หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน,วันที่ 04 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11104
ช่วยกันให้แหกวัฏจักรแห่งความรุนแรง
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ภาพในโทรทัศน์ของกลุ่มพันธมิตรที่ถูกทุบตีด้วยด้ามธงและอาวุธอื่นๆ แม้คนล้มลงนอนสลบ ก็ถูกกระทืบหรือตีซ้ำ ทำให้ผมหวนระลึกถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519
เมื่อ 32 ปีมาแล้ว การกระทำอันป่าเถื่อนดังกล่าว ไม่ได้ทำลายแต่ระบอบประชาธิปไตย แต่ทำลายลึกลงไปถึงเนื้อเยื่อทางศีลธรรมของสังคมไทย ไม่ว่าจะอยู่ในระบอบอะไร หากปล่อยให้การกระทำเช่นนั้น ซึ่งแพร่หลายผ่านสื่อไปทั้งประเทศและโลก ผ่านไปโดยผู้กระทำไม่ถูกลงโทษแต่อย่างไร สังคมไทยต้องชดใช้กรรมที่จะต้องเผชิญกับความรุนแรงอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
แต่การกระทำอันป่าเถื่อนดังกล่าวก็ผ่านไปโดยไม่มีใครต้องรับโทษจากบ้านเมือง
หลังจากนั้นมา เราเผชิญความรุนแรงที่ป่าเถื่อนโหดร้ายเช่นนี้มาอีกหลายครั้ง พฤษภาทมิฬ, การฆ่าตัดตอนกว่า 2,000 ศพ, การใช้กำลังเข้าทำร้ายกรรมกรที่นัดหยุดงาน, การใช้อันธพาลทำร้ายประชาชนที่ประท้วงโครงการของรัฐหรือทุน, กรือเซะ, ตากใบ, ฯลฯ
วัฏจักรอุบาทว์แห่งความรุนแรงดูเหมือนยิ่งฝังลึกลงไปในสังคม อย่างยากที่จะแตกหักทำลายลงได้
เราและลูกหลานของเราจะอยู่ในสังคมแห่งความรุนแรงเช่นนี้สืบไป อย่างไม่มีที่สิ้นสุดกระนั้นหรือ มีประโยชน์อะไรที่จะเถียงกันเรื่องของระบอบปกครอง ประชาธิปไตยเต็มใบ, ครึ่งใบ, หรือเสี้ยวใบ, ระบอบเผด็จการทุกรูปแบบ, การเมืองเก่า, การเมืองใหม่, ฯลฯ ล้วนไร้ความหมายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้อำนาจของระบอบหรือการเมืองประเภทใด เราทุกคนต่างไร้เสรีภาพโดยสิ้นเชิงเหมือนกัน เพราะไม่มีทางจะรู้ว่า ทำอะไรได้โดยปลอดภัยจากความรุนแรงบ้าง
ยังไม่นับการตกเป็นเหยื่อโดยยังไม่ทันได้ทำอะไรเลย
หลังเหตุการณ์ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีมหาดไทยให้สัมภาษณ์ว่า กิจกรรมของกลุ่มพันธมิตรในต่างจังหวัดทำความขุ่นเคืองให้แก่ผู้สนับสนุนรัฐบาล เพราะกลุ่มพันธมิตรโจมตีนักการเมืองซึ่งเป็นที่รักของประชาชนอย่างไม่แฟร์ และด้วยถ้อยคำหยาบคาย โดยเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (The Nation, July 26, 2008)
แล้วยังไงครับ? คำพูดอันไม่น่าพอใจทำให้เกิดสิทธิที่จะใช้ความรุนแรง ปิดกันเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของคนอื่นได้กระนั้นหรือ?
คุณสามารถ แก้วมีชัย ประธานวิปรัฐบาล อาจพูดได้ตรงกว่าว่า "... คุณจะให้ความรู้อะไรที่ถนนราชดำเนินก็ไม่มีใครว่า ไม่มีฝ่ายต่อต้านทำอะไร แต่ถ้าคุณใช้ยุทธการดาวกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ อยู่ ให้ระวังไว้ว่าอาจถูกสอยดาว"
กรุงเทพฯกับต่างจังหวัดใช้รัฐธรรมนูญกันคนละฉบับกระนั้นหรือ? การละเมิดสิทธิเสรีภาพเช่นนี้แหละที่นำไปสู่ความรุนแรงป่าเถื่อนทุกครั้ง เป็นจุดเริ่มต้นของวัฏจักรความรุนแรง ซึ่งบดขยี้สังคมไทยตลอด 32 ปีที่ผ่านมา หากอีกฝ่ายหนึ่งใช้ความรุนแรงป่าเถื่อนตอบโต้ วัฏจักรนั้นก็จะเริ่มหมุนเร็วขึ้นจนนำไปสู่การนองเลือดใหญ่ในไม่ช้า ฉะนั้น การที่ผู้นำพันธมิตรพยายามหลีกเลี่ยง เช่นขอร้องให้กลุ่มของตนระงับการจัดการชุมนุมในต่างจังหวัดไว้ก่อนเช่นนี้ ถือว่ากลุ่มพันธมิตรมีส่วนช่วยสังคมไทยได้แหกออกไปจากวัฏจักรแห่งความรุนแรงด้วย
แต่แค่นั้นยังไม่พอสำหรับสังคมไทย หากนักการเมืองในฝ่ายรัฐบาลยังมีทรรศนะต่อการใช้ความรุนแรงกับปรปักษ์ของตนว่า สมเหตุสมผลแล้วเช่นนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลที่ผ่านมาแล้ว เพียงแต่ว่ารัฐบาลนี้ไม่สามารถใช้กลไกของรัฐก่อความรุนแรงได้โดยตรงเท่านั้น มองไปในอนาคตอันใกล้ ก็มองไม่เห็นว่าการแหกออกจากวัฏจักรความรุนแรงนั้น จะมีรัฐบาลใดเป็นฝ่ายนำได้
เป็นภาระของสังคมไทยที่จะต้องช่วยกันแหกออกจากวัฏจักรชั่วร้ายนี้เอง
เราควรช่วยกันกดดันทุกวิถีทาง ไม่ให้ผู้ก่อความรุนแรงป่าเถื่อนในสองสามจังหวัดภาคอีสานเมื่อเร็วๆ นี้ลอยนวลไปได้ ไม่เฉพาะแต่แกนนำเท่านั้น มีภาพถ่ายวิดิโอจำนวนไม่น้อยที่ตำรวจสามารถควานหาตัวผู้ลงมือกระทำผิดมาลงโทษได้ หากการสืบสวนพาดพิงถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ต้องจัดการลงโทษทั้งทางวินัยและอาญาอย่างเด็ดขาด
ทั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อแก้แค้นกลุ่มคนเหล่านี้ แต่เพื่อยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ตั้งแต่บัดนี้ความขัดแย้งใดๆ ในสังคมจะต้องดำเนินไปภายใต้กติกาอย่างเคร่งครัด การใช้ความรุนแรงเพื่อระงับสิทธิเสรีภาพของฝ่ายอื่นเป็นสิ่งที่สังคมไทยรับไม่ได้ รัฐต้องถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะดูดายไม่ได้
หากพรรคฝ่ายค้านจะช่วย ก็อย่าใช้วิธีกล่าวหาที่เลื่อนลอยไร้หลักฐาน (เช่นมีการจ้างวานด้วยเงินถึง 30 ล้านบาท) แต่ต้องดำเนินการทางการเมืองที่จะกดดันให้รัฐต้องปฏิบัติตามกติกาอย่างเคร่งครัด เช่นจะตั้งกระทู้ด่วนในสภา หรือจะลงทุนสอบสวนหาความจริง พร้อมหลักฐานที่พอเชื่อถือได้ และแจ้งให้สาธารณชนทราบ
การที่นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ออกมาประณามการใช้ความรุนแรงป่าเถื่อนดังกล่าว ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่จะช่วยให้เราทุกคนหลุดออกไปจากวัฏจักรแห่งความรุนแรงนี้เหมือนกัน
ภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ควรช่วยกันคิดและทำเพื่อให้การกระทำเยี่ยงนี้ ไม่ว่าจะทำโดยรัฐหรือเอกชน เป็นสิ่งที่สังคมรังเกียจ และไม่นำไปสู่ความสำเร็จใดๆ ได้เป็นอันขาด ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับการกระทำของพันธมิตรหรือไม่ก็ตาม เพราะการใช้ความรุนแรงป่าเถื่อนระงับสิทธิเสรีภาพของพันธมิตรที่จริงแล้ว คือการระงับสิทธิเสรีภาพของพลเมืองไทยทุกคน
หากกลุ่ม "สนามหลวง" มีเป้าหมายในการต่อต้านการรัฐประหารและเผด็จการ กลุ่ม "สนามหลวง" ก็ควรเข้ามาร่วมรณรงค์ต่อต้านการใช้ความรุนแรงป่าเถื่อนในบางจังหวัดของภาคอีสานด้วย เพราะนั่นคือ การรัฐประหารในรูปหนึ่ง และเป็นเผด็จการในรูปหนึ่งนั่นเอง เพียงแต่ไม่ได้ทำโดยกองทัพเท่านั้น แต่ผลของมันก็เหมือนกัน คือสิทธิเสรีภาพถูกระงับใช้ด้วยไม้พลองและท่อนเหล็ก แทนที่จะถูกระงับด้วยประกาศคณะรัฐประหาร
หากสังคมไทยสามารถจัดการเรื่องนี้ให้กติกาอยู่เหนือความขัดแย้งได้ เรากำลังเริ่มเข้าสู่หนทางที่เราทุกคนจะหลุดออกไปจากวัฏจักรแห่งความรุนแรงซึ่งครอบงำสังคมไทยมากว่า 32 ปีเสียที
หน้า 6
( http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act01040851&day=2008-08-04§ionid=0130 )
No comments:
Post a Comment