รัฐประหารจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ใด
โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช 3 สิงหาคม 2551 12:37 น.
มีคำถามว่า แล้วทหารจะทำรัฐประหารอีกหรือไม่ บางคนเห็นว่ามีความยากลำบากมากขึ้น เพราะต่างประเทศไม่ยอมรับ ในอดีตมีผู้นำหลายประเทศที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น มาร์กอสในฟิลิปปินส์ ซูฮาร์โตในอินโดนีเซีย แต่ก็ถูกประชาชนและคณะทหารขับไล่ออกไป ทั้งมาร์กอสและซูฮาร์โตมีปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน และการใช้อำนาจที่ผิดๆ ดังนั้น หากความผิดของผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งชัดแจ้ง นานาชาติก็คงจะไม่ต่อต้านรัฐบาลใหม่มากเท่าไร
การที่ต่างประเทศจะมีท่าทีอย่างไรกับประเทศไทย หากมีรัฐประหารนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับแรงสนับสนุนของประชาชนในชาติเป็นสำคัญ ต่างชาติมีผลประโยชน์ทางการค้ามากมายที่จำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์ไว้ และไม่มีทางที่จะตัดขาดอย่างเด็ดขาด
ในสถานการณ์ปัจจุบัน คณะทหารกำลังเฝ้าดูเหตุการณ์ที่พัฒนายกระดับสูงขึ้นทุกวัน และเป็นไปได้ที่จะเข้าแทรกแซงอีกครั้งหนึ่ง หากเกิดกรณี 2 กรณีคือ
1. รัฐบาลทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยใช้คณะกรรมาธิการเต็มสภาฯ พิจารณา 3 วาระรวด และในการแก้ไขนั้นเป็นผลทำให้ ป.ป.ช.และ คตส.สิ้นสภาพไป และผู้ถูกลงโทษทางการเมือง และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับอานิสงส์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น การแก้กติกานี้จะทำให้ทหารเข้าแทรกแซง และจะมีเหตุที่อ้างได้ว่าทำเพื่อ “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ความชอบธรรมก็จะมีได้
บทบาทของทหารในการเมืองไทยเปลี่ยนไปมาก จากการเป็น “ผู้แทรกแซงนอกกติกา” มาเป็น “ผู้เฝ้าดูที่ลังเลในการเข้าแทรกแซง” การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเพราะสังคมมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ขนาดและความโยงใยของปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง สังคมที่มีมิติของการค้า และการเมืองระหว่างประเทศผสมผสานอยู่ ทำให้ทหารรู้ดีว่า คณะทหารขาดความรู้ และประสบการณ์เพียงพอที่จะเข้าจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้
แต่สถานการณ์ทางการเมืองก็กดดันให้คณะทหารต้องเป็น “ผู้ตัดสินขั้นสุดท้าย” ในยามที่เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆ อย่างที่หาทางออกไม่ได้ คณะทหารจะต้องพิจารณาอย่างทั่วด้าน และรอบคอบว่าจะดำเนินการอย่างไร
เท่าที่ผ่านมา วิธีการเดียวที่คณะทหารใช้ก็คือ การยึดอำนาจด้วยการทำรัฐประหาร แต่คณะทหารก็ไม่ต้องการเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาที่นำไปสู่การทำรัฐประหารกลับรอคอยเวลาที่จะให้มีรัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งใหม่
ภายหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ประชาชนได้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า คณะทหารขาดความมุ่งมั่น ขาดความใส่ใจอย่างแท้จริง และขาดแนวทาง-วิธีการที่จะปรับเปลี่ยนทิศทางการเมืองของประเทศ แม้จะมีการระดมพลเรือนเข้ามาช่วยงานก็ตาม แต่พลเรือนเหล่านั้นก็ทำงานไปตามปกติ มิใช่ดำเนินการปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง
2. รัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนที่เป็นอันธพาลทางการเมืองเข้าทำร้ายประชาชนผู้ชุมนุมอย่างสงบอีก และเกิดเหตุการณ์บานปลาย
สองกรณีนี้อาจเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เพราะหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านในระดับสูงขึ้น มีคนมาร่วมมากขึ้น และปิดล้อมสภาฯ ในวันพิจารณา และมีกลุ่ม นปก.หรือกลุ่มจัดตั้งอื่นเข้าทำร้าย คณะทหารก็จะเข้าแทรกแซง
เมื่อเกิดเหตุแล้ว คณะทหารคงจะต้องรักษาสถานการณ์อย่างเคร่งครัด เพราะบทบาทของวิทยุชุมชน และการจ้างคนต่อต้านเป็นหย่อมๆ ทั่วประเทศก็จะเกิดขึ้น ได้มีตัวอย่างมาแล้วว่า การรัฐประหารครั้งที่แล้วก็มีผู้ต่อต้านการรัฐประหาร ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน
ผมคาดว่า หากมีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก คงจะไม่เหมือนครั้งที่แล้ว คือ ไม่ให้มีการเลือกตั้งเร็ว ภารกิจสำคัญก็คือ การดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณให้เสร็จ มีการจัดการดูแลควบคุมการเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญก็คือ การควบคุมแกนนำของฝ่ายทักษิณจำนวนหนึ่งไม่ให้สามารถเคลื่อนไหวได้
ในการรัฐประหารครั้งที่แล้ว มีการจัดทำโครงสร้างสองชิ้นคือ คมช.และรัฐบาล แต่ คมช.กลับไม่มีบทบาทหลังมีรัฐบาล ที่จริงอำนาจสองชิ้นนี้จะมีผลก็ได้ ก็ต่อเมื่อกลุ่มผู้ทำรัฐประหาร และรัฐบาลทำงานร่วมกัน แต่ที่ทำไม่ได้ก็เพราะ คมช.มีแต่ทหาร หาก คมช.มีพลเรือนผสมไปด้วย และกำกับกลุ่มกระทรวงต่างๆ โดยทำหน้าที่กำหนดภารกิจเร่งด่วนที่ต้องทำ ก็จะเป็นผลดี
ปัจจุบันรัฐบาลนายสมัครมีปัญหาความชอบธรรม 2 ขั้น ขั้นแรก คือ การเป็นตัวแทนของพรรคที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย อีกขั้นหนึ่งก็คือ การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติคณะรัฐมนตรีขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 แต่รัฐบาลก็มิได้แสดงความรับผิดชอบแต่อย่างใด
สิ่งเหล่านี้เป็นผลทำให้สถานการณ์ทางการเมือง “สุกงอม” เพราะรัฐบาลไม่ได้นำพาต่อธรรมเนียมปฏิบัติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงปิดกั้นวิถีทางการเปลี่ยนแปลงภายใต้กติการัฐธรรมนูญอย่างสันติวิธี ระบอบประชาธิปไตยนั้นมีสองส่วนที่ต้องมีอยู่ควบคู่กันเสมอ ส่วนหนึ่งคือ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มีอยู่อย่างเป็นทางการ อีกส่วนหนึ่งคือ ธรรมเนียมปฏิบัติ การไม่ใช้ธรรมเนียมปฏิบัติในระบบรัฐสภาที่พรรคเสียงข้างมากกุมอำนาจเด็ดขาด จึงทำให้การเปลี่ยนรัฐบาลตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยเป็นไปไม่ได้
ผมจึงเชื่อว่า รัฐประหารจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ เพราะเหตุดังกล่าวมาแล้ว คือ รัฐบาลปิดกั้นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงตามครรลองนั่นเอง
( http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000091057 )
No comments:
Post a Comment