Tuesday, October 28, 2008

ทำไมทักษิณ ทักษิณทำไม



โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์



คอลัมน์วิภาคแห่งวิพากษ์ในมติชน 22 ต.ค.2551 ตั้งคำถามว่า แม้มีรัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย.49 พรรคที่เชื่อมโยงกับคุณทักษิณ ชินวัตร ก็ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงเหนือคู่แข่งอย่างท่วมท้น และถึงแม้จะเลือกตั้งอีก ชื่อของคุณทักษิณซึ่งหมดสิทธิลงเล่นการเมืองแล้ว ก็จะนำพรรคให้ได้คะแนนนำอยู่ดี

"คำถามก็คือ ระบบทักษิณอันเป็นผลิตผลแห่งระบอบทักษิณสามารถดำรงอยู่เพราะเหตุปัจจัยใด"

ผมอยากเสี่ยงตอบคำถามนี้ ด้วยความรู้และข้อมูลที่ไม่มากพอ แต่ผมคิดว่าเราควรช่วยกันหาคำตอบ แทนที่จะชี้นิ้วบริภาษผู้นิยมคุณทักษิณว่าโง่, โลภ และไร้การศึกษา ผมคิดว่าปรากฏการณ์ "ทักษิณฟีเวอร์" นี้ บางส่วนก็เป็นทางนำไปสู่ความก้าวหน้าทางการเมือง บางส่วนก็นำไปสู่ความเสื่อมทรุดทางการเมือง ฉะนั้นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ให้ถึงแก่น จะมีประโยชน์ต่อพัฒนาการทางการเมืองไทยแน่นอน

ผมจึงอยากเรียกร้องให้นักวิชาการศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง และอยากเรียกร้องให้สำนักงานที่มีเงินสนับสนุนการวิจัยทั้งหลาย ให้ความสนใจแก่เรื่องประเภทนี้ให้มากขึ้น (อย่ามองชนบทแยกออกไปต่างหากจากเมืองและประเทศโดยรวม)

แต่ก่อนที่จะมีคำตอบดีๆ จากนักวิชาการที่ทรงคุณความรู้ ผมขอให้คำตอบตื้นๆ ไปก่อนดังนี้

1/ ผมคิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งดีๆ ที่ชาวบ้านจำนวนมากเคยได้รับจากรัฐบาลกลาง ไม่ว่าจะเป็นหลักประกันสุขภาพ ซึ่งแม้ไม่สู้จะมีประสิทธิภาพสูงนัก แต่เขาก็ได้ใช้ประโยชน์ไปตามอัตภาพ ซ้ำเป็นหลักประกันสุขภาพที่มั่นคงพอสมควรด้วย ความลังเลใจและนโยบายที่ไม่ชัดเจนของรัฐบาลซึ่งมาจากการรัฐประหารต่อเรื่องนี้ ยิ่งตอกย้ำ สัญลักษณ์ทักษิณว่าเป็นหลักประกันที่มั่นคงกว่าในเรื่องสุขภาพ

กองทุนประเภทต่างๆ ซึ่งแม้ไม่ทำให้ส่วนใหญ่ของชาวบ้านมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็ช่วยให้ยืดวงจรของหนี้สินออกไปได้คล่องตัวขึ้น ดีกว่าไม่มีเสียเลย

และนโยบายอื่นๆ ซึ่งรัฐบาลของคุณทักษิณได้หยิบยื่นทรัพยากรกลางลงไปถึงระดับล่าง อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ชื่อทักษิณ ชินวัตร จึงเป็นบุคคลาธิษฐานของความใส่ใจต่อประชาชนระดับรากหญ้า ไม่ว่าความเป็นจริงจะเป็นดังนั้นหรือไม่ก็ตาม

2/ คุณทักษิณและพรรค ทรท.เข้าถึงเครือข่ายในชีวิตของชาวบ้าน ได้กว้างขวางกว่าที่นักการเมืองส่วนกลางเคยเข้าถึงมาแล้ว และไม่ใช่เฉพาะเครือข่ายผลประโยชน์ทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว หากรวมถึงเครือข่ายทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย เพราะที่จริงแล้วเครือข่ายเหล่านี้แยกออกจากกันได้ยาก (จนเอ็นจีโอในสมัยคุณทักษิณจ๋องไปแยะ จึงกลายเป็นปฏิปักษ์ของพรรคการเมืองที่ตัวเคยสนับสนุนมาก่อน) เครือข่ายเหล่านี้มักผ่านนักการเมืองท้องถิ่นทุกระดับ กลายเป็นฐานเสียงที่แน่นหนาของคุณทักษิณ แม้ไม่มีตัวคุณทักษิณอยู่ในการเมืองไทยอีกแล้วก็ตาม

3/ คุณทักษิณเป็นหัวหน้าพรรคคนแรกที่มีอำนาจต่อรองเหนือนักการเมืองของพรรคอย่างค่อนข้างเด็ดขาด ทั้งเพราะอำนาจเงินและอำนาจความนิยมที่ได้รับจากประชาชน ฉะนั้นคุณทักษิณจึงคุมข้าราชการอยู่ เพราะข้าราชการไม่สามารถฝากตัวกับนักการเมืองอื่นใดไปต่อรองกับนายกฯ ได้ (ข้าราชการในสังกัดของ "วัง" ต่างๆ อาจถูกย้ายได้ หากเจ้าของ "วัง" ไม่เป็นที่ไว้วางใจของคุณทักษิณ)

ฉะนั้นจึงเป็นครั้งแรก (หลังจากที่กองทัพหมดบทบาทปราบคอมมิวนิสต์ลง) ที่ชาวบ้านจำนวนไม่น้อย รู้สึกว่ามีอำนาจต่อรองกับข้าราชการได้มากขึ้น เพราะอย่างน้อยเจ้าพ่อที่หนุนหลังข้าราชการในท้องถิ่นต่างๆ ยังเป็นรองคุณทักษิณทั้งนั้น ชาวบ้านจึงมีอำนาจต่อรองกับข้าราชการได้มากขึ้น เลือดเข้าตาก็ยังจัดกระเช้าดอกไม้เข้าไปให้กำลังใจนายกฯถึงกรุงเทพฯ เพื่อร้องเรียนได้

อำนาจต่อรองนี้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนในชนบทนะครับ ในขณะที่คนชั้นกลางในเมืองอาจไม่รู้สึกอะไร เพราะถือว่าตัวสามารถต่อรองผ่านสื่อได้โดยสะดวกอยู่แล้ว

4/ คุณทักษิณเป็นผู้มีบุคลิกถูกใจชาวบ้านกว่านักการเมืองใดๆ ที่เราเคยมีมา "ทัวร์นกขมิ้น" ที่นายกฯนุ่งผ้าขาวม้าลงไปห้องน้ำนั้น สื่อลงภาพทุกฉบับ และเป็นภาพที่น่าประทับใจแก่ชาวบ้านว่าท่านนายกฯใช้ชีวิตปกติเหมือนตนเอง แต่ภาพถ่ายนี้จะไม่ให้ใครถ่ายได้เลยก็ได้ เพราะมีทหารตำรวจล้อมรอบอยู่แล้ว แค่กันให้ถอยออกไปเสียก่อนก็ได้ ฉะนั้นจึงเป็นภาพที่คุณทักษิณตั้งใจจะให้ถ่ายรูป และเผยแพร่

ยังไม่พูดถึงคำพูดคำจา และวัตรปฏิบัติอีกหลายอย่างที่น่าประทับใจแก่ชาวบ้าน เช่นช็อปปิ้ง, กินก๋วยเตี๋ยว, รักลูกเมีย ซื้อของแล้วไม่ต้องทอน ฯลฯ

ทั้งหมดนี้จะพูดว่าคุณทักษิณเก่งด้านการตลาดก็ได้ แต่เป็นตลาดการเมืองนะครับ ไม่ใช่ตลาดโทรศัพท์มือถือ นายกฯที่เราเคยมีมาหลายคนก็เก่งด้านการตลาดการเมืองเหมือนกัน (เช่น คุณชาติชาย ชุณหะวัณ) แต่ผมคิดว่าเก่งไม่เท่าคุณทักษิณ ทั้งเป็นความเก่งที่เหมาะกับตลาดล่างมากกว่าตลาดบนเสียด้วย

คงอีกนานกว่าเราจะมีนักการเมืองที่เก่งการตลาดระดับตลาดล่างอย่างนี้อีก

5/ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมในสมัยคุณทักษิณดีขึ้น จะดีขึ้นเพราะฝีมือหรือเพราะเฮงก็ตามเถิดครับ ในทุกวันนี้ ผมยังเห็นแผงและรถขายของในตลาดติดสติ๊กเกอร์ "คิดถึงทักษิณ" อยู่ แม้ว่าสีจะซีดลงไปมากแล้ว ผมเคยคุยกับแม่ค้าขายกล้วยแขกที่ตลาดใกล้บ้าน เธอบอกว่าเธอติดสติ๊กเกอร์นี้เพราะรู้สึกอย่างนี้จริงๆ เนื่องจากเธอขายกล้วยแขกได้ดีในสมัยคุณทักษิณ อยากให้สภาพอย่างนั้นกลับมาอีก

หลังสมัยคุณทักษิณ เศรษฐกิจก็ไม่ได้เลวลงทันที แต่คนรู้สึกว่าไม่ดีเท่าสมัยคุณทักษิณ อาจเป็นเพราะนักการเมืองไม่เก่งด้านการตลาดเท่าก็ได้ เศรษฐกิจสมัยคุณทักษิณจะดีสักแค่ไหนก็ตาม แต่รัฐบาลคุณทักษิณรู้จักทำให้คนรู้สึกว่าดีจังเลย ซึ่งทำให้คนกล้าจับจ่ายใช้สอย

ในขณะเดียวกัน สภาพทางสังคมก็ถูกทำให้คนรู้สึกว่า "ดีจังเลย" เหมือนกัน ไม่ว่าการทำสงครามกับยาเสพติด, การลดอิทธิพลของเจ้าพ่อ, ฯลฯ สภาพเหล่านี้คงถูกขยายด้วยเทคนิคการตลาดเหมือนกัน แต่ก็ได้ผล ทางการเมืองก็ไม่มีอะไรอึมครึมให้ต้องวิตกห่วงใย

คุณทักษิณมาเสียท่าตอนความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ เพราะไม่มีเทคนิคการตลาดอะไรจะช่วยได้ เมื่อโรงเรียนถูกเผาและระเบิดถูกจุดทุกวันอย่างนั้น แม้กระนั้น คุณทักษิณก็สามารถยืนหยัดอยู่บนความล้มเหลวในภาคใต้มาได้ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นอยู่นั่นเอง เพราะวิธีบรรเทาผลกระทบทางการเมืองนานาชนิดที่คุณทักษิณใช้ นับตั้งแต่พับนกไปโปรย, ตั้งกรรมการสมานฉันท์, ส่งรองนายกฯ ไปศึกษาเพื่อทำข้อเสนอแนะ, ฯลฯ กลายเป็นเรื่องเฉพาะพื้นที่มากกว่าเป็นปัญหาของสังคมไทยทั้งหมด

เพราะไม่ได้ลงไปศึกษาจริง ผมก็ได้แต่คำตอบที่ใครๆ ก็คงคาดเดาได้อยู่แล้ว แต่ปัญหานี้สำคัญ และอย่างที่กล่าวข้างต้น คือต้องการความรู้ที่ได้จากการศึกษาจริง เพราะมีประโยชน์แก่สังคมอย่างแน่นอน

หน้า 6

 

ที่มา  :  มติชนรายวัน,วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11188



No comments: