Tuesday, August 12, 2008

การเมืองสองกระแส

โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช 10 สิงหาคม 2551 14:52 น.


แม้จะมีการพูดถึง “การเมืองใหม่” ก็ตาม แต่การที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะของรัฐสภาไทยให้มีตัวแทนจากกลุ่มอาชีพเข้ามาร่วมในสัดส่วนที่มากกว่าจำนวนผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงนั้น อาจเกิดขึ้นได้ยาก การแก้ปัญหาการซื้อเสียงจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ควรมีการพิจารณาอย่างจริงจัง ลำพังการทำงานของ กกต.อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แต่จะต้องระดมสรรพกำลังจากหลายๆ ฝ่าย เช่น การให้การศึกษาแก่ประชาชนและการควบคุมดูแลการเลือกตั้งอย่างเป็นระบบอีกด้วย

อย่างไรก็ดี แม้ “การเมืองใหม่” ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้ยาก แต่ “การเมืองใหม่” ในแง่วัฒนธรรม และจิตสำนึกทางการเมืองก็ได้เกิดขึ้นแล้ว และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเชิงคุณภาพได้

มีนักวิชาการหลายคนเห็นว่า วัฒนธรรมทางการเมืองไทยเป็นวัฒนธรรมแบบไพร่ฟ้า คือ เป็นผู้ถูกปกครองที่คอยเชื่อฟังรัฐบาลมากกว่าที่จะเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขัน ความตื่นตัวและความกระตือรือร้นทางการเมืองนั้น เกิดขึ้นได้ในสังคมที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อเนื่อง มีกลไกที่ทำงานทางการให้การศึกษาแก่ประชาชน โดยเฉพาะพรรคการเมือง

ในต่างประเทศ โดยปกติประชาชนก็ไม่ได้มีความตื่นตัวทางการเมืองมากนัก แต่เนื่องจากการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีการเลือกตั้งทั้งในระดับชาติ มลรัฐ และท้องถิ่น จึงมีกิจกรรมทางการเมืองเกิดขึ้นเป็นประจำ แต่ในประเทศไทยเรา กิจกรรมการเลือกตั้งมีก่อนที่ประชาชนจะมีจิตสำนึก และวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย การเลือกตั้งจึงมีการซื้อสิทธิขายเสียงได้อย่างกว้างขวาง

การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก่อให้เกิดการเรียนรู้ทางการเมืองแบบเข้มข้นในระยะสั้น แต่มีความต่อเนื่อง ในสถานการณ์ปกติ การเรียนรู้ทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น ภายในครอบครัว จากโรงเรียน และจากสื่อมวลชน เป็นต้น การเรียนรู้ทางการเมืองในสถานการณ์ปกตินั้น ไม่ได้เป็นไปแบบ “รวมหมู่” ความรู้สึกร่วมกันจึงไม่มี

วิธีการจัดการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีความสอดคล้องกับลักษณะของคนไทย คือถ้าจะมีการเรียนรู้ก็ต้องสนุกและเพลิดเพลิน มีการผสมผสานสอดแทรกรายการดนตรี รายการสนทนา รายการข่าว และการพูดบนเวทีของผู้มีความรู้-ประสบการณ์ที่หลากหลาย มีการถ่ายทอดวิทยุและโทรทัศน์ และผู้ชุมนุมมีส่วนร่วมตลอดเวลา นอกจากนั้น ยังได้มีการพัฒนาความรู้สึกร่วมด้วยการสร้างสัญลักษณ์หลายอย่าง เช่น เสื้อยืด ผ้าพันคอ เพลง แม้แต่เหรียญที่ระลึก

บทเรียนจากการชุมนุมครั้งนี้ก็คือ การให้ความรู้ในทางการเมือง หรือทางอื่นๆ นั้น จะต้องมีการผสมผสานสื่อต่างๆ มีความสนุกเร้าใจ และให้ผู้เรียนรู้ได้มีส่วนร่วม น่าเสียดายที่ครูสอนสังคมศึกษาในระดับโรงเรียน และอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ได้ใช้โอกาสนี้พานักเรียน และนักศึกษาเข้าไปร่วมสังเกตการณ์

แกนนำพันธมิตรฯ 5 คนมีลักษณะคล้ายๆ โมเสสผู้สามารถนำฝูงชนเดินรอนแรมในทะเลทรายเป็นเวลาหลายปี เพื่อหาแผ่นดินที่ปรารถนา สำหรับแกนนำทั้ง 5 คนก็เช่นกัน พวกเขามีความสามารถสูงในการนำฝูงชนซึ่งนับวันก็เกิดศรัทธา ความรักใคร่จากผู้เข้าร่วมชุมนุม

สิ่งสำคัญที่ผูกมัดประชาชนไว้ก็คือ พวกเขาไม่ต้องการมีฝักฝ่ายในแง่ของการสังกัดพรรคการเมือง พวกเขาปฏิเสธการเมือง แต่การเคลื่อนไหวกลับมีพลังทางการเมืองสูง ดังนั้น เคล็ดลับของพลังนี้ก็คือ การไม่ยกระดับการเคลื่อนไหวขึ้นไปสู่การเมืองที่เป็นฝักฝ่าย และไม่จัดตั้งเป็นพรรคการเมือง จะว่าไปแล้ว พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็คือ ทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่งที่ประชาชนมีความตื่นตัว มีความสนใจ และเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง โดยมีความเป็นเอกเทศอยู่นอกระบบการเมืองที่เป็นทางการเมือง เป็นลู่ที่วิ่งคู่ขนานไปกับการเมืองที่เป็นทางการเมือง

ผมเคยตั้งข้อสังเกตมานานแล้วว่า การที่ประชาชนจำนวนมาก และโดยเฉพาะผู้มีความรู้ ไม่ต้องการขายเสียง มีความสนใจ ตื่นตัวทางการเมือง แต่ไม่รวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมืองตามสมมติฐานของประชาธิปไตยแบบตะวันตกนั้น ทำให้เกิด “การเมืองสองกระแส” คือ “การเมืองที่เป็นทางการ” กับ “การเมืองที่เป็นธรรมชาติ” หรือ “การเมืองที่ไม่เป็นทางการ” อยู่นอกระบบการเมือง ความคิดที่ว่า ความต้องการของประชาชนจะรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน โดยกลุ่มผลประโยชน์ และกลุ่มอิทธิพล และไหลเข้าสู่สถาบันทางการเมือง คือ พรรคการเมืองจึงไม่เกิดขึ้น

แล้วเราจะทำอย่างไรกับสภาวการณ์เช่นนี้ จะปล่อยให้การเมืองที่เป็นทางการดำเนินควบคู่ไปกับการเมืองที่ไม่เป็นทางการกระนั้นหรือ จะมี “สายพาน” ที่เชื่อมโยงการเมืองสองกระแสนี้ได้อย่างไร ความคิดที่จะเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้การเมืองอีกกระแสหนึ่งได้เข้าไปสู่กระบวนการทางการเมืองที่เป็นทางการ จึงเกิดขึ้น

แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าผู้นำ และประชาชนที่เคลื่อนไหวอยู่จะพอใจกับการเข้าไปสู่การเมืองแบบทางการเมือง การอยู่นอกวิถีการเมืองแบบทางการ และคอยทำหน้าที่ถ่วงดุลตรวจสอบนักการเมือง จึงน่าจะเป็นบทบาทที่ดี และเหมาะสมมากกว่าบทบาทที่เข้าไปอยู่ในระบบการเมืองที่เป็นทางการเมืองโดยตรง เพราะหากเข้าไปก็ยังจะเป็นส่วนข้างน้อยอยู่

สิ่งที่เกิดขึ้น และจะทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนไป คือ จิตสำนึกใหม่ที่พันธมิตรฯ มีส่วนสำคัญในการสร้างขึ้น


( http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000094229 )

No comments: