โดย เกษียร เตชะพีระ
ประชาไท, 17 ตุลาคม 2551
ความขัดแย้งแบ่งฝ่ายทางการเมืองปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ตุลาเลือดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ศกนี้เป็นต้นมาได้นำพา ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ของไทยมาถึงจุดที่คับขันสุ่มเสี่ยงต่อการถลำลึกตกดิ่งลงไปในหุบเหวอันมืดมิดไม่มีที่สิ้นสุด!
แกนนำทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งมาดปรารถนาบรรลุเป้าหมายทางการเมืองตามเจตจำนงของตน โดยชี้นำผลักดันการเคลื่อนไหวอย่างดื้อรั้นเสี่ยงภัยไม่เลือกวิธีการ จนชวนให้ตั้งคำถามว่าพวกเขารอบคอบระมัดระวังที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะรุนแรงอย่างเพียงพอ สมค่าคู่ควรแก่ความเชื่อถือศรัทธาไว้วางใจ ฝากชีวิตความปลอดภัยไว้ให้ และจิตใจกล้าต่อสู้กล้าเสียสละไม่กลัวยากไม่กลัวตายของมวลชนส่วนใหญ่ผู้ไร้อาวุธใต้การนำของตนแล้วหรือยัง?
ไม่ต้องสงสัยว่าทั้ง คุณอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ แห่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และคุณณรงค์ศักดิ์ กอบไธสง แห่งแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ต่างพลีชีพไปในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งที่ทั้งสองเทิดทูนไว้สูงค่ากว่าชีวิตของตน ได้แก่ชาติและสถาบันกษัตริย์ในกรณีแรก และประชาธิปไตย ในกรณีหลัง
คำถามคือเหตุไฉนคนไทยร่วมชาติผู้เสียสละทั้งสองท่านจึงกลายเป็นอยู่ฝ่ายตรงข้ามกันในความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน?
และการปะทะรุนแรงที่นำไปสู่การเสียชีวิตของทั้งสอง คือกรณี 7 ตุลาคม และกรณี 2 กันยายน ก่อนหน้านี้ จำเป็นต้องเกิดขึ้นหรือไม่? พอจะมีทางหลีกเลี่ยงได้อย่างไร?
แกนนำของทั้งสองฝ่ายได้สรุปบทเรียนและแสดงความรับผิดชอบออกมาบ้างหรือไม่? แค่ไหนเพียงใด?
เท่าที่ได้ยินได้ฟัง ฝ่ายหนึ่ง ขณะผูกผ้าพันคอสีฟ้าและห้อยเหรียญมหาชนก ได้ป่าวประกาศเรียกร้องเสียงดังฟังชัดว่าต้องการระบอบ “การเมืองใหม่” หรือนัยหนึ่ง ระบอบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ใช่ระบอบรัฐธรรมนูญ –ไม่ทั้งในความหมายมาตรฐานสากลและความหมายแห่งขบวนการอภิวัฒน์เพื่อระบอบรัฐธรรมนูญ 2475, และขบวนการลุกขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตยของนักศึกษา ประชาชนเมื่อ 14ตุลาคม พ.ศ. 2516 และพฤษภาคม 2535 ในประวัติศาสตร์ชาติไทยเราเอง
อีกฝ่ายหนึ่ง เบื้องหน้าฉากหลังเวทีรูปตีนโตไดโนเสาร์สวมแหวนเพชรสีฟ้า ก็แสดงปฏิกิริยาตอบกลับโดยยกระดับการโจมตีตอบโต้ไต่สูงขึ้นเรื่อยๆ ตามแนวทางการเรียกร้อง “ระบอบประชาธิปไตยของปวงประชามหาชน …ที่ซึ่งปวงชนชาวไทยเป็นทั้งเจ้าของอำนาจอธิปไตยและผู้ใช้อำนาจนั้นด้วยตนเอง”- โดยไม่ปรากฏชัดว่า ที่ทางฐานะบทบาทของสถาบันกษัตริย์อยู่ตรงไหน? อย่างไร? ในระบอบประชาธิปไตยที่ว่านี้
ทั้งสองฝ่ายต่างตั้งเป้าประสงค์วางเจตจำนงทางการเมืองอย่างสุดโต่ง โดยไม่คำนึงถึงกรอบจำกัดทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ที่ดำรงอยู่ หากยึดเอาการออกแรงกดดันให้ได้ดังอุดมการณ์ หรือใจปรารถนาทางอัตวิสัยของตัวเอง – ที่นี่และเดี๋ยวนี้ - เป็นที่ตั้ง โดยจินตนาการสังคมการเมืองในอนาคตข้างหน้าของตัวแบบไม่มีที่ทางให้พลังฝ่ายตรงข้ามเหลืออยู่เลย
มิหนำซ้ำต่างฝ่ายต่างประหนึ่งว่ากำลังยื่นคำขาดบีบคั้นบังคับให้คนไทยทั้งชาติต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง “ระบอบประชาธิปไตย” หรือ “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” โดยไม่อนุญาตให้มีที่ทางและทางเลือกอื่นสำหรับพลังฝ่ายที่สามหรือฝ่ายเป็นกลาง
ทั้งๆ ที่จากประสบการณ์ของ “ระบอบประชาธิปไตย+อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ดังที่เป็นมาตั้งแต่หลัง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 อาจสรุปบทเรียนได้ว่า:
ระบอบเสรีประชาธิปไตยจะประกันความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นกลางทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญได้ดีที่สุดกว่าระบอบอื่น
และสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นกลางทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญสามารถแสดงบทบาทค้ำจุนประคับประคองระบอบเสรีประชาธิปไตยให้ยั่งยืน
ประเด็นไม่ได้อยู่ตรงความถูกต้องชอบธรรมและสมเหตุสมผลหรือไม่ของข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่าย แต่อยู่ตรงที่ว่าเพื่อปฏิบัติตามเจตจำนงของตนอย่างถึงที่สุด – ที่นี่และเดี๋ยวนี้ – จะนำไปสู่การหักรานกวาดล้าง ทำลายเหล่าพลังและสถาบันที่ดำรงอยู่จริงในสังคมการเมืองไทย แต่ถูกมองว่ากีดขวางเจตจำนงเหล่านั้นอย่างขนานใหญ่ ถึงขนาดยากที่จะดำรงอยู่ร่วมกันต่อไปได้
ดังจะเห็นได้ว่า นักวิจารณ์ “ระบอบทักษิณ” ขาประจำผู้เป็นแนวร่วมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างธีรยุทธ บุญมี ได้เอ่ยเตือนแนวทาง “การเมืองใหม่” ของพันธมิตรฯว่า: - “…แนวทางนี้มีข้ออ่อนคือเป็นการสวนทางประชาธิปไตยที่ต่อสู้กันมานาน” และ “ในการเสนอความคิดใหม่ทางการเมือง ไม่ควรสวนทางประชาธิปไตย ควรเคารพประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยที่ต่อสู้กันมานาน…”
ในทางกลับกัน นักวิจารณ์ระบอบเผด็จการอำมาตยาธิปไตยผู้เป็นแนวร่วมของบรรดากลุ่มอิสระต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยาฯ 2549 อย่างสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็ได้เน้นย้ำยืนยันความจำเป็นที่สถาบันกษัตริย์ไทยจะต้องมีอยู่ต่อไปเพราะทรงคุณค่าโดยเปรียบเทียบเหนือกว่าระบอบประธานาธิบดีทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองหลายอย่างหลายประการ
แต่ท่ามกลางเสียงเตือนที่สองฝ่ายต่างไม่ฟังดังกล่าวนี้ โอกาสช่องทางของการเมืองแห่งการต่อสู้ผลักดันเพื่อเปลี่ยนแปลงปฏิรูป “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ให้ดีขึ้นในกรอบระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งและการเคลื่อนไหวกดดันทั้งในและนอกรัฐสภา – ซึ่งไม่ใช่แค่การท่องคาถาสมานฉันท์แล้วสวดมนต์ภาวนาให้โลกดีขึ้น และก็ไม่ใช่การลุกขึ้นสู้ก่อการกำเริบด้วยอาวุธอย่างสุ่มเสี่ยง -กลับถูกเบียดขับและปัดปิดลงทุกที
ในบริบทที่แตกต่างทว่าเทียบเคียงกันได้ของการแยกขั้วสุดโต่งและต่อสู้ห้ำหั่นกันระหว่างพวก “ขวา สุด”กับ “คอมมูนิสต์” ในอดีตสมัย 14 ถึง 6 ตุลาคมฯ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ได้สะทกสะท้อนถึงชะตากรรมอันไม่มีทางเลือกของคนหนุ่มสาวยุคนั้นว่า: -
“49. ข้อที่น่าเสียดายสำหรับคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่ใฝ่ในเสรีภาพก็คือเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่เปิดโอกาสให้เขามีทางเลือกที่ 3 เสียแล้ว ถ้าไม่ทำตัวสงบเสงี่ยมคล้อยตามอำนาจเป็นธรรม ก็ต้องเข้าป่าไปทำงานร่วมกับคอมมูนิสต์ ใครที่สนใจเรื่องสันติวิธี ประชาธิปไตยและเสรีภาพ จะต้องเริ่มต้นใหม่เบิกทางให้แก่หนุ่มสาวรุ่นนี้และรุ่นต่อ ๆ ไป”
ฤาบทเรียนราคาแพงแห่งเดือนตุลาคมเหล่านี้ สังคมไทยจะไม่ฟังอีกต่อไป?
(www.prachatai.com/05web/th/home/14129)
No comments:
Post a Comment