“ตัดสิทธิทางการเมือง?”
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
ยังพอจำกันได้ไหมครับว่า คุณเนวิน ชิดชอบนั้น ถูกลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองอันเนื่องมาจากการยุบพรรคไทยรักไทย ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย
ถึงจะถูกลงโทษด้วยการเพิกถอนสิทธิทางการเมือง แต่ก็เป็นที่เห็นตำตากันอยู่จนไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คุณเนวินได้มีบทบาททางการเมืองอย่างสำคัญในห้วงเวลาปัจจุบัน แม้ว่าในทางนิตินัยแล้วยังอยู่ในช่วงเวลา 5 ปีของการลงโทษ แต่ในทางพฤตินัยจะบอกกันได้หรือว่า คุณเนวินไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องการดำเนินการทางการเมือง
และการมีส่วนเกี่ยวข้องในที่นี้ ไม่ได้หมายความถึงการมีส่วนร่วมแบบจิ๊บจ๊อยนะครับ แต่เป็นการมีส่วนร่วม “อย่างมีนัยสำคัญ” ต่อการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองไทยอย่างลึกซึ้ง
ลองนึกถึงภาพกอดแห่งประวัติศาสตร์ระหว่างคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคุณเนวิน (อันเป็นภาพที่ยากจะคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้น แต่ก็สามารถเกิดขึ้นด้วยความอัศจรรย์อย่างยิ่ง) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคุณเนวินได้ให้การสนับสนุนต่อพรรคประชาธิปัตย์ในการจัดตั้งรัฐบาล แน่นอนว่า การสนับสนุนนี้ย่อมหมายรวมไปถึงบรรดาสมาชิกในกลุ่มที่ดำรงตำแหน่งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลในการยกมือสนับสนุนคุณอภิสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล
หรือบทบาททางการเมืองที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในห้วงเวลาของรัฐบาลที่นำโดยคุณอภิสิทธิ์ เมื่อเกิดความขัดแย้งหรือข้อพิพาทระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเกิดขึ้น ในด้านหนึ่งต่างก็เป็นที่รับรู้กันอย่างชัดเจนว่า คุณเนวินเป็นผู้ที่กำกับทิศทางการทำงานของกลุ่มการเมืองหนึ่งอยู่ และอาจรวมถึงการสั่งขวาหันซ้ายหันของคนกลุ่มนี้
อันเป็นบทบาทในลักษณะเดียวกับที่เคยกระทำมาในห้วงเวลาที่ยังไม่ได้ถูกตัดสิทธิในทางการเมืองแต่อย่างใด
บทบาทในลักษณะดังกล่าว จึงทำให้การถูกตัดสิทธิทางการเมืองแทบจะไร้ความหมายไปในทันที ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือไม่เป็น ส.ส. ก็ไม่เป็นผลให้บุคคลนั้นต้องถูกจำกัดบทบาทแต่อย่างไร จะมีความแตกต่างอยู่บ้างก็ในฐานะของการยกมือในการออกกฎหมาย ซึ่งก็ไม่ได้เป็นบทบาทที่มีความสำคัญมากสักเท่าใดอยู่แล้ว
การตัดสิทธิทางการเมืองเป็นมาตรการหนึ่งที่บรรดานักร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะเขียนขึ้นมา บนความคาดหวังว่าจะเป็นเครื่องมือในการลงโทษบรรดานักการเมืองผู้ฉ้อฉลทั้งหลายให้หมดบทบาททางการเมือง และจะทำให้การเมืองของสังคมไทยเป็นเรื่องของความสะอาดบริสุทธิ์เฉกเช่นผ้าขาวที่ไร้รอยแปดเปื้อน
แต่ด้วยความเข้าใจต่อการเมืองไทยแบบตื้นเขินว่าจะสามารถใช้กฎหมายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของการเมืองไทย โดยไม่ตระหนักถึงสัมพันธภาพทางอำนาจที่ดำรงอยู่จริง รวมทั้งไม่ยอมรับต่อความสามารถในการใช้อัตวินิจฉัยของประชาชนในการเลือกผู้แทน จึงมีการสร้างมาตรการหลายประการออกมา ทั้งโดยรัฐธรรมนูญและกฎหมายหลายฉบับ
กรณีของคุณเนวิน บุรุษผู้ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองแต่สามารถมีบทบาทอย่างโดดเด่นทั้งในระดับรัฐบาลและพรรคการเมือง น่าจะเป็นตัวอย่างสะท้อนถึงความล้มเหลวของการพยายามใช้ตัวหนังสือในการสร้างสังคมการเมืองขึ้นได้เป็นอย่างดี
แต่ทั้งนี้ก็ควรจะต้องทำความเข้าใจด้วยว่า ความล้มเหลวของการใช้มาตรการตัดสิทธิทางการเมืองเกิดขึ้นยังเป็นผลมาจากการไร้จุดยืนในทางหลักการของสังคมไทยด้วยเช่นกัน
หากยังจำกันได้ ในคราวการหาเสียงสำหรับเลือกตั้งที่จัดขึ้นภายหลังจากมีการยุบพรรคไทยรักไทย ได้มีบุคคลบางคน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูปร่วมกับผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการหาเสียง มีคำถามและข้อโต้แย้งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางว่า การกระทำนี้อาจละเมิดต่อโทษการตัดสิทธิทางการเมือง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ออกมาเตือน เป็นผลให้หลายคนต้องถอยออกไปจากหน้าฉากทางการเมือง
แต่กับกรณีที่เป็นอยู่ แทบไม่มีคำถามใดสักแอะเกิดขึ้นเลยว่า บุคคลที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองจะสามารถกระทำแบบนี้ได้หรือไม่ ส่วนหน่วยงานรับผิดชอบที่เคยมีบทบาทอย่างแข็งขันในคราวหาเสียงเลือกตั้งก็ไม่รู้ร้อนรู้หนาวแต่อย่างใด
การไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นแม้แต่น้อย จะทำให้มองเป็นอย่างอื่นใดไปได้ นอกจากคงต้องตอบว่าเพราะในหนก่อนเป็นความพยายามในการสกัดไม่ให้กลุ่มการเมืองที่สืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทยกลับมามีบทบาทในทางการเมือง จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู แต่บัดนี้เป็นสถานการณ์ในทางตรงกันข้าม แม้จะเป็นข้อเท็จจริงที่มีความใกล้เคียงกัน แต่ก็หาทางเลี่ยงอื่นไปมาเป็นคำตอบ เช่น กฎหมายไม่ได้กำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นจึงไม่อาจดำเนินการใดๆ ได้
หากคุณเนวินแสดงบทบาทในทางกลับกัน ด้วยการให้การสนับสนุนพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล ผมมั่นใจว่าเหล่าบรรดาแอคติวิสต์ทางการเมือง ส.ส. ส.ว. องค์กรอิสระต่างๆ คงมาทำงานรับลูกกันเป็นอย่างดีในการคุมผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง
จึงสามารถกล่าวได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการปฏิบัติต่อบุคคลอย่างแตกต่างกัน แม้จะมีข้อเท็จจริงที่มีเหมือนกัน อันเป็นประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในสังคมไทยปัจจุบัน หรือที่ถูกเรียกว่า สองมาตรฐาน (หรือ Double Standard นั่นแหละ) เพียงแต่ว่าในกรณีนี้การเลือกปฏิบัติไม่ใช่มาจากรัฐบาลโดยตรง หากเป็นสังคมไทยต่างหากที่สนับสนุนให้เกิดการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้น
ลองนึกดูว่า หากการแสดงบทบาทของผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองถูกตรวจสอบและตั้งคำถามอย่างเข้มข้น เราก็อาจไม่ได้เห็นคุณเนวินออกมาแสดงตนให้เห็นมากเท่าที่เป็นอยู่
ความล้มเหลวของการตัดสิทธิทางการเมืองจึงไม่ใช่ความไร้น้ำยาของรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว หากเป็นอ่อนแอทั้งในทางหลักการและสติปัญญาของสังคมการเมืองไทยอีกด้วย
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 10 มิ.ย. 52
No comments:
Post a Comment