Thursday, June 11, 2009

“5 ปีตากใบ 5 ปีไฟใต้ 5 เดือนรัฐบาลอภิสิทธิ์”


สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ   จัดสัมมนาเรื่อง 5 ปีตากใบ  5 ปีไฟใต้   5 เดือนรัฐบาลอภิสิทธิ์”      เมื่อ 11 มิ.ย. 52  เวลา  13.00 – 16.30 น.           ณ ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์   จุฬาฯ  ตึกสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์  ชั้น 2 อาคาร 3 คณะรัฐศาสตร์  จุฬาฯ  มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังการสัมมนาประมาณ  50  คน 

 
         ศ.ดร.วิทิต มันตราภรณ์  อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เหตุการณ์กราดยิงชาวบ้านมุสลิมระหว่างการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา เมื่อ  8 มิ.ย. 52  เป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจของประชาชนอย่างมาก  ยิ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นหลังศาลพิพากษาว่ากรณีเหตุการณ์ตากใบเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความผิด  ทำให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม  จะตอกย้ำความรู้สึกไม่ไว้วางใจฝ่ายรัฐมากขึ้น

           นายวิทิตฯ กล่าวว่า การแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมามีทั้งการพัฒนาที่ดีขึ้นและแย่ลง ส่วนที่ดีขึ้นประกอบด้วย 1 .ตอนนี้ทหารใช้คำพูดที่อ้างถึงสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมมากขึ้น ขณะที่มีข้อมูลการประทุษร้ายในค่ายทหารและเรือนจำลดลงจากปีก่อน ๆ 2 .จำนวนของบุคคลที่ถูกกักตัวอยู่ในค่ายลดลงและอยู่สั้นขึ้น มีการโอนตัวไปสู่เรือนจำเร็วกว่าสมัยก่อน 3 .เจ้าหน้าที่มีแนวโน้มที่ถูกลงโทษทางวินัยมากยิ่งขึ้น 4 .กลุ่มประชาสังคมหนาแน่นขึ้น พร้อมช่วยเหลือเหยื่อได้มากขึ้น  5 .สถิติความรุนแรงลดลง 

         ขณะที่สิ่งที่แย่ลงก็มี 5 ประการเช่นกันคือ 1 .การปฎิบัติการรุนแรงมากขึ้น มีการฆ่ากันตายในมัสยิด ผู้ที่ถูกโจมตีเป็นผู้นำชุมชน โต๊ะอิหม่าม ครู บั่นทอนจิตใจประชาชนและเยาวชน 2 .ผู้ก่อสถานการณ์ยังคงนิรนาม แต่ส่งผลกระทบวงกว้าง ขึ้น 3 .ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.)ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ 4 .เหตุการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแนวรบอย่างค่ายทหาร แต่เกิดในชุมชนชาวบ้านมากขึ้น และ 5 .การปฎิบัติการไม่ได้มุ่งสู่การให้บทบาทภาคพลเรือน 

         นายวิทิตฯกล่าวต่อว่าการแก้ปัญหาความรุนแรงไม่ได้อยู่ที่การใช้กฎหมาย ความมั่นคง เพราะถ้าใช้แล้วขัดหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม ก็แก้ปัญหาไม่ได้     ต้องให้ชาวบ้านเข้าถึงศาลโดยเร็ว ผู้ต้องหาสามารถเข้าถึงครอบครัวและทนายอย่างสม่ำเสมอ ห้ามไม่ให้ประทุษร้ายอย่างชัดเจนชัดแจ้ง เป็นห่วงสิ่งที่เกิดในท้องถิ่น ที่จะมากกว่าในค่าย โดยเฉพาะกรณีตากใบถ้าประชาชนยังติดใจอยู่ ก็สามารถฟ้องแพ่งต่อได้

         นายวิทิตฯกล่าวถึงข้อเสนอของเอ็นจีโอและนักวิชาการบางส่วนที่เรียกร้องให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก  ว่าส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว  เพียงแต่ต้องการให้บังคับใช้ในกรอบเจตนารมณ์ของกฎหมายและคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด

         นายวิทิตฯ เสนอทางออกในการแก้ปัญหาว่า 1 .การเยียวยาต้องใช้ภาคพลเรือนเป็นตัวนำ และไม่ใช้กฎหมายเพื่อลบล้างความผิดของผู้กระทำ 2 .กระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วม 3 .เน้นการเข้าถึงเหยื่อครอบครัว สม่ำเสมอ มากยิ่งขึ้น ให้เงินไม่พอเขาต้องการความเป็นธรรม 4 .ดำเนินมาตรการทางการเมืองและสังคม โดยให้ผู้นำมีกิจกรรมร่วมกัน เยาวชนมีกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น และ 5 .ต้องมียุทธศาสตร์สร้างความมั่นคงทางจิตใจของประชาชน เพราะที่ผ่านมาประชาชนมีความหวาดระแวงรัฐ 

         นางอัมรา  พงศาพิชญ์   ว่าที่ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  กล่าวว่าการแก้ไขปัญหาภาคใต้ที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้น  ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจัดความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการพลเรือนกับทหาร  ซึ่งสะท้อนว่าพลเรือนยังไม่มีบทบาทในการทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น

        นายรัษฎา มนูรัษฎา  ตัวแทนสภาทนายความแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า กรณีการเสียชีวิต 85 ศพ ที่อ.ตาบใบ นั้นแม้ว่าศาลจะมีคำสั่งออกมาว่าเป็นการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ปฎิบัติหน้าที่       แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฎผ่านสื่อคือมีการถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง ประชาชนจำนวนมาก ขณะที่รถมีจำนวนน้อย และพบว่ายิ่งรถคันที่ขนรอบดึกยิ่งมีผู้เสียชีวิตมาก ดังนั้นเท่ากับการเสียชีวิตตั้งแต่คันแรก ๆ ไม่มีการแก้ไข ขณะที่กรรมาธิการวุฒิสภา อาทิ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตส.ว. ให้การกับศาลว่าอยู่ ๆ คนจะขาดอากาศหายใจแล้วเสียชีวิตไม่ได้ แต่ต้องมีสาเหตุ ซึ่งมาจากการถูกกดทับที่ปอด ทรวงอก ทำให้หายใจไม่ได้ ดังนั้นตามประมวลวิธีพิจารณาความทางอาญาระบุว่าแม้ศาลมีคำสั่งออกมาก็ไม่กระเทือนสิทธิของผู้เสียหายในการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญาได้    โดยในทางอาญามีอายุความ 20 ปี  ดังนั้น ทางผู้เสียหายควรดำเนินการต่อสู้ต่อไป   นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้สำนักงานศาลยุติธรรมนำคำสั่งมาพิจารณาว่ามีความครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่
         น.ส.เอริณ เชาว์   ( Erin  Shaw )  ผู้ร่วมสังเกตการณ์คดีตากใบ องค์การนักนิติศาสตร์สากล   กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายให้ความเป็นธรรมกรณีเหตุการณ์ที่อ.ตากใบ โดยเฉพาะการใช้ปืนกับผู้ชุมนุม อยากถามว่าหากเกิดการสลายการชุมนุมแบบนี้ที่กรุงเทพฯ  คนกรุงเทพฯจะรู้สึกอย่างไร รวมถึงคดีการยิงในมัสยิด  เมื่อ 8  มิ.ย. 52   เนื่องจากกระทบกระเทือนต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากลอย่างยิ่ง

         เรียกร้องให้รัฐบาลปกป้องสิทธิของประชาชนมากกว่านี้และมองการแก้ปัญหาด้วยมุมมองสิทธิมนุษยชนมากขึ้น รัฐบาลต้องทบทวนหลักการปฎิบัติเกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยให้สอดคล้องกับหลักสากล  ห้ามไม่ให้มีการทรมาน การปฏิบัติต่อประชาชนอย่างไร้มนุษยชน

         กล่าวว่ากรณีเหตุการณ์ตากใบทหารทำหน้าที่ไม่เหมาะสม  การใช้ปืนของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติที่ขัดกฎหมายและละเมิดสิทธิของประชาชนต้องได้รับการลงโทษ 

         นางแยนะ สะแลแม  ผู้ประสานงานผู้เสียหายในคดีตากใบ     กล่าวว่า ตลอด 5 ปีที่เกิดเหตุการณ์ที่อ.ตากใบ สร้างความสนใจให้คนทั้งประเทศและต่างประเทศ แต่ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่รัฐมาไถ่ถามญาติผู้เสียชีวิตเลยว่าเป็นอย่างไรบ้าง   ผู้ว่าราชการจังหวัดเปลี่ยนมา 3 คนก็ไม่เคยถาม   จึงไม่เข้าใจว่าไม่คิดจะช่วยเหลือเยียวยากันบ้างเลยหรืออย่างไร   แม้แต่ตำรวจเมื่อชาวบ้านไปถามต่างก็บอกว่าไม่รู้เรื่องเพราะเข้ามาพื้นที่ภายหลังเหตุการณ์ ดังนั้นขอเรียกร้องให้ทนายความและและองค์กรสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ดำเนินการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมต่อไป

         นางสาวประทับจิต นีละไพจิตร คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ   กล่าวว่า กรณีตากใบ สะท้อนว่าวิธีการมองสงคราม สันติภาพ และความยุติธรรมในสังคมไทย   เห็นว่าสิ่งที่ทำให้สงครามแยกออกจากสันติภาพคือความยุติธรรม ไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่รัฐไทยมองว่าสันติภาพคือความสงบ ราบคาบ รัฐจัดการการชุมนุมในที่ต่างๆด้วยความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า  เรียกร้องให้รัฐบาลและสังคมไทยใส่ใจกับมิติความยุติธรรมมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาภาคใต้

         เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบาย “การเมืองนำการทหาร”อย่างแท้จริง  เพราะทุกวันนี้ทหารนำชาวบ้านไปอบรมโดยมีการบังคับข่มขู่ด้วย  ว่าหากไม่ไปถือว่าไม่ให้ความร่วมมือจะถูกดำเนินการด้วยมาตรการพิเศษ  และมีการเก็บข้อมูลผู้ไปอบรม เช่น เก็บตัวอย่างน้ำลาย,DNA  ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน 

         กล่าวว่าแม้ผลการตัดสินของศาลกรณีตากใบจะกระทบความรู้สึกของประชาชนในพื้นที้มาก  แต่กระบวนการทางศาลก็ยังเป็นสิ่งที่ชาวบ้านยังให้ความไว้วางใจอยู่  เมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นๆของรัฐ 

         ส่วนกรณีการยิงในมัสยิด เมื่อ 8 มิ.ย.  52  นั้น  เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดวิพากษ์วิจารณ์และให้โอกาสเจ้าหน้าที่ ได้ทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ควรตั้งธงไว้ก่อนว่าใครเป็นคนทำ หากรัฐบาล ค้นพบหลักฐานว่าใครเป็นผู้กระทำต้องจัดการอย่างเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด การคลี่คลายปัญหาต่างๆควรจะเน้นให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชน 

         นายปกรณ์ พึ่งเนตร  นักข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ/บรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศรา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2548 มุมมองชาวบ้านที่มีต่อรัฐไม่ดีขึ้น เนื่องจากรัฐโดยเฉพาะฝ่ายทหารไม่สามารถสร้างจิตวิทยามวลชนในภาพกว้างได้สำเร็จ แม้หลายหน่วยทหารในพื้นที่สามารถทำให้ชาวบ้านรักและไว้ใจได้ แต่ในระดับสังคมยังทำไม่ได้ ยกตัวอย่างกรณีอย่างกรณีการเสียชีวิตจำนวนมากที่อ.ตากใบนั้น รัฐบาลไม่เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าหากญาติผู้เสียชีวิต ยังคาใจต้องการฟ้องร้องให้รัฐบาลพร้อมจะจัดทนายเพื่อสู้คดีให้ 

        กล่าวว่ากรณีเหตุการณ์ยิงที่มัสยิดเมื่อ 8  มิ.ย. 52 นั้น   หลังจากเกิดเหตุ 2 ชั่วโมง โฆษกฝ่ายทหารออกมาแถลงว่าคนที่ยิงไม่รู้ว่าใครแต่ไม่ใช่ทหาร จึงควรถามต่อไปว่าได้ตรวจสอบรอบด้านแล้วหรือไม่ถึงรู้ว่าคนร้ายไม่ใช่ทหาร ขณะที่ทหารในพื้นที่บางส่วนทหารบางส่วนยังมีทัศนคติในแง่ลบต่อคนมุสลิม มองว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากมุสลิม ความรู้สึกของชาวบ้านที่คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อเกิดเหตุร้าย รัฐจึงพ่ายแพ้แก่ข่าวลือว่ารัฐเป็นฝ่ายกระทำ 

         นายปกรณ์ฯ กล่าวต่อว่า รัฐบาลชุดนี้นั้นแต่เดิมเป็นความหวังว่าจะแก้ปัญหาได้ แต่เมื่อผ่านไป 5 เดือนกลับไม่มีผลงานที่เป็นรูปธรรม คณะรัฐมนตรีชุดพิเศษที่มีนายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย เป็นประธาน ก็เพิ่งประชุมไปแค่ครั้งเดียว ส่วนร่างพ.ร.บ.การบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะเป็นองค์กรใหม่แก้ปัญหา ขณะนี้ยังไม่ผ่านแม้แต่ในชั้นคณะรัฐมนตรี ขณะที่งบประมาณในการดับไฟใต้ปีนี้ ที่อยู่ในกระทรวงกลาโหมและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) มากถึง 1.7 หมื่นล้านบาท ถือว่ามากกว่า 50 เปอร์เซนต์ ของงบดับไฟใต้ที่กระจายอยู่ในทุกกระทรวงรวมกัน 

         นายปกรณ์ฯกล่าวสรุปว่า  5 ปี เหตุการณ์ตากใบ พิสูจน์ชัดว่ารัฐไม่ได้จริงใจในการแก้ไขหรือต้องการสร้างความยุติธรรมอย่างแท้จริง รวมทั้งกรณีเหตุการณ์ที่กรือเซะด้วยเช่นเดียวกัน แม้ว่าคณะกรรมการอิสระสอบสวนแล้วว่านายทหาร 3 นายกระทำผิด แต่อัยการกลับไม่สงฟ้อง คณะกรรมาธิการของรัฐสภาเชิญมาชี้แจง อัยการกลับบอกว่าไม่สามารถบอกได้ว่าทำไมจึงไม่ส่งฟ้อง และยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหารก็ไม่เป็นจริง เพราะทหารยังคงอยู่หน้าการเมืองเช่นเดิม

ดำเนินรายการโดย นายเอกรินทร์ ต่วนศิริ   นิสิตมหาบัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

อนึ่ง   ในงานสัมมนามีการแจกจ่ายจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ  จัดทำโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)  มีข้อเสนอต่อรัฐบาลใน 2 ประเด็นหลัก คือ (1) เรียกร้องให้นายกฯ แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาดำเนินการตรวจสอบและสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์กราดยิงชาวมุสลิมเมื่อ 8  มิ.ย. 52  อย่างเร่งด่วน  เพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมให้ได้   และ (2) เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปการทำงานของกองทัพในพื้นที่  เพราะขณะนี้ยังเป็นการใช้นโยบาย “การทหารนำการเมืองอยู่”   โดยกองทัพมีอำนาจเด็ดขาดทั้งด้านการทหารและการพัฒนา ที่ควรเป็นหน้าที่ของฝ่ายพลเรือน  ให้รัฐบาลควบคุม,กำกับการทำงานของกองทัพอย่างใกล้ชิดเพื่อให้รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจเต็มในการกำกับดูแลกองทัพ   ให้รัฐบาลใช้ยุทธศาสตร์ “การเมืองนำการทหาร”และให้ทบทวน ประเมินผล  การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในพื้นที่ภาคใต้อย่างจริงจัง 

 

-------------------------------------------- 

 

TPR :  คณะกรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)  ที่มีนายสมชาย หอมลออ เป็นประธาน  หันกลับมาเคลื่อนไหวตรวจสอบกองทัพอีกครั้ง  ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี ถูกต้องสอดรับกับหลักการประชาธิปไตย  ที่ยึดหลักรัฐบาลพลเรือนต้องเป็นใหญ่ ( civilian supremacy )  เนื่องจากมีที่มาอันชอบธรรมจากการเลือกตั้งของประชาชน  ถูกตรวจสอบจากประชาชนได้  แต่กองทัพนั้นประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้

แต่ก็สงสัยบทบาทของนายสมชายฯ และ ครส. ที่ร่วมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเรียกร้องให้ทหารยึดอำนาจเมื่อ 19 ก.ย. 49  ว่าตกลงมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไรกันแน่?  



No comments: