ปัญหาดังกล่าวต่อไปอย่างไม่วอกแวกลังเล

นี่เป็นท่าทีที่หนักแน่นน่ายินดี เทียบกับท่าที "ยั่วปุ๊บ ยัวะปั๊บ" หรือ "บ้ามาก็บ้าไป" ของผู้นำสมัยก่อน ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่สุดของฝ่ายรัฐที่ผู้ก่อความไม่สงบสามารถคาดทำนายและกดปุ่มสั่งได้ดังใจปรารถนาตามแผนยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของตน

ทว่า ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมรุนแรงขึ้นนี้ ควรที่เราจะแตกประเด็นและคิดให้ละเอียดลึกซึ้งว่าที่เรียก ว่า "แนวทางการเมืองนำการทหาร" นั้นแปลว่าอะไร? มีสิ่งใดที่ควรคำนึงประกอบบ้างระหว่างดำเนินการ?

ในฐานะอดีตนักรบจรยุทธ์ที่พอมีประสบการณ์ เคยพ่ายแพ้ให้แก่ "แนวทางการเมืองนำการทหาร" ของรัฐไทยมาแล้ว ผมใคร่ขอออกความเห็นสักเล็กน้อย

การประกาศเดิน "แนวทางการเมืองนำการทหาร" ของฝ่ายรัฐพูดให้ถึงที่สุดก็คือการตระหนักรับ ว่าที่ตนทำอยู่คือสงครามประชาชน-สงครามแย่งชิงประชาชน!

มันไม่ใช่สงครามแบบแผนธรรมดาเหมือนไทยรบพม่าสมัยกรุงศรีอยุธยาที่จับดาบติดปืนยกไพร่พลขี่ช้างม้าเข้าทำยุทธหัตถีกันตรงๆ, ฉะนั้น จึงไม่มีทางออกทางการทหาร หรือ military solution สำหรับสงครามแบบนี้

ตรงกันข้าม การก้าวรุดหน้าชิงความได้เปรียบในสงครามประชาชนไม่ได้วัดด้วยพื้นที่ดินแดนเป็นตารางกิโลเมตร, จำนวนหมู่บ้าน หรือจำนวนศพที่ยึดครองฆ่าฟันได้ด้วยกำลังทหาร หากวัดด้วยการแย่งชิงพื้นที่ในจิตใจของมวลชนชาวบ้านมาเป็นฝ่ายเราด้วยแนวนโยบายการเมืองที่ถูกต้องสอดคล้องกับความเรียกร้องต้องการของพวกเขา-ทีละคนๆ

เป้าหมายหลักชัยบั้นปลายคือต้องโดดเดี่ยวฝ่ายศัตรูทางการเมืองให้ถึงที่สุด-ให้เหลือแต่ผู้ก่อความไม่สงบหยิบมือเดียวที่ตั้งประจัญกับรัฐบาล-เจ้าหน้าที่ราชการ-และมวลชนอันกว้างใหญ่ไพศาลที่สุดทั้งในพื้นที่, ทั่วประเทศ และสากล

โดดเดี่ยวจนพวกเขาไม่เห็นชัยชนะ ไม่เห็นอนาคต จนพวกเขาชักเริ่มสงสัย...

สงสัยว่านี่กำลังสู้กับใคร-กับมวลชนพ่อแม่พี่น้องญาติมิตรที่เคยเป็นฐานสนับสนุนของพวกเขาเอง กระนั้นหรือ?

สงสัยว่าสู้ไปเพื่ออะไร-ในเมื่อเป้าหมายอันถูกต้องชอบธรรมที่เรียกร้องก็ดูเหมือนฝ่ายรัฐกำลังยอม ประนีประนอมหยิบยื่นเสนอให้บางส่วนอย่างค่อยเป็นค่อยไป?

สงสัยว่าจะฆ่าฟันกันไปทำไม-ในเมื่อมีช่องทางเปิดกว้างให้ออกไปต่อสู้อย่างสันติและชอบด้วยกฎหมายด้วยหนทางอื่น?

ในทางกลับกัน หลักหมายแห่งหายนะและความปราชัยในสงครามแบบนี้ก็คือปล่อยให้เกิดการเปลี่ยนแปรการต่อสู้ขัดแย้งจากฝ่ายรัฐกับผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มเดียวขบวนการเดียว ไปเป็น "สงครามกลางเมือง" ระหว่างมวลชนต่างเชื้อชาติ, ศาสนา หรือชุมชนกัน...

โดยผูกโยงเหมารวมผู้ก่อความไม่สงบเข้าเป็นพวกเดียวกับมวลชนฝ่ายหนึ่งบนฐานเชื้อชาติ หรือศาสนา หรือชุมชน ทั้งที่อาจมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการก่อความไม่สงบและผู้บริสุทธิ์ไม่เกี่ยวข้องอยู่มากมายในมวลชนฝ่ายนั้น

โดยปล่อยปละละเลยหรือแย่กว่านั้นคือผลักไสมวลชนเชื้อชาติหนึ่ง ศาสนาหนึ่ง หรือชุมชนหนึ่งให้กลายเป็นพวกผู้ก่อความไม่สงบหรือศัตรูของรัฐทั้งกลุ่มแบบเหมาหมดโดยไม่จำแนกแยกแยะ

เท่ากับขยายฐานเพิ่มพวกเติมกำลังให้ผู้ก่อความไม่สงบมหาศาลฟรีๆ อย่างเหลวไหลโง่งมงายและขาดสำนึกรับผิดชอบที่สุด

ผมเกรงว่าเหตุการณ์รุนแรงถี่กระชั้นระยะใกล้นี้โดยเฉพาะกรณีกราดยิงชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ตายเจ็บเกลื่อนขณะทำพิธีละหมาดในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอปาแย หมู่ 8 ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อคืนวันที่ 8 มิถุนายนศกนี้ และกรณียิงพระสงฆ์ระหว่างบิณฑบาตจนมรณภาพและบาดเจ็บที่ จ.ยะลา ซึ่งเกิด ตามมาเมื่อเช้าวันที่ 12 มิ.ย. ชี้ว่าสงครามแย่งชิงประชาชนชายแดนภาคใต้กำลังถูกผลักดันให้ขยับเคลื่อนไปในทิศทางของสงครามกลางเมืองระหว่างชนต่างเชื้อชาติ หรือศาสนาอย่างน่าวิตก...

แนวทางการเมืองนำการทหารไม่ได้หมายถึงไม่มีการทหาร ไม่รบ ไม่ใช้ปืนเลยแบบหน่อมแน้มสุดสุด

แต่หมายถึงใช้การทหาร ใช้ปืน ทำการรบภายใต้แนวทางการเมืองที่ชัดเจนเป็นเอกภาพ, ภายใต้การนำและบังคับบัญชาแบบองค์เดียวอันเข้มแข็ง พร้อมรับผิดและมีประสิทธิภาพ, และภายในองค์การจัดตั้งของหน่วยรบ หน่วยงานมวลชนและหน่วยข่าวเหล่าต่างๆ ที่ประสานกันไปในทิศทางเดียว

การทหารหรือปืนเท่าที่มีจึงต้องถูกยึดกุมและชี้นำอย่างระมัดระวังเข้มแข็งชัดเจนเป็นเอกภาพ เพียงแค่ป้องกันไม่ให้ปืนตกไปอยู่ในมือฝ่ายตรงข้ามที่ก่อความไม่สงบเท่านั้นยังไม่พอ หากต้องระวังไม่ให้ปืนในมือฝ่ายเราด้วยกันเองผ่าเหล่าผ่ากอออกนอกแนวทางการเมืองที่ถูกต้องด้วย

การยิงสะเปะสะปะ ยิงอย่างไร้การจัดตั้ง ยิงออกนอกวิถีการนำทางการเมือง เพื่อสนองผลประโยชน์และระเบียบวาระเฉพาะกลุ่มหรือล้างแค้นส่วนตัว อาจทำลายมิตร ผลักไสมวลชน เพิ่มศัตรู จนบั่นทอนแนวทางการเมืองนำการทหาร และทำให้รัฐตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำพลาดท่าในสงครามแย่งชิงประชาชน

ดังตัวอย่างประสบการณ์ทำนองนี้มากมายกรณีกองกำลังทหารบ้าน (militias) ของฝ่ายนิกายโปรเตสแตนต์ในไอร์แลนด์เหนือ, ของฝ่ายชาวสิงหลในศรีลังกา, ของฝ่ายชาวคริสเตียนในเกาะมินดาเนา ฟิลิปปินส์, ของฝ่ายนิยมอินโดนีเซียในติมอร์ตะวันออก, ของฝ่ายชาวชวาในเกาะอาเจะห์ อินโดนีเซีย ฯลฯ เป็นอุทาหรณ์

ประเด็นใหญ่อีกประเด็นหนึ่งที่แนวทางการเมืองนำการทหารของฝ่ายรัฐค่อนข้างเพิกเฉยละเลยตลอดมาคือเรื่องความยุติธรรม

นับแต่ตอนก่อตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ก็มีการตัดตอนคำว่า "ยุติธรรม" ออกไปจากชื่อคณะกรรมการอย่างชวนฉงนทั้งที่คณะกรรมการแบบเดียวกันในประเทศอื่นๆ เขาจะใส่คำว่า "ยุติธรรม" หรือ "ความจริง" แสดงวัตถุประสงค์ไว้ชัดแจ้งในชื่อเป็นนิจศีล

และจนบัดนี้ ประเด็นนี้ก็ยังค้างคาอยู่ในใจของชาวบ้านชายแดนภาคใต้ที่รู้สึกว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรม โดยชอบด้วยกฎหมายจากทางราชการ ไม่ว่าในกรณีตากใบ, กรณีมัสยิดกรือเซะ, กรณีสะบ้าย้อย, กรณีอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตรและกรณีอุ้มหาย ทรมานและถึงแก่ความตายในระหว่างถูกคุมตัวอื่นๆ

ได้แต่เงินสงเคราะห์ปลอบขวัญชดเชย ซึ่งอาจช่วยเยียวยาบาดแผลทางกายได้ แต่กี่แสนกี่ล้านก็รักษาบาดแผลเจ็บช้ำน้อยเนื้อต่ำใจว่ารัฐไทยมีสองมาตรฐาน ว่าพวกเขาถูกปฏิบัติต่อเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศนี้ไม่ได้

แนวทางการเมืองนำการทหารที่จะสัมฤทธิผล ชนะใจประชาชนโดยเฉพาะชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู จึงต้องรวมเอาประเด็นความยุติธรรมเข้ามาเป็นสาระสำคัญตามความเรียกร้องต้องการของพวกเขา

นั่นไม่ได้หมายถึงการล้างแค้นเอาคืนตามใจใคร แต่หมายถึงการสร้างหลักนิติรัฐหรือทำให้กฎหมายเป็นอำนาจสูงสุดขึ้นมาอย่างเป็นจริงในพื้นที่ ไม่อนุญาตให้มีอำนาจนอกระบบใดไม่ว่าใหญ่มาจากไหนมารังแก เข่นฆ่าประชาชนอยู่เหนือกฎหมายเด็ดขาด

พึงระลึกว่าในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แม้แต่องค์พระประมุขก็ยังทรงยึดถือปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นแบบอย่าง รัฐบาลจะปล่อยให้ใครหน้าไหนใช้อำนาจเหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญ จนทำลายความยุติธรรมและแนวทางการเมืองนำการทหารพังพินาศล้มเหลวไปไม่ได้

มิฉะนั้น รัฐไทยก็จะตอกย้ำซ้ำรอยความผิดพลาดของรัฐบาลในอดีตอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

หน้า 6


ที่มา : มติชนออนไลน์




Friday, June 12, 2009

Voting with the wallet



Voting with the wallet

1 june 2009

By   Chang  Noi

It’s difficult to make any social or economic analysis of how people vote in Thai elections because the data are simply not available. In many countries exit pollsters collect information on how people voted along with data on income, social status, gender, and even attitudes. Here in Thailand, the Election Commission has banned such surveys. The state seems opposed to the collection of this sort of information, probably because of what it might reveal.

But you can do a bit of rough estimation with the figures that are available. One simple question is whether people’s voting is affected by how well-off they are.

At the 2007 general election, the average income of people in provinces which voted Democrat was two-and-a-half times the average income in provinces which voted for PPP.

(Technical stuff. The income comes from the 2007 Gross Provincial Product tables. A party “won” the province if it got more seats than any other party. Yes, Bangkok distorts the result, but not by very much. Taking Bangkok out of the calculation, the Democrat-voting provinces still had around twice the average income per head as the PPP -voting provinces.)

In the 2007 election year, the average income per head for the whole country was 128,606 baht. In the 25 Democrat-voting provinces, it was around 221,000 baht, well above the average. In the 32 PPP-voting provinces, it was around 93,000 baht, well below the average. What’s more, the pattern was relatively consistent. Only a handful of “poor” provinces voted Democrat. And only four provinces with income above the national average voted PPP (all on the outskirts of the capital).

A difference of two or two-and-a-half times is pretty large. An average family in the Democrat-voting provinces has an annual income of around 750,000 baht. In the PPP-voting provinces, the equivalent figure was only 300,000 baht.

But of course simple income can be very misleading as a guide to how well-off people really are. What about health and education and other indicators of the quality of life? One of the most sensitive markers of real poverty is malnutrition in infants and young children. The numbers have fallen sharply in Thailand over the past two decades, but there are still some areas where the figures are still significant. The provinces with the worst record on malnutrition are all in the outer northeast. Those provinces all voted PPP in 2007. The provinces with the next-worse record are in the inner northeast and upper north. All but one of these provinces voted PPP. None of them voted Democrat.

In the provinces which voted Democrat, there are around twice as many doctors per head of population as in the provinces which voted PPP. On average children stay at school for about a year and a half longer. In the PPP-voting provinces, a far larger proportion of schools are rated as of poor quality.

Most development indicators show the same pattern, with two exceptions. The PPP-voting provinces rank higher than the Democrat-voting provinces on the quality of family and community life, and on the level of social and political participation.

The UN has a Human Achievement Index which ranks all the provinces in terms of their human development. In 2007, most of the Democrat-voting provinces came in the top half of the ranking, with an average position of 22nd. Most of the PPP-voting provinces came in the bottom half of the ranking, with an average position of 45th. (Again, removing Bangkok changes this a bit but not much.)

Of course, you can look at these findings in many ways. A cynic might say that the PPP wins in the poorer provinces because it is cheaper to buy the votes there. Someone more idealistic might imagine that the poorer provinces voted PPP because the people there thought a PPP-led government would give them more help than a Democrat-led one.

The daily news is again filled with tales of politicians squabbling over suspiciously lucrative deals, coalition parties gaily stabbing one another in the back, generals dreaming of forming political parties to lead the country again, government agencies valiantly suppressing opportunities for free expression, and government spokesmen spouting nonsense with poker faces. This return of politics-as-usual is very comforting. It’s hard to recall that only a few weeks ago angry youths were hurling concrete blocks onto politicians’ cars, and launching blazing buses at the troops. And that a few days before that, large numbers of people dressed in red had been complaining about injustice, double standards, and privilege.

It’s comforting to feel that politics is just about wheeler-dealing among the gods, rather than about the resolution of deep-seated conflicts in the society. But it would probably be a mistake to be too comforted, too unmindful.  There are now some blunt, simple realities underlying Thai politics which are not going to disappear however many new parties are formed and however many back-room deals are made.  




Thursday, June 11, 2009

“5 ปีตากใบ 5 ปีไฟใต้ 5 เดือนรัฐบาลอภิสิทธิ์”


สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ   จัดสัมมนาเรื่อง 5 ปีตากใบ  5 ปีไฟใต้   5 เดือนรัฐบาลอภิสิทธิ์”      เมื่อ 11 มิ.ย. 52  เวลา  13.00 – 16.30 น.           ณ ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์   จุฬาฯ  ตึกสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์  ชั้น 2 อาคาร 3 คณะรัฐศาสตร์  จุฬาฯ  มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังการสัมมนาประมาณ  50  คน 

 
         ศ.ดร.วิทิต มันตราภรณ์  อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เหตุการณ์กราดยิงชาวบ้านมุสลิมระหว่างการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา เมื่อ  8 มิ.ย. 52  เป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจของประชาชนอย่างมาก  ยิ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นหลังศาลพิพากษาว่ากรณีเหตุการณ์ตากใบเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความผิด  ทำให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม  จะตอกย้ำความรู้สึกไม่ไว้วางใจฝ่ายรัฐมากขึ้น

           นายวิทิตฯ กล่าวว่า การแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมามีทั้งการพัฒนาที่ดีขึ้นและแย่ลง ส่วนที่ดีขึ้นประกอบด้วย 1 .ตอนนี้ทหารใช้คำพูดที่อ้างถึงสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมมากขึ้น ขณะที่มีข้อมูลการประทุษร้ายในค่ายทหารและเรือนจำลดลงจากปีก่อน ๆ 2 .จำนวนของบุคคลที่ถูกกักตัวอยู่ในค่ายลดลงและอยู่สั้นขึ้น มีการโอนตัวไปสู่เรือนจำเร็วกว่าสมัยก่อน 3 .เจ้าหน้าที่มีแนวโน้มที่ถูกลงโทษทางวินัยมากยิ่งขึ้น 4 .กลุ่มประชาสังคมหนาแน่นขึ้น พร้อมช่วยเหลือเหยื่อได้มากขึ้น  5 .สถิติความรุนแรงลดลง 

         ขณะที่สิ่งที่แย่ลงก็มี 5 ประการเช่นกันคือ 1 .การปฎิบัติการรุนแรงมากขึ้น มีการฆ่ากันตายในมัสยิด ผู้ที่ถูกโจมตีเป็นผู้นำชุมชน โต๊ะอิหม่าม ครู บั่นทอนจิตใจประชาชนและเยาวชน 2 .ผู้ก่อสถานการณ์ยังคงนิรนาม แต่ส่งผลกระทบวงกว้าง ขึ้น 3 .ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.)ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ 4 .เหตุการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแนวรบอย่างค่ายทหาร แต่เกิดในชุมชนชาวบ้านมากขึ้น และ 5 .การปฎิบัติการไม่ได้มุ่งสู่การให้บทบาทภาคพลเรือน 

         นายวิทิตฯกล่าวต่อว่าการแก้ปัญหาความรุนแรงไม่ได้อยู่ที่การใช้กฎหมาย ความมั่นคง เพราะถ้าใช้แล้วขัดหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม ก็แก้ปัญหาไม่ได้     ต้องให้ชาวบ้านเข้าถึงศาลโดยเร็ว ผู้ต้องหาสามารถเข้าถึงครอบครัวและทนายอย่างสม่ำเสมอ ห้ามไม่ให้ประทุษร้ายอย่างชัดเจนชัดแจ้ง เป็นห่วงสิ่งที่เกิดในท้องถิ่น ที่จะมากกว่าในค่าย โดยเฉพาะกรณีตากใบถ้าประชาชนยังติดใจอยู่ ก็สามารถฟ้องแพ่งต่อได้

         นายวิทิตฯกล่าวถึงข้อเสนอของเอ็นจีโอและนักวิชาการบางส่วนที่เรียกร้องให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก  ว่าส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว  เพียงแต่ต้องการให้บังคับใช้ในกรอบเจตนารมณ์ของกฎหมายและคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด

         นายวิทิตฯ เสนอทางออกในการแก้ปัญหาว่า 1 .การเยียวยาต้องใช้ภาคพลเรือนเป็นตัวนำ และไม่ใช้กฎหมายเพื่อลบล้างความผิดของผู้กระทำ 2 .กระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วม 3 .เน้นการเข้าถึงเหยื่อครอบครัว สม่ำเสมอ มากยิ่งขึ้น ให้เงินไม่พอเขาต้องการความเป็นธรรม 4 .ดำเนินมาตรการทางการเมืองและสังคม โดยให้ผู้นำมีกิจกรรมร่วมกัน เยาวชนมีกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น และ 5 .ต้องมียุทธศาสตร์สร้างความมั่นคงทางจิตใจของประชาชน เพราะที่ผ่านมาประชาชนมีความหวาดระแวงรัฐ 

         นางอัมรา  พงศาพิชญ์   ว่าที่ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  กล่าวว่าการแก้ไขปัญหาภาคใต้ที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้น  ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจัดความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการพลเรือนกับทหาร  ซึ่งสะท้อนว่าพลเรือนยังไม่มีบทบาทในการทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น

        นายรัษฎา มนูรัษฎา  ตัวแทนสภาทนายความแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า กรณีการเสียชีวิต 85 ศพ ที่อ.ตาบใบ นั้นแม้ว่าศาลจะมีคำสั่งออกมาว่าเป็นการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ปฎิบัติหน้าที่       แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฎผ่านสื่อคือมีการถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง ประชาชนจำนวนมาก ขณะที่รถมีจำนวนน้อย และพบว่ายิ่งรถคันที่ขนรอบดึกยิ่งมีผู้เสียชีวิตมาก ดังนั้นเท่ากับการเสียชีวิตตั้งแต่คันแรก ๆ ไม่มีการแก้ไข ขณะที่กรรมาธิการวุฒิสภา อาทิ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตส.ว. ให้การกับศาลว่าอยู่ ๆ คนจะขาดอากาศหายใจแล้วเสียชีวิตไม่ได้ แต่ต้องมีสาเหตุ ซึ่งมาจากการถูกกดทับที่ปอด ทรวงอก ทำให้หายใจไม่ได้ ดังนั้นตามประมวลวิธีพิจารณาความทางอาญาระบุว่าแม้ศาลมีคำสั่งออกมาก็ไม่กระเทือนสิทธิของผู้เสียหายในการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญาได้    โดยในทางอาญามีอายุความ 20 ปี  ดังนั้น ทางผู้เสียหายควรดำเนินการต่อสู้ต่อไป   นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้สำนักงานศาลยุติธรรมนำคำสั่งมาพิจารณาว่ามีความครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่
         น.ส.เอริณ เชาว์   ( Erin  Shaw )  ผู้ร่วมสังเกตการณ์คดีตากใบ องค์การนักนิติศาสตร์สากล   กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายให้ความเป็นธรรมกรณีเหตุการณ์ที่อ.ตากใบ โดยเฉพาะการใช้ปืนกับผู้ชุมนุม อยากถามว่าหากเกิดการสลายการชุมนุมแบบนี้ที่กรุงเทพฯ  คนกรุงเทพฯจะรู้สึกอย่างไร รวมถึงคดีการยิงในมัสยิด  เมื่อ 8  มิ.ย. 52   เนื่องจากกระทบกระเทือนต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากลอย่างยิ่ง

         เรียกร้องให้รัฐบาลปกป้องสิทธิของประชาชนมากกว่านี้และมองการแก้ปัญหาด้วยมุมมองสิทธิมนุษยชนมากขึ้น รัฐบาลต้องทบทวนหลักการปฎิบัติเกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยให้สอดคล้องกับหลักสากล  ห้ามไม่ให้มีการทรมาน การปฏิบัติต่อประชาชนอย่างไร้มนุษยชน

         กล่าวว่ากรณีเหตุการณ์ตากใบทหารทำหน้าที่ไม่เหมาะสม  การใช้ปืนของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติที่ขัดกฎหมายและละเมิดสิทธิของประชาชนต้องได้รับการลงโทษ 

         นางแยนะ สะแลแม  ผู้ประสานงานผู้เสียหายในคดีตากใบ     กล่าวว่า ตลอด 5 ปีที่เกิดเหตุการณ์ที่อ.ตากใบ สร้างความสนใจให้คนทั้งประเทศและต่างประเทศ แต่ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่รัฐมาไถ่ถามญาติผู้เสียชีวิตเลยว่าเป็นอย่างไรบ้าง   ผู้ว่าราชการจังหวัดเปลี่ยนมา 3 คนก็ไม่เคยถาม   จึงไม่เข้าใจว่าไม่คิดจะช่วยเหลือเยียวยากันบ้างเลยหรืออย่างไร   แม้แต่ตำรวจเมื่อชาวบ้านไปถามต่างก็บอกว่าไม่รู้เรื่องเพราะเข้ามาพื้นที่ภายหลังเหตุการณ์ ดังนั้นขอเรียกร้องให้ทนายความและและองค์กรสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ดำเนินการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมต่อไป

         นางสาวประทับจิต นีละไพจิตร คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ   กล่าวว่า กรณีตากใบ สะท้อนว่าวิธีการมองสงคราม สันติภาพ และความยุติธรรมในสังคมไทย   เห็นว่าสิ่งที่ทำให้สงครามแยกออกจากสันติภาพคือความยุติธรรม ไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่รัฐไทยมองว่าสันติภาพคือความสงบ ราบคาบ รัฐจัดการการชุมนุมในที่ต่างๆด้วยความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า  เรียกร้องให้รัฐบาลและสังคมไทยใส่ใจกับมิติความยุติธรรมมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาภาคใต้

         เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบาย “การเมืองนำการทหาร”อย่างแท้จริง  เพราะทุกวันนี้ทหารนำชาวบ้านไปอบรมโดยมีการบังคับข่มขู่ด้วย  ว่าหากไม่ไปถือว่าไม่ให้ความร่วมมือจะถูกดำเนินการด้วยมาตรการพิเศษ  และมีการเก็บข้อมูลผู้ไปอบรม เช่น เก็บตัวอย่างน้ำลาย,DNA  ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน 

         กล่าวว่าแม้ผลการตัดสินของศาลกรณีตากใบจะกระทบความรู้สึกของประชาชนในพื้นที้มาก  แต่กระบวนการทางศาลก็ยังเป็นสิ่งที่ชาวบ้านยังให้ความไว้วางใจอยู่  เมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นๆของรัฐ 

         ส่วนกรณีการยิงในมัสยิด เมื่อ 8 มิ.ย.  52  นั้น  เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดวิพากษ์วิจารณ์และให้โอกาสเจ้าหน้าที่ ได้ทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ควรตั้งธงไว้ก่อนว่าใครเป็นคนทำ หากรัฐบาล ค้นพบหลักฐานว่าใครเป็นผู้กระทำต้องจัดการอย่างเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด การคลี่คลายปัญหาต่างๆควรจะเน้นให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชน 

         นายปกรณ์ พึ่งเนตร  นักข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ/บรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศรา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2548 มุมมองชาวบ้านที่มีต่อรัฐไม่ดีขึ้น เนื่องจากรัฐโดยเฉพาะฝ่ายทหารไม่สามารถสร้างจิตวิทยามวลชนในภาพกว้างได้สำเร็จ แม้หลายหน่วยทหารในพื้นที่สามารถทำให้ชาวบ้านรักและไว้ใจได้ แต่ในระดับสังคมยังทำไม่ได้ ยกตัวอย่างกรณีอย่างกรณีการเสียชีวิตจำนวนมากที่อ.ตากใบนั้น รัฐบาลไม่เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าหากญาติผู้เสียชีวิต ยังคาใจต้องการฟ้องร้องให้รัฐบาลพร้อมจะจัดทนายเพื่อสู้คดีให้ 

        กล่าวว่ากรณีเหตุการณ์ยิงที่มัสยิดเมื่อ 8  มิ.ย. 52 นั้น   หลังจากเกิดเหตุ 2 ชั่วโมง โฆษกฝ่ายทหารออกมาแถลงว่าคนที่ยิงไม่รู้ว่าใครแต่ไม่ใช่ทหาร จึงควรถามต่อไปว่าได้ตรวจสอบรอบด้านแล้วหรือไม่ถึงรู้ว่าคนร้ายไม่ใช่ทหาร ขณะที่ทหารในพื้นที่บางส่วนทหารบางส่วนยังมีทัศนคติในแง่ลบต่อคนมุสลิม มองว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากมุสลิม ความรู้สึกของชาวบ้านที่คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อเกิดเหตุร้าย รัฐจึงพ่ายแพ้แก่ข่าวลือว่ารัฐเป็นฝ่ายกระทำ 

         นายปกรณ์ฯ กล่าวต่อว่า รัฐบาลชุดนี้นั้นแต่เดิมเป็นความหวังว่าจะแก้ปัญหาได้ แต่เมื่อผ่านไป 5 เดือนกลับไม่มีผลงานที่เป็นรูปธรรม คณะรัฐมนตรีชุดพิเศษที่มีนายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย เป็นประธาน ก็เพิ่งประชุมไปแค่ครั้งเดียว ส่วนร่างพ.ร.บ.การบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะเป็นองค์กรใหม่แก้ปัญหา ขณะนี้ยังไม่ผ่านแม้แต่ในชั้นคณะรัฐมนตรี ขณะที่งบประมาณในการดับไฟใต้ปีนี้ ที่อยู่ในกระทรวงกลาโหมและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) มากถึง 1.7 หมื่นล้านบาท ถือว่ามากกว่า 50 เปอร์เซนต์ ของงบดับไฟใต้ที่กระจายอยู่ในทุกกระทรวงรวมกัน 

         นายปกรณ์ฯกล่าวสรุปว่า  5 ปี เหตุการณ์ตากใบ พิสูจน์ชัดว่ารัฐไม่ได้จริงใจในการแก้ไขหรือต้องการสร้างความยุติธรรมอย่างแท้จริง รวมทั้งกรณีเหตุการณ์ที่กรือเซะด้วยเช่นเดียวกัน แม้ว่าคณะกรรมการอิสระสอบสวนแล้วว่านายทหาร 3 นายกระทำผิด แต่อัยการกลับไม่สงฟ้อง คณะกรรมาธิการของรัฐสภาเชิญมาชี้แจง อัยการกลับบอกว่าไม่สามารถบอกได้ว่าทำไมจึงไม่ส่งฟ้อง และยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหารก็ไม่เป็นจริง เพราะทหารยังคงอยู่หน้าการเมืองเช่นเดิม

ดำเนินรายการโดย นายเอกรินทร์ ต่วนศิริ   นิสิตมหาบัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

อนึ่ง   ในงานสัมมนามีการแจกจ่ายจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ  จัดทำโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)  มีข้อเสนอต่อรัฐบาลใน 2 ประเด็นหลัก คือ (1) เรียกร้องให้นายกฯ แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาดำเนินการตรวจสอบและสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์กราดยิงชาวมุสลิมเมื่อ 8  มิ.ย. 52  อย่างเร่งด่วน  เพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมให้ได้   และ (2) เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปการทำงานของกองทัพในพื้นที่  เพราะขณะนี้ยังเป็นการใช้นโยบาย “การทหารนำการเมืองอยู่”   โดยกองทัพมีอำนาจเด็ดขาดทั้งด้านการทหารและการพัฒนา ที่ควรเป็นหน้าที่ของฝ่ายพลเรือน  ให้รัฐบาลควบคุม,กำกับการทำงานของกองทัพอย่างใกล้ชิดเพื่อให้รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจเต็มในการกำกับดูแลกองทัพ   ให้รัฐบาลใช้ยุทธศาสตร์ “การเมืองนำการทหาร”และให้ทบทวน ประเมินผล  การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในพื้นที่ภาคใต้อย่างจริงจัง 

 

-------------------------------------------- 

 

TPR :  คณะกรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)  ที่มีนายสมชาย หอมลออ เป็นประธาน  หันกลับมาเคลื่อนไหวตรวจสอบกองทัพอีกครั้ง  ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี ถูกต้องสอดรับกับหลักการประชาธิปไตย  ที่ยึดหลักรัฐบาลพลเรือนต้องเป็นใหญ่ ( civilian supremacy )  เนื่องจากมีที่มาอันชอบธรรมจากการเลือกตั้งของประชาชน  ถูกตรวจสอบจากประชาชนได้  แต่กองทัพนั้นประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้

แต่ก็สงสัยบทบาทของนายสมชายฯ และ ครส. ที่ร่วมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเรียกร้องให้ทหารยึดอำนาจเมื่อ 19 ก.ย. 49  ว่าตกลงมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไรกันแน่?  



คำถามถึงรัฐไทย : ความสำเร็จต่อการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้


สถาบันอิศรา: รัฐไขปมใต้เดือดระลอกใหม่ กับคำถามถึงความสำเร็จลดสถิติความรุนแรง

 

Thu, 2009-06-11 07:44

ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา

สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมาร้อนระอุอีกครั้ง ในรอบ 20 วันที่ผ่านมา คำถามที่ระเบ็งเซ็งแซ่ในสังคมก็คือ เหตุร้ายที่ชายแดนใต้กลับมาปะทุอย่างรุนแรงอีกครั้งได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ฝ่ายความมั่นคงก็ยืนยันมาตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมาว่า สถิติการก่อความไม่สงบลดจำนวนลงแล้ว

วันพุธที่ 10 มิถุนายน 2009

สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมาร้อนระอุอีกครั้ง โดยในรอบ 20 วันที่ผ่านมานับตั้งแต่เปิดภาคเรียนใหม่เมื่อวันที่ 18 พ.ค.จนถึงคืนวันที่ 8 มิ.ย. มีครูถูกสังหารไปแล้ว 4 คน ได้รับบาดเจ็บ 5 คน ชุดคุ้มครองครูถูกโจมตี 6 ครั้ง มีกำลังพลได้รับบาดเจ็บ 15 นาย

นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์ประเภทช็อคความรู้สึกสังคมไล่มาตั้งแต่การก่อ วินาศกรรมย่านธุรกิจ 9 จุดกลางเมืองยะลาเมื่อวันที่ 27 พ.ค. เหตุระเบิดคาร์บอมบ์กลางอำเภอยี่งอ จ.นราธิวาส มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 19 คน เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. และล่าสุดคือเหตุบุกยิงพี่น้องมุสลิมเสียชีวิต 11 ศพถึงในมัสยิด ที่บ้านไอปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส

คำถามที่ระเบ็งเซ็งแซ่ในสังคมก็คือ เหตุร้ายที่ชายแดนใต้กลับมาปะทุอย่างรุนแรงอีกครั้งได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ฝ่ายความมั่นคงก็ยืนยันมาตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมาว่า สถิติการก่อความไม่สงบลดจำนวนลงแล้ว

แหล่งข่าวระดับสูงจากกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) แยกแยะเหตุรุนแรงออกเป็น 2 บริบท ซึ่งมีสาเหตุแตกต่างกัน กล่าวคือ

1.เหตุการณ์ลอบทำร้ายครู และเจ้าหน้าที่ชุด รปภ.ครู ถือเป็นการก่อเหตุปกติที่กลุ่มก่อความไม่สงบกระทำทุกครั้งในห้วงเปิดภาค เรียนใหม่ ซึ่งชุด รปภ.ครูถือเป็น "เป้าเคลื่อนที่" ที่ป้องกันยากที่สุด แต่ปีนี้ความสูญเสียค่อนข้างร้ายแรงกว่าช่วง 1 ปีก่อนหน้า

2.เหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่ อ.ยี่งอ และเหตุสังหารหมู่ถึงในมัสยิดที่ อ.เจาะไอร้อง พตท.มองว่าต้นเหตุสำคัญมาจากการจับกุมรองหัวหน้าระดับเขต หรือที่เรียกว่า "กัส" ในพื้นที่นราธิวาสเมื่อราว 2 เดือนก่อน ทำให้ฝ่ายตรงข้ามวางแผนแก้แค้น และตั้งรองหัวหน้าระดับเขตคนใหม่เข้ามา จึงต้องก่อเหตุรุนแรงเพื่อเรียกความมั่นใจ และสร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน

ที่สำคัญ เหตุร้ายซึ่งเกิดในพื้นที่ใหม่ๆ และไม่เคยเกิดเหตุรุนแรงมานานอย่าง อ.ยี่งอ เป็นผลจากโครงการหมู่บ้านเสริมสร้างสันติสุข หรือ "หมู่บ้าน 3 ส." ที่ พตท.ส่งกำลัง "ชุดพัฒนาสันติ" เข้าไปอาศัยอยู่กับชาวบ้านในพื้นที่สีแดง 217 หมู่บ้านทั่วสามจังหวัด ทำให้แกนนำระดับหมู่บ้านไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เหมือนเดิม บางส่วนต้องหนีออกนอกพื้นที่ และหันกลับมาก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดเหตุมานาน ซึ่งมีระดับการคุมเข้มต่ำกว่าพื้นที่สีแดง

มุมวิเคราะห์จากหน่วยกำลังในพื้นที่สอดรับกับการประชุม "วงใหญ่" ของหน่วยงานความมั่นคงเมื่อวานนี้ ที่มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) นั่งหัวโต๊ะ ซึ่งสรุปว่า ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงเอาชนะฝ่ายก่อความไม่สงบทั้งทาง ยุทธศาสตร์และยุทธวิธี กล่าวคือ

ในแง่ยุทธวิธี กลุ่มผู้ไม่หวังดีไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระจากโครงการหมู่บ้าน 3 ส. ขณะที่การข่าวในพื้นที่ดีขึ้น สามารถปิดล้อมตรวจค้นจับกุมแนวร่วมและยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ตลอดจนอุปกรณ์ที่ ใช้ในการก่อเหตุรุนแรงได้เป็นจำนวนมาก

ในระดับยุทธศาสตร์ ฝ่ายความมั่นคงสามารถหยุดการสร้างความเข้าใจผิดในเวทีนานาชาติที่ฝ่ายขบวน การพยายามทำมาตลอดได้ การนำเอกอัครราชทูตจากชาติยุโรปลงพื้นที่ สามารถสร้างความเข้าใจได้อย่างดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่สงครามศาสนา แม้จะมีข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่บ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้

ภาพรวมของการแก้ปัญหาดีขึ้นกระทั่งในการประชุมใหญ่ขององค์การการประชุมอิส ลาม หรือโอไอซี เมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่กรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย ไม่ได้บรรจุกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเป็นวาระพิเศษที่ต้องหารือ

วงประชุมหน่วยงานความมั่นคงชายแดนใต้ฟันธงว่า นี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความรุนแรงจากฝ่ายขบวนการในห้วงเวลานี้ เพื่อตรึงสถานการณ์และทำให้ประชาคมโลกเห็นว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ยังมีปัญหา พร้อมๆ กับการใช้ประเด็นสิทธิมนุษยชนและความอยุติธรรม โดยเฉพาะความคืบหน้าล่าสุดของ "คดีตากใบ" เป็นเครื่องมือในการปลุกระดม

แม้บทวิเคราะห์จากฝ่ายความมั่นคงจะมีเหตุผลพอรับฟังได้ แต่ประเด็นที่จะมองข้ามมิได้เป็นอันขาดก็คือ เหตุการณ์กราดยิงถึงในมัสยิดซึ่งมีความละเอียดอ่อนสูงมาก และเมื่อตรวจสอบข่าวลือในพื้นที่ก็พบว่า มีการสร้างกระแสสวนทางกับบทสรุปของฝ่ายความมั่นคง นั่นคือกระจายข่าวไปในทิศทางเดียวกันว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อแก้แค้นที่ "คนของรัฐ" ตกเป็นเหยื่อไปหลายรายในรอบ 20 วันที่ผ่านมา

เป้าหมายชัดเจนว่าต้องการ "ตอกลิ่ม" ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ ระหว่างผู้คนสองศาสนา และยกระดับสถานการณ์ไปพร้อมกัน

โจทย์ของรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงก็คือ เหตุใดสิ่งที่เรียกว่า "เดินมาถูกทางแล้ว" และ "เอาชนะได้ทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธี" จึงถูกตอบโต้สวนกลับได้อย่างรุนแรงเช่นนี้...หรือนั่นเป็นเพียงภาพลวงตา?

ที่สำคัญเป็นสถานการณ์ความรุนแรงในช่วงที่งบด้านการทหารกำลังถูกตั้งคำถาม จากสังคมและฝ่ายการเมือง ซึ่งนี่คืออีกหนึ่งคำถามที่ฝ่ายความมั่นคงต้องตอบให้ได้เช่นกัน

แนวรบที่ชายแดนใต้กำลังสร้างโจทย์ข้อใหญ่ที่รัฐคงก้าวข้ามไม่ง่ายอย่างที่คิด!

 
(บางส่วนของรายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้าในประเทศ ฉบับวันที่ 10 มิ.ย.2552)

ที่มา: http://www.isranews.org/cms/

 


ความเป็นธรรมของภาษีที่ดิน



วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11416 มติชนรายวัน


ความเป็นธรรมของภาษีที่ดิน

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล



ภาษีที่ดินได้กลับมาเป็นประเด็นในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้เหตุผลในการเสนอจัดเก็บภาษีที่ดินครั้งนี้ว่าเป้าหมายเป็นไปเพื่อความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชน

แต่ความเป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำที่ว่าจะมีความหมายอย่างใดก็ยังไม่ที่เป็นชัดเจน การพยายามทำความเข้าใจกับเป้าหมายดังกล่าวจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพื่อทำให้การออกแบบระบบภาษีที่จะเกิดขึ้นสามารถนำไปสู่การปฏิบัติที่ตรงกับความคาดหวัง

ภายใต้ระบบกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินในปัจจุบัน ได้เกิดภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวอย่างถึงที่สุดในการบริหารจัดการที่ดินในสังคมไทย

ซึ่งเกิดขึ้นให้เห็นใน 2 ด้านด้วยกันคือ

ในด้านแรก มีผู้คนเป็นจำนวนมากที่ขาดแคลนที่ดินทำกินโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรายย่อย การขาดแคลนที่ดินทำกินนี้ปรากฏทั้งในแง่ของการไม่มีที่ดินหรือมีแต่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต จึงต้องเช่าที่ดินจากผู้อื่นสำหรับทำการผลิตเพื่อเลี้ยงชีพ ข้อมูลจากหลายหน่วยงานยืนยันสอดคล้องกันว่ามีเกษตรกรจำนวนมากกว่า 1 ล้านครอบครัวซึ่งตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้

ด้านที่สอง ตรงกันข้ามกับการไร้ที่ดินของคนตัวเล็กๆ กลับพบว่ามีการกระจุกตัวในการถือครองที่ดินอยู่ในมือของชนชั้นสูงและชนชั้นนำของไทยเป็นจำนวนมาก ตัวเลขการถือครองที่ดินของนักการเมืองที่เปิดเผยออกมาในแต่ละครั้งก็ทำให้สาธารณชนได้มองเห็นว่าบรรดาคนกลุ่มนี้ต่างถือครองที่ดินไว้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม พึงตระหนักว่ายังมีข้อมูลของชนชั้นนำอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมา

เฉพาะที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะก็ทำให้เกิดรู้สึกขนหัวลุกได้เป็นอย่างมาก มีงานวิจัยพบว่าในเขตกรุงเทพมหานครนั้น ผู้ถือครองที่ดินจำนวน 50 รายแรก (รวมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล) ถือครองที่ดินเป็นสัดส่วนถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของที่ดินทั้งหมดในกรุงเทพฯ น่าสนใจว่าหากดูไปถึงการถือครองที่ดินจำนวนครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯจะมีผู้ถือครองจำนวนเท่าใด ผู้เขียนคาดว่าอยู่ในการครอบครองของบุคคลในจำนวนหลักหมื่นเท่านั้น

ต้องไม่ลืมว่าประชากรในกรุงเทพฯอย่างไม่เป็นทางการก็ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน การที่คนหยิบมือเดียวเป็นเจ้าของที่ดินอันกว้างใหญ่ แต่คนส่วนน้อยดิ้นรนหาที่อยู่กันแทบประดาตาย จะบอกเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากต้องเข้าใจว่าสังคมไทยในยุคปัจจุบันก็ยังคงมีเจ้าที่ดินอยู่จริงๆ (ซึ่งก็อาจรวมคุณกรณ์ จาติกวณิช เข้าไปด้วยคนหนึ่ง)

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าข้อมูลงานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง ทั้งที่เป็นข้อมูลอันสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย

ไม่ต้องกล่าวถึงในพื้นที่ต่างจังหวัด การกว้านซื้อที่ดินของบรรดาผู้มีอำนาจและผู้มีอันจะกินเพื่อการเก็งกำไรเป็นกิจกรรมการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของคนกลุ่มนี้มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความพยายามเข้าเป็นเจ้าของในที่ดินด้วยกระบวนการต่างๆ ทั้งที่เป็นไปตามกฎหมายหรือพยายามใช้ช่องโหว่ต่างๆ เช่น การปลอมตัวเป็นเกษตรกรของบรรดานายหัว นักธุรกิจ เพื่อรับสิทธิในการปฏิรูปที่ดินก็นับเป็นตัวอย่างอันหนึ่ง ทั้งที่ควรจะต้องให้ความสำคัญกับเกษตรกรที่ไร้ที่ทำกินเป็นลำดับแรก

ความพยายามในการเป็นเจ้าของที่ดินอย่างกว้างขวางไม่ได้มาพร้อมกับการมุ่งสร้างการผลิตให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตในภาคเกษตรกรรมหรือในภาคอุตสาหกรรมก็ตาม เป็นส่วนใหญ่ถูกทิ้งร้างเอาไว้เพื่อรอวันให้ราคาที่ดินถีบตัวขึ้นสูง เมื่อนั้นผืนดินดังกล่าวก็พร้อมจะถูกปล่อยออกไปพร้อมกับกำไรที่ไหลเข้าสู่กระเป๋าของตน

ในห้วงเวลาวิกฤตเศรษฐกิจรอบที่แล้ว จึงได้มีภาพของเกษตรกรไร้ที่ทำกินเข้ายึดที่ดินซึ่งถูกทิ้งรกร้างว่างเปล่าเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่ของเกษตรกรเหล่านี้ก็ถูกดำเนินคดีอย่างเสมอภาคกันภายใต้กฎหมายสืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ภาพสองด้านที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเช่นที่กล่าวมานี้แหละคือความเลวร้าย หรือพูดให้สุภาพมากขึ้นก็คือความไม่เป็นธรรมในระบบการจัดการที่ดินที่อยู่ในสังคมไทย

หากเป้าหมายของการจัดการที่ดินเพื่อสร้างความเป็นธรรมขึ้น ขั้นต่ำสุด ควรจะต้องเกิดขึ้นก็คือการทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินในระหว่างประชาชน ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อต้องมองว่าที่ดินมิใช่เป็นเพียงทุนส่วนบุคคลในการแสวงกำไรเข้ากระเป๋าอย่างเสรี แต่ที่ดินเป็นต้นทุนของสังคมในการผลิตและการดำรงชีวิตของคนส่วนใหญ่ การปล่อยให้มีการถือครองที่ดินขนาดใหญ่เป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนถึงคนอื่นที่อยู่ร่วมสังคมอย่างรุนแรง ต้องทำให้ประชาชนสามารถเป็นผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดินได้อย่างเท่าเทียม

มาตรการทางภาษีเป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่จะทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินออกมาจากเจ้าที่ดินทั้งหลาย แต่มาตรการดังกล่าวนี้จะสามารถทำให้เกิดผลได้ก็ต่อเมื่อต้องทำให้เกิดภาระแก่ผู้ถือครองมากกว่าความคาดหวังที่จะเกิดจากการเก็งกำไรในอนาคต อัตราภาษีจึงต้องอยู่ในระดับที่สูงกว่าผลตอบแทนจากการเก็งกำไร และหากต้องการไม่ให้มีการถือครองในที่ดินขนาดใหญ่ก็จำเป็นต้องใช้อัตราภาษีก้าวหน้ากับผู้ถือครองในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น

และไม่ใช่เฉพาะการทำให้เกิดการกระจายในการถือครองที่ดินเท่านั้น การสร้างความมั่นคงในการถือครองของบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนตัวเล็กๆ ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน หากสามารถทำให้เกิดการกระจายการถือครองแต่ยังไม่มีหลักประกันที่มั่นคงกับเกษตรกรรายย่อย ก็เป็นไปได้ง่ายดายที่ที่ดินนั้นจะหลุดมือไปจากเกษตรกร

การขายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินของเกษตรกรซึ่งแม้กฎหมายจะไม่อนุญาตก็เป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันถึงความในข้อนี้

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะคัดค้านนโยบายการจัดเก็บภาษีที่ดินแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ผู้เขียนสนับสนุนอย่างสุดตัวและหัวใจในการจัดเก็บภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า แต่ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญต้องเป็นไปเพื่อทำให้เกิดการกระจายและการสร้างความมั่นคงในการถือครองที่ดินให้สามารถเกิดขึ้นได้จริง

เพียงแต่การเสนอมาตรการทางภาษีที่เกิดขึ้นโดยรัฐบาลในขณะนี้ แม้จะมีการกล่าวถึงความเป็นธรรมหรือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำก็ตาม แต่จะพบได้ว่าเป็นเพียงแค่ระบบอัตราภาษีธรรมดาที่จะไม่ได้ก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ถือครองมาแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่มีการคิดถึงมาตรการอื่นที่จำเป็นจะต้องติดตามมาหากต้องการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นจริง

การคาดหวังว่าจะทำให้เกิดผลใดๆ ติดตามมาจากมาตรการนี้จึงยังคงเป็นเรื่องที่ไกลเกินไป ยกเว้นรายได้ที่จัดเก็บเข้ารัฐเท่านั้นซึ่งสามารถเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด

หน้า 6

 

ที่มา  :  มติชนออนไลน์  




"ไม่เห็นชนชั้น"



วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11416 มติชนรายวัน


"ไม่เห็นชนชั้น"

โดย เกษียร เตชะพีระ


คำอภิปรายในที่ประชุมวุฒิสภา

เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ

1 พฤษภาคม 2552

ส.ว. สมชาย แสวงการ


...ถือเป็นการประเมินสถานการณ์ผิดของรัฐบาล ที่คิดว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ นอกจากนี้ ยังปล่อยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กล่าวอ้างให้ทุกคนลุกขึ้นสู้กับอำมาตยาธิปไตย ใช้สื่อปลุกมวลชน ปลุกให้มีการแบ่งแยกทางชนชั้น ใช้สื่อต่างประเทศโจมตีประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นแผนตากสินและแผนการปลุกระดมมวลชน

...จากการวิเคราะห์สถานการณ์ทั้งหมด พบว่า บุคคลที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นั้น แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มบุคคลที่เคยเป็นอดีตคอมมิวนิสต์ที่มีบทบาททางวิชาการ เช่น เอ็นจีโอ สื่อมวลชน กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 19 กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 19 กันยายน 49 และกลุ่มปัญญาชนรุ่นใหม่ที่ใช้เว็บไซต์เป็นเครื่องมือ ทำงานสอดรับกับ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยมีเป้าหมายโค่นล้มระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้เป็นระบบสาธารณรัฐ โดยใช้แนวทางคอมมิวนิสต์ในการทำงาน เช่น บ่มเพาะแนวคิดความแตกต่างทางชนชั้น การเก็บเกี่ยวทรัพยากร ล้มอำมาตยาธิปไตย กดดัน ปลุกระดม





"ปลาทูฝูงเดียวกัน"

ผู้จัดการออนไลน์, 18 ม.ค. 2552

ส.ว. คำนูณ สิทธิสมาน


- ข้อเขียนของนักวิชาการที่เคารพนับถือบางคนวิเคราะห์ว่านี่เป็นยกใหม่ของการต่อสู้ทางชนชั้น โดยบอกว่าพันธมิตรคือชนชั้นนำกับชนชั้นกลางในเมืองเท่านั้น...

- อยากจะบอกในชั้นนี้ว่านักวิชาการคนใดไม่เข้ามาสัมผัสตรงๆ ถึงความเป็นพันธมิตร จะไม่มีวันวิเคราะห์ได้อย่างรอบด้านหรอก

- อย่าไปจับความเป็นพันธมิตรด้วยทฤษฎีชนชั้นตามแนวมาร์กซิสม์เก่าสถานเดียวเลย

- ในที่ชุมนุมเราจะเห็นทั้งคนทำงานหาเช้ากินค่ำ นักศึกษา นักเรียน นักธุรกิจพันล้านที่มีชื่อเสียง นักธุรกิจพันล้านที่ไม่มีใครรู้จักแต่บริจาคทีละแสนสองแสน ไปจนถึงเชื้อพระวงศ์ระดับหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ อาหารที่นำมาเลี้ยงกันในที่ชุมนุมล้วนมีระดับ บางเจ้าร่ำรวยมีชื่อเสียงในแต่ละท้องถิ่น ทั้งนั่งคละเคล้าไม่ได้แบ่งแยกชนชั้น หัวเราะให้กัน หลั่งน้ำตาร่วมกัน ส่วนรวมขาดอะไรหรือต้องการอะไร ขอเพียงแต่ประกาศบนเวทีไม่นานสิ่งของที่ต้องการนั้นจะหลั่งไหลมาจนล้นเกิน ฯลฯ





นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

สัมภาษณ์ไฟแนนเชียล ไทมส์

23 เมษายน ค.ศ.2009 

ผมยืนยันเสมอมาว่าการบอกว่าความขัดแย้งตอนนี้เป็นเรื่องการแบ่งแยกระหว่างชนบทกับเมือง หรือการแบ่งแยกทางชนชั้นแบบหนึ่งนั้นไม่ใช่การบ่งชี้ปัญหาที่ถูกต้อง อาจมีเชื้อมูลเหล่านั้นอยู่บ้างเหมือนกับที่คุณย่อมเห็นได้ว่าผู้ออกคะแนนเสียงเลือกตั้งในเมืองกับชนบทมีทรรศนะแตกต่างกันทุกหนแห่งนั่นแหละ

แต่คุณบอกไม่ได้หรอกครับว่า อาทิ คนที่สนับสนุนทักษิณน่ะไม่รวมเอามหาเศรษฐีหรือคนชั้นกลางเอาไว้ด้วย ขณะเดียวกันก็เห็นชัดว่าฝ่ายที่คัดค้านเขาอย่างเช่นคนที่เข้าร่วมกับพันธมิตรนั้นก็รวมเอาคนชนบทจำนวนมากไว้เช่นกัน แม้แต่คนที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคประชาธิปัตย์ หรือเพื่อไทย หรือพลังประชาชน หรือไทยรักไทยในภูมิภาคต่างๆ ที่แต่ละพรรคชนะอย่างท่วมท้นน่ะ ก็ย่อมมีคนชนบทที่สนับสนุนอยู่ด้วย



คำปราศรัยโต้นายไมเคิล ดูคาคัส

คู่แข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ค.ศ.1988 

อดีตประธานาธิบดี George H. W. Bush ผู้พ่อ

เราจะไม่ถูกแบ่งแยกกันโดยชนชั้น คุณเห็นไหมครับว่านั่นมันเป็นเรื่องของประชาธิปไตยแบบยุโรปหรือที่อื่นๆ มันไม่ใช่เรื่องของสหรัฐอเมริกา


หน้า 6 

 

ที่มา  :  มติชนออนไลน์