‘สมเกียรติ ตั้งนโม’ ยันใช้สิทธิเสนอแก้ไข ม.112 ตาม รธน. แนะหากเห็นว่าผิดให้ไปแจ้งความ
คณบดีวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ยืนยันลงชื่อเสนอแก้ ม.112 ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แนะคณาจารย์ที่ล่าชื่อขับ ไปศึกษารัฐธรรมนูญ หากเห็นว่าทำผิดให้ไปแจ้งความดำเนินคดี ยืนยัน ม.112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองทำลายฝ่ายตรงข้าม กระเทือนสิทธิพลเมืองและไม่สามารถปกป้องสถาบันกษัตริย์ได้สมเจตนา จึงควรยกเลิกและตรากฎหมายใหม่ อธิการบดีแนะหากจะยื่นถอดถอน ต้องไปยื่นคำร้องที่สภา มช.
เมื่อ 16 ก.พ. รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงกรณีที่คณาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ ออกแถลงการณ์และยื่นหนังสือให้สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถอดถอนออกจากตำแหน่ง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ กรณีร่วมลงชื่อแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ม.112 ที่มี รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแกนนำคนสำคัญ โดย รศ.สมเกียรติกล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องการยื่นถอดถอน แต่ก็ไม่เป็นไร ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว ไม่ว่าใครจะยื่นถอดถอนหรือออกแถลงการณ์ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ และจะไม่ชี้แจงใดๆ เนื่องจากตนเองไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญฉบับเต็มปี 2550 ได้ระบุแล้วว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิ์เสนอแก้ไขกฎหมายฉบับใดก็ได้ ไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งตนเองก็ขอย้ำอีกรอบว่าไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย ซึ่งอาจารย์ที่ร่วมออกแถลงการณ์ก็ควรจะกลับไปลองอ่านและศึกษารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวดู อย่างไรก็ตาม ถ้าใครเห็นว่าผิดก็ไปแจ้งความดำเนินคดีได้เลย ไม่มีปัญหา
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ รศ.ใจ หลบหนีการดำเนินคดีหมิ่นไปที่ประเทศอังกฤษนั้น ในฐานะที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนดังกล่าว รศ.สมเกียรติ กล่าวว่า ไม่อยากพูดถึงอาจารย์ใจอีก และขอปฏิเสธข่าวที่มีการนำเสนอคำพูดตนเองที่บอกว่า“อาจารย์ใจหนีเอาตัวรอดคนเดียว” ไม่เป็นความจริง เพียงแต่บอกว่าอาจารย์ที่ร่วมเซ็นชื่อแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ ถูกหลอก
ต่อมา รศ.สมเกียรติยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับ “ประชาไท” วานนี้ (18 ก.พ.) ว่า เรื่องนี้เป็นการอาศัยเหตุการณ์ที่ตัวเขาร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฉบับแรก ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิเสรีภาพทางวิชาการและการใช้ กม.อาญามาตรา 112 ในการเป็นเครื่องมือทางการเมืองทำลายฝ่ายตรงข้าม ซึ่งอาจารย์วิจิตรศิลป์ใช้กรณีดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการปลดเขาจากการเป็นคณบดี
“คณบดีไม่ใช่ศาลพระภูมิที่มีไว้กราบไหว้ คณบดีในมหาวิทยาลัยต้องยืนยันถึงสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ และเมื่อเห็นอะไรไม่เป็นไปตามครรลองหรือเจตนารมณ์ของกฎหมาย ควรจะนิ่งเฉยหรือ กรณีนี้เกี่ยวกับ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือได้โดยง่าย สามารถนำขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรมได้โดยลำพังโดยไม่ผ่านการกลั่นกรอง ย่อมกระทบกระเทือนสิทธิของพลเมือง และยังไม่สามารถปกป้องสถาบันกษัตริย์ได้สมเจตนา ดังนั้นจึงเห็นควรยกเลิกและตรากฎหมายใหม่ขึ้นมา ตามสิทธิประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 163”
รศ.สมเกียรติยังกล่าวด้วยว่า "เรื่องนี้เป็นความขัดแย้งภายในคณะวิจิตรศิลป์ เป็นเรื่องของกลุ่มอำนาจเก่าที่สูญเสียอำนาจ มีใบปลิวโจมตีผมก่อนที่จะได้รับการเลือกตั้งเป็นคณบดี และตลอดเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา (ตั้งแต่ ก.ค. 51)ซึ่งผมดำรงตำแหน่งคณบดี คนกลุ่มนี้เป็นพวกที่โหนกระแส เป็นพวกโดยสารฟรี (Free Rider) อาศัยเหตุที่ผมไปลงชื่อกับแถลงการณ์ อ.ใจ อึ๊งภากรณ์ (แถลงการณ์เสนอแก้ไขกฎหมายอาญา ม.112) เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ และการใช้ประโยชน์กฎหมายอาญา ม.112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองทำลายกัน โดยไม่ได้เป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นประเด็นที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นำเรื่องนี้มาพิจารณาในรอบ 20 ปี (ดูบทความลำดับที่ 899 เรื่อง "คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ : พิทักษ์สถาบันหรือเครื่องมือคุกคามประชาชน")
“ที่สำคัญคือ ผมลงชื่อในฐานะสมาชิกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ในฐานะพลเมืองไทยที่เสียภาษี ในฐานะที่ได้รับการรับรอง"สิทธิในการมีส่วนร่วมในทางการเมือง"ตามรัฐธรรมนูญ จะมาบิดเบือนว่าผมเป็นคณบดีวิจิตรศิลป์แล้วทำอย่างนี้ไม่ได้ คำถามของผมคือ เรื่องนี้ตราไว้เป็นกฎข้อบังคับใดในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือถ้ามีอยู่จริงก็ขัดรัฐธรรมนูญ" รศ.สมเกียรติกล่าว
ด้านหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน กรอบบ่าย วันที่ 17 ก.พ. รายงานว่า ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีถอดถอน รศ.สมเกียรติว่า หากจะยื่นถอดถอนตำแหน่งใคร ต้องไปยื่นคำร้องที่สภา มช.
(www.prachatai.com/05web/th/home/15623)
No comments:
Post a Comment