Friday, August 1, 2008

การปฏิวัติประชาธิปไตยโดยคนไทยทั้งมวล

การปฏิวัติประชาธิปไตยโดยคนไทยทั้งมวล



ประเวศ วะสี


คำว่า “ปฏิวัติ” โดยรูปศัพท์แปลว่า การหมุนกลับ ในทางพระพุทธศาสนาใช้ในความหมายไม่ดี คือในท้ายปฐมเทศนา หรือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มีความว่า เมื่อพระศาสดาได้กลิ้งพระธรรมจักรให้หมุนไปสู่มวลมนุษย์แล้ว ไม่มีใครจะหมุนกลับ (ปฏิวัติ) ได้ การปฏิวัติฝรั่งเศสกับการปฏิวัติรัสเซียหมายถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองอย่างทันทีทันใด การปฏิวัติรัฐประหารของไทยหมายถึงกองทัพยึดอำนาจทางการเมืองล้มล้างรัฐบาลเก่า หลายคนไม่ยอมเรียกการรัฐประหารว่าเป็นการปฏิวัติ เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิถีคิดและระบบคุณค่า เป็นเพียงเปลี่ยนกลุ่มบุคคลผู้ยึดกุมอำนาจรัฐเท่านั้น

ประเทศไทยพยายามเป็นประชาธิปไตยมาตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 แต่ไม่สำเร็จ เพราะทำกันแต่ “รูปแบบ” โดยไม่ได้ “ปฏิวัติจิตสำนึกประชาธิปไตย” จิตสำนึกอันคับแคบ+ “รูปแบบ” ได้นำการเมืองไทยสู่สภาวะวิกฤติในปัจจุบัน จิตอันคับแคบคือจิตที่มากอยู่ด้วยตัณหา มานะ ทิฐิ



ตัณหา คืออยากเป็นอยากเอา


มานะ คือการใช้อำนาจเหนือคนอื่น

ทิฐิ คือการเอาความเห็นของตัวเป็นใหญ่



นี่คือสัตว์ร้ายสามตัวในตัวมนุษย์ ที่ไม่ใช่จิตสำนึกประชาธิปไตย เราเห็นสัตว์ร้ายสามตัวนี้ครองโลกการเมืองไทย เมื่อมีคนมีตัณหาในทรัพย์สินเงินทองมาก แสวงหาความร่ำรวยสุดๆ แล้วเอาเงินทองอันมากมายนั้นมาสนองการใช้อำนาจเหนือคนอื่น (มานะ) และการเอาความเห็นของตัวเป็นใหญ่ (ทิฐิ) ความเลวร้ายทางการเมืองก็เกิดขึ้นสุดๆ “รูปแบบ” คือการเลือกตั้ง ก็กลายเป็นเพียงเครื่องมือที่กลุ่มคนที่มีจิตสำนึกอันคับแคบใช้ในการเข้าไปสู่การยึดกุมอำนาจรัฐรวมศูนย์ ซึ่งไม่ใช่ประชาธิปไตยโดยสาระ ความไม่เป็นธรรมจึงเกิดขึ้นทั่วไป บ้านเมืองระส่ำระสาย แก้ปัญหาไม่ได้ ขัดแย้ง แตกแยก และเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงนองเลือด เคลื่อนเข้าสู่มิคสัญญีกลียุคมากขึ้นเรื่อยๆ

จึงจำเป็นต้องมีปฏิวัติประชาธิปไตย

และถ้าเป็นการปฏิวัติโดยคนไทยทั้งมวล ไม่ใช่โดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด การปฏิวัติก็จะเป็นไปด้วยสันติวิธี โปรดสังเกตว่าความรุนแรงอาจไม่ใช่การปฏิวัติ แต่สันติวิธีก็เป็นการปฏิวัติได้ ถ้ามีการเปลี่ยนจิตสำนึก เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนระบบคุณค่า เปลี่ยนระบบการปกครอง ถึงเวลาที่คนไทยทั้งมวลทุกหมู่เหล่า ควรมี ความมุ่งมั่นร่วมกัน ที่จะปฏิวัติประชาธิปไตย

หลักการปฏิวัติประชาธิปไตย

1.ปฏิวัติจิตสำนึกประชาธิปไตย จิตสำนึกประชาธิปไตยเป็นจิตใหญ่ที่เคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เคารพสิทธิมนุษยชน เคารพความสุจริต ยุติธรรม เคารพประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว มีขันติธรรม มีอหิงสธรรม มีการใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหา มีส่วนร่วมในกิจการของส่วนรวมและทั้งบ้านเมืองด้วยความปรารถนาความถูกต้องเป็นธรรม


จิตสำนึกประชาธิปไตยเป็นรากฐานของประชาธิปไตย กลไกและกิจกรรมทุกอย่างต้องเป็นไปเพื่อการปฏิวัติจิตสำนึกประชาธิปไตย

2.การกระจายอำนาจอย่างทั่วถึง ประชาธิปไตยคือการกระจายอำนาจ เผด็จการคือการรวมศูนย์อำนาจ ระบบการปกครองของไทยคือระบบอำนาจรัฐรวมศูนย์ ในระบบอย่างนี้การเลือกตั้งกลายเป็นพิธีกรรมใช้เงินเป็นอาวุธเพื่อเข้ามาใช้อำนาจรัฐรวมศูนย์ จึงเป็นระบบเผด็จการที่มีการเลือกตั้ง หาใช่ประชาธิปไตยไม่ อำนาจรัฐรวมศูนย์มีความสามารถต่ำในการแก้ปัญหา จึงแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้ เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาความอยุติธรรม ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากไร้ประสิทธิภาพแล้ว อำนาจรัฐรวมศูนย์ยังก่อให้เกิดความขัดแย้งทั่วไป

การปฏิวัติประชาธิปไตย ต้องกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ถ้าชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิในการปกครองตนเองและป้องกันการเอารัดเอาเปรียบและการจำกัดสิทธิจากส่วนบน ประชาชนจะพ้นจากความยากจนโดยรวดเร็ว

3.สิทธิในการสื่อสารโดยประชาชน ช่วยกันสนใจตรงนี้ให้ดีๆ เพราะนี่คือการปฏิวัติประชาธิปไตย ทุกวันนี้ประชาชนตกเป็นผู้รับสารที่สื่อมาจากภาครัฐและภาคธุรกิจ ทั้งอำนาจรัฐและอำนาจเงินกำหนดการรับรู้ของประชาชน ประชาชนต้องเป็นผู้สื่อสารเองโดยทุกๆ ทาง ทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต สิ่งพิมพ์ ที่ด่วนที่สุดคือเครือข่ายวิทยุชุมชนที่ประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้สื่อ มีการสังเคราะห์การสื่อสารของประชาชนแล้วนำไปใช้ในทางที่เหมาะสม นี่เท่ากับเป็นการเปิดบทบาทของประชาชนทั้งประเทศ เป็นการปฏิวัติประชาธิปไตย ความชั่วต่างๆ ก็ทำได้ยากขึ้น การมีระบบสื่อสารโดยประชาชนอย่างทั่วถึง จะเป็นการเปิดพื้นที่ทางสังคม พื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง ในระบบเผด็จการพื้นที่นี้ปิด การเปิดพื้นที่ทางสังคม พื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง จึงเป็นการปฏิวัติประชาธิปไตย

4.การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทางนโยบายในโครงการพัฒนาและในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 87 คือการเมืองภาคพลเมือง ประชาชนมีความชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมายที่จะรวมตัวกันที่จะมีสิทธิมีเสียงในเรื่องนโยบาย เรื่องโครงการพัฒนา และเรื่องตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ

ในบางชุมชนของไทยมีประชาธิปไตยโดยตรงที่ไม่ได้ใช้การเลือกตั้งกล่าว คือมีสภาผู้นำชุมชนที่มาจากผู้นำตามธรรมชาติของกลุ่มต่างๆ ในชุมชน สภาผู้นำชุมชนต้องการรวบรวมข้อมูลชุมชนแล้วทำแผนพัฒนาชุมชนโดยให้ที่ประชุมของคนทั้งหมู่บ้านที่เรียกว่าสภาประชาชน รูปแบบนี้ควรขยายตัวทั้งทางกว้างและในการขึ้นมาสู่ระดับบน สภาผู้นำชุมชนสามารถเลือกตัวแทนจากระดับล่างสุดขึ้นมาเป็นสภาผู้นำชุมชนระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และระดับชาติ โดยมีข้อกำหนดให้องค์กรที่มีอำนาจนำข้อเสนอแนะจากสภาผู้นำชุมชนไปพิจารณา ตั้งแต่ อบต. ไปจนถึง ครม.

5.ระบบความยุติธรรมที่อิสระและเข้มแข็ง คือเครื่องมือของประชาธิปไตยทุกฝ่ายในสังคมต้องร่วมกันสนับสนุนค้ำจุนให้ระบบความยุติธรรมมีความเป็นอิสระ มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ

6.เสรีภาพของสื่อมวลชน เสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นเครื่องมือของประชาธิปไตย เผด็จการพยายามแทรกแซงเสรีภาพของสื่อมวลชนหรือพยายามซื้อให้เป็นพวก ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่สื่อต้องอาศัยการโฆษณา นายทุนนักการเมืองสามารถกลั่นแกล้งแทรกแซงสื่อมวลชนด้วยวิธีทางธุรกิจได้อย่างไม่สู้ยากนัก ในประเทศที่เจริญ การมีหนังสือพิมพ์แบบสืบสวน เป็นเครื่องมือที่หยุดยั้งคอรัปชั่นได้อย่างชะงัด คุณภาพของสื่อมวลชนเป็นเครื่องมือของประชาธิปไตย

7.กลไกการตรวจสอบและการคานอำนาจฝ่ายบริหาร องค์กรอิสระเพื่อการตรวจสอบและคานอำนาจฝ่ายบริหารตามที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นอิสระและมีคุณภาพจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่พัฒนาคุณภาพการเมือง แต่อาจถูกแทรกแซงได้โดยเฉพาะจากอำนาจเงินมหาศาล ควรพัฒนากลไกการตรวจสอบและการคานอำนาจให้ดียิ่งขึ้น โดยบัญญัติการได้มาซึ่งกรรมการในองค์กรอิสระให้รัดกุมขึ้น

8.คุณภาพของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรื่องนี้เป็นปัญหามากที่สุด อิทธิพลของเงินขนาดใหญ่หรือธนกิจการเมืองเป็นปัจจัยทำลายระบบการเมืองมากที่สุด ทำให้เราได้ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ขาดความรู้ความสามารถ ทำงานไม่เป็น เป็นคนทุจริตเห็นแก่ได้ ทำให้บ้านเมืองปั่นป่วน วุ่นวาย เศร้าหมอง และวิกฤติ ในขณะที่การเลือกตั้งเป็นของจำเป็นในระบอบประชาธิปไตย ต้องหาทางขจัดอำนาจเงินที่เข้ามาสู่การเลือกตั้งทุกวิถีทาง และต้องไม่ให้อำนาจที่ได้มาจาการเลือกตั้งเป็นอำนาจเดี่ยวและเป็นอำนาจที่ไม่รับผิดชอบ

9.การเมืองภาคประชาชน ระบบการเมืองของเราจมปลักอยู่ในความไม่ถูกต้องอย่างเหนียวแน่นอย่างยากที่จะสลัดตัวออกมาได้ เร็วๆ นี้มีปัจจัย 2 ประการ ที่เขย่าระบบการเมืองที่ไม่ถูกต้องอย่างแรง ประการหนึ่งคือการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสกระตุ้นให้ตุลาการทำงานอย่างเข้มแข็ง ถูกต้องเที่ยงธรรม เพื่อแก้วิกฤติของบ้านเมือง อีกประการหนึ่งคือการเมืองภาคประชาชนที่รวมตัวเคลื่อนไหวประท้วงต่อต้านความไม่ถูกต้องด้วยสันติวิธีและด้วยอารยะขัดขืน การต่อต้านและขัดขืนด้วยสันติวิธีแบบที่ มหาตมะ คานธี ใช้

เวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกลายเป็นเครื่องมือที่ให้การศึกษาทางการเมืองอย่างกว้างขวาง อย่างไม่เคยมีมาก่อน คณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่เคยสามารถให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชนได้ถึงขนาดนี้ จริงอยู่พันธมิตรอาจจะมีผิดบ้างถูกบ้าง แต่ภาพใหญ่คือการให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง การปฏิวัติประชาธิปไตยจะเป็นไปได้ต่อเมื่อประชาชนมีจิตสำนึกและมีการศึกษาทางการเมืองโดยการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง การเมืองภาคประชาชนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการปฏิวัติประชาธิปไตย ควรทำให้การเมืองภาคประชาชนมีความเป็นสถาบัน

การต่อสู้ทางการเมืองได้ดำเนินมานานพอสมควร จนบ้านเมืองบอบช้ำและไม่สามารถหาจุดลงตัวได้ เกิดสภาวะเสี่ยงที่จะเกิดมิคสัญญีกลียุค คนไทยทั้งมวลทุกหมู่เหล่า องค์กร และสถาบัน ทั้งนักวิชาการ ทหาร และพลเรือน ตลอดจนพรรคการเมืองต่างๆ ควรหันมาร่วมกันปฏิวัติประชาธิปไตย เป็นการปฏิวัติด้วยสันติวิธี ไม่มีใครตาย ที่จะตายคือความไม่ถูกต้อง ประชาธิปไตยไม่ใช่เป็นเพียงกลไกและกลไกเท่านั้น แต่ต้องเป็นระบบที่มีความถูกต้องเป็นธรรม เราต้องร่วมกันปฏิวัติประชาธิปไตยให้ระบบการเมืองมีความถูกต้องเป็นธรรม การเมืองจึงจะไปสู่จุดลงตัวใหม่ เป็นปัจจัยให้ประเทศไทยเกิดความเจริญอย่างแท้จริงและมีศานติสุข


-------------------------------------



หมายเหตุ - ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เผยแพร่บทความ “การปฏิวัติประชาธิปไตยโดยคนไทยทั้งมวล” ลงในหนังสือพิมพ์คมชักลึกวันที่ 21 ก.ค. 51 และหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เสนอหนทางผ่าทางตันการเมือง ไม่นองเลือดไม่ทำให้คนตาย ที่ตายคือความไม่ถูกต้อง แต่หากไม่ทำจะเกิด “มิคสัญญีกลียุค” โดยมีหลักการ 9 ข้อ


ประชาไท 22/7/51

(www.prachatai.com)

No comments: