วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11430 มติชนรายวัน
"ข้อคำนึงเรื่องการเมืองนำการทหารที่ชายแดนใต้"
โดย เกษียร เตชะพีระ
ท่ามกลางเหตุการณ์ไม่สงบชายแดนภาคใต้ที่ดุเดือดรุนแรงยิ่งขึ้นในระยะหลังนี้ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับผู้บัญชาการทหารบก พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ยืนยันตรงกันว่าทางราชการจะยึดมั่นแนวทางการเมืองนำการทหาร ในการแก้ปัญหาดังกล่าวต่อไปอย่างไม่วอกแวกลังเล
นี่เป็นท่าทีที่หนักแน่นน่ายินดี เทียบกับท่าที "ยั่วปุ๊บ ยัวะปั๊บ" หรือ "บ้ามาก็บ้าไป" ของผู้นำสมัยก่อน ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่สุดของฝ่ายรัฐที่ผู้ก่อความไม่สงบสามารถคาดทำนายและกดปุ่มสั่งได้ดังใจปรารถนาตามแผนยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของตน
ทว่า ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมรุนแรงขึ้นนี้ ควรที่เราจะแตกประเด็นและคิดให้ละเอียดลึกซึ้งว่าที่เรียก ว่า "แนวทางการเมืองนำการทหาร" นั้นแปลว่าอะไร? มีสิ่งใดที่ควรคำนึงประกอบบ้างระหว่างดำเนินการ?
ในฐานะอดีตนักรบจรยุทธ์ที่พอมีประสบการณ์ เคยพ่ายแพ้ให้แก่ "แนวทางการเมืองนำการทหาร" ของรัฐไทยมาแล้ว ผมใคร่ขอออกความเห็นสักเล็กน้อย
การประกาศเดิน "แนวทางการเมืองนำการทหาร" ของฝ่ายรัฐพูดให้ถึงที่สุดก็คือการตระหนักรับ ว่าที่ตนทำอยู่คือสงครามประชาชน-สงครามแย่งชิงประชาชน!
มันไม่ใช่สงครามแบบแผนธรรมดาเหมือนไทยรบพม่าสมัยกรุงศรีอยุธยาที่จับดาบติดปืนยกไพร่พลขี่ช้างม้าเข้าทำยุทธหัตถีกันตรงๆ, ฉะนั้น จึงไม่มีทางออกทางการทหาร หรือ military solution สำหรับสงครามแบบนี้
ตรงกันข้าม การก้าวรุดหน้าชิงความได้เปรียบในสงครามประชาชนไม่ได้วัดด้วยพื้นที่ดินแดนเป็นตารางกิโลเมตร, จำนวนหมู่บ้าน หรือจำนวนศพที่ยึดครองฆ่าฟันได้ด้วยกำลังทหาร หากวัดด้วยการแย่งชิงพื้นที่ในจิตใจของมวลชนชาวบ้านมาเป็นฝ่ายเราด้วยแนวนโยบายการเมืองที่ถูกต้องสอดคล้องกับความเรียกร้องต้องการของพวกเขา-ทีละคนๆ
เป้าหมายหลักชัยบั้นปลายคือต้องโดดเดี่ยวฝ่ายศัตรูทางการเมืองให้ถึงที่สุด-ให้เหลือแต่ผู้ก่อความไม่สงบหยิบมือเดียวที่ตั้งประจัญกับรัฐบาล-เจ้าหน้าที่ราชการ-และมวลชนอันกว้างใหญ่ไพศาลที่สุดทั้งในพื้นที่, ทั่วประเทศ และสากล
โดดเดี่ยวจนพวกเขาไม่เห็นชัยชนะ ไม่เห็นอนาคต จนพวกเขาชักเริ่มสงสัย...
สงสัยว่านี่กำลังสู้กับใคร-กับมวลชนพ่อแม่พี่น้องญาติมิตรที่เคยเป็นฐานสนับสนุนของพวกเขาเอง กระนั้นหรือ?
สงสัยว่าสู้ไปเพื่ออะไร-ในเมื่อเป้าหมายอันถูกต้องชอบธรรมที่เรียกร้องก็ดูเหมือนฝ่ายรัฐกำลังยอม ประนีประนอมหยิบยื่นเสนอให้บางส่วนอย่างค่อยเป็นค่อยไป?
สงสัยว่าจะฆ่าฟันกันไปทำไม-ในเมื่อมีช่องทางเปิดกว้างให้ออกไปต่อสู้อย่างสันติและชอบด้วยกฎหมายด้วยหนทางอื่น?
ในทางกลับกัน หลักหมายแห่งหายนะและความปราชัยในสงครามแบบนี้ก็คือปล่อยให้เกิดการเปลี่ยนแปรการต่อสู้ขัดแย้งจากฝ่ายรัฐกับผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มเดียวขบวนการเดียว ไปเป็น "สงครามกลางเมือง" ระหว่างมวลชนต่างเชื้อชาติ, ศาสนา หรือชุมชนกัน...
โดยผูกโยงเหมารวมผู้ก่อความไม่สงบเข้าเป็นพวกเดียวกับมวลชนฝ่ายหนึ่งบนฐานเชื้อชาติ หรือศาสนา หรือชุมชน ทั้งที่อาจมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการก่อความไม่สงบและผู้บริสุทธิ์ไม่เกี่ยวข้องอยู่มากมายในมวลชนฝ่ายนั้น
โดยปล่อยปละละเลยหรือแย่กว่านั้นคือผลักไสมวลชนเชื้อชาติหนึ่ง ศาสนาหนึ่ง หรือชุมชนหนึ่งให้กลายเป็นพวกผู้ก่อความไม่สงบหรือศัตรูของรัฐทั้งกลุ่มแบบเหมาหมดโดยไม่จำแนกแยกแยะ
เท่ากับขยายฐานเพิ่มพวกเติมกำลังให้ผู้ก่อความไม่สงบมหาศาลฟรีๆ อย่างเหลวไหลโง่งมงายและขาดสำนึกรับผิดชอบที่สุด
ผมเกรงว่าเหตุการณ์รุนแรงถี่กระชั้นระยะใกล้นี้โดยเฉพาะกรณีกราดยิงชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ตายเจ็บเกลื่อนขณะทำพิธีละหมาดในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอปาแย หมู่ 8 ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อคืนวันที่ 8 มิถุนายนศกนี้ และกรณียิงพระสงฆ์ระหว่างบิณฑบาตจนมรณภาพและบาดเจ็บที่ จ.ยะลา ซึ่งเกิด ตามมาเมื่อเช้าวันที่ 12 มิ.ย. ชี้ว่าสงครามแย่งชิงประชาชนชายแดนภาคใต้กำลังถูกผลักดันให้ขยับเคลื่อนไปในทิศทางของสงครามกลางเมืองระหว่างชนต่างเชื้อชาติ หรือศาสนาอย่างน่าวิตก...
แนวทางการเมืองนำการทหารไม่ได้หมายถึงไม่มีการทหาร ไม่รบ ไม่ใช้ปืนเลยแบบหน่อมแน้มสุดสุด
แต่หมายถึงใช้การทหาร ใช้ปืน ทำการรบภายใต้แนวทางการเมืองที่ชัดเจนเป็นเอกภาพ, ภายใต้การนำและบังคับบัญชาแบบองค์เดียวอันเข้มแข็ง พร้อมรับผิดและมีประสิทธิภาพ, และภายในองค์การจัดตั้งของหน่วยรบ หน่วยงานมวลชนและหน่วยข่าวเหล่าต่างๆ ที่ประสานกันไปในทิศทางเดียว
การทหารหรือปืนเท่าที่มีจึงต้องถูกยึดกุมและชี้นำอย่างระมัดระวังเข้มแข็งชัดเจนเป็นเอกภาพ เพียงแค่ป้องกันไม่ให้ปืนตกไปอยู่ในมือฝ่ายตรงข้ามที่ก่อความไม่สงบเท่านั้นยังไม่พอ หากต้องระวังไม่ให้ปืนในมือฝ่ายเราด้วยกันเองผ่าเหล่าผ่ากอออกนอกแนวทางการเมืองที่ถูกต้องด้วย
การยิงสะเปะสะปะ ยิงอย่างไร้การจัดตั้ง ยิงออกนอกวิถีการนำทางการเมือง เพื่อสนองผลประโยชน์และระเบียบวาระเฉพาะกลุ่มหรือล้างแค้นส่วนตัว อาจทำลายมิตร ผลักไสมวลชน เพิ่มศัตรู จนบั่นทอนแนวทางการเมืองนำการทหาร และทำให้รัฐตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำพลาดท่าในสงครามแย่งชิงประชาชน
ดังตัวอย่างประสบการณ์ทำนองนี้มากมายกรณีกองกำลังทหารบ้าน (militias) ของฝ่ายนิกายโปรเตสแตนต์ในไอร์แลนด์เหนือ, ของฝ่ายชาวสิงหลในศรีลังกา, ของฝ่ายชาวคริสเตียนในเกาะมินดาเนา ฟิลิปปินส์, ของฝ่ายนิยมอินโดนีเซียในติมอร์ตะวันออก, ของฝ่ายชาวชวาในเกาะอาเจะห์ อินโดนีเซีย ฯลฯ เป็นอุทาหรณ์
ประเด็นใหญ่อีกประเด็นหนึ่งที่แนวทางการเมืองนำการทหารของฝ่ายรัฐค่อนข้างเพิกเฉยละเลยตลอดมาคือเรื่องความยุติธรรม
นับแต่ตอนก่อตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ก็มีการตัดตอนคำว่า "ยุติธรรม" ออกไปจากชื่อคณะกรรมการอย่างชวนฉงนทั้งที่คณะกรรมการแบบเดียวกันในประเทศอื่นๆ เขาจะใส่คำว่า "ยุติธรรม" หรือ "ความจริง" แสดงวัตถุประสงค์ไว้ชัดแจ้งในชื่อเป็นนิจศีล
และจนบัดนี้ ประเด็นนี้ก็ยังค้างคาอยู่ในใจของชาวบ้านชายแดนภาคใต้ที่รู้สึกว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรม โดยชอบด้วยกฎหมายจากทางราชการ ไม่ว่าในกรณีตากใบ, กรณีมัสยิดกรือเซะ, กรณีสะบ้าย้อย, กรณีอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตรและกรณีอุ้มหาย ทรมานและถึงแก่ความตายในระหว่างถูกคุมตัวอื่นๆ
ได้แต่เงินสงเคราะห์ปลอบขวัญชดเชย ซึ่งอาจช่วยเยียวยาบาดแผลทางกายได้ แต่กี่แสนกี่ล้านก็รักษาบาดแผลเจ็บช้ำน้อยเนื้อต่ำใจว่ารัฐไทยมีสองมาตรฐาน ว่าพวกเขาถูกปฏิบัติต่อเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศนี้ไม่ได้
แนวทางการเมืองนำการทหารที่จะสัมฤทธิผล ชนะใจประชาชนโดยเฉพาะชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู จึงต้องรวมเอาประเด็นความยุติธรรมเข้ามาเป็นสาระสำคัญตามความเรียกร้องต้องการของพวกเขา
นั่นไม่ได้หมายถึงการล้างแค้นเอาคืนตามใจใคร แต่หมายถึงการสร้างหลักนิติรัฐหรือทำให้กฎหมายเป็นอำนาจสูงสุดขึ้นมาอย่างเป็นจริงในพื้นที่ ไม่อนุญาตให้มีอำนาจนอกระบบใดไม่ว่าใหญ่มาจากไหนมารังแก เข่นฆ่าประชาชนอยู่เหนือกฎหมายเด็ดขาด
พึงระลึกว่าในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แม้แต่องค์พระประมุขก็ยังทรงยึดถือปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นแบบอย่าง รัฐบาลจะปล่อยให้ใครหน้าไหนใช้อำนาจเหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญ จนทำลายความยุติธรรมและแนวทางการเมืองนำการทหารพังพินาศล้มเหลวไปไม่ได้
มิฉะนั้น รัฐไทยก็จะตอกย้ำซ้ำรอยความผิดพลาดของรัฐบาลในอดีตอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
หน้า 6
ที่มา : มติชนออนไลน์
No comments:
Post a Comment