เรียน คุณใบตองแห้ง
11 ตุลาคม 2551 กองบรรณาธิการ
เหตุการณ์ผ่านไปอีก 1 วัน คุณใบตองแห้งคงสะใจ ที่ฝ่ายประชาชนพันธมิตรฯ ล้มตายและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เหมือนกับฝ่ายตำรวจที่ทุบตี ยิงระเบิดน้ำตา
ขว้างระเบิดใส่ประชาชนด้วยความสะใจ ตำรวจผู้ใหญ่ให้สัมภาษณ์ต่อหน้ากล้อง TV ด้วยความเมตตาประชาชน แต่พอหยุดการให้สัมภาษณ์เดินคล้อยหลัง (กล้องยังจับอยู่) กลับยิ้มเยาะด้วยความสะใจ
ส่วนกระผมสะใจในชะตากรรมของนายสมัคร, ทักษิณ เร่งวันเร่งคืนให้ถึงวันที่ศาลตัดสินเด็ดขาดเสียที แล้วก็คอยสะใจว่าเมื่อไรรัฐบาลสมชายจะไปให้พ้นๆ เสียที ฝ่าย ส.ส.พปช.ออกจากสภาฯ ไปก็แสดงอาการเยาะเย้ยฝ่ายพันธมิตรฯ ด้วยความสะใจ สังคมไทยเป็นอะไรไปแล้วครับ จะลงเอยในรูปไหนกันแน่
ฝ่าย ฯพณฯ นายกฯ ก็ให้สัมภาษณ์ด้วยความสะใจ มั่นใจ โดยมีแม่ทัพบกเป็น BACK คอย BACK UP ยังดีที่ไม่เห็น ผบ.สส.-ทร.-ทอ.ยืนเป็น BACKS อยู่เบื้องหลัง
สำหรับคุณใบตองแห้งย้ำเป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้วครับ 70:30 คงจะไม่เอาการเมืองใหม่แน่นอน ย้ำเรื่องถุงยางอนามัยในทำเนียบฯ พวกเขาคงสมสู่กันกลางสนามเหมือนสัตว์ ย้ำเรื่องสมศักดิ์ โกศัยสุข บอกว่าคนในกองทัพร่วมอยู่ในหมู่ผู้ประท้วง 600 คน น้อยไปครับดูจาก ASTV เห็นเป็นพันๆ นะครับ ย้ำเรื่องอำมาตยาธิปไตย, ย้ำเรื่องทุนผูกขาดดั่งเดิม คงจะหมายถึงทรัพย์สินกระมังครับ ฟังแล้วเห็นด้วยกับทุนนิยมอย่างศิโรราบ ไม่เห็นด้วยกับเศรษฐกิจพอเพียงเอาเลย ย้ำให้ พธม.ตั้งพรรคการเมือง แล้วทำไมกระผมไม่ตั้งพรรคการเมือง พวก นสพ.ทำไมไม่ตั้งพรรคการเมือง ใครวิจารณ์การเมืองต้องตั้งพรรคการเมือง จะเอาอย่างนั้นหรืออย่างไร
สำหรับกระผมเป็นสมาชิกพรรคฯ ยังไม่เอาเลยครับ ที่เลือกคนนี้ คนนั้น พรรคนั้น ไม่ใช่เขาดีเลิศ เพียงแต่เห็นว่าดีกว่าเท่านั้น ก็ต้องเปลี่ยนไปเมื่อเห็นว่าใคร พรรคไหนดีกว่า ก็เท่านั้น
นายน่าเบื่อ
ตอบ คุณน่าเบื่อ
รู้สึกชอบตั้งข้อหาผมจัง เห็นผมเป็นอะไรจึงสะใจที่พันธมิตรฯ บาดเจ็บล้มตาย ผมผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาแล้ว รู้ซึ้งดีและเศร้าสลดใจทุกครั้ง ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก
เพียงแต่ในขณะที่คุณโทษฝ่ายหนึ่ง ผมโทษผู้นำทั้งสองฝ่าย โทษทั้งสังคมไทย และเศร้าใจกับชีวิตคนที่บาดเจ็บล้มตายทั้งสองฝ่าย ที่ต่างก็เป็นเหยื่อ ไม่ว่าประชาชนผู้บริสุทธิ์หรือตำรวจที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่
ผมไม่ได้แยกแยะเพื่อนมนุษย์ตาดำๆ เหมือนแพทย์ผู้มีจรรยาสูงทั้งหลาย
และผมก็ไม่เห็นด้วยกับการเอาศพมาเป็นเหยื่อทางการเมือง จึงขอคารวะอย่างสูงแด่คุณพ่อของน้องโบว์ ที่ท่านไม่ต้องการให้นำศพมารดน้ำที่ทำเนียบฯ เพราะมันอาจจะปลุกความโกรธแค้นจนทำให้พ่อคนอื่นๆ ต้องสูญเสียอีก
คุณบอกว่านายตำรวจยิ้มสะใจ ก็มีคนบอกว่าแกนนำพันธมิตรฯ ยิ้มด้วยเช่นกัน จนรู้ตัวว่าจะเข้ากล้องจึงทำหน้าเคร่งเครียด
นี่ไม่ได้ปรักปรำ แต่เปรียบเทียบว่าทั้งสองฝ่ายกำลังใช้อคติต่อกัน คุณอาจจะจับผิดตำรวจ อีกฝ่ายอาจจ้องจับผิดแกนนำพันธมิตรฯ ขอให้ฟังหูไว้หู
กรณีนี้ก็เหมือนกับที่ผมพูดเรื่องถุงยางฯ คุณตั้งข้อหาผม ขณะที่ผมบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลก พันธมิตรฯ ไม่ใช่พระ คุณมีคนเป็นหมื่นๆ ถ้ามีสิบคนร้อยคนเอากันก็ไม่เห็นเสื่อมเสียส่วนรวมตรงไหน อย่าไปขีดเส้นตึง แล้วอีกฝ่ายก็อย่าจับผิด
แต่คุณเป็นมิตรที่จับผิดผมจัง (เป็นมิตรเพราะคุยกันมาหลายปีทั้งที่เห็นต่าง) เช่นทุนนิยม ผมก็บอกเสมอว่าเราปฏิเสธทุนนิยมไม่ได้ แต่ต้องเป็นทุนนิยมพอเพียงที่อยู่ในโลกของการแข่งขัน ส่วนที่ผมบอกให้พันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมือง ก็ไม่ใช่ตอกย้ำ แต่เป็นแค่ตัวอย่างของการปรับตัวในอนาคต แต่ประเด็นสำคัญที่ผมพูดคือ คุณไม่มีทางเอาชนะกันได้ในระยะเวลาอันสั้น ไม่มีทางเอาชนะกันได้ด้วยความรุนแรง เพราะต่างก็มีคนสนับสนุนเป็นสิบล้านขึ้นไป จึงต้องต่อสู้ยืดเยื้อ ต้องรู้จักอยู่ร่วมกันและต่อสู้กันอย่างสันติ ไม่ใช่ปลุกความเกลียดชังเข้าใส่เพื่อทำลายล้างกัน
......................
เรียน คุณใบตองแห้ง ที่นับถือ
นานแล้วครับที่ผมไม่นึกว่า จะมีผู้สนใจการโต้ตอบปัญหาที่ต้องอ้างอิงกฎหมายระหว่างคุณกับผม ชักเบื่อตัวเองที่ไม่ใช้ภาษาคนอย่างคนอื่น นอกจากอ้างตัวบทยันเต แล้วยังมาถี่จนน่ารำคาญ มาวันนี้ (4 ต.ค.51) คุณพินิจ ณรงค์แสง สวมครุยทนายลงน้ำกับคุณใบตองแห้ง ผมก็ "ของขึ้น" เหมือนถูกหวยบนดิน
ครับ.. ก็เรื่อง อธิปไตยของศาล นั่นแหละมี 4 ประเด็นพร้อมของแถม
1.ที่ว่า "ใครจะเถียงว่าศาลตัดสินผิดไม่ได้ เพราะเป็นอำนาจของศาลท่าน" นั้น เห็นจะจริงครับ เพราะผู้พิพากษาศาลล่างคนไหน ถูกศาลสูง กลับ คำพิพากษาบ่อยๆ เมื่อ 40-50 ปีก่อนโน้น มีหวังไปอยู่ศาลจังหวัดภูเขียว หรือศาลแม่สะเรียงโน่นเลย ท่านไม่ได้บอกซักคำนะครับว่าเอ็งผิด ใช้ อธิปไตยทางศาล มากไป ก็ต้องเก็บผักหักฟืนเลี้ยงชีวีตามยถากรรม ถ้าตั้งศาลตะรุเตาขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้เลื่อนชั้น
2.ที่ว่า "คำว่า 'ลูกจ้าง' ศาลจะตีความกว้างหรือแคบอย่างไรได้" นั้น ถ้าเป็นศาลเจ้าพ่อเสือก็แล้วไป แต่ศาลรัฐธรรมนูญท่านประกาศไว้ชัดเมื่อ 9 ก.ย.51 ว่าต้องตีความ อย่างกว้าง (แต่ไม่ได้บอกว่ากว้างแบบกระปุกเกียร์รถเก่าๆ หรือเปล่า ยัดเกียร์หนึ่งเข้าเกียร์สาม) จะใช้อย่างแคบไม่ได้ เสีย อธิปไตยของศาล
3.การใช้กฎหมาย (ตีความ) ต้องใช้ตามมาตรา 4 (ป.พ.พ.) เท่านั้น การตีความตามพจนานุกรมฯ อยู่ในบังคับข้อไหนไม่ทราบ ถ้าพรุ่งนี้เขาชำระพจนานุกรมฯ กันอีก จะไม่เสีย อธิปไตยของศาล หรือครับ เพราะคณะกรรมการชำระพจนานุกรมฯ ท่านก็มีอธิปไตยราชบัณฑิตฯเหมือนกัน
4.อ้าว...ไหนว่าทีคนในคุกยังอ้างว่า "เขาหาว่าได้แล้วทำไมคนหนีคุกจะอ้างว่า 'ใช้ศาลรังแกผม' มั่งไม่ได้" มันก็ครือกันแหละทูนหัว
ทนายซัดทนาย เรื่องปกติ
ทนายฮั้วทนาย ลูกความฉิบหาย
ทนายคัดค้านศาล (อุทธรณ์, ฎีกา) เรื่องปกติ
ทนายยอมศาล ลูกความบรรลัย
ครับ.. ผู้พิพากษาตาถั่วข้างบ้านท่านเดินผ่านมาฝากไว้ นัยว่าจะไปสอนหนังสือตาม ม.เอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร
ด้วยความนับถือ
เฒ่า 72
หมายเหตุ
อธิปไตย น. อำนาจสูงสุดของรัฐที่จะใช้บังคับภายในอาณาเขตของตน
ตอบ คุณเฒ่า 72
คุณมีความเห็นตรงกับผมไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะความเห็นทางกฎหมายแตกต่างกันได้ในแต่ละเรื่อง หรือเหมือนกันได้ในแต่ละเรื่อง
วันนี้ขอตั้งประเด็นใหม่ดีกว่าครับ คือคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ยกหมายจับ 9 แกนนำพันธมิตรฯ ข้อหากบฏ และคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองเรื่องสลายการชุมนุม
ผมไม่วิจารณ์คำสั่งศาลอุทธรณ์ แต่จะยกคำถามว่า ตำรวจสามารถตั้งข้อหากบฏเพิ่มได้หรือไม่ ระหว่างสอบสวนอีก 2 ข้อหา แล้วเสนออัยการสั่งฟ้อง ถ้าอัยการสั่งฟ้องก็ต้องขึ้นศาล
เพราะในความเห็นผม-ข้อหานี้มีมูล พฤติกรรมของพันธมิตรฯ ที่ยึดทำเนียบฯ ดูภายนอกแล้วเข้าข่ายมาตรา 113 (2) ล้มล้างอำนาจบริหารหรือให้ใช้อำนาจไม่ได้ เข้ามาตรา 116 ทั้ง (1) (2) (3) ครบ
นี่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวนะครับ เพราะผมก็ไม่อยากหิ้วโอเลี้ยงไปเยี่ยมพี่พิภพ พี่สมเกียรติ สุริยะใส แต่ถ้าการยึดทำเนียบฯ ตั้งข้อหาได้แค่สถานเบา มันก็จะเกิดปัญหาให้ใครต่อใครยึดทำเนียบฯ กันอยู่เรื่อย ที่ผมเห็นว่ามีมูลหมายถึงดูพฤติกรรมภายนอกแล้วตั้งข้อหาได้ แล้วค่อยไปพิสูจน์กันในศาลอีกทีว่าผิดจริงหรือไม่ โดยผมก็หวังว่าทุกท่านจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่ผิด
ส่วนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครอง ผมเห็นพันธมิตรฯ ตีปีกกันแล้วก็ยังงงๆ ว่าอ่านคำสั่งครบหรือเปล่า เพราะผมอ่านแล้วจับประเด็นได้ 2 ประเด็นครับ
ประเด็นแรกคือ ศาลชี้ว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่หน้ารัฐสภา ไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
"การกระทำดังกล่าวของผู้เข้าชุมนุมจึงมีลักษณะทำให้ผู้อื่นกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ จนไม่กล้าที่จะเข้าไปในรัฐสภา หรือออกจากรัฐสภา อันเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ดังนั้น การชุมนุมหน้ารัฐสภาดังกล่าวจึงมิใช่การชุมนุมโดยสงบอันจะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อีกทั้งการปิดกั้นห้ามมิให้มีการเข้า-ออกรัฐสภาในวันดังกล่าว เป็นไปเพื่อมิให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา อันจะทำให้คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้ ตามมาตรา 176 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาระหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีอำนาจหน้าที่ที่จะเข้าสลายการชุมนุมเพื่อแก้ไขปัญหาการกระทำของผู้เข้าชุมนุมได้"
ชัดเจนไหมครับ ตำรวจมีอำนาจ-และเป็นหน้าที่ ที่จะเข้าสลายการชุมนุม เพียงแต่ประเด็นที่สอง ศาลกล่าวต่อไปว่าตำรวจต้องกระทำเท่าที่จำเป็น คำนึงถึงความเหมาะสม มีลำดับขั้นตอนตามหลักสากล ไม่อาจดำเนินการตามอำเภอใจได้
ถามว่าประเด็นที่สองนี้ ศาลชี้หรือยังว่าตำรวจผิด-ยังครับ นี่เพิ่งคุ้มครองชั่วคราว จะต้องรอการพิจารณาคดีสิ้นสุด ศาลจึงจะชี้ว่าตำรวจทำเกินกว่าเหตุหรือไม่
ในความเห็นผม คำสั่งประเด็นที่สองนี้ไม่ได้มีผลอะไร เพราะเป็นหลักการที่ต้องถือปฏิบัติอยู่แล้ว ตำรวจก็จะอ้างว่าทำเท่าที่จำเป็น คำนึงถึงความเหมาะสม มีลำดับขั้นตอนตามหลักสากล ไม่ได้ทำตามอำเภอใจ ฯลฯ จริงหรือไม่ก็พิสูจน์กันในศาล ซึ่งต้องรวบรวมพยานหลักฐานผลการสอบสวนมาต่อสู้กันอีกยาว
คำสั่งศาลที่ยกมาตีปี๊บกันเฉพาะประเด็นที่สอง ดูเหมือนจะมีผลทางจิตวิทยาทำให้พันธมิตรฯ ฮึกเหิม ตำรวจผวาไม่กล้าสลายการชุมนุมอีก แต่ไม่ได้แปลว่าพรุ่งนี้พันธมิตรฯ บุกยึดรัฐสภาอีก แล้วตำรวจจะสลายไม่ได้นะครับ เพราะศาลท่านบอกว่า "การชุมนุมนั้นอาจมีการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายไม่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจต้องดำเนินการสลายการชุมนุมอีก" แต่ต้องใช้หลักการที่ท่านว่า ซึ่งตำรวจก็จะอ้างว่าทำตามหลักการ
นอกจากนี้ ถ้าย้อนไปอ่านคำสั่งศาลประเด็นแรก ที่บอกว่าตำรวจมีอำนาจและหน้าที่สลายการชุมนุม ตีความได้ไหมว่า ผู้สั่งสลายการชุมนุมน่าจะไม่ผิด แต่ผู้ออกคำสั่งในการปฏิบัติผิดหรือเปล่าต้องพิสูจน์กัน
ขณะเดียวกันที่ศาลชี้ว่าพันธมิตรฯ "ปิดกั้นห้ามมิให้มีการเข้า-ออกรัฐสภาในวันดังกล่าว เป็นไปเพื่อมิให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา อันจะทำให้คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้"
ผมก็มีข้อสงสัยต้องถามคุณเฒ่า 72 อีกแล้วว่า เข้าข่ายมาตรา 113 หรือเปล่า
ขอแสดงความนับถือ
ใบตองแห้ง
www.thaipost.net/index.asp?bk=thaipost&iDate=11/Oct/2551&news_id=165141&cat_id=400
No comments:
Post a Comment