เครือข่ายสันติประชาธรรมรณรงค์หยุดนำมวลชนปะทะ หยุดให้ท้ายพันธมิตร หยุดอนาธิปไตยและรัฐประหาร
วันที่ 26 ต.ค. เวลา 14.00 น. ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณาจารย์และนักเคลื่อนไหวเครือข่ายสันติประชาธรรม และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) แถลงการณ์เรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองไทย 3 ข้อคือ 1 ขอให้แกนนำการเคลื่อนไหวทุกฝ่ายหยุดนำมวลชนมาปะทะกัน 2 เรียกร้องต่อทุกภาคส่วนของสังคม หยุดให้ท้ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ 3 ขอเรียกร้องต่อผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองขณะนี้ให้หยุดนำประเทศไปสู่อนาธิปไตยและการรัฐประหาร
โดยหลังจากแถลงการณ์ดังกล่าว เครือข่ายสันติประชาธรรมจะได้ดำเนินการรณรงค์หยุดพฤติกรรมทั้งสามต่อไป โดยเริ่มจากแจกจ่ายโปสเตอร์รณรงค์จำนวน 3,000 แผ่น ไปตามสถานศึกษาและประชาสัมพันธ์ตามสถานที่สาธารณะต่างๆ รวมถึงจะจัดเสวนาทางวิชาการอย่างต่อเนื่องต่อไปด้วย
โดยผู้ที่สนใจกิจกรรมของเครือข่ายสันติประชาธรรม รวมถึงผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางของเครือข่ายสามารถติดตามกิจกรรมและข้อมูลข่าวสารได้จาก http://ruleoflawthailand.wordpress.com/
นายพรสันต์ เลี้ยงบุญลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์หาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า พันธมิตรจะต้องตระหนักถึงประเด็นความชอบธรรมตามกฎหมายซึ่งเมื่อพิจารณาจากคำสั่งศาลปกครองซึ่งวินิจฉัยชัดเจนว่า การชุมนุมของพันธมิตรเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ ตามความในรัฐธรรมนูญมาตรา 63 และการชุมนุมในสถานที่ราชการรวมทั้งการขัดขวางการปฏิบัติงานของภาคราชการนั้นเป็นการกระทำที่เกินกว่าขอบเขตการคุ้มครองของกฎหมาย และเป็นการละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น ดังกรณีจากการที่พันธมิตรฯ ถูกกลุ่มอาจารย์โรงเรียนราชวินิต ฟ้องต่อศาลแพ่ง
นายพรชัยกล่าวด้วยนี้ ประเด็นความขัดแย้งทางการเองขณะนี้ ส่วนหนึ่งก็น่าจะทำให้ต้องมาทบทวนเรื่องกฎหมายการชุมนุม ว่าจะมีขอบเขตแค่ไหน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการดำเนินการพิจารณากฎหมายดังกล่าวในสมัยของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่วาระตกไปเนื่องจากมีการพิจารณากันว่ากฎหมายเคร่งครัดเกินไป
นายเกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ประจำคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่ารูปแบบการชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสร้างความเกลียดชัง มิใช่การเคลื่อนไหวเพื่อให้ข้อมูลความรู้ หรือทำให้สังคมเข้าใจแก่นแท้ของกิจกรรมทางการเมือง ทั้งนี้ นายเกษมกล่าวว่าจากคำปราศรัยของนายสนธิ ลิ้มทองกุลซึ่งกล่าวว่าการเคลื่อนไหวของพันธมิตรเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อให้ข้อมูลข่าวสาร แต่การให้ข้อมูลข่าวสารนั้นต้องประกอบด้วยข้อเสนอและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ประเด็นต่อมาคือเรื่องข้อเสนอการเมืองใหม่ ซึ่งแสดงถึงความไม่เชื่อมั่นต่อการปกครองระบอบรัฐสภา ซึ่งอยากขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายกลับมาเชื่อมั่นต่อระบอบรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส. และส.ว. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบอบการเมืองแบบรัฐสภา
นายเกษมกล่าวด้วยว่า ปัญหาของประเทศชาติขณะนี้ไม่ได้มีแค่เรื่องการเมืองหรือเรื่องพันธมิตรฯ อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาอื่นๆ ที่รัฐบาลจะต้องให้ความสนใจและแก้ปัญหาด้วยแต่ปัญหาของประเทศกลับถูกกลุ่มการเมืองต่างๆ เคลื่อนไหวแบบยื้อเวลา และเห็นว่า การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ เป็นร่องรอยของความกลัวที่จะอยู่ภายใต้ระบอบกติกา ทั้งๆ ที่พันธมิตรเองเป็นฝ่ายยื่นกติกามาโดยตลอด
นายอภิชาติ สถิตนิรมัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาลิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเรียกร้องขอให้สังคมหยุดการเมืองแห่งความรุนแรงและความเกลียดชัง แ ละการเมืองไทยขณะนี้ถูกครอบงำโดยแกนนำการเคลื่อนไหวเพียงไม่กี่คน ทั้งๆ ที่มวลชนของแต่ละฝ่ายมีหลายเฉด และไม่ได้เห็นด้วยกับแกนนำไปทุกเรื่อง ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่สังคมและประชาชนจะต้องแสดงพลัง เป็นกำลังหลัก และขอเรียกร้องต่อคนที่สังคมให้การยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นราษฎรอาวุโส ผู้นำทางศาสนา และสื่อมวลชนต้องกลับมาต่อต้านและประณามความผิดพลาดของทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม
นายอภิชาติ ตอบคำถามที่ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเหตุจากความล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ว่า ความล้มเหลวของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่เหตุผลที่สำคัญกว่าคือการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสร้างความเกลียดชัง มองเห็นความเป็นมนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้ชุมนุมจะแสวงหาอาวุธมาปกป้องตัวเอง และสร้างบรรยากาศแห่งสงคราม และเมื่อพื้นฐานของการเคลื่อนไหวเป็นแบบนี้ ต่อให้ตำรวจมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ 100 เท่าก็จัดการไม่ได้
พวงทอง ภวคพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่พันธทิตรเรียกร้องให้ทหารออกมาปกป้องพันธมิตก็คือการเปิดทางให้กับการรัฐประหาร ทั้งนี้ปรสบการณ์ของประเทศไทยที่ผ่านมาชัดเจนอยู่แล้วว่า ทหารไม่ได้ถูกฝึกมาให้จัดการกับมวลชนหรือการชุมนุมของประชาชน แต่ทหารถูกฝึกให้รบ หากทหารออกมาแสดงบทบาทก็จะต้องปะทะกับตำรวจและนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น
พวงทองย้ำว่า การดูแลการชุมนุมนั้นเป็นหน้าที่ของตำรวจ แม้ว่าที่ผ่านมา ตำรวจจะต้องรู้สึกน้อยใจบ้าง เพราะได้พยายามอดทนมาโดยตลอด แต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 ต.ค. ทำให้ฝ่ายตำรวจถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าตำรวจจะต้องวางตัวเป็นกลาง และไม่เข้าร่วมกับฝ่ายใด หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ โดยเฉพาะกลุ่มของ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค
สำหรับประเด็นการให้ท้ายพันธมิตรฯ นั้น ที่ผ่านมา กลุ่มต่างๆ ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรฯ ที่ทำการละเมิดหลักการประชาธิปไตย และนี่เป็นปัญหาที่ส่งผลให้ฝ่ายพันธมิตรฯ ไม่ยอมลดท่าทีเพื่อเจรจาหรือต่อรองใดๆ
นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่าการวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มทางการเมืองอื่นๆ และโดยเฉพาะรัฐบาลนั้น สื่อและกลุ่มทางสังคมได้ทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ไปมากแล้ว และที่จริงก็ไม่ควรจะวิจารณ์รัฐบาลมากเกินกว่าเหตุแต่ปิดตาข้างเดียวไม่เห็นความผิดของพันธมิตรฯเลย
และในสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ ในเมื่อพันธมิตรฯ เป็นฝ่ายที่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง พันธมิตรฯก็อยู่ในฐานะที่จะคืนความสลบสุขให้กับสังคมได้ด้วยซ้ำ เพราะที่ผ่านมา ฝ่ายพันธมิตรฯ เองเป็นฝ่ายรุกมาโดยตลอด ขณะที่รัฐบาลเป็นฝ่ายตั้งรับ และพันธมิตรฯ รุกมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดคำถามว่าประเด็นของพันธมิตรฯ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ และหลายๆ กลุ่มก็พยายามหาทางลงให้กับพันธมิตรฯ เช่นกรณีของ 24 คณบดี แต่พันธมิตรฯ ก็ปฏิเสธมาตลอด จนประชาชนเกิดคำถามว่าเป้าหมายปลายทางของพันธมิตรฯ อยู่ตรงไหน
ดังนั้นแล้ว เมื่อพันธมิตรเองก็เสนอเรื่องการเมืองใหม่ ทำไมจึงไม่ถอยออกมาและเข้าร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ทางสังคมร่วมกันปฏิรูปการเมืองใหม่
โดยนายประจักษ์เห็นว่าข้อเสนอเรื่อง สสร. 3 นั้นไม่ได้เสียหายอะไร และควรใช่โอกาสนี้สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ทางการเมืองร่วมกัน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งหากทำได้เช่นนั้น การแก้รัฐธรรมนูญก็จะเป็นเรื่องบยอมรับได้มากขึ้น
นายประจักษ์กล่าวด้วยว่า ปัญหาของการชุมนุมทางการเมืองขณะนี้คือ แต่ละฝ่ายไม่ได้เชื่อมั่นในสันติวิธีอย่างแท้จริง จึงกลายเป็นเพียงสันติวิธีแบบเลือกใช้ตามความพอใจ (Selective Non-violence) ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุด เพราะทำให้สันติวิธีกลายเป็นเพียงวาทศิลป์ โดยที่ผู้ชุมนุมไม่ได้ปฏิเสธความรุนแรงในการแก้ปัญหา จึงอยากขอร้องต่อพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดงให้หยุดการฝึกนักรบพระเจ้าตากด้วย
นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กล่าวว่า ถานการณ์การเมืองไทยขณะนี้มองในแง่หนึ่งก็เป็นไปตามสถานการณ์การเมืองในโลกที่สามอื่นๆ คือรัฐอ่อนแอลง และเกิดกรณีการท้าทายอำนาจรัฐเช่นนี้ทั่วโลก ยกเว้นในกรณีขงประเทศพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากลักษณะเฉพาะของการเมืองไทยแล้ว น่าสนใจว่ามีการต่อสู้ของฝ่ายประชาชนจนกระทั่งยกระดับเป็นขบวนการกลุ่มประชาชน ต่างพยายามนำเสนอความชอบธรรมของตัวเองอย่างเต็มที่ โดยที่รัฐไม่ได้แสดงบทบาทเป็นฝ่ายผลิตชุดความเชื่อใดๆ มาตอบโต้ ซึ่งเป็นภาพที่ต่างไปจากอดีต
สำหรับสถานการณ์จากนี้ไป เป็นเรื่องยากที่จะตอบเพราะความขัดแย้งนี้จะไม่มีวันจบ จะยืดเยื้อและที่สุดแล้วอำนาจรัฐจะต้องลงจัดการความขัดแย้ง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าอำนาจรัฐจะอยู่ฝ่ายไหน ส่วนคำถามที่สังคมต้องการมากขณะนี้คือ เมื่อไหร่ความขัดแย้งจะยุตินั้นอาจจะไม่สำคัญเท่ากับว่า หลังจากนี้ไป โครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมจะต้องเปลี่ยนไปจากเดิม แต่คำถามคือสังคมไทยจะรับได้มากน้อยแค่ไหน
หยุดนำมวลชนมาปะทะกัน!
หยุดให้ท้ายพันธมิตร!
หยุดนำประเทศไปสู่อนาธิปไตยและการรัฐประหาร!
ในขณะนี้เป็นที่ชัดเจนว่าสังคมไทยกำลังตกอยู่ในภาวะตึงเครียดอย่างยิ่ง อันเป็นผลจากการเผชิญหน้าทางการเมืองระหว่างฝ่ายต่าง ๆ จนทำให้เกิดความเชื่อโดยทั่วไปว่าสังคมไทยคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปะทะ-นองเลือดระหว่างประชาชนสองขั้วได้ พวกเราในฐานะกลุ่มทางสังคมที่ห่วงใยต่อชีวิตของประชาชนจึงขอเรียกร้องต่อฝ่ายต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. หยุดนำมวลชนมาปะทะกัน
เราขอเรียกร้องให้ผู้นำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่ม พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค ยุติการเคลื่อนไหว ด้วยวิธียั่วยุให้เกิดความเกลียดชังและโกรธแค้นซึ่งกันและกัน และยุติการเคลื่อนมวลชนของตนออกจากที่ตั้งทั้ง ๆ ที่รู้ว่าสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกับอีกฝ่ายหนึ่ง
เราขอเรียกร้องให้ผู้นำพันธมิตร, นปช. และพล.ต.อ.สล้างตระหนักว่าสังคมไทยไม่จำเป็นต้องสร้างวีรบุรุษ-วีรสตรีในลักษณะเช่นนี้ พวกท่านไม่ควรเห็นมวลชนของตนเองเป็นเพียงหมากทางการเมืองเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น ต่อจากนี้ไป หากเกิดความรุนแรงต่อชีวิตของประชาชน ผู้นำของกลุ่มเหล่านี้ จักต้องรับผิดชอบ
2. หยุดให้ท้ายพันธมิตร
สาเหตุสำคัญที่ทำให้วิกฤติการเมืองในขณะนี้เดินมาสู่ “ทางตัน” ก็คือ ผู้นำฝ่ายพันธมิตรฯ ปฏิเสธไม่ยอมเจรจาประนีประนอมทางการเมือง แต่ยืนยันที่จะใช้วิธีแตกหักเพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ระบอบ “การเมืองใหม่” ของตนซึ่งเป็นระบอบเผด็จการคนส่วนน้อยและสวนทางกับหลักการประชาธิปไตย ประการสำคัญ ในขณะที่ผู้นำพันธมิตรอ้างว่าตนทำเพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ข้อเสนอที่ให้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามามีอำนาจทางการเมืองโดยตรง เช่น มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพโดยตรง เท่ากับต้องการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลต่อสถานะที่เป็นกลางและอยู่เหนือการเมืองของสถาบันฯ ในระยะยาว
นอกจากนี้ ที่ผ่านมากลุ่มต่าง ๆ ในสังคมที่ควรวางตัวเป็นกลาง ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ราษฎรอาวุโส องค์กรสิทธิมนุษยชน วุฒิสมาชิก และสื่อมวลชน ต่างไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์เป้าหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และยุทธวิธียั่วยุให้เกิดความรุนแรงของฝ่ายพันธมิตร จึงกล่าวได้ว่าในขณะนี้เราไม่มีบุคคลหรือสถาบันใดในสังคมที่ได้รับความยอมรับจากทุกฝ่ายว่าเป็นกลางอย่างแท้จริง ทำให้โอกาสของการเจรจาเพื่อหาทางออกกับคู่ขัดแย้งริบหรี่ลงจนแทบเป็นไปไม่ได้
กระนั้น เราเห็นว่ายังไม่สายเกินไปที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะยุติการอุปถัมภ์ค้ำจุนกลุ่มพันธมิตรฯ อย่างผิดๆ และเริ่มต้นวิจารณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตร นปช. รัฐบาล กองทัพ ตำรวจ ตลอดจนระบบตุลาการอย่างเที่ยงตรงและเท่าเทียมกัน เราเชื่อมั่นว่าด้วยแนวทางนี้เท่านั้นที่จะทำให้เกิดการสานเสวนาที่วางอยู่บนข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านเพื่อหาทางออกให้กับวิกฤติครั้งนี้ได้อย่างแท้จริง
3. หยุดนำประเทศไปสู่อนาธิปไตยและการรัฐประหาร
เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในหลักการว่า “การแก้ไขความขัดแย้งจะต้องอยู่ในกฎกติกา ไม่ใช่ด้วยอาวุธและความรุนแรง” การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ ซ้ำยังทำให้ความขัดแย้งแบ่งฝ่ายทางการเมืองขยายตัวสูงขึ้น ประการสำคัญ ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองขณะนี้ ชวนให้เชื่อได้ว่าหากเกิดการรัฐประหารหรือยึดอำนาจรัฐด้วยวิธีการนอกรัฐธรรมนูญอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเกิดการจลาจล และนองเลือดของประชาชนครั้งใหญ่ และหากเป็นเช่นนั้นจริง บรรดาผู้ก่อการรัฐประหารจะต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมและหายนะที่ท่านมีส่วนก่อให้เกิดขึ้น
เครือข่ายสันติประชาธรรม
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)
ที่มา : ประชาไทออนไลน์, 26 ตุลาคม 2551
No comments:
Post a Comment