Friday, August 1, 2008

โอเวอร์โพลิติไซต์

หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน,วันที่ 01 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11101


"โอเวอร์โพลิติไซต์"

โดย เกษียร เตชะพีระ


"เวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกลายเป็นเครื่องมือที่ให้การศึกษาทางการเมือง อย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อน คณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่เคยสามารถให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชนได้ถึงขนาดนี้ จริงอยู่พันธมิตรอาจจะมีผิดบ้างถูกบ้าง แต่ภาพใหญ่คือการให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง....."


ประเวศ วะสี "การปฏิวัติประชาธิปไตยโดยคนไทยทั้งมวล"

ไทยโพสต์ 21 ก.ค. 2551


ในบรรดา "ผู้หลักผู้ใหญ่" ที่ผมได้มีโอกาสรู้จัก ท่านหนึ่งที่ผมไม่อยากเถียงด้วยเลยคืออาจารย์หมอประเวศ (ต่างจากท่านอื่นเช่น อาจารย์อัมมาร สยามวาลา ซึ่งผมชอบเถียงด้วยเวลาโดนท่านยั่วยุ ถึงแม้มักจะเถียงแพ้และเหนื่อย แต่ก็สนุกและฉลาดขึ้น)

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะอาจารย์หมอประเวศมีเมตตาบารมีสูง ยิ่งได้ยกมือไหว้สนทนาปราศรัยกับท่านเป็นการส่วนตัวแล้ว ยิ่งรู้สึกรักนับถือประทับใจ - คนอะไรหนอช่างหวังดีต่อโลกและเพื่อนมนุษย์เช่นนี้ - จนอยากจะเห็นด้วยกับท่านไปทุกเรื่องเสียเหลือเกิน

แต่หนนี้...แหะๆ...เห็นทีจะต้องเถียงอาจารย์หมอหน่อยแล้วล่ะครับ โดยเฉพาะกับข้อความข้างต้นที่ผมยกมา

แน่นอน ในฐานะอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เรื่องนี้ผมย่อมมี "ผลประโยชน์ขัดกัน" (conflict of interest) อยู่บ้าง แต่ที่คับข้องใจจนต้องลุกขึ้นมาเถียงอาจารย์หมอก็ไม่ใช่เพราะเหตุนี้นะครับ หากเป็นเพราะผมเห็นต่างจริงๆ และคิดว่าอาจารย์หมอกำลังเข้าใจผิดเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่น่าเป็นห่วง

ผมคิดว่าอาจารย์หมอกำลังสับสนปะปน "การให้การศึกษาทางการเมือง" (political education) เข้ากับ "การปลุกเร้าให้ตื่นตัวทางการเมือง" (politicization) ครับ

และตรงข้ามกับอาจารย์หมอ ผมกลับเห็นว่าปัญหาของบ้านเมืองเราอยู่ตรงกำลังมีการปลุกเร้าให้ตื่นตัวทางการเมืองมากเกินไป แต่มีการให้การศึกษาทางการเมืองน้อยเกินไป, กำลังมีความเชื่อมั่นทางการเมืองมากเกินไป แต่มีความสงสัยทางการเมืองน้อยเกินไป

"การให้การศึกษาทางการเมือง" เป็นเรื่องของการให้กรอบ/แผนที่แนวคิดทฤษฎีทางการเมืองอย่างกว้างขวาง หลากหลายและเป็นระบบ เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถเลือกนำไปประยุกต์ปรับปรุงใช้เป็นเครื่องมือสำหรับสังเกตประมวลข้อมูลข้อเท็จจริง จับประเด็นรวบยอดความคิด เชื่อมโยงความสัมพันธ์ วิเคราะห์ทำความเข้าใจ วิพากษ์วิจารณ์ และประเมินคุณค่าปรากฏการณ์ทางการเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างรอบด้านและลึกซึ้ง อิสระและคิดเองเป็น ผ่านการฟังบรรยาย การอ่าน การอภิปรายถกเถียงสัมมนาแลกเปลี่ยน การเสพรับสื่อโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ การค้นคว้าวิจัยในห้องสมุดและภาคสนาม กระทั่งเข้าร่วมกิจกรรมการปฏิบัติที่เป็นจริง

โดยมีสติตื่นรู้ตัวตลอดเวลาว่าตนเป็นผู้ศึกษาไม่ใช่ผู้กระทำการเอง, อีกทั้งพยายามรักษาระยะห่างทางจุดยืนและมุมมองไว้ระดับหนึ่งจากปรากฏการณ์ที่ตนศึกษา เพื่อให้สามารถมองและศึกษามันอย่างมีอุเบกขา เยือกเย็น (ครูของผมท่านหนึ่งกระทั่งสอนว่า "เลือดเย็น") เที่ยงตรงตามความเป็นจริง และวิพากษ์วิจารณ์มันได้

เท่าที่ผมเข้าใจ นี่เป็นลักษณะเนื้อแท้ของงานที่ผมและเพื่อนคณาจารย์เพียรพยายามทำมาในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ครับ

ส่วน "การปลุกเร้าให้ตื่นตัวทางการเมือง" เป็นเรื่องของการปลุกจิตสำนึกผู้คนให้หันมาตื่นตัวสนใจปัญหาการเมือง มุ่งเปลี่ยนทรรศนะและจุดยืนของเขาให้มองสภาพความเป็นจริงทางสังคมรอบตัวจากแง่มุมการเมือง และเปลี่ยนอัตลักษณ์และตัวตนหรือนัยหนึ่งเปลี่ยนความเข้าใจตัวเองของเขาให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิต/ผู้กระทำการทางการเมือง ที่เล็งเห็นความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างตัวเองกับการเมือง มองว่าตัวเองสามารถเข้าร่วมมีบทบาทเป็นฝ่ายกระทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลงได้ อีกทั้งเป็นสิ่งดีงามถูกต้องสมควรที่จะทำเช่นนั้นด้วย

ลงถูกปลุกให้ตื่นตัวทางการเมืองแล้วมันก็เหมือนเกิดใหม่ มองโลกใหม่ และมันสสส์อย่าบอกใครเลยเชียวครับ มันให้คึกคักกระปรี้กระเปร่ากระตือรือร้น มีพลังวิริยภาพสร้างสรรค์ไม่สิ้นสุด พร้อมอุทิศตัวเสียสละแบ่งปัน อบอุ่นเร่าร้อนท่ามกลางเพื่อนร่วมขบวนการ รู้สึกชีวิตมีคุณค่าความหมายอย่างไม่เคยมีมาก่อน ดีใจสุขใจที่ได้ไปร่วมชุมนุมต่อสู้ตากแดดตากฝนอาบเหงื่อต่างน้ำคอแห้งเปียกแฉะหิวเหนื่อยกับคนอื่นๆ เหมือนได้ทำความดีหรือทำบุญใหญ่ให้ส่วนรวมทุกวัน ไม่กลัวเหนื่อยยาก ไม่กลัวเจ็บไม่กลัวตาย กระทั่งรู้สึกผิดรู้สึกขาดหายอะไรบางอย่างถ้าไม่ได้ไปร่วมงานการเมืองไปร่วมรับทุกข์ทนยากลำบากเสียสละกับคนอื่นๆ เขาเป็นประจำ

พร้อมกันนั้น ก็ค่อยๆ ละลายตัวเอง ลืมตัวเอง หลอมรวมอัตลักษณ์ตัวตนอารมณ์ความรู้สึกเข้ากับฝูงชน มีอารมณ์ร่วมหัวเราะร้องไห้เลือดฉีดพลุ่งพล่านไปกับเขา พื้นที่ของโลกการเมืองในสายตาจึงยิ่งแจ้งกระจ่างสว่างไสวชัดขึ้นๆ ขณะที่มุมมองการเมืองยิ่งโฟกัสแคบลงๆ ไปพร้อมกัน ถึงจุดหนึ่งการเลือกข้างเลือกฝ่ายทางการเมืองก็นำไปสู่การเลือกมองเห็นปัญหาเฉพาะบางปัญหาและบางแง่มุม เลือกรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงเฉพาะบางเรื่องบางด้าน เลือกฟังเลือกเชื่อแต่สื่อ-เสียง-ผู้นำของพวกเรา เลิกฟังเลิกเชื่อสื่อ-เสียง-ผู้นำของ "พวกมัน"

ใครจะว่าฟังความข้างเดียวหรือมองด้านเดียวก็ไม่เห็นจะเป็นไรในเมื่อมันเป็นข้างเป็นด้านที่ถูกต้อง ใครจะว่าสุดขั้วสุดโต่งก็ไม่เห็นจะแคร์ในเมื่อมันเป็นขั้วของธรรมะ/ส่วนรวม/ประชาชน/ประเทศชาติ/ประชาธิปไตย/ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ฯลฯ

ขณะที่ "พวกมัน" "ฝ่ายตรงข้าม" หรือ "ศัตรู" เป็นอธรรม/เห็นแก่ตัว/ทุนสามานย์/ซ้ายอกหัก/ขายชาติ/เผด็จการ/ศักดินา/อำมาตยาธิปไตย/มาร ฯลฯ

ต่ำช้าป่าเถื่อนเลวทรามจัญไรราวเดรัจฉาน เหมือนไม่ใช่คนไทย ไม่คู่ควรแก่ความเป็นมนุษย์ ไอ้สัตว์ ไอ้เห้.....

เลยจากจุดนั้นไม่ไกล ไปอีกนิดเดียว ก็คือความรุนแรง ฉวยท่อนไม้ คว้าก้อนหิน หนังสติ๊ก คันธง ดาบ ขวาน ไม้เบสบอลเข้าห้ำหั่นฆ่าฟันกัน!

อันตรายที่สุดของ "การปลุกเร้าให้ตื่นตัวทางการเมือง" เกินขนาด (over-politicization) คือทำให้เชื่อมั่นยึดมั่นถือมั่นในความถูกต้องชอบธรรมของฝ่ายตัวอย่างสิ้นสงสัยด้วยประการทั้งปวง, แน่ใจในความถูกต้องชอบธรรมของฝ่ายตัวอย่างสัมบูรณ์แบบ, จนขาดสติ จนพร้อมจะยอมตายและยอมฆ่าเพื่อความถูกต้องดังกล่าว!

ก็ในเมื่อเราถูกอ่ะ ไอ้พวกนั้นมันก็ต้องผิดไง...ฆ่ามันๆ!

ด้วยความเคารพ เท่าที่ผมเห็น นี่คือแนวโน้มที่ได้เกิดขึ้นและกำลังเกิดขึ้นกับพลังการเมืองทั้งสองขั้วสองฝ่ายในบ้านเรา ไม่ว่าบนเวทีพันธมิตร หรือเวที นปก. ไม่ว่าทางเอเอสทีวี หรือพีทีวี/เอ็นบีที ไม่ว่าที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ หรือสนามหลวง หรือราชดำเนิน เชียงราย ศรีสะเกษ มหาสารคาม บุรีรัมย์ อุดรธานี ฯลฯ ไม่ใช่หรือครับอาจารย์หมอประเวศ?

มันคือด้านที่น่าเป็นห่วงของปรากฏการณ์แบ่งฝ่ายแยกขั้วและโอเวอร์โพลิติไซต์ในบ้านเราครับ ผมยอมรับว่าในแง่โอเวอร์โพลิติไซเซชั่นนี้ คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ คงทำไม่ได้และไม่ควรจะทำกับประชาชน ตรงกันข้าม ผมกลับเห็นว่าทำอย่างไรคณะรัฐศาสตร์ ปัญญาชนสาธารณะ (รวมทั้งอาจารย์หมอเอง) และสังคมไทยโดยรวมจะช่วยกันเหนี่ยวรั้งให้ผู้คนสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันยับยั้งชั่งใจ หัดมองหัดฟังคนอื่น เกิดสงสัยความปักใจเชื่อของตัว สงสัยความถูกต้องชอบธรรมดีงามอย่างไม่มีเงื่อนไขของฝ่ายตัวเองและผู้นำของตัวขึ้นมาบ้าง และมองเห็นความเป็นคนไทย ความเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมทุกข์ร่วมโลกของฝ่ายตรงข้ามบ้างเช่นกันมิฉะนั้น ผมเกรงว่าไทยคงฆ่าไทยด้วยกันจนเลือดนองท้องช้างก่อนจะทันได้ไปร่วมปฏิวัติประชาธิปไตยกับอาจารย์หมอครับ!

หน้า 6

(http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act03010851&day=2008-08-01&sectionid=0130)

No comments: