291,607.50
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
ตัวเลขที่ถูกนำมาใช้เป็นชื่อบทความในวันนี้มีความหมายถึงอะไร และมีความสำคัญอย่างไร
รายงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เสนอต่อสภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการถือครองที่ดินในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2551 และเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะได้มีการเผยแพร่ออกให้กว้างขวาง
จากการสำรวจพบว่ากรุงเทพฯ มีขนาดพื้นที่ที่สามารถถือครองได้ 927,074 ไร่ โดยเป็นจำนวนโฉนดที่ดินทั้งหมด1,915,388 แปลง ผู้ที่ถือครองที่ดินในกรุงเทพฯ มีทั้งหมด 1,424,207 ราย โดยผู้ที่ถือครองที่ดินมากที่สุดในลำดับแรกในกรุงเทพฯ (ซึ่งรวมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล) ถือครองที่ดินจำนวน 14,776 ไร่
แต่ข้อมูลที่ทำให้ชวนตระหนกเป็นอย่างยิ่งก็คือ เมื่อสำรวจสัดส่วนของผู้ที่ถือครองที่ดินมากที่สุด 50 อันดับแรกจะคิดเป็นจำนวน 93,314 ไร่ ของที่ดินที่มีทั้งหมดในกรุงเทพฯ หรือหากกล่าวให้ชัดเจนก็คือว่าจำนวนผู้ถือครองที่ดินที่มากที่สุด 50 รายเป็นเจ้าของที่ดินมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของที่ดินทั้งหมดในจังหวัดที่เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย
และหากเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างการถือครองที่ดินที่มากที่สุด 50 อันดับแรกกับการถือครองที่ดินที่น้อยที่สุด 50อันดับสุดท้าย จะพบว่ากลุ่มคนที่มีที่ดินมากที่สุดได้ถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่มคนที่มีที่ดินน้อยที่สุดในกรุงเทพฯคำนวณออกมาเป็นสัดส่วนที่มีความแตกต่างกันถึง 291,607.50 เท่า อันเป็นตัวเลขที่เป็นชื่อของบทความในวันนี้
ข้อมูลดังกล่าวบอกนัยยะสำคัญ รวมถึงอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นภาพปัญหาในการถือครองที่ดินในสังคมไทยได้ชัดเจนขึ้น
โดยไม่ต้องอาศัยความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์มาประกอบแต่อย่างใด ข้อมูลที่หยิบยกมาแสดงให้เห็นในงานวิจัยชิ้นนี้ก็สามารถทำให้มองเห็นภาพของความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินในเขตกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดีว่ามีคนกลุ่มที่เล็กมากเป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ
หากอาศัยข้อมูลจากสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ซึ่งสำรวจจำนวนราษฎรในพื้นที่กรุงเทพฯ ณ วันที่ 31ธันวาคม 2550 พบว่ามีประชากรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรทั้งสิ้น 5,716,248 คน ดังนั้น หากนับสัดส่วนผู้ถือครองที่ดินที่มากที่สุดจำนวน 50 อันดับแรก (ซึ่งมีนิติบุคคลรวมอยู่ด้วย) เทียบเคียงกับจำนวนประชากรทั้งหมด ตัวเลขที่แสดงออกมาจะมีผลเป็นดังนี้ ประชากรจำนวน 0.001 เปอร์เซ็นต์ของกรุงเทพฯ ถือครองจำนวนที่ดินประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ประชากรที่เหลือ 99.999 เปอร์เซ็นต์ถือครองที่ดินในส่วนที่เหลือ
การกระจุกตัวของการถือครองที่ดินที่เข้มข้นอย่างมากเช่นนี้ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นผลที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจที่เลวร้ายยิ่งขึ้น การเป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมากย่อมเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจของคนกลุ่มนี้ได้อย่างง่ายดาย เช่น การให้เช่า การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การจำหน่ายจ่ายโอนในราคาที่สูงลิ่ว เป็นต้น
โดยทั่วไปเมื่อมีการกล่าวถึงการปฏิรูปที่ดินเพื่อนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดิน มักเป็นที่เข้าใจกันว่านโยบายนี้จะพุ่งเป้าไปที่เกษตรกรผู้ยากไร้และเป็นประโยชน์กับคนกลุ่มนี้เป็นหลัก ดังแม้กระทั่งเมื่อมีการกล่าวถึงนโยบายการปฏิรูปที่ดินภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบันก็คงให้ความสำคัญกับการตระหนักถึงการมุ่งไปสู่การก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินสำหรับภาคการเกษตรเป็นหลัก โดยไม่ได้มีการตระหนักถึงว่าปัญหาเรื่องการถือครองที่ดินเป็นปัญหาที่มีขอบเขตกว้างขวางรวมถึงการถือครองที่ดินในพื้นที่เขตเมืองใหญ่ด้วย
การกระจุกตัวของการถือครองที่ดินที่อยู่ในระดับสูง ในด้านหนึ่งก็ส่งผลให้ชนชั้นกลางในเมืองก็ได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง การกว้านซื้อและเก็งกำไรที่ดินในเขตเมืองชั้นในทำให้ชนชั้นกลางไม่สามารถที่จะมีที่พักอาศัยในเขตเมืองได้ จะเห็นได้ว่าในรอบ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา พื้นที่ซึ่งเคยเป็นชุมชนของชนชั้นกลางได้แปรไปเป็นศูนย์การค้า ห้างร้านธุรกิจเอกชน ออฟฟิศทำงาน ชนชั้นกลางไทยต้องกลายเป็น “ผู้อพยพใหม่” โยกย้ายออกไปอยู่ในพื้นที่รอบนอกที่นับวันจะไกลมากขึ้นๆ ปทุมธานี บางบัวทอง บางนา รังสิต นครนายก กลายเป็นที่พักอันถาวรของคนกลุ่มนี้
ไม่ใช่เพียงเท่านั้นราคาของบ้านและอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้กล่าวมาก็ถีบตัวขึ้น ชนชั้นกลางจำนวนมากที่ต้องทำงานหนักภายหลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีไปจนกระทั่งเกือบถึงเกษียณอายุการทำงานเพื่อที่จะผ่อนทาวน์เฮาส์ 20 ตารางวาหรือบ้านเดี่ยวแบบหลังคาติดกันในหมู่บ้านจัดสรรมาเป็นของตน และส่วนใหญ่ของที่ผ่อนไปคือราคาของที่ดินอันแสนแพงซึ่งเป็นผลมาจากเก็งกำไรในหมู่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
เงินต้นและดอกเบี้ยจำนวนมากของชนชั้นกลางในธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดินก็คือ ความร่ำรวยที่ไหลไปสู่เจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินจำนวนหยิบมือเดียวในสังคมไทย
การปฏิรูปที่ดินที่หมายถึงการกระจายการถือครองที่ดินให้กับกลุ่มคนต่างๆ โดยเฉพาะคนตัวเล็กๆ ในสังคมจึงไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะกับเกษตรกรยากไร้เท่านั้น ในอีกด้านหนึ่งนโยบายนี้จะเป็นประโยชน์กับชนชั้นกลางในสังคมไทยเพราะจะทำให้สามารถเป็นเจ้าของที่ดินเพื่อดำรงชีวิตอยู่ได้สะดวกมากขึ้น แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อต้องทำให้นโยบายการปฏิรูปที่ดินไปไกลกว่าเพียงแค่การแจก สปก. 4-01 ดังที่รัฐบาลกำลังขะมักเขม้นทำกันอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนโยบายปฏิรูปที่ดินแบบนี้จะไม่เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรรายย่อย ในระยะยาวแล้วก็จะไม่เป็นมรรคเป็นผลอันใดแก่ชนชั้นกลางแม้แต่น้อย การทำนาบนหลังชนชั้นกลางโดยเจ้าที่ดินจำนวนน้อยก็จะดำเนินต่อไปเช่นเดิม
หากต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในนโยบายปฏิรูปที่ดินที่จะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง การให้ความสนับสนุนกับการปฏิรูปที่ดินซึ่งให้ความสำคัญกับการกระจายการถือครองและการสร้างความมั่นคงกับผู้คนกลุ่มต่างๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่ควรร่วมต้องกันผลักดันให้เกิดขึ้น
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 05 ก.พ. 52
No comments:
Post a Comment