โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน, วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11181
ผมเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นว่า ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี เขียนบทความ "ทางออกจากวิกฤต" อย่างสุจริตใจ ไม่ได้เคลือบแฝงเป้าหมายทางการเมืองอื่นใด มากไปกว่าพยายามจะชี้ทางไปสู่ความสุขสงบในสังคม อีกทั้งผมเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยใดๆ เหมือนกันว่า ท่านอาจารย์ประเวศเป็นผู้ทรงธรรมความรู้เหนือกว่าผมด้วยประการทั้งปวง
แม้กระนั้น ผมก็ยังรู้สึกจำเป็นต้องกราบเรียนความเห็นแย้งของผมให้ปรากฏ อย่างน้อยก็เพื่อให้ท่านได้ทราบว่า คนธรรมดาสามัญอย่างผมอาจเข้าใจคำพูดของท่านในกรณีนี้ผิดไปได้อย่างไร เพื่อท่านจะได้ใช้ในการขยายความให้แก่ "ทาง?ออกจากวิกฤต" ที่ท่านอาจเสนออีกในอนาคต
ผมขออนุญาตกราบเรียนความเห็นของผมดังนี้
1/ ท่านอาจารย์เสนอทางออกว่าเป็นไปได้สองทาง คือทางสันติและทางรุนแรงนองเลือด
ในทางสันติ ถ้ารัฐบาลและรัฐสภาหมดความสามารถในการแก้วิกฤต ท่านอาจารย์เสนอว่าควรขอเข้าเฝ้าฯ และกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ เพื่อเปิดช่องว่างให้ทรงเข้ามาช่วยแก้ปัญหา
แสดงว่ารัฐธรรมนูญก็ยังคงอยู่ ปัญหาก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงทำอะไรได้มากไปกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้หรือ หากคำแนะนำที่พระราชทานไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ก็ต้องโฆษณาว่า เป็นคำแนะนำพระราชทาน จะดีต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือ หากผู้เข้าเฝ้าฯนำเอาพระราชวินิจฉัยที่พระราชทานเป็นการภายในมาแสดงต่อสาธารณะ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะต้องทรงรับผิดชอบต่ออะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้น หลังจากที่รัฐบาลและรัฐสภาปฏิบัติตามคำแนะนำที่ได้รับพระราชทานมาหรือไม่ อย่างไร และเพียงใด หากเป็นเช่นนั้น จะดีแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทยยุคปัจจุบันนี้แน่หรือ
ในทางรุนแรงนองเลือด เมื่อกองทัพไม่มีทางเลือกอื่น ก็จำเป็นต้องเข้ามายึดอำนาจ แต่ท่านอาจารย์เสนอว่า ควรเข้ามายึดอำนาจในระยะสั้นที่สุด แล้วก็ขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี
คำถามที่เกิดแก่ผมทันทีก็คือ นายกฯพระราชทานนั้นต้องการอำนาจและอิทธิพลของกองทัพในการช่วยประคับประคอง (ด้านตรงข้ามของเหรียญประคับประคองคือควบคุมบังคับบัญชา) หรือไม่
นายกฯพระราชทานนั้นแก้ปัญหาของประเทศได้จริงหรือไม่ คำตอบคงต้องหันกลับไปดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แล้วประเมินเอาเอง
อย่างไรก็ตาม หากคิดด้วยวิธีคิดแบบพระพุทธศาสนาอย่างที่ท่านอาจารย์สอนไว้ คือคิดเชื่อมโยง ไม่มองอะไรโดดๆ โดยไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับปัจจัยแวดล้อมอันสลับซับซ้อน คนที่จะเป็นนายกฯพระราชทานย่อมมีความเชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ ของสังคม แต่ถึงอย่างไรก็เชื่อมไม่หมด เช่น ไม่ได้เชื่อมกับนักการเมืองและพรรคการเมือง จะเป็นไปได้หรือสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน ที่จะกันนักการเมืองและพรรคการเมืองออกไปจากการเมือง ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงการไม่เชื่อมโยงกับกลุ่มประชาชนอีกมากที่เกิดสำนึกทางการเมืองขึ้นแล้ว โดยเฉพาะในชนบท
ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงความเชื่อมโยงซึ่งบุคคลอันเป็นนายกฯพระราชทานมีอยู่ แม้ว่าเขาเป็นคนซื่อสัตย์เที่ยงธรรมสักเพียงไร ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ความเชื่อมโยงในชีวิตที่เขามีอยู่ย่อมกล่อมเกลาโลกทรรศน์ทางการเมืองของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และภายใต้บรรยากาศของ "นายกฯพระราชทาน" คนกลุ่มอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เชื่อมโยงกับเขา จะสร้างดุลยภาพแก่โลกทรรศน์ทางการเมืองของเขาได้อย่างไร
มีข้อน่าสังเกตในคำแนะนำของท่านอาจารย์ด้วยว่า ไม่ว่าทางออกจะเป็นไปโดยสันติหรือรุนแรงนองเลือด ในที่สุดก็ต้องมาลงเอยที่การแทรกแซงโดยสกรรม (active intervention) ของสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกที ผมคิดว่าเราปฏิเสธความสำคัญของสถาบันนี้ในสังคมไทยไม่ได้ (ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ก็ตาม) ฉะนั้น จึงปฏิเสธการแทรกแซงไม่ได้เช่นกัน แต่การแทรกแซงที่เป็นคุณคือการแทรกแซงในลักษณะอกรรม (passive intervention) เช่น การพระราชทานคำเตือนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แม้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับพระบรมราโชวาทเรื่องนี้ ก็ไม่น่าปฏิเสธว่าเป็นหนึ่งในการถ่วงดุลความโน้มเอียงของชนชั้นนำทางเศรษฐกิจไทย ที่อ้างปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ (อันไม่มีลักษณะปรัชญาแต่อย่างใด) เพื่อเอาเปรียบสังคมและเอาเปรียบผู้อ่อนแอ
2/ ผมขออนุญาตพูดถึงกองทัพบ้าง ดูเหมือนท่านอาจารย์เคยเสนอไว้ก่อนแล้วว่า ทหารควรเข้ามารักษาความสงบแทนตำรวจซึ่งไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนแล้ว
ผมคิด (ซึ่งอาจผิดว่า) การมองกองทัพเป็นสถาบันโดดๆ ที่ไม่เชื่อมโยงกับสิ่งอื่นๆ ในสังคม จึงสามารถทำภารกิจที่ได้รับมอบหมาย (อันไม่ใช่การรบ แต่สลับซับซ้อนกว่านั้นมาก) ได้อย่างอิสระและเที่ยงธรรม คติเช่นนี้จะอยู่เบื้องหลังความคิดของผู้ที่เสนอให้กองทัพออกมาทำโน่นทำนี่ที่เกี่ยวกับการเมืองโดยตรง หรือโดยอ้อม คติอย่างนี้น่าจะไม่ใช่ความคิดที่รู้จักเชื่อมโยงเหตุปัจจัยต่างๆ อย่างรอบด้านของพระพุทธศาสนานะครับ
ทหารมีความสามารถกว่าตำรวจในการรักษาความสงบด้วยวิธีไม่รุนแรงหรือครับ ผมไม่ได้หมายความว่าใครเก่งกว่าใครในเรื่องนี้ (เพราะผมสงสัยว่าไม่เก่งทั้งคู่) ว่าที่จริงทหารไม่ได้ถูกฝึกให้จัดการกับฝูงชนที่ปราศจากอาวุธเลยด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่ทักษะเลย ผมสงสัยว่าแม้แต่เครื่องมือก็ไม่มี
ประสบการณ์ของสังคมไทยที่ผ่านมา กองทัพมีวิธีจัดการกับฝูงชนได้สองวิธี คือเปิดทางให้ฝูงชนเข้าล้อมทำเนียบรัฐบาล เมื่อฝูงชนนั้นเป็นพันธมิตรทางการเมืองของตน ผมนึกถึงเมื่อครั้งที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งให้เปิดทางแก่ผู้เดินขบวนคัดค้านการเลือกตั้งสกปรก เมื่อ พ.ศ.2500 หรือการชุมนุมเชียร์นายกฯ ที่กองทัพหนุนหลังหลายครั้งหลายหน
ในทางตรงกันข้าม หากฝูงชนเป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง กองทัพก็จะเลือกใช้วิธีรุนแรงนองเลือด และได้ทำเช่นนั้นมาหลายครั้งหลายหนแล้วด้วย และอย่าคิดนะครับว่าหากกองทัพเข้ามารักษาความสงบหรือยึดอำนาจ จะไม่มีฝูงชนที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองต่อกองทัพ แม้แต่กลุ่มพันธมิตรเองเวลานี้ ก็อาจเลือกที่จะฝ่าฝืนคำสั่งบางอย่างของกองทัพได้ ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงกลุ่ม นปก.และอื่นๆ อีกมาก
แล้วกองทัพจะจัดการกับฝูงชนเหล่านี้อย่างไรครับ
3/ ที่สุดถึงที่สุดแล้ว หากคิดด้วยวิธีคิดแบบพระพุทธศาสนา คือเชื่อมโยงเหตุปัจจัยต่างๆ อย่างสลับซับซ้อน เราก็จำเป็นต้องคิดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่ใช่องค์กรโดดๆ เหมือนกันไม่ใช่หรือครับ มีศักยภาพและข้อจำกัดเหมือนองค์กรอื่นๆ ของมนุษย์เช่นเดียวกัน
4/ ทางออกที่ต้องใช้วิธีการนอกหรือปริ่มๆ รัฐธรรมนูญเช่นนี้ จะทำให้คนไทยโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีวุฒิภาวะมากขึ้นได้หรือครับ หรือเราพอใจจะเดินวนเวียนกันอยู่แค่นี้
5/ ผมไม่มีปัญญาพอจะเสนอทางออกรูปธรรมที่รวบรัดและหลุดรอดได้รวดเร็ว แต่ผมไม่คิดว่าสภาพที่เราเผชิญอยู่เวลานี้เป็น "วิกฤต" (คือปัญหาที่ไม่อาจใช้คำตอบเก่าได้อีก) มันเป็นเพียงพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของประชาธิปไตยไทย ซึ่งระบบการเมืองที่มีอยู่ต้องหาทางปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ให้ได้ และแน่นอนรองรับให้ได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงเสียเลือดเนื้อด้วย หากเราทำได้ ประชาธิปไตยไทยจะก้าวต่อไปอย่างมั่นคง และมีศักยภาพในการปรับตัวต่อไปโดยไม่เสียหลักการของประชาธิปไตยด้วย
ทางออกที่ผมใคร่เสนอจึงไม่ลึกซึ้งอะไรมากไปกว่าอดทนอย่างมีสติ
อดทนต่อผลกระทบในทุกทางที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน มีสติเตือนตัวเองตลอดเวลาว่า ความรุนแรงทุกรูปแบบ (และผมขอย้ำทุกรูปแบบ) ไม่ใช่ทางออก ในแง่นี้ผมมีความหวัง เพราะสังคมไทยได้พิสูจน์ตนเองว่าปฏิเสธความรุนแรงอย่างแน่นอน เช่น เหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม ผู้คนไม่เห็นด้วยทั้งกับเป้าหมายและวิธีการที่รัฐบาลใช้ในการสลายฝูงชน ผมคิดว่าสังคมไทยต้องยืนยันเรื่องนี้อย่างหนักแน่นสืบไป คือต้องหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ
ความอดทนนี้จะเป็นไปได้ก็ต้องมีความยุติธรรม เช่น ไม่เฉพาะแต่ฝ่ายตำรวจที่ใช้ความรุนแรง ฝ่ายตรงข้ามกับตำรวจ (หรือมือที่สาม?) ก็ใช้ความรุนแรงเช่นกัน มีประจักษ์พยานให้เห็นได้ชัดเจนทั้งสองฝ่าย สังคมต้องร่วมกันประณามการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะทำโดยฝ่ายใดก็ตาม และผมเชื่อด้วยว่าสังคมไทยก็พร้อมจะประณาม หากสังคมได้รับรู้อย่างยุติธรรมว่า ฝ่ายใดใช้ความรุนแรงบ้าง และใช้ในรูปแบบใด
ฉะนั้น ต้องสร้างเครื่องมือที่ดี กล่าวคือสื่อต้องไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (impartial) ให้ยิ่งกว่านี้ สถาบันทางสังคมต่างๆ ต้องแสดงให้ชัดเจนอย่างไม่เป็นที่เคลือบแคลงว่าไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใดก็ตาม ยิ่งสามารถแสดงอย่างประจักษ์ชัดด้วยว่าไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดได้ก็ยิ่งดี ภาคประชาสังคมรวมทั้งปัญญาชนสาธารณะต้องไม่หลับตาให้แก่ความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ ของทุกฝ่าย และต้องไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (แต่สนับสนุนความคิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ สนับสนุนความคิดกับสนับสนุนฝ่ายไม่เหมือนกัน)
ผมมั่นใจว่า หากสังคมไทยแข็งแกร่งในมติที่ปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบเช่นนี้ แม้ความขัดแย้งยังดำเนินต่อไป สถานการณ์ก็ไม่เลวร้ายไปกว่านี้
ถึงอย่างไรประเทศไทยก็ต้องมีรัฐบาล แม้เป็นรัฐบาลที่บางกลุ่มอาจคิดว่าได้มาโดยไม่ชอบธรรมก็ตาม เพราะมีปัญหาอีกมากที่รัฐบาลหรืออำนาจกลางที่สามารถระดมกำลังของสังคมได้เท่านั้นที่จะเข้าไปจัดการได้ เช่น จะตอบสนองต่อยุทธวิธีของรัฐบาลกัมพูชาต่อปัญหาข้อพิพาทเขตแดนอย่างไร, จะเตรียมตัวเพื่อรับความเสื่อมทรุดด้านการเงินและเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างไร, จะยับยั้งการพล่าผลาญทรัพยากรธรรมชาติของระบบเศรษฐกิจและการเมืองไทยได้อย่างไร ฯลฯ
ชุมนุมกันไปโดยสงบ ตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้หลักประกันไว้ แม้แต่ละเมิดกฎหมายบ้าง ก็ต้องอดทนไปก่อน ในที่สุดสังคมจะเข้ามาตัดสินเอง และจะตัดสินด้วยความฉลาดรอบรู้, เป็นธรรม และโดยสงบ ยิ่งกว่ากระบวนการใดๆ จะสามารถทำได้ด้วย
เป็นเวลาที่เราทุกคนต้องเจริญขันติธรรม ด้วยสติปัญญาและความเมตตาให้มาก รอเวลาให้ทุกอย่างคลี่คลายไปตามครรลองของมัน โดยไม่ต้องผ่านความรุนแรงที่ไม่จำเป็นและไม่แก้ปัญหา แล้วเราทุกคนจะโตขึ้น, เป็นผู้ใหญ่ขึ้น และมีวุฒิภาวะมากขึ้น พอที่จะปกครองตนเอง
หากใจร้อน เราจะพบแต่ทาง "เลี่ยง" มากกว่าทาง "ออก"
หน้า 6
(www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act01201051§ionid=0130&day=2008-10-20)
No comments:
Post a Comment