Thursday, October 30, 2008

ความรุนแรงข้างใต้สันติวิธี




"ความรุนแรงข้างใต้สันติวิธี"

โดย  สมชาย  ปรีชาศิลปกุล

มีคนจำนวนไม่น้อยได้พยายามกระทำในหลายวิถีทาง เพื่อป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งทางการเมืองแปรไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่กันในปัจจุบัน

 

ความพยายามดังกล่าวซึ่งมาจากหลายฝ่ายเป็นสิ่งที่ควรต้องได้รับการผลักดันและสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นเสียงสะท้อนของบรรดาพวก "2 ไม่เอา" อันหมายถึง กลุ่มคนที่ไม่ได้เข้าไปยืนอยู่กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างเต็มตัว และรวมถึงกลุ่มซึ่งต้องการมองหาทางออกจากความขัดแย้งที่ดูราวกับว่าจะหาทางเดินหน้าต่อไปไม่ได้

 

แต่การกระทำที่เอ่ยถึงมาข้างต้น คงไม่อาจจะประสบความสำเร็จได้ง่ายๆ ถ้าหากมุ่งเป้าไปเฉพาะที่การประณามการตีหัวกันไม่ว่าจะเป็นระหว่าง 2 ฝ่าย หรือโดยเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนเท่านั้น

 

ควรเข้าใจว่าการตีหัวหรือทำร้ายกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลือง/เสื้อแดง มิใช่เป็นผลมาจากการเหยียบตาปลาหรือการเหม็นขี้หน้าอีกฝ่ายเท่านั้น การลงมือทำร้ายกลุ่มคนที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยมีเรื่องบาดหมางส่วนตัวกัน แทบจะไม่รู้ด้วยว่าอีกฝ่ายเป็นใครมาจากไหน แม้กระทั่งอีกฝ่ายหมดทางป้องกันตัวแล้วยังมีการทำร้ายได้อย่างต่อเนื่อง ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะการกระทำในลักษณะเช่นนี้ แม้กระทั่งกับสัตว์เดรัจฉาน ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากสำหรับคนธรรมดาทั่วไป

 

อะไรคือเหตุผลสำคัญของเรื่อง และจะทำให้ความรุนแรงนี้บรรเทาลงได้อย่างไร

 

การแสดงออกที่กล่าวมาข้างต้นเป็นผลมาจากกระบวนการกล่อมเกลา การให้ข้อมูล อย่างต่อเนื่องที่ทำให้รู้สึกว่าอีกฝ่ายคือศัตรู เมื่อเป็นศัตรูหรือหมายถึงผู้ที่ไม่ควรจะดำรงอยู่รวมกันแล้ว การใช้กำลังในลักษณะที่คนธรรมดาไม่กระทำต่อกันจึงบังเกิดขึ้น

 

หากพิจารณาความยุ่งยากที่ปรากฏตัวอยู่ ณ ปัจจุบัน ไม่อาจกล่าวได้ว่าเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเพียงแค่ความเห็นต่างทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย หากมีสภาพที่กำลังดำเนินไปสู่การสร้างสงครามขึ้นระหว่างคนสองกลุ่ม โดยที่ต้องกำจัดอีกกลุ่มหรืออีกฝ่ายให้สูญสิ้นไป การใช้วลี "สงคราม" มาเป็นคำอธิบายการเคลื่อนไหว และรวมไปถึงการสร้าง "นักรบ" ไม่ว่าจะเป็นศรีวิชัยหรือพระเจ้าตาก จึงไม่ได้มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น แต่มีส่วนอย่างสำคัญต่อการกำหนดท่าทีว่าควรและจะกระทำอย่างไรต่ออีกฝ่ายหนึ่ง

 

เมื่อเป็นสงครามเสียแล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องสู้เพื่อให้รู้แพ้รู้ชนะ ในสงครามการเสมอหรือเจ๊ากันเป็นสิ่งที่บรรดาแม่ทัพนายกองทั้งหลายไม่ประสงค์จะให้เกิดขึ้นแน่นอน

 

ในการต่อสู้เพื่อให้ได้ชัยชนะ การปลุกเร้าผู้สนับสนุนและกองกำลังของตนจึงเป็นสิ่งที่ต้องใช้ภาษาและเรื่องเล่าที่จะนำมากระตุ้น ชี้นำ เพื่อนำไปสู่ทั้งความเกลียดชังต่ออีกฝ่ายและความฮึกเหิมให้เพิ่มทวีมากขึ้น

 

ต้องทำให้อีกฝ่ายไร้ความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทำให้อีกฝ่ายคือพวกที่กระทำความผิด ชั่วช้าสารเลว ผิดอย่างไม่อาจให้อภัยได้ ด้วยการละเมิดต่อหลักการหรือสถาบันบางอย่างที่มีความสำคัญต่อความหมายของฝ่ายตน การกระทำของฝ่ายเราคือการพิทักษ์ความดีที่ควรได้รับการยกย่องอย่างไร้ข้อกังขา

 

เมื่อเป็นดังนี้ จึงทำให้การตีหัวหรือทำร้ายอีกฝ่ายเกิดขึ้นได้ ดังเช่นที่ "ผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์" เคยกระทำต่อ "พวกคอมมิวนิสต์" มาแล้วกลางเมืองหลวงเมื่อ 30 ปีก่อน

 

การห้ามปรามหรือประณามการตีหัวอาจเป็นส่วนหนึ่งของการบรรเทาความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ แต่หากยังปล่อยให้กระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนี้ ยังคงมีลักษณะที่เป็นไปในรูปของสงคราม ไพร่พลที่อยู่ในทั้ง 2 ฝ่ายซึ่งสะสมความเกลียดชังอีกฝ่ายเอาไว้อย่างแน่นอน ก็พร้อมที่จะระเบิดความรู้สึกดังกล่าวออกมาได้ เมื่อมีสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยในวันใดวันหนึ่ง

 

การยุติความรุนแรงจึงมิใช่แต่เพียงด้วยการห้ามการตีหัว หากหมายรวมไปถึงการทำให้เกิดการมองผู้อื่นว่าเป็นมนุษย์เช่นเดียวกันกับตน มีเลือดมีเนื้อ มีญาติพี่น้อง มีคนที่รักเขาและมีคนที่เขารัก ที่สำคัญกว่าอื่นใดก็คือทั้งหมดล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมแห่งนี้ รวมถึงมีเหตุผลอะไรสนับสนุนการกระทำหรือการเลือกข้างของเขาเช่นเดียวกับที่เรามีคำอธิบายในการตัดสินใจเลือกฝ่ายของตน

 

การทำความเข้าใจมากกว่าการประณามแบบสาดเสียเทเสีย จะเป็นสิ่งที่ทำให้มองเห็นได้ว่าอะไรคือปัญหาข้อบกพร่องของสังคมการเมืองไทย รวมทั้งจะหาวิธีการออกไปจากปัญหาด้วยความร่วมมือ และความเห็นร่วมกันของสังคมได้อย่างไร

 

ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่สงคราม และไม่อาจจัดการได้ด้วยการใช้กำลังเข้ากวาดล้างอีกฝ่าย เพื่อให้เกิดยุคพระศรีอารีย์ขึ้นภายในพริบตา

 

ทางข้างหน้าที่ก้าวไปต่อเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ความคิดและความเอื้ออาทรในฐานะของเพื่อนร่วมสังคมที่ต่างก็ต้องอาศัยอยู่ในสังคมแห่งนี้ต่อไปรวมถึงลูกหลานของทุกฝ่าย ไม่มีใครสามารถนำสังคมไทยในวันนี้ไปได้ด้วยเพียงลำพังกลุ่มตนแต่เพียงกลุ่มเดียว

 

ทางออกไปจากความรุนแรงที่แอบแฝงในขณะนี้ เป็นไปได้ก็ด้วยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะการลดทอนภาวะของสงครามให้หมดสิ้นลง ซึ่งกระทำได้ด้วยการเผชิญหน้ากับข้อขัดแย้งต่างๆ ด้วยความจริงให้มากขึ้น การใช้ข้อมูลเพื่อสร้างอารมณ์ความรู้สึก การปั้นข้อมูลเท็จในเรื่องนับร้อยพันในห้วงเวลาที่ผ่านมาของทุกฝ่ายต้องถูกตั้งคำถามหรือตรวจสอบ การละเลยโดยปล่อยการโป้ปดผ่านสื่อมวลชนต่างๆ ไม่ว่าจะสื่อของเอกชนหรือรัฐต้องไม่ถูกปล่อยให้เป็นเสรีภาพเพื่อสร้างความเกลียดชัง

 

อาจมีความเห็นต่างระหว่างแต่ละกลุ่ม แต่ต้องไม่ทำให้ความเห็นต่างนั้นนำไปสู่ความไม่เป็นมนุษย์ เงื่อนไขเช่นนี้ต่างหากที่จะทำให้ความเห็นที่แตกต่างหรือขัดแย้งดำเนินไปอย่างสันติและเคารพในความเป็นมนุษย์ระหว่างกันและกัน

 

การเคลื่อนไหวที่แฝงไปด้วยความเกลียดชัง และพร้อมจะตีหัวผู้อื่นทุกเมื่อ ย่อมไม่อาจนับเป็นสันติวิธีได้หากเป็นเพียงเครื่องมืออันน่ารังเกียจของผู้แสวงหาประโยชน์ทางการเมืองไม่ว่าจะกระทำโดยฝ่ายใดก็ตาม

 

ที่มา  :  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์,วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2551



 

Tuesday, October 28, 2008

หยุดให้ท้ายพันธมิตร หยุดอนาธิปไตย หยุดรัฐประหาร !!!




เครือข่ายสันติประชาธรรมรณรงค์หยุดนำมวลชนปะทะ หยุดให้ท้ายพันธมิตร หยุดอนาธิปไตยและรัฐประหาร 

 

วันที่ 26 ต.ค. เวลา 14.00 น. ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณาจารย์และนักเคลื่อนไหวเครือข่ายสันติประชาธรรม และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) แถลงการณ์เรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองไทย 3 ข้อคือ 1 ขอให้แกนนำการเคลื่อนไหวทุกฝ่ายหยุดนำมวลชนมาปะทะกัน 2 เรียกร้องต่อทุกภาคส่วนของสังคม หยุดให้ท้ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ 3 ขอเรียกร้องต่อผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองขณะนี้ให้หยุดนำประเทศไปสู่อนาธิปไตยและการรัฐประหาร

 

โดยหลังจากแถลงการณ์ดังกล่าว เครือข่ายสันติประชาธรรมจะได้ดำเนินการรณรงค์หยุดพฤติกรรมทั้งสามต่อไป โดยเริ่มจากแจกจ่ายโปสเตอร์รณรงค์จำนวน 3,000 แผ่น ไปตามสถานศึกษาและประชาสัมพันธ์ตามสถานที่สาธารณะต่างๆ รวมถึงจะจัดเสวนาทางวิชาการอย่างต่อเนื่องต่อไปด้วย

 

โดยผู้ที่สนใจกิจกรรมของเครือข่ายสันติประชาธรรม รวมถึงผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางของเครือข่ายสามารถติดตามกิจกรรมและข้อมูลข่าวสารได้จาก http://ruleoflawthailand.wordpress.com/

 

นายพรสันต์ เลี้ยงบุญลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์หาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า พันธมิตรจะต้องตระหนักถึงประเด็นความชอบธรรมตามกฎหมายซึ่งเมื่อพิจารณาจากคำสั่งศาลปกครองซึ่งวินิจฉัยชัดเจนว่า การชุมนุมของพันธมิตรเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ ตามความในรัฐธรรมนูญมาตรา 63 และการชุมนุมในสถานที่ราชการรวมทั้งการขัดขวางการปฏิบัติงานของภาคราชการนั้นเป็นการกระทำที่เกินกว่าขอบเขตการคุ้มครองของกฎหมาย และเป็นการละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น ดังกรณีจากการที่พันธมิตรฯ ถูกกลุ่มอาจารย์โรงเรียนราชวินิต ฟ้องต่อศาลแพ่ง

 

นายพรชัยกล่าวด้วยนี้ ประเด็นความขัดแย้งทางการเองขณะนี้ ส่วนหนึ่งก็น่าจะทำให้ต้องมาทบทวนเรื่องกฎหมายการชุมนุม ว่าจะมีขอบเขตแค่ไหน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการดำเนินการพิจารณากฎหมายดังกล่าวในสมัยของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่วาระตกไปเนื่องจากมีการพิจารณากันว่ากฎหมายเคร่งครัดเกินไป

 

นายเกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ประจำคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่ารูปแบบการชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสร้างความเกลียดชัง มิใช่การเคลื่อนไหวเพื่อให้ข้อมูลความรู้ หรือทำให้สังคมเข้าใจแก่นแท้ของกิจกรรมทางการเมือง ทั้งนี้ นายเกษมกล่าวว่าจากคำปราศรัยของนายสนธิ ลิ้มทองกุลซึ่งกล่าวว่าการเคลื่อนไหวของพันธมิตรเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อให้ข้อมูลข่าวสาร แต่การให้ข้อมูลข่าวสารนั้นต้องประกอบด้วยข้อเสนอและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

 

ประเด็นต่อมาคือเรื่องข้อเสนอการเมืองใหม่ ซึ่งแสดงถึงความไม่เชื่อมั่นต่อการปกครองระบอบรัฐสภา ซึ่งอยากขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายกลับมาเชื่อมั่นต่อระบอบรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส. และส.ว. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบอบการเมืองแบบรัฐสภา

 

นายเกษมกล่าวด้วยว่า ปัญหาของประเทศชาติขณะนี้ไม่ได้มีแค่เรื่องการเมืองหรือเรื่องพันธมิตรฯ อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาอื่นๆ ที่รัฐบาลจะต้องให้ความสนใจและแก้ปัญหาด้วยแต่ปัญหาของประเทศกลับถูกกลุ่มการเมืองต่างๆ เคลื่อนไหวแบบยื้อเวลา และเห็นว่า การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ เป็นร่องรอยของความกลัวที่จะอยู่ภายใต้ระบอบกติกา ทั้งๆ ที่พันธมิตรเองเป็นฝ่ายยื่นกติกามาโดยตลอด

 

นายอภิชาติ สถิตนิรมัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาลิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเรียกร้องขอให้สังคมหยุดการเมืองแห่งความรุนแรงและความเกลียดชัง แ ละการเมืองไทยขณะนี้ถูกครอบงำโดยแกนนำการเคลื่อนไหวเพียงไม่กี่คน ทั้งๆ ที่มวลชนของแต่ละฝ่ายมีหลายเฉด และไม่ได้เห็นด้วยกับแกนนำไปทุกเรื่อง ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่สังคมและประชาชนจะต้องแสดงพลัง เป็นกำลังหลัก และขอเรียกร้องต่อคนที่สังคมให้การยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นราษฎรอาวุโส ผู้นำทางศาสนา และสื่อมวลชนต้องกลับมาต่อต้านและประณามความผิดพลาดของทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม

 

นายอภิชาติ ตอบคำถามที่ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเหตุจากความล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ว่า ความล้มเหลวของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่เหตุผลที่สำคัญกว่าคือการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสร้างความเกลียดชัง มองเห็นความเป็นมนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้ชุมนุมจะแสวงหาอาวุธมาปกป้องตัวเอง และสร้างบรรยากาศแห่งสงคราม และเมื่อพื้นฐานของการเคลื่อนไหวเป็นแบบนี้ ต่อให้ตำรวจมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ 100 เท่าก็จัดการไม่ได้ 

 

พวงทอง ภวคพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่พันธทิตรเรียกร้องให้ทหารออกมาปกป้องพันธมิตก็คือการเปิดทางให้กับการรัฐประหาร ทั้งนี้ปรสบการณ์ของประเทศไทยที่ผ่านมาชัดเจนอยู่แล้วว่า ทหารไม่ได้ถูกฝึกมาให้จัดการกับมวลชนหรือการชุมนุมของประชาชน แต่ทหารถูกฝึกให้รบ หากทหารออกมาแสดงบทบาทก็จะต้องปะทะกับตำรวจและนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น

 

พวงทองย้ำว่า การดูแลการชุมนุมนั้นเป็นหน้าที่ของตำรวจ แม้ว่าที่ผ่านมา ตำรวจจะต้องรู้สึกน้อยใจบ้าง เพราะได้พยายามอดทนมาโดยตลอด แต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 ต.ค. ทำให้ฝ่ายตำรวจถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าตำรวจจะต้องวางตัวเป็นกลาง และไม่เข้าร่วมกับฝ่ายใด หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ โดยเฉพาะกลุ่มของ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค

 

สำหรับประเด็นการให้ท้ายพันธมิตรฯ นั้น ที่ผ่านมา กลุ่มต่างๆ ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรฯ ที่ทำการละเมิดหลักการประชาธิปไตย และนี่เป็นปัญหาที่ส่งผลให้ฝ่ายพันธมิตรฯ ไม่ยอมลดท่าทีเพื่อเจรจาหรือต่อรองใดๆ

 

นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่าการวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มทางการเมืองอื่นๆ และโดยเฉพาะรัฐบาลนั้น สื่อและกลุ่มทางสังคมได้ทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ไปมากแล้ว และที่จริงก็ไม่ควรจะวิจารณ์รัฐบาลมากเกินกว่าเหตุแต่ปิดตาข้างเดียวไม่เห็นความผิดของพันธมิตรฯเลย

 

และในสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ ในเมื่อพันธมิตรฯ เป็นฝ่ายที่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง พันธมิตรฯก็อยู่ในฐานะที่จะคืนความสลบสุขให้กับสังคมได้ด้วยซ้ำ เพราะที่ผ่านมา ฝ่ายพันธมิตรฯ เองเป็นฝ่ายรุกมาโดยตลอด ขณะที่รัฐบาลเป็นฝ่ายตั้งรับ และพันธมิตรฯ รุกมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดคำถามว่าประเด็นของพันธมิตรฯ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ และหลายๆ กลุ่มก็พยายามหาทางลงให้กับพันธมิตรฯ เช่นกรณีของ 24 คณบดี แต่พันธมิตรฯ ก็ปฏิเสธมาตลอด จนประชาชนเกิดคำถามว่าเป้าหมายปลายทางของพันธมิตรฯ อยู่ตรงไหน

 

ดังนั้นแล้ว เมื่อพันธมิตรเองก็เสนอเรื่องการเมืองใหม่ ทำไมจึงไม่ถอยออกมาและเข้าร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ทางสังคมร่วมกันปฏิรูปการเมืองใหม่

 

โดยนายประจักษ์เห็นว่าข้อเสนอเรื่อง สสร. 3 นั้นไม่ได้เสียหายอะไร และควรใช่โอกาสนี้สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ทางการเมืองร่วมกัน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งหากทำได้เช่นนั้น การแก้รัฐธรรมนูญก็จะเป็นเรื่องบยอมรับได้มากขึ้น

 

นายประจักษ์กล่าวด้วยว่า ปัญหาของการชุมนุมทางการเมืองขณะนี้คือ แต่ละฝ่ายไม่ได้เชื่อมั่นในสันติวิธีอย่างแท้จริง จึงกลายเป็นเพียงสันติวิธีแบบเลือกใช้ตามความพอใจ (Selective Non-violence) ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุด เพราะทำให้สันติวิธีกลายเป็นเพียงวาทศิลป์ โดยที่ผู้ชุมนุมไม่ได้ปฏิเสธความรุนแรงในการแก้ปัญหา จึงอยากขอร้องต่อพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดงให้หยุดการฝึกนักรบพระเจ้าตากด้วย

 

นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กล่าวว่า ถานการณ์การเมืองไทยขณะนี้มองในแง่หนึ่งก็เป็นไปตามสถานการณ์การเมืองในโลกที่สามอื่นๆ คือรัฐอ่อนแอลง และเกิดกรณีการท้าทายอำนาจรัฐเช่นนี้ทั่วโลก ยกเว้นในกรณีขงประเทศพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากลักษณะเฉพาะของการเมืองไทยแล้ว น่าสนใจว่ามีการต่อสู้ของฝ่ายประชาชนจนกระทั่งยกระดับเป็นขบวนการกลุ่มประชาชน ต่างพยายามนำเสนอความชอบธรรมของตัวเองอย่างเต็มที่ โดยที่รัฐไม่ได้แสดงบทบาทเป็นฝ่ายผลิตชุดความเชื่อใดๆ มาตอบโต้ ซึ่งเป็นภาพที่ต่างไปจากอดีต

 

สำหรับสถานการณ์จากนี้ไป เป็นเรื่องยากที่จะตอบเพราะความขัดแย้งนี้จะไม่มีวันจบ จะยืดเยื้อและที่สุดแล้วอำนาจรัฐจะต้องลงจัดการความขัดแย้ง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าอำนาจรัฐจะอยู่ฝ่ายไหน ส่วนคำถามที่สังคมต้องการมากขณะนี้คือ เมื่อไหร่ความขัดแย้งจะยุตินั้นอาจจะไม่สำคัญเท่ากับว่า หลังจากนี้ไป โครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมจะต้องเปลี่ยนไปจากเดิม แต่คำถามคือสังคมไทยจะรับได้มากน้อยแค่ไหน

 

หยุดนำมวลชนมาปะทะกัน! 

หยุดให้ท้ายพันธมิตร! 

หยุดนำประเทศไปสู่อนาธิปไตยและการรัฐประหาร!

 

ในขณะนี้เป็นที่ชัดเจนว่าสังคมไทยกำลังตกอยู่ในภาวะตึงเครียดอย่างยิ่ง อันเป็นผลจากการเผชิญหน้าทางการเมืองระหว่างฝ่ายต่าง ๆ จนทำให้เกิดความเชื่อโดยทั่วไปว่าสังคมไทยคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปะทะ-นองเลือดระหว่างประชาชนสองขั้วได้ พวกเราในฐานะกลุ่มทางสังคมที่ห่วงใยต่อชีวิตของประชาชนจึงขอเรียกร้องต่อฝ่ายต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

 

1. หยุดนำมวลชนมาปะทะกัน

เราขอเรียกร้องให้ผู้นำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่ม พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค ยุติการเคลื่อนไหว ด้วยวิธียั่วยุให้เกิดความเกลียดชังและโกรธแค้นซึ่งกันและกัน และยุติการเคลื่อนมวลชนของตนออกจากที่ตั้งทั้ง ๆ ที่รู้ว่าสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกับอีกฝ่ายหนึ่ง

 

เราขอเรียกร้องให้ผู้นำพันธมิตรนปช. และพล.ต.อ.สล้างตระหนักว่าสังคมไทยไม่จำเป็นต้องสร้างวีรบุรุษ-วีรสตรีในลักษณะเช่นนี้ พวกท่านไม่ควรเห็นมวลชนของตนเองเป็นเพียงหมากทางการเมืองเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น  ต่อจากนี้ไป หากเกิดความรุนแรงต่อชีวิตของประชาชน ผู้นำของกลุ่มเหล่านี้ จักต้องรับผิดชอบ

 

2. หยุดให้ท้ายพันธมิตร

สาเหตุสำคัญที่ทำให้วิกฤติการเมืองในขณะนี้เดินมาสู่ “ทางตัน ก็คือ ผู้นำฝ่ายพันธมิตรฯ ปฏิเสธไม่ยอมเจรจาประนีประนอมทางการเมือง แต่ยืนยันที่จะใช้วิธีแตกหักเพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ระบอบ “การเมืองใหม่ ของตนซึ่งเป็นระบอบเผด็จการคนส่วนน้อยและสวนทางกับหลักการประชาธิปไตย ประการสำคัญ ในขณะที่ผู้นำพันธมิตรอ้างว่าตนทำเพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ข้อเสนอที่ให้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามามีอำนาจทางการเมืองโดยตรง เช่น มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพโดยตรง เท่ากับต้องการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลต่อสถานะที่เป็นกลางและอยู่เหนือการเมืองของสถาบันฯ ในระยะยาว

 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมากลุ่มต่าง ๆ ในสังคมที่ควรวางตัวเป็นกลาง ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ราษฎรอาวุโส องค์กรสิทธิมนุษยชน วุฒิสมาชิก และสื่อมวลชน ต่างไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์เป้าหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และยุทธวิธียั่วยุให้เกิดความรุนแรงของฝ่ายพันธมิตร จึงกล่าวได้ว่าในขณะนี้เราไม่มีบุคคลหรือสถาบันใดในสังคมที่ได้รับความยอมรับจากทุกฝ่ายว่าเป็นกลางอย่างแท้จริง ทำให้โอกาสของการเจรจาเพื่อหาทางออกกับคู่ขัดแย้งริบหรี่ลงจนแทบเป็นไปไม่ได้

 

กระนั้น เราเห็นว่ายังไม่สายเกินไปที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะยุติการอุปถัมภ์ค้ำจุนกลุ่มพันธมิตรฯ อย่างผิดๆ และเริ่มต้นวิจารณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตร นปช. รัฐบาล กองทัพ ตำรวจ ตลอดจนระบบตุลาการอย่างเที่ยงตรงและเท่าเทียมกัน เราเชื่อมั่นว่าด้วยแนวทางนี้เท่านั้นที่จะทำให้เกิดการสานเสวนาที่วางอยู่บนข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านเพื่อหาทางออกให้กับวิกฤติครั้งนี้ได้อย่างแท้จริง

 

3. หยุดนำประเทศไปสู่อนาธิปไตยและการรัฐประหาร

เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในหลักการว่า “การแก้ไขความขัดแย้งจะต้องอยู่ในกฎกติกา ไม่ใช่ด้วยอาวุธและความรุนแรง การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ ซ้ำยังทำให้ความขัดแย้งแบ่งฝ่ายทางการเมืองขยายตัวสูงขึ้น ประการสำคัญ ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองขณะนี้ ชวนให้เชื่อได้ว่าหากเกิดการรัฐประหารหรือยึดอำนาจรัฐด้วยวิธีการนอกรัฐธรรมนูญอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเกิดการจลาจล และนองเลือดของประชาชนครั้งใหญ่ และหากเป็นเช่นนั้นจริง บรรดาผู้ก่อการรัฐประหารจะต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมและหายนะที่ท่านมีส่วนก่อให้เกิดขึ้น

 

 

เครือข่ายสันติประชาธรรม

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)

 

ที่มา   :   ประชาไทออนไลน์, 26  ตุลาคม 2551

 

ทำไมทักษิณ ทักษิณทำไม



โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์



คอลัมน์วิภาคแห่งวิพากษ์ในมติชน 22 ต.ค.2551 ตั้งคำถามว่า แม้มีรัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย.49 พรรคที่เชื่อมโยงกับคุณทักษิณ ชินวัตร ก็ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงเหนือคู่แข่งอย่างท่วมท้น และถึงแม้จะเลือกตั้งอีก ชื่อของคุณทักษิณซึ่งหมดสิทธิลงเล่นการเมืองแล้ว ก็จะนำพรรคให้ได้คะแนนนำอยู่ดี

"คำถามก็คือ ระบบทักษิณอันเป็นผลิตผลแห่งระบอบทักษิณสามารถดำรงอยู่เพราะเหตุปัจจัยใด"

ผมอยากเสี่ยงตอบคำถามนี้ ด้วยความรู้และข้อมูลที่ไม่มากพอ แต่ผมคิดว่าเราควรช่วยกันหาคำตอบ แทนที่จะชี้นิ้วบริภาษผู้นิยมคุณทักษิณว่าโง่, โลภ และไร้การศึกษา ผมคิดว่าปรากฏการณ์ "ทักษิณฟีเวอร์" นี้ บางส่วนก็เป็นทางนำไปสู่ความก้าวหน้าทางการเมือง บางส่วนก็นำไปสู่ความเสื่อมทรุดทางการเมือง ฉะนั้นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ให้ถึงแก่น จะมีประโยชน์ต่อพัฒนาการทางการเมืองไทยแน่นอน

ผมจึงอยากเรียกร้องให้นักวิชาการศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง และอยากเรียกร้องให้สำนักงานที่มีเงินสนับสนุนการวิจัยทั้งหลาย ให้ความสนใจแก่เรื่องประเภทนี้ให้มากขึ้น (อย่ามองชนบทแยกออกไปต่างหากจากเมืองและประเทศโดยรวม)

แต่ก่อนที่จะมีคำตอบดีๆ จากนักวิชาการที่ทรงคุณความรู้ ผมขอให้คำตอบตื้นๆ ไปก่อนดังนี้

1/ ผมคิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งดีๆ ที่ชาวบ้านจำนวนมากเคยได้รับจากรัฐบาลกลาง ไม่ว่าจะเป็นหลักประกันสุขภาพ ซึ่งแม้ไม่สู้จะมีประสิทธิภาพสูงนัก แต่เขาก็ได้ใช้ประโยชน์ไปตามอัตภาพ ซ้ำเป็นหลักประกันสุขภาพที่มั่นคงพอสมควรด้วย ความลังเลใจและนโยบายที่ไม่ชัดเจนของรัฐบาลซึ่งมาจากการรัฐประหารต่อเรื่องนี้ ยิ่งตอกย้ำ สัญลักษณ์ทักษิณว่าเป็นหลักประกันที่มั่นคงกว่าในเรื่องสุขภาพ

กองทุนประเภทต่างๆ ซึ่งแม้ไม่ทำให้ส่วนใหญ่ของชาวบ้านมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็ช่วยให้ยืดวงจรของหนี้สินออกไปได้คล่องตัวขึ้น ดีกว่าไม่มีเสียเลย

และนโยบายอื่นๆ ซึ่งรัฐบาลของคุณทักษิณได้หยิบยื่นทรัพยากรกลางลงไปถึงระดับล่าง อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ชื่อทักษิณ ชินวัตร จึงเป็นบุคคลาธิษฐานของความใส่ใจต่อประชาชนระดับรากหญ้า ไม่ว่าความเป็นจริงจะเป็นดังนั้นหรือไม่ก็ตาม

2/ คุณทักษิณและพรรค ทรท.เข้าถึงเครือข่ายในชีวิตของชาวบ้าน ได้กว้างขวางกว่าที่นักการเมืองส่วนกลางเคยเข้าถึงมาแล้ว และไม่ใช่เฉพาะเครือข่ายผลประโยชน์ทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว หากรวมถึงเครือข่ายทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย เพราะที่จริงแล้วเครือข่ายเหล่านี้แยกออกจากกันได้ยาก (จนเอ็นจีโอในสมัยคุณทักษิณจ๋องไปแยะ จึงกลายเป็นปฏิปักษ์ของพรรคการเมืองที่ตัวเคยสนับสนุนมาก่อน) เครือข่ายเหล่านี้มักผ่านนักการเมืองท้องถิ่นทุกระดับ กลายเป็นฐานเสียงที่แน่นหนาของคุณทักษิณ แม้ไม่มีตัวคุณทักษิณอยู่ในการเมืองไทยอีกแล้วก็ตาม

3/ คุณทักษิณเป็นหัวหน้าพรรคคนแรกที่มีอำนาจต่อรองเหนือนักการเมืองของพรรคอย่างค่อนข้างเด็ดขาด ทั้งเพราะอำนาจเงินและอำนาจความนิยมที่ได้รับจากประชาชน ฉะนั้นคุณทักษิณจึงคุมข้าราชการอยู่ เพราะข้าราชการไม่สามารถฝากตัวกับนักการเมืองอื่นใดไปต่อรองกับนายกฯ ได้ (ข้าราชการในสังกัดของ "วัง" ต่างๆ อาจถูกย้ายได้ หากเจ้าของ "วัง" ไม่เป็นที่ไว้วางใจของคุณทักษิณ)

ฉะนั้นจึงเป็นครั้งแรก (หลังจากที่กองทัพหมดบทบาทปราบคอมมิวนิสต์ลง) ที่ชาวบ้านจำนวนไม่น้อย รู้สึกว่ามีอำนาจต่อรองกับข้าราชการได้มากขึ้น เพราะอย่างน้อยเจ้าพ่อที่หนุนหลังข้าราชการในท้องถิ่นต่างๆ ยังเป็นรองคุณทักษิณทั้งนั้น ชาวบ้านจึงมีอำนาจต่อรองกับข้าราชการได้มากขึ้น เลือดเข้าตาก็ยังจัดกระเช้าดอกไม้เข้าไปให้กำลังใจนายกฯถึงกรุงเทพฯ เพื่อร้องเรียนได้

อำนาจต่อรองนี้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนในชนบทนะครับ ในขณะที่คนชั้นกลางในเมืองอาจไม่รู้สึกอะไร เพราะถือว่าตัวสามารถต่อรองผ่านสื่อได้โดยสะดวกอยู่แล้ว

4/ คุณทักษิณเป็นผู้มีบุคลิกถูกใจชาวบ้านกว่านักการเมืองใดๆ ที่เราเคยมีมา "ทัวร์นกขมิ้น" ที่นายกฯนุ่งผ้าขาวม้าลงไปห้องน้ำนั้น สื่อลงภาพทุกฉบับ และเป็นภาพที่น่าประทับใจแก่ชาวบ้านว่าท่านนายกฯใช้ชีวิตปกติเหมือนตนเอง แต่ภาพถ่ายนี้จะไม่ให้ใครถ่ายได้เลยก็ได้ เพราะมีทหารตำรวจล้อมรอบอยู่แล้ว แค่กันให้ถอยออกไปเสียก่อนก็ได้ ฉะนั้นจึงเป็นภาพที่คุณทักษิณตั้งใจจะให้ถ่ายรูป และเผยแพร่

ยังไม่พูดถึงคำพูดคำจา และวัตรปฏิบัติอีกหลายอย่างที่น่าประทับใจแก่ชาวบ้าน เช่นช็อปปิ้ง, กินก๋วยเตี๋ยว, รักลูกเมีย ซื้อของแล้วไม่ต้องทอน ฯลฯ

ทั้งหมดนี้จะพูดว่าคุณทักษิณเก่งด้านการตลาดก็ได้ แต่เป็นตลาดการเมืองนะครับ ไม่ใช่ตลาดโทรศัพท์มือถือ นายกฯที่เราเคยมีมาหลายคนก็เก่งด้านการตลาดการเมืองเหมือนกัน (เช่น คุณชาติชาย ชุณหะวัณ) แต่ผมคิดว่าเก่งไม่เท่าคุณทักษิณ ทั้งเป็นความเก่งที่เหมาะกับตลาดล่างมากกว่าตลาดบนเสียด้วย

คงอีกนานกว่าเราจะมีนักการเมืองที่เก่งการตลาดระดับตลาดล่างอย่างนี้อีก

5/ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมในสมัยคุณทักษิณดีขึ้น จะดีขึ้นเพราะฝีมือหรือเพราะเฮงก็ตามเถิดครับ ในทุกวันนี้ ผมยังเห็นแผงและรถขายของในตลาดติดสติ๊กเกอร์ "คิดถึงทักษิณ" อยู่ แม้ว่าสีจะซีดลงไปมากแล้ว ผมเคยคุยกับแม่ค้าขายกล้วยแขกที่ตลาดใกล้บ้าน เธอบอกว่าเธอติดสติ๊กเกอร์นี้เพราะรู้สึกอย่างนี้จริงๆ เนื่องจากเธอขายกล้วยแขกได้ดีในสมัยคุณทักษิณ อยากให้สภาพอย่างนั้นกลับมาอีก

หลังสมัยคุณทักษิณ เศรษฐกิจก็ไม่ได้เลวลงทันที แต่คนรู้สึกว่าไม่ดีเท่าสมัยคุณทักษิณ อาจเป็นเพราะนักการเมืองไม่เก่งด้านการตลาดเท่าก็ได้ เศรษฐกิจสมัยคุณทักษิณจะดีสักแค่ไหนก็ตาม แต่รัฐบาลคุณทักษิณรู้จักทำให้คนรู้สึกว่าดีจังเลย ซึ่งทำให้คนกล้าจับจ่ายใช้สอย

ในขณะเดียวกัน สภาพทางสังคมก็ถูกทำให้คนรู้สึกว่า "ดีจังเลย" เหมือนกัน ไม่ว่าการทำสงครามกับยาเสพติด, การลดอิทธิพลของเจ้าพ่อ, ฯลฯ สภาพเหล่านี้คงถูกขยายด้วยเทคนิคการตลาดเหมือนกัน แต่ก็ได้ผล ทางการเมืองก็ไม่มีอะไรอึมครึมให้ต้องวิตกห่วงใย

คุณทักษิณมาเสียท่าตอนความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ เพราะไม่มีเทคนิคการตลาดอะไรจะช่วยได้ เมื่อโรงเรียนถูกเผาและระเบิดถูกจุดทุกวันอย่างนั้น แม้กระนั้น คุณทักษิณก็สามารถยืนหยัดอยู่บนความล้มเหลวในภาคใต้มาได้ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นอยู่นั่นเอง เพราะวิธีบรรเทาผลกระทบทางการเมืองนานาชนิดที่คุณทักษิณใช้ นับตั้งแต่พับนกไปโปรย, ตั้งกรรมการสมานฉันท์, ส่งรองนายกฯ ไปศึกษาเพื่อทำข้อเสนอแนะ, ฯลฯ กลายเป็นเรื่องเฉพาะพื้นที่มากกว่าเป็นปัญหาของสังคมไทยทั้งหมด

เพราะไม่ได้ลงไปศึกษาจริง ผมก็ได้แต่คำตอบที่ใครๆ ก็คงคาดเดาได้อยู่แล้ว แต่ปัญหานี้สำคัญ และอย่างที่กล่าวข้างต้น คือต้องการความรู้ที่ได้จากการศึกษาจริง เพราะมีประโยชน์แก่สังคมอย่างแน่นอน

หน้า 6

 

ที่มา  :  มติชนรายวัน,วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11188



สัมภาษณ์พิเศษ ‘พันศักดิ์ วิญญรัตน์’



สัมภาษณ์พิเศษ พันศักดิ์ วิญญรัตน์’ : คุณทักษิณไปแล้ว What do you do next?

 

ชื่อพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ถูกเอ่ยถึงบ่อยครั้งบนหน้าสื่อในสมัยของรัฐบาลไทยรักไทย และได้รับการยอมรับว่าเป็นกุนซือ ‘คิดใหม่ ทำใหม่’ คนสำคัญของรัฐบาลคิดเร็วทำเร็ว และจากไปเร็วกว่าที่เคยได้รับการคาดหมาย

 

แต่ความช่างคิดใหม่ทำใหม่ของเขานั้น อาจจะเป็นทำนอง ‘เข้าแก๊งไหนหัวหน้าถูกรัฐประหารหมด’ เช่นกัน จากรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ เขาเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ครั้งนั้น ผลงานที่โดดเด่นของรัฐบาลชาติชาย คงไม่พ้นเรื่องการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า รัฐบาลชาติชายถูกรัฐประหารไปเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์2534 เขาหายไปจากแวดวงพักใหญ่ และกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งในตำแหน่งประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกจดจำไปตราบนานในฐานะเจ้าพ่อประชานิยม และแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ก่อนที่ทักษิณจะถูกโค่นอำนาจโดยการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549

 

และถ้าหากจะย้อนไปไกลก่อนที่พันศักดิ์จะโจนเข้าสู่แวดวงการเมือง พันศักดิ์นั้นเคยทำงานสื่อมวลชนอยู่นาน ในฐานะบรรณาธิการนิตยสารวิเคราะหฺการเมือง ‘จัตุรัส ช่วงทศวรรษ 1970 และเคยทำงานอยู่ในชายคาสื่อใหญ่อันดับต้นๆ ของเอเชียอย่างเครือผู้จัดการ

 

การเมืองที่ผันผวนทำให้เขาต้องหลบออกนอกประเทศหลายครั้ง และการรัฐประหารครั้งล่าสุด ผลักดันให้เขาไปเดินเล่นเป็นช่างภาพข้างถนนในกรุงลอนดอนเสียหลายเดือน

 

ชื่อของพันศักดิ์ วิญญรัตน์ กลับมาเป็นประเด็นบนเวทีพันธมิตรฯ เมื่อคืนวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา โดย สนธิ ลิ้มทองกุล ปราศรัยว่า พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ลูกน้องเก่าของเขากำลังจะทำหน้าที่เป็นเป็นแม่งานสร้างภาพทักษิณ ชินวัตร ในเวทีสื่อต่างประเทศ โดยมุ่งสร้างภาพทักษิณให้กลายเป็นวีรบุรุษของเอเชีย(ฟังวิทยุคลื่นยามเฝ้าแผ่นดินย้อนหลัง) 

 

ประชาไท สัมภาษณ์พันศักดิ์ วิญญรัตน์ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 2 ม็อบปะทะกัน ทำให้เราตัดสินใจชะลอบทความนี้ไว้เนื่องจากจังหวะการเมืองไทยในช่วงเวลานั้น ดูเหมือนจะพุ่งประเด็นกลับไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างสุดต้านทานอีกครั้ง แม้ว่าประเด็นแห่งการพูดคุยจะเป็นประเด็นที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรมแห่งความขัดแย้ง และอันที่จริงเป็นประเด็นที่สังคมไทยยังไม่ได้ตอบมันอย่างจริงๆ จังๆ อีกเลยหลังจากแนวนโยบายทางเศรษฐกิจที่ถูกเรียกว่า ‘ระบอบทักษิณ’ ถูกรื้อโค่น และวิพากษ์อย่างเผ็ดมัน ในห้วงขณะที่ผู้นำของนโยบายต้องเดินทางอย่างยาวนานอยู่ภายนอกประเทศ จนกระทั่งเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ร้ายข้ามแดนอยู่ขณะนี้

 

สังคมไทยจะเอาอย่างไรต่อ จะอยู่อย่างไรกับโลกาภิวัตน์ หากที่ผ่านมา กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ปฏิเสธนโยบายของระบอบทักษิณได้ทำงานมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 3 ปี แต่เสียงของ ‘ระบอบทักษิณ’ ต่อเรื่องนี้กลับเงียบหายไป เราจึงนัดพูดคุยกับพันศักดิ์ ในเช้าวันหนึ่ง ย่านสุขุมวิท

 

ในสมัยของทักษิณการเติบโตทางเศรษฐกิจดี ประชาชนเอาด้วย แต่ฐานอำนาจเก่าไม่เอา ซึ่งเกิดจากความกลัวว่าอนาคตคืออะไร ไม่ใช่เท่านั้นนะ ผมว่าคุณทักษิณก็กลัวว่าอนาคตคืออะไร ไม่ใช่แต่คุณทักษิณ ยังรวมทั้งสังคมไทยและรวมทั้งผมด้วย ต่อให้ไม่มีรัฐประหาร ไม่ใช่ว่าผมห่วงอนาคตของตัวผม เพราะผมอายุ 60 แล้ว ที่ผมทำ TCDCเพื่อเป็นสัญลักษณ์ มันจะแตกตัวเป็นมากกว่าสัญลักษณ์เพื่อหิ้วรุ่นลูกผมให้มีงานทำ จากสมัยทักษิณไปสู่อนาคต ผมถามว่าเราจะจัดการตัวเองได้ทันไหม คุณทักษิณเองก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือเปล่า คนซึ่งเกลียดคุณทักษิณก็ไม่แน่ใจ ผมเองก็ไม่แน่ใจ

 

0 0 0

 

วิธีไม่โกหกตัวเอง ก็คือการให้คนอื่นเขามองตัวเรา ว่าอะไรคือคุณค่า

คุณจะมีปรัชญาว่าตัวเองเป็นศูนย์กลาง ก็เป็นเรื่องความสุขส่วนตัวของคุณ

แต่ในแง่ของการจัดการทางเศรษฐกิจ

ทำอย่างไรที่จะให้โอกาสแก่คนยากจน

เพราะในที่สุดคนจนก็เป็นผู้เสียภาษีให้รัฐ

 

1

 

เปิดเรื่อง ไทยในโลกาภิวัตน์

 

 

พันศักดิ์เปิดเรื่องและเล่าเรื่อง ด้วยภาพถ่ายภาพจากฝีมือของเขา เป็นภาพของคนกลุ่มหนึ่งสนทนากันอยู่ด้านหน้าโรงแรมหรูใจกลางกรุงลอนดอน ชายในกลุ่มนั้นโพกผ้า.....

 

โรงแรม Oriental Hotel Group แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ย่าน Nice Bridge เป็นโรงแรมระดับนำในกรุงลอนดอนซึ่งเคยมีคนอังกฤษเป็นเจ้าของ แต่ในปัจจุบันถูกซื้อกิจการโดยทุนจากฮ่องกง ผลของ globalization and socialization (โลกาภิวัตน์และกระบวนการทางสังคม) ซึ่งใช้เวลาร่วม 100 ปี จึงเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น เพราะฉะนั้นคนซิกห์ ชอบหรือไม่ชอบก็ตามได้ดื่มด่ำวิธีคิดและอากัปกิริยาและความกระแดะของสังคมอังกฤษเข้าไปสู่ส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณของตัวเองโดยไม่ทิ้งแกนกลางของจิตวิญญาณเดิมของตัวเอง

 

อาการของ globalization and socialization ในตัวของมันเองมีทั้งอาการเจ็บปวดและอาการดื่มด่ำ และอาการที่จะต้องโต้ตอบกับสังคมใหม่ซึ่งผลักดันโดยวิธีคิดการบริหารเศรษฐกิจใหม่ของโลกไปด้วยกัน ใครจะไปคิดว่าทุนฮ่องกงเมื่อสักประมาณ 80 ปีก่อนหน้านี้จะสามารถซื้อกิจการ Hyde Park Hotel ของอังกฤษได้

 

ธุรกิจในฮ่องกงก็เป็นของเก่าแก่ของชาวสหราชอาณาจักร ซึ่งมักจะเป็นของคนสก็อตที่อยู่ในฮ่องกงเมื่อ เกือบ 30 ปีที่แล้ว ต่อมาหนังสือฟาร์อีสเทิร์นอีโคโนมิกส์รีวิวเริ่มลงเรื่องเศรษฐีฮ่องกงเป็นครั้งแรกว่า มีเศรษฐีจีนฮ่องกงแอบอยู่ และก็ค่อยๆ เทคโอเวอร์กิจการของเศรษฐีสก็อต บริษัท เช่น ฮัทชินสัน และก็มาเป็นฮัทชินสันแอนด์วังเป่า

 

เราไปเที่ยงฮ่องกง ก็อาจจะไปเที่ยวร้านขายกล้อง ใครจะไปคิดว่า เจ้าของร้านขายกล้อง Hasselblad ที่ฮ่องกงจะกลายเป็นเจ้าของบริษัทผลิตกล้องที่ดีที่สุดในโลกที่สวีเดน คนขายกล้อง Hasselblad ไปเทกโอเวอร์กิจการของHasselblad เพราะคนขายกล้องของฮ่องกงมันขายกล้องได้มาก เพราะเป็นเมืองท่าปลอดภาษี

 

อาการ socialization and globalization ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 เป็นการอาการสองทาง เป็นการกระทำสองทาง ไม่ใช่อาการทางเดียวของโลกตะวันตกสู่โลกตะวันออกเพียงเท่านั้น และมันเป็นมานานแล้ว ญี่ปุ่นอาจเป็นสังคมแรกที่เข้าสู่กระบวนการโลกาภิวัตน์ มีอาการของการเดินทางสองทางของทุน เช่นในยุคทศวรรษที่ 1980 ที่เราเริ่มรู้จักการเดินขบวนของนักเรียนนักศึกษา บริษัทญี่ปุ่นเริ่มสะสมภาพของปิกัสโซ โมเนต์ อะไรต่ออะไร ซื้อกันเป็นร้อยๆ อัน แอบเอาไว้ในห้องนิรภัยในสำนักงานใหญ่ในญี่ปุ่น จากนั้นก็ขยายจากการซื้อภาพปิกัสโซ่ โมเนต์ กลายเป็นซื้อที่ดินในอเมริกา ซื้อตึกร็อกกี้เฟลเลอร์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสหรัฐ แล้วก็เจ๊งไป

 

อาการ socialization and globalization มันยังขยายไปส่วนอื่นๆ รวมถึงเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ที่แรกก็คือ คนเอเชียอาคเนย์ดั้งเดิม เริ่มเทคโอเวอร์สินทรัพย์ของคนที่มาจากประเทศเจ้าอาณานิคมชาวยุโรปเก่าในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เอง แล้วต่อมาในที่สุดก็ไปเทคโอเวอร์สินทรัพย์ของประเทศแม่เหล่านั้น อาการอันนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะคนตาตี่สัญชาติจีนเท่านั้น คนอินเดียก็ทำมานานแล้ว เช่น บริษัท ทาทา เป็นต้น

 

 

นี่คือบทบาทของผู้ประกอบการ โดยไม่เกี่ยวกับรัฐบาล?

ไม่เกี่ยวเลย

 

 

ในแง่ globalization รัฐบาลไม่มีความจำเป็นหรือ?

รัฐบาลเพียงแต่ไม่ขวางกั้นอากัปกิริยาเหล่านี้ เช่น การเคลื่อนย้ายของทุนที่ออกจากประเทศไปสู่อีกประเทศหนึ่ง

 

 

มันเกิดขึ้นได้โดยมีปัจจัยอะไรสนับสนุน คุณกำลังจะบอกว่า มันเกิดเพราะมีความเจ็บปวดทางประวัติศาสตร์ ทำให้คนท้องถิ่นมีความทะเยอะทะยาน?

มีหลายอย่างปนกัน เช่น ความเคยชินกับสิ่งที่เขารู้ว่าอะไรคือสินทรัพย์ คนบางคนไม่รู้ว่าอะไรคือสินทรัพย์ คือผมจะบอกว่า แต่ก่อนโรงแรมโอเรียนเต็ลนั้นก็เป็นแค่บ้านหลังเดียว มีแค่ 11 ห้องนอน มันกลายเป็นสินทรัพย์ขึ้นมา เป็นสินทรัพย์ที่ตีค่าขึ้นมาได้เรื่อยๆ จนในที่สุดฮ่องกงก็ซื้อ แบรนด์โอเรียนเต็ลนี้เกิดที่ข้างแม่น้ำเจ้าพระยา มันมี mystic value (มูลค่าที่แฝงอยู่ภายใน) บวกกับการบริการที่มีคุณภาพ แบรนด์อะไรก็ตามที่เป็นแบรนด์ที่แบนๆ เฟอะๆ ก็เพราะมันไม่มี mystic value

 

การบริการอย่างมีคุณภาพ แต่ไม่มี mystic value ก็ราคาหนึ่ง ใครที่ดันเรียนเศรษฐศาสตร์มาให้เลิกซะ...competitiveness is bullshit, comparative advantage is a real shit (ความสามารถในการแข่งขันเป็นเรื่องไร้สาระ แต่เรื่องความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ เป็นเรื่องจริง) comparative advantage ในลักษณะนี้ก็คือสิ่งซึ่งอีกคนหนึ่ง (คู่แข่งของตน) ใช้กระบวนการบริหารจัดการ (management) เข้ามาจัดการไม่ได้ แต่ competitiveness(ความสามารถในการแข่งขัน) ใช้กระบวนการบริหารจัดการเข้ามาจัดการได้

 

ยกตัวอย่างเช่น mystic value ไม่สามารถใช้กระบวนการบริหารจัดการเข้ามาจัดการได้ แต่คุณสามารถจัดการให้comparative advantage มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นหรือมีมูลค่าที่ยั่งยืนได้โดยกระบวนการบริหารจัดการ ฉะนั้นสังคมไทยในอนาคต ต้องตีให้แตกว่าอะไรคือ comparative advantage ซึ่งเป็น virtual asset value ของสังคมนี้ (มูลค่าของสินทรัพย์ที่อาจไม่ใช่มูลค่าที่เห็นได้จากการประเมินโดยตรง เช่น สินทรัพย์ทางความคิด) โดยที่อย่าโกหกตัวเองว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้คือ value

 

วิธีไม่โกหกตัวเองก็คือการให้คนอื่นเขามองตัวเรา ว่าอะไรคือคุณค่า คุณจะมีปรัชญาว่าตัวเองเป็นศูนย์กลาง ก็เป็นเรื่องความสุขส่วนตัวของคุณ แต่ในแง่ของการจัดการทางเศรษฐกิจ ทำอย่างไรที่จะให้โอกาสแก่คนยากจน เพราะในที่สุดคนจนก็เป็นผู้เสียภาษีให้รัฐ

 

ถ้าผมเป็นรัฐบาลก็ต้องคิดอย่างนี้ คิดให้ดีต้องคิดแบบมีเหตุมีผล (rational) เมื่อคิดอย่างมีเหตุมีผล มันจะช่วยประชาชนส่วนใหญ่ไปในตัว อย่าเอาคุณธรรมอันเป็นกระบวนการหลอกหลอนความโกหกของจิตวิญญาณของตัวเองมาบังความมีเหตุมีผล อย่าเป็นอันขาด! แก่ๆ กันแล้ว จงทำความดีเพราะว่า It’s a good idea ไม่ใช่ทำความดีเพราะว่า คุณอยากห่อหุ้ม (cover) อีโก้ของคุณด้วยผ้าขาว...

 

 

นโยบายที่เกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ของรัฐบาลนี้กับรัฐบาลทักษิณต่างกันไหม?

ไม่มีนโยบายรัฐบาลเรื่อง globalization มีแต่นโยบายของสังคม สังคมยินยอม สังคมเห็นด้วย สังคมยินยอมหรือสังคมเห็นด้วยแบบเบลอๆ ให้มีปฏิสัมพันธ์กับโลกในมิติต่างๆ โดยที่ไม่มีความชัดเจน อันนี้เป็นสังคมสยามตั้งแต่ต้น สังคมสยามตั้งแต่ต้นเบลอมากนะ เบลออย่างไร โปรตุเกสโผล่มาเราก็ใช้ กรีซโผล่มาเราก็ใช้ เยอรมันโผล่มากูก็ใช้ ยกตัวอย่างเช่น รู้ไหมว่าที่ปรึกษาธนาคารสยามกัมมาจลน่ะมีกี่ชาติ มีทั้งเยอรมัน (landed bank) และในที่สุด ก่อนสงครามโลก City Bank เป็นที่ปรึกษาสยามกัมมาจล ถามว่า globalization สังคมไทยมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ โอ๊ย มันมีมาตั้งแต่ไม่รู้เมื่อไหร่ โปรตุกีสมันเซ่อนะ มันมองผ่านประเทศไทยไปเอาอาเจะห์ ซึ่งก็ไม่เลวนะ มีสมุนไพรจมเลย เมืองไทยเราตอนนั้นเรามีครั่งทางเหนือ

 

คือ ไม่มีนโยบาย globalization เพราะผมไม่คิดว่าชนชั้นนำของไทย ไม่ว่าเป็นยุคไหนก็ตาม จะมี dialectic strategy (การกำหนดยุทธศาสตร์จากความขัดแย้งระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่) เกิดด้วยพื้นที่ของสังคมไทยในโลกอย่างชัดเจน มีแต่เฮกันไปเรื่อยๆ

 

 

เป็นเพราะไม่รู้ หรือเป็นเพราะตั้งหลักไม่ถูก ไม่เข้าใจโลก

ผมว่าเขาเข้าใจเป็นส่วนๆ นะ ผมเข้าใจว่า เราส่งคนของเราไปเรียนหนังสือตั้งแต่รุ่นพ่อผม น้อยมากที่จะไปเรียนแบบที่พระองค์วรรณ (พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร) เรียน ที่เขาเรียกว่า Classical Greek ไม่ว่าจะเป็นปรัชญากรีก การเมืองกรีก ปรัชญาการเมืองกรีก หรือเศรษฐศาสตร์

 

เพราะฉะนั้นโลกาภิวัตน์สำหรับผมแล้วไม่มีอะไร ประเด็นมีเพียงแค่ว่าสังคมไทย ระดับของเศรษฐกิจไทยควรจะปล่อยให้สังคมสามารถใช้ post modern capitalism technique จนกระทั่งมากระทบ natural development ที่ผมพูดว่า natural development ในที่นี้ก็คือ analog experience learning ที่จะจัดการกับทุน

 

ตัวอย่าง sub-prime ในอเมริกาทำได้ เพราะใช้เงินคนอื่น คุณออก dept of instrument (ตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร) ออกมา แล้วคนอื่นก็มาซื้อตราสารหนี้ของคุณ แล้วก็คนอื่นๆ ก็มาซื้อต่อๆ อย่างกับแม่ชม้อย จนกระทั่งวันหนึ่ง อ้าว ชิบหายแล้ว What is a real value ของบ้านหลังนี้ นี่แหละ market place อ้าว value มันไม่ใช่ 10 เท่าที่คุณขายกันไปขายกันมาอยู่นี่ ไอ้เทคนิคของการหาทุนไปทำอย่างอื่น หรือหากำไรจากตราสารหนี้ เนี่ย มันเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจปกติ ซึ่งมี real production, real employment (การผลิตจริง การจ้างงานจริง) รับได้ไหม แต่ประเทศซึ่งกำลังมีปัญหาอยู่นี้จะหาทางออกของตัวเองเรื่องของ comparative advantage ยังหาไม่ถูกเลย

 

สิ่งที่ผมกำลังสนใจตอนนี้ คือ เพราะเรากำลังมีอาการเปลี่ยนผ่านในสังคม หนังสือเล่มหนึ่งบอกว่า without democracy there is no real growth, democracy without growth ก็ฉิบหาย (ถ้าไม่มีประชาธิปไตย มันก็ไม่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง แต่ประชาธิปไตยโดยไม่มีความเติบโตทางเศรษฐกิจก็ฉิบหาย)

 

หนังสือเล่มนี้บอกว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องเมืองจีน ถ้าเศรษฐกิจโตแบบนี้ 9-10 เปอร์เซ็นต์ทุกปีๆ democracy comes naturally (ประชาธิปไตยก็จะตามมาเอง)

 

0 0 0

 

 

 

 

 

วิธีโต้ตอบกับความเปลี่ยนแปลงมีหลายอย่าง แล้วแต่หัวกบาลของคุณ

บางคนก็ใช้การเทศน์ แล้วสังคมไทยเป็นสังคมที่ชอบเทศน์แล้วก็ฟังเทศน์ คิดเองไม่ได้คิด

ฉะนั้นเล่านิทานอะไรก็ได้

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลทักษิณนั้น ผมเข้าใจว่า

คุณทักษิณเป็นแค่สัญลักษณ์ของการเปลี่ยน

 

 

2

 

ความกลัวกับการเปลี่ยนแปลง

 

 

แต่มันก็เถียงกันมานานแล้วนะ เรื่อง growth และ democracy อย่างกรณีสิงคโปร์ก็เป็นโมเดลที่ไม่democracy เท่าไหร่

ไม่ใช่ คุณจะเห็นว่าสิงคโปร์ตอนนี้เริ่มติดขัด โปรดสังเกตวิธีที่สิงคโปร์ซื้อสินทรัพย์ ในประเทศไทย สิงคโปร์จะซื้ออะไรล่ะ โรงแรม ธนาคาร และก็สร้างคอนโดมีเนียมในสุขุมวิท ผมก็ขำนะที่บอกว่าทักษิณขายประเทศ ก็ต้องดูว่าใครขายก่อน

 

ทีนี้ ผมกำลังจะบอกว่าสิงคโปร์ซื้อ virtual asset สิงคโปร์ไม่ได้ซื้อเพชร ไม่ได้ซื้อทองที่ชั่งกันได้ เขาไม่ได้ซื้อphysical asset (สินทรัพย์ที่มีมูลค่าทางกายภาพอย่างเดียว) แต่เขาซื้อ virtual value ของสังคมไทย คือ service(การบริการ) ซื้อ psyche (จิตวิญญาณ) ของชีวิตมนุษย์สยาม แต่เราไม่เก็ตกัน

 

หมายความว่าอะไร หมายความว่าสิงคโปร์สร้าง creative service industry ของตัวเองไม่ได้ โดยความจำกัดของจำนวนประชากร และลักษณะการบริหารสังคมสิงคโปร์ไม่สามารถมี creative industry ของตัวเองได้ สิงคโปร์จึงพยายามที่จะสร้างการบริหารจัดการ creative industry (ที่อยู่นอกประเทศ)  

 

ที่ผ่านมานั้น สิงคโปร์มีแต่สิ่งที่เรียกว่าความสามารถในการบริหารจัดการ

 

 

ปัจจัยที่ทำไม่ได้เพราะประชากรน้อยอย่างเดียวหรือ มันเกี่ยวกับการไม่มีคุณค่าทางประชาธิปไตย(democratic value) ด้วยหรือเปล่า?

สิงคโปร์มีคุณค่าทางประชาธิปไตย (ซึ่งแคบ) ของตัวเอง แต่คุณจะสังเกตไหมว่า มันไปต่อไม่ได้ไกล คือทั้งสองอย่างทั้งคือประชากรน้อย และไม่มี creative industry (อุตสาหกรรมที่เน้นความสร้างสรรค์)เป็นของตนเอง

 

เมืองจีน ตอนนี้กำลังตื่นตัวเรื่อง creative industry (อุตสาหกรรมที่เน้นความสร้างสรรค์) ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ เปลี่ยนจากการแค่ประกอบหรือเลียนแบบ จีนลงทุนในเรื่องนี้มาก แล้วผู้นำจีนพูดว่ายังไงรู้ไหม ในที่สุด ประชาธิปไตยก็จะมา

 

ถามว่าเมืองจีนมีประชาธิปไตยไหม มี แต่มีแบบเพี้ยนๆ ที่เราไม่ได้เข้าใจกันมาก่อนหน้านี้ เช่น กระจายอำนาจ (diversify) จากส่วนกลางให้กับจังหวัดมหาศาลเลย ไม่น่าเชื่อ จนกระทั่งมีปัญหาเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ จังหวัดไหนอยากรวยก็ต้องมีแผนเศรษฐกิจที่จะสร้างเขื่อน สร้างโรงไฟฟ้า สร้างการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มันไม่มีองค์กรที่เข้ามาจัดการที่แท้จริง เพราะมีอำนาจของ structural economic right (มีสิทธิพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นภายใต้โครงสร้างใหญ่) ปัญหาของเมืองจีนอยู่ตรงนี้แล้ว ผู้นำจีนก็รู้และเข้าใจ ซึ่งผมชอบมาก เขาเก่งที่รู้และเข้าใจ และเขาพยายาม คือเขาบอกว่า เขาอยากให้มีความสร้างสรรค์ภายใต้ลักษณะความเป็นสังคมนิยมแบบจีน นี่เป็นเรื่องที่มาร์กซิสม์ในยุโรปเถียงกันมานาน ว่า อะไรคือ creativity ถ้าไม่ใช่ bourgeoisie creativity (ความสร้างสรรค์แบบชนชั้นนายทุน) แล้วมันคืออะไร เถียงกันตั้งแต่รุ่นพ่อผมจนผมอายุ 66 แล้วนะ

 

จีนกำลังท้าทายตัวเอง พรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังท้าทายตัวเองว่า เป็นไปได้ไหมที่จะสร้างสรรค์สินค้าและบริการ ซึ่งUniquely Chinese แต่ข้างล่างเขียนว่า socialism ได้หรือไม่ context ของมันคือโลกตะวันตก (สร้างสรรค์สินค้าที่มีความเป็นจีนอย่างเด่นชัดเฉพาะตัว แต่เขียนกำกับไว้ว่า สังคมนิยม), design ซึ่งเป็นพวก consumer design product มักมาจากกระบวนการ semiconscious of conscious analysis of class contradiction จึงมีการ designออกมาแล้วดูแล้วมันส์ ยกตัวอย่างเช่น miniskirt ไม่ใช่ design แต่เป็น statement of protest

 

โลกตะวันตกคิดเรื่อง creativity มานานตั้งแต่สมัยกรีก จนมันอิ่มตัวแล้ว โลกตะวันตกทุกวันนี้คิดอะไรไม่ออก เพราะความขัดแย้งทางชนชั้นน้อยลง มันมีอาการแบนราบ (flat) ลูกจ้างรายวันไม่มีแล้ว มีแต่ พนักงานกินเงินเดือนบริษัท เมื่อมันแบนราบแล้ว ความขัดแย้งทางชนชั้นก็น้อย เมื่อความขัดแย้งทางชนชั้นน้อยลง ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของยุโรปนั้นเป็นประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาที่เกิดจากความขัดแย้ง แล้วยังไง คุณก็หมดวิตามิน แล้วไปพูดเรื่องอะไรenvironment, love the whale. สิบปีที่ผ่านมามีหนังสืออะไรใหม่ๆ ออกมาจากยุโรปไหม ไม่มีอะไรใหม่เลย

 

 

เมื่อเมืองไทยไม่มีภาพที่ชัดเจนว่าจะวางตัวเองไว้ตรงไหนใน globalization แต่ทำไมนโยบายของชุดรัฐบาลทักษิณจึงเกิดแรงต้าน

มันคนละเรื่อง เขาไม่ได้ต้านเรื่องโลกาภิวัตน์ ที่เขาต้านน่ะ คืออาการที่เกิดขึ้นของช่วงเปลี่ยนผ่านของสังคมมนุษย์ ซึ่งในประวัติศาสตร์ มนุษย์จะมีปฏิกริยาต่อการเปลี่ยนผ่านนั้น ที่ผมสังเกตดูอย่างในกรณีของเนปาลซึ่งตอนนี้พรรคคอมมิวนิสต์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าไม่สามารถมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้เห็นเป็นรูปธรรมเหมือนในประเทศอื่นๆ ในสังคมมนุษย์ในโลกมนุษย์ ก็จะมีปฏิกิริยาสะท้อนกลับ

 

สำหรับคนซึ่งโหยหาสิ่งซึ่งเป็นยูโทเปีย ซึ่งไม่มีจริง หาไม่ได้ เพราะถ้าจะมีจริง ต้องทำงานหนักและอาจจะเลวก่อนดี กับอีกประเภทหนึ่ง ที่ชีวิตเคยโอเคมาแล้ว คนที่ร่ำรวยแล้วมักจะกลัวความล้มเหลว คือสิ่งที่ตัวเองเคยมีจะหายไปหรือเปล่าไม่รู้ สำหรับคนจน หรือคนที่ไม่รวยมากนัก พวกเขากลัวความล้มเหลวน้อยกว่า ดังนั้นพวกเขาจึงเตรียมพร้อมที่จะรับความเสี่ยงที่มากกว่าได้

 

ผมก็เห็นด้วยว่า ชีวิตที่ดีกว่าจนหน่อยนึง บางทีกลัวมากเลย กลัวจะกลับไปจนใหม่ เพราะมันเคยลิ้มรสมาแล้ว ความจนที่กูเพิ่งผ่านมันมาหยกๆ รสชาติมันเป็นอย่างไรกูรู้ดีมาก

 

เพราะฉะนั้นความกลัวอนาคต (fear of the future) มี 2 เหตุผลคือ หนึ่ง เพราะตัวเองไม่มีการผลิต ไม่มีความสามารถจะสร้างสรรค์รายได้แบบใหม่ๆ หรือมูลค่าใหม่ๆ หรืองงกับการสร้างสรรค์รายได้แบบใหม่ งงกับกระบวนการจัดการทุนแบบใหม่ งงกับคู่ต่อสู้ที่เรียกว่า ‘จีน’ ซึ่งที่จริงเป็นบรรพบุรุษของตัวเอง เผอิญคำว่า ‘จีน’ มันเพี้ยนมาก มันไม่ปกติ มิติมันมากเหลือเกิน หารูทะลุไม่ได้ มีทั้งทุน มีทั้งแรงงาน มีทักษะ มีทั้งเทคโนโลยี มีทั้งความสามารถในการจัดการกับตรรกะที่หลากหลาย

 

What should you do in this society? สมมติว่าคุณเคยมีชีวิตที่ดีมา แล้วอยู่มาวันหนึ่งมีอาการท้าทายนี้เกิดขึ้นกับคุณ

 

วิธีโต้ตอบกับความเปลี่ยนแปลงมีหลายอย่าง แล้วแต่หัวกบาลของคุณ บางคนก็ใช้การเทศน์ แล้วสังคมไทยเป็นสังคมที่ชอบเทศน์แล้วก็ฟังเทศน์ คิดเองไม่ได้คิด ฉะนั้นเล่านิทานอะไรก็ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลทักษิณนั้น ผมเข้าใจว่า คุณทักษิณเป็นแค่สัญลักษณ์ของการเปลี่ยน ในสัญลักษณ์ก็มีมนุษย์ มนุษย์ก็มีปัญหา ในฐานะที่คุณกำลังถามประวัติศาสตร์กับผมมาก แล้วไงล่ะ ทักษิณแล้วไงล่ะ What do you do next? คุณทักษิณไปแล้ว What do you do next?

 

 

ตอนนี้คืออะไร นี่คืออาการของการหาทางไปไม่เจอหรือ

ผมบอกแล้วว่า เมื่อพูดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอย่าพูดเรื่องอิฐ หิน เหล็ก เงิน 100 บาทสังคมไทยต้องคิดให้ออกว่าเป็นค่า เหล็ก หิน อิฐ กี่บาท infrastructure of the mind เท่าไหร่ แล้วต้องซีเรียส ต้องมีความ emergency เหมือนอย่างที่คุณคิดเรื่องอิฐ หิน คุณต้องมี emergency มีความตั้งอกตั้งใจ คิดเองไม่ออกก็จ้างแขก ก็แขกดูไบยังจ้างฝรั่งเลย

 

เอาอย่างนี้ดีกว่า ที่เราพูดถึงแขก เขาก็จ้างฝรั่ง ความหมายคือวัฒนธรรมอาหรับนั้นทำให้เราเห็นว่าวัฒนธรรมมีความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ นี่ไม่ยอมคิดกันเลย ชอบพูดถึงการ์ตาร์ ดูไบ เหมือนอย่างกับเป็นฮ่องกง ไม่ใช่!!! คุณต้องรู้ประวัติศาสตร์ด้วย คุยกันแค่นี้ยังไม่เคยคุยกับผมเลยสังคมไทย

 

 

แต่เราทำไม่ได้

เพราะแขกมีอำนาจ แล้วยังไง แขกเข้าใจความสามารถในการบริหารจัดการที่จะบริหารจัดการฝรั่งอีกที แล้วสังคมไทยเป็นยังไง เราเป็นคนไทยแล้วยังไง

 

 

กระบวนการทางสังคมของไทยดูเหมือนจะเหนี่ยวรั้งโลกาภิวัตน์ เช่น เรื่องเอฟที มันจะถอยหลังหรือเปล่า

ไม่รู้ ไปถามพวกนั้นสิ การคุยกันว่า FTA มันดีหรือไม่ดีอย่างไร ขออย่างเดียว ขอให้คุยกันบนพื้นฐานความจริง ไม่เอาก็ได้ ไม่เอาก็รับผลที่เกิดขึ้นของมัน (consequences) จะเอาก็ต้องรับผลที่เกิดขึ้นของมัน

 

ผมชอบพูดว่า ที่ดินนั้นเป็นภาระที่ต้องแบกรับ ทักษะ เป็นเครื่องมือของความมั่งมี หากคุณใช้เครื่องมือนั้นบนที่ดิน เป็นเรื่องดีมากๆ คำถามคือ ถ้าคุณให้ที่ดินโดยผ่านเครื่องมือการจัดการความมั่งมี จะเกิดอะไรขึ้น ก็จะเกิดอุตสาหกรรมที่อุดหนุนผู้ยากไร้ ซึ่งใครได้ประโยชน์

 

ถ้าชาวนาไทยขายข้าวได้เกวียนละหมื่นสี่ สัก 4-5 ปี กระทรวงเกษตรเจ๊งเลยนะ หมายความว่าผู้ที่หากินกับงบประมาณของกระทรวงเกษตรยุ่งเลยนะชีวิต

 

ความมั่งมีเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ความมั่งมีไม่ใช่เรื่องไร้สาระ ความมั่งมีเป็นเครื่องมือสำหรับการมองชีวิตที่เป็นอุดมคติ...จึงต้องมีการสร้างความเป็นไปได้สูงสุดให้แก่มนุษย์ การสร้างความเป็นไปได้สูงสุดไม่ควรกระจุกตัวอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใช่หรือเปล่า

 

ไม่ใช่ maximization of distribution of existing wealth ใช่หรือเปล่า maximization of distributing of existing wealth ก็เท่ากับ zero น่ะสิ คุณแบ่งโอเรียลเต็ลแจกคน 65 ล้านคนยังไง

 

สมัยรัฐบาลทักษิณ เราคิดกันเรื่องถ่ายโอนทุนไปให้คนจน ผมจะบอกว่า เราไม่เคยมีการคิดในเชิงวิทยาศาสตร์ว่า ความสามารถและประสิทธิภาพของคนจนในประเทศไทยนั้นคือไฉน ไม่เคยเลย มีแต่งานวิจัยนิดๆ หน่อยๆ มีresearch paper, macro paper เรื่อง income, macro paper on tax, micro paper ของเอ็นจีโอเรื่องหมู่บ้าน ไม่เคยมีใครบอกว่า มีการวิจัยในระดับทั้งประเทศว่า ความสามารถของคนในการสร้างผลผลิต มีหรือไม่ อย่างไร พอเอาทุนย้ายเข้าไปใกล้เขาเท่านั้น โดยยังไม่ได้ยกระดับทักษะ โดยยังไม่ได้พัฒนาเรื่องทักษะด้านการคิด รายได้ก็เพิ่มขึ้นมาเลย พิสูจน์ได้อย่างไร ผมพูดเรื่องนี้มาเกือบ 10 ปีแล้ว มันปรู๊ฟด้วยการเก็บภาษีของรัฐบาลสมัยทักษิณ พอขึ้นปีที่ 3 อัตราการเก็บภาษีในต่างจังหวัดมันขึ้นสูงกว่ากรุงเทพฯ สถิติมีอยู่ที่กระทรวงการคลัง นี่คือเรื่องที่หนึ่ง

 

เรื่องที่สอง ไอ้คนเก็บบัญชีคือ ธนาคารออมสินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ที่ทำหน้าที่เก็บบัญชีกองทุนหมู่บ้าน คนเก็บบัญชีน่ะรู้ว่าเงินที่ให้ไป 80,000 ล้าน ปัจจุบันกลายเป็น 120,000 ล้านแล้ว อยู่ในบัญชีของกองทุนหมู่บ้าน เงินมันเพิ่มขึ้นมา 40,000 กว่าล้าน

 

 

แต่ก็มีข้อถกเถียงว่า ชาวบ้านไปยืมเงินมาพักย้าย

This is wonderful! นั่นหมายความว่า ชาวบ้านรู้ว่า จะบริหารจัดการกับทุนอย่างไร มึงจะให้กูนั่งข้างถนนแบมือเหรอ ข้อเท็จจริงคือเงินในบัญชีมีหรือเปล่า มีเพิ่มขึ้นหรือเปล่า เพิ่มขึ้น อัตราความสูญเสียที่ผ่านมาที่แท้จริงคือเท่าไหร่ ความสามารถที่จะหมุนเงินน่ะ จะเป็นความสามารถที่ทำวิจัยกันเฉพาะเจ๊กกรุงเทพฯ เหรอ การหมุนเงินนั้นชาวบ้านก็ทำเป็น แต่เราทำให้มีระบบขึ้น และที่สำคัญคือผมเก็บภาษีคุณ นี่ขนาดยังไม่ได้ยกระดับทักษะอย่างเป็นเรื่องเป็นราวนะ

 

 

แต่เวลาที่รัฐบาลอธิบายไม่ค่อยอธิบายแบบนี้ จึงถูกโจมตีได้ง่ายๆ ว่ามันสูญเปล่า มันไม่ผลิตอะไร

ตัวเลขก็มี ก็ช่วยไม่ได้ ไม่มาถามผมนี่

 

 

0 0 0

 

 

ผมอยากให้เมืองไทยกลับสู่รากฐาน กลับสู่รากฐานทางความคิด รากฐานในการทำความเข้าใจ

ทำมาหากินไป หมายความว่า ไม่มีใครมาเคาะประตูตอนกลางคืนแล้วบอก ขอพาตัวไปหน่อย

นี่มันเป็นสิทธิมนุษยชน

เวลาที่เราพิจารณาศีลธรรมของความเติบโตทางเศรษฐกิจ (moral of economic growth)

ก็ดูจากสถิติทารกที่ออกมาจากท้องแม่ใน 100 คนตายกี่คน

แล้วการตายมันลดลง ก็นั่นแหล่ะตัวบ่งชี้ ความชอบธรรมของความเติบโตทางเศรษฐกิจ

ไอ้อย่างอื่นมันแค่ side line’

 

 

3

 

อนาคตเมืองไทย ไม่มีใครรู้ 

 

 

SME ไปรอดไหม

ไปรอดอยู่แล้ว เอาเฉพาะ creative sector นะ ไม่ใช่ SME, SME มันเป็นคำแบบรวมๆ (generic term)

 

creative sector ของไทยนั้นเกือบแสนล้านต่อปี rate of margin อยู่ที่ 30-60 เปอร์เซ็นต์ ผมถามคุณว่า ไอ้โรงงานที่บางนา-ตราดนี่นะ margin left over หลังจาก export ให้กับคนไทยเท่าไหร่ 8-9 เปอร์เซ็นต์ นี่ยังไม่นับค่าจ้างที่ยังต้องแบ่งพวกที่ผลิตอะไหล่เป็นส่งโรงงานญี่ปุ่นที่เป็นคนไทยเองนะ

 

สบู่สมุนไพรเนี่ย margin จากรายได้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้กลับมาที่คำถาม อะไรคือความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) ของประเทศไทย???” ท่องไว้จะได้ชัดในหัวกบาล

 

เราจะไม่ส่งสบู่ขายเพื่อช่วยคน 65 ล้านคน เช่นเดียวกัน เราก็จะไม่สร้างจรวดไปแข่งกับฝรั่งเศสกับรัสเซีย ความคิดทั้งคู่ไร้สาระ แต่การกระจาย (diversify) ความคิด และความคิดสร้างสรรค์ออกไป เป็นกุญแจสำคัญที่อยู่บนพื้นฐานของความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ไม่อย่างนั้นคุณจะทำอะไร คุณจะขายอะไร

 

ผมจะพูดประโยคนี้เพื่อให้ช็อกคนนะ....กระแดะ!!! พูดภาษาเอ็นจีโอ ภาคส่วนอะไรๆ น่ะ กระแดะกันเกือบตาย แต่ไม่สร้างทางออกที่สร้างสรรค์ที่เป็นไปได้กันสักคน มันอะไรของคุณ คุณธรรมนำชาติ..เหรอ เออ ก็ไม่ว่ากันนะ 65ล้านคนจะเป็นพระกันหมดเหรอ โอโฮ wonderful!! เพราะฉะนั้นอย่ามาพูดกับผมว่า รัฐบาลมีนโยบายglobalization…ไม่มี รัฐบาลควรมีเซนส์ว่า This is the world. เราไม่เคยมี ใช่ไหม ที่ผมทำ OKEM, TCDC ถูกกระทืบเกือบตาย ก็สังคมว่ายังไงล่ะ

 

 

มันแพง มัน ฟุ้งเฟ้อ

อ้าว ถ้ามันแพง มัน luxury แล้วมึงสร้างตึกสูงๆ กันทำไมล่ะ ทำไมไม่อยู่เพิงหมาแหงนกันทั้งกรุงเทพฯ

 

 

ก็เขารับไม่ได้

รับไม่ได้ก็เรื่องของคุณ ก็เลิกไปสิ แล้วก็จดไว้ในบันทึกประวัติศาสตร์ของประเทศไทยว่า ข้อเสนอเพื่อการเปลี่ยนแปลง (proposal for change) ได้เกิดขึ้นแล้ว และปฏิกิริยาตอบกลับเป็นอย่างนี้ ปฏิกิริยาที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล (irrational) เป็นปฏิกิริยาจากอารมณ์ (emotion reaction) มันไม่ได้ดูบัญชี ผลประโยชน์ หรือรายได้นะ แต่เดี๋ยวก่อนนะ ถ้าพูดเช่นนั้น การบินไทยซื้อโบอิ้ง กับ Airbus ทำไม ทำไมไม่ซื้อเครื่องบินโซเวียต ถ้าอย่างนั้นรัฐบาลไทยถือหุ้นใหญ่การบินไทย เอาเงินภาษีผมไปใช้ทำไม ผมไม่ได้ขึ้นการบินไทยฟรีล่ะ ผมจ่ายภาษีแล้วน่ะ

 

มีคนเดินเข้ามาใน TCDC ถามว่า ทำไมต้องเสียค่าสมาชิกเพราะผมจ่ายภาษีแล้ว ผมก็เลยบอกเขาว่า ผมก็เห็นด้วยนะ ให้คุณไปบอกรัฐบาลว่า ค่าน้ำค่าไฟผมก็ไม่ควรเสียเพราะคุณเอาเงินภาษีผมไปแล้วน่ะ

 

 

แต่คนที่เข้าถึงได้มันก็เป็นแค่ชนชั้นกลาง

ก็เหมือนกัน คนที่เข้าถึงวิธีผสมสมุนไพรก็มีแต่คนจน คนรวยเข้าถึงอีกอย่างหนึ่ง คนพอมีสตางค์ พอมีรายได้เหมือนอย่างเธอเนี่ย เรียนหนังสืออะไรมา ทำไมไม่ไปไถนา เรียนหนังสือใช้ภาษีของรัฐบาลมาตั้งเยอะตั้งแยะแล้วมาทำงานอย่างงี้ ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต www.prachatai.com is a highly unproductive activity, no income, no tax creation…useless

 

คุณรู้หรือเปล่า ดีไซเนอร์คนเดียว จ้างคนที่ขอนแก่นกี่คน เอาแค่หลานผมคนเดียวขยายเป็นกลุ่ม ส่งบุรีรัมย์กับขอนแก่น 8 หมู่บ้าน ส่งสินค้าไปดูไบ โรงแรมหกดาว ใครเข้าถึงบ้าง คนเข้าถึงไม่มาก แต่มีผลข้างเคียงมาก เกิดผลกระทบแบบระลอกคลื่นจากความรู้ของคุณที่ประกอบกันเป็นการจ้างงานและสร้างรายได้ ซึ่งมีผลกำไรต่อหน่วยสูง30-60 เปอร์เซ็นต์

 

ผมไม่มีปัญหาในชีวิต คุณมีปัญหาในชีวิตเหรออย่างนั้นน่ะ การคิดอย่างนั้นเขาเรียกว่าไร้วุฒิภาวะเยี่ยงทารก (literal infantilism)

 

ผมเสนอให้ทำ discovery museum หมายความว่ารากของคุณ มันมีภาคภูมิที่เป็นศักยภาพ เช่น คุณคิดเรื่องซิ่นตีนจกตีนตุ๊กแกอะไรเนี่ย ก็ควรจัดการแยกประเภทให้ถูกต้อง เก็บรักษากันแมลงเข้าไปกัดไม่ได้ แสงแดดเข้าไม่ได้ เราให้นักวิจัยด้านสิ่งทอเข้าไปใช้ได้ เพราะคนพวกนี้เขาจะสามารถวิจัยแล้วดีไซน์ส่งโรงงานได้ เกิดการจ้างงานขึ้นมา

 

คำว่า ศิลปะ สำหรับผม หรือคำว่า ดีไซน์ คุณต้องขจัดสำนึกแบบกึ่งทารกออก คนจะอยู่บนพื้นฐานของประวัติศาสตร์ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก็คือสามารถตีความ (re-interpret ) ประวัติศาสตร์ เพื่อการอยู่ในโลกได้หรือไม่ ไม่ใช่การคัดลอกตัวหนังสือ (literal copy) คุณต้องสามารถตีความประวัติศาสตร์ของคุณเอง และความมั่งคั่งของยุโรปก็มาจากการตีความความหมายของทรัพย์สิน

 

ข้อเท็จจริงคือ คุณจะทำอะไร และคุณจะขายอะไร คุณต้องรู้ประวัติศาสตร์นะ รู้วรรณกรรมที่ดี ผมอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง บทที่เขาไปเที่ยวซ่อง มีเด็กทหารอเมริกันที่มาจาก Mid-west เขาเรียกว่า bible belt ในอเมริกา เด็กคนนี้คงอายุสัก 17-18 พวกเพื่อนๆ ที่แก่แดดแก่ลมก็ไปเที่ยวผู้หญิง แต่เด็กคนนี้ไม่เอา ไปนั่งที่ประตู แล้วมีตาแก่เดินมา เด็กคนนี้ก็ชี้หน้าถามว่า คุณไม่อายบ้างเหรอ คุณขายผู้หญิงของคุณให้เรา ตาแก่นี่มองหน้าเด็กแล้วถอนหายใจบอกว่า ไอ้หนู โรมนี่นะอยู่มานานมาก กองทัพโน่นนี่มาโรมอยู่เรื่อย แล้วอีกหน่อยเธอก็ไปใช่ไหม โรมก็ยังเป็นโรมอยู่นะ ....เจ็บไหม เป็นเด็กเสือกไปเทศน์คนแก่ แต่โรมก็ไม่ได้ขายผู้หญิงแล้วใช่ไหม ญี่ปุ่นล่ะ สมัยสงครามโลกครั้งที่สองน่ะ ไต้หวันเมื่อก่อนนี้ก็ขายผู้หญิง เจ็กไทยรวยๆ ก็ไปซื้อ แต่เดี๋ยวนี้เป็นยังไง เปลี่ยนจากการขายเซ็กส์ไปสู่กระบวนการคิดเกี่ยวกับเซ็กส์ คุณปฏิเสธหรือว่า เซ็กส์ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ หรือไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชีวิตคุณเอง ทำอย่างไรที่จะทำให้เซ็กส์สร้างความพึงใจทางอารมณ์และทางปัญญา

 

คราวนี้ผมถามอีก อะไรคือความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของไทยการบริการใช่ไหม a calmness of sensualityใช่ไหม

 

นี่ ผมถ่ายรูปมาจะปีแล้วนะ ชักเหนื่อย เฮ้อ คนไทยเนี่ย หน้ามันจืดนะ ผมถ่ายรูปหน้าคนนี้ (เอารูปขึ้นมาโชว์) ไปถ่ายได้จากจาไมกัน ฝรั่ง แต่คนไทยเนี่ยไม่ ซึมซับความเจ็บปวดเข้ามาในตัว คนไทย pain bounce (ตีกลับความเจ็บปวด) กระเด้งออก ปุ้ง เขียนตรงหัวกบาลว่า เพราะมันเป็นกรรม พอคำว่าเจ็บปวดเข้ามามันก็กระเด้งดึ๊ง หน้าเรามันเลยจืด หน้าไม่มีคาร์แร็กเตอร์ สายตาพวกคุณน่ะ เป็นสายตาแบบไม่มีคาแรคเตอร์ ผมไปกรีก ไปที่อื่น ถ่ายพอร์เทรตสบายมาก เพราะเขามีคาร์แร็กเตอร์ (แบบตะวันตกน่ะนะ) แต่เพราะว่า ไม่มีคาร์แร็กเตอร์แบบ Mediterranean civilization นี่แหละมันก็เลย relaxing to those who has problems มันไม่แสดงออก คำว่า thank you ของฝรั่งบางทีฟังแล้วสงสารเลยนะ thank you, sir เสียงมันบอกถึงความเจ็บปวด บอกว่าหนาว มันออกมาในสำเนียงที่พูด ของเมืองไทยนะ ขอบคุณค่ะ.....ต่อให้ตบกับผัวมาเราก็ฟังไม่ออก เพราะว่าหน้าตาไม่บอก

 

ย้ำอีกที อย่าไปคิดมาก อย่าไปคิดหมุนไปหมุนมากับตัวเอง สร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันที่จะล้มเหลว เป็นเครื่องมือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งการสร้างสรรค์ คุณไม่เคยล้มเหลวแล้วคุณจะสร้างสรรค์อะไร คุณก็ได้แต่ก๊อปปี้ คุณคิดสูตรคณิตแบบฝรั่งเก่งฉิบหาย ไหนลองบอกมาซิว่า อะไรคือความเป็นดั้งเดิมแท้ๆ ของคุณ อะไรคือการตีความประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่เป็นของคุณเองแท้ๆ

 

ผมบอกมีตังค์ 100 บาท หินปูนเหล็กกี่บาท ปัญญากี่บาท คำว่าปัญญานี่หมายถึงปัญญาที่ออกรบได้นะ

 

ผมอยากทำอะไรรู้ไหม ผมอยากทดลอง เราคิดว่ามนุษย์ที่อยู่ในมิติเดียวตลอดเวลาโดยเราไปรับเอาวิธีคิดแบบผู้เชี่ยวชาญ (Specialization) พวกเรียน สังคมศาสตร์ก็จะคิดได้แคบ (narrow mind) ลูกผมเรียนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ไม่เคยเดินไปศูนย์การแพทย์ที่รังสิต เพราะมันถูกทำให้รู้สึกว่า ศูนย์การแพทย์เป็นตึกเฉพาะด้าน ลูกผมชอบประวัติศาสตร์ก็เลยชอบไปฟังวิชาประวัติศาสตร์ด้วย ทั้งๆ ที่ตัวเองเรียนปรัชญา แล้วไอ้เด็กอย่างลูกผมเนี่ย มันจะเป็นทั้งประเทศไทยได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ ที่ลูกผมเป็นได้เพราะพ่อแม่เป็นคนซึ่งอยู่กับชีวิตได้เพราะว่ามีความรู้ทั่วๆ ไป ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ

 

แต่สิ่งที่เราต้องการคือสมมติฐานว่ามนุษย์ไม่ใช่มิติเดียว มันต้องมีสถาบันที่ช่างฝีมือมีบ้านอยู่ติดกับนักปรัชญา ให้มันอยู่เต็มเลยนะ ให้มันอยู่กันเป็นหมู่บ้านเลยนะ เชิญช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญมาจากต่างประเทศ ประเภทที่เขารีไทร์แล้ว กลางวันตีกอล์ฟ กลางคืนสอน เด็กเดินไปที่บ้าน สอนเด็กเตรียมไม้ไผ่ยังไง คุณภาพของผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ แล้วเด็กที่เรียนการผลิตผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ก็ได้เดินผ่านบ้านนักปรัชญาด้วย ฟังเพลงโมร็อกกัน เด็กก็ขอจอยคลาสมั่ง ไม่เห็นเป็นไร ทำไมเราจึงต้องสร้างให้เด็กของเรากลายเป็นมนุษย์มิติเดียว ถ้าคุณทำแบบนั้น คุณทำบาปนะ คุณต้องสร้างบรรยากาศของความปั่นป่วนสับสน (organize chaos) ให้เด็กกลายเป็นคนที่มีความสามารถผสมผสาน แล้วเขาจะกลายเป็นช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่ช่างเทคนิคอีกต่อไป ถ้าทำได้อย่างนั้น ผมให้ SME financing 5 ปีเลย 2 ปีแรกไม่เก็บต้นไม่เก็บดอก เพราะไอ้คนๆ นี้จะกลายเป็น trainer ด้วยตัวเอง เมื่อไปตั้งกิจการก็ต้องไปเทรนเด็กคนอื่น ผมในฐานะรัฐไม่ต้องจ่ายค่าเทรนไอ้เด็กพวกนั้น

 

แล้วคุณว่าอะไรขายได้ในโลกโลกาภิวัตน์นี้ โรงแรม 2 โรงแรมเหมือนกัน แต่อีกโรงแรมหนึ่งชาร์จได้ 2 เท่า เพราะอะไร ถ้าคุณมองดีๆ เพราะมีต้นไม้เยอะกว่า (หัวเราะ)

 

ผมสรุปสิ่งที่ผมพูดกับคุณแต่ต้นก็คือ ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage)

 

 

แต่ฟังดูประเทศไทยไม่ค่อยมองเห็น value ของตัวเอง จะทำอย่างไร

ก็บังคับให้มองให้เห็น ถ้ามองไม่เห็นก็ตายน่ะสิ มันทำไม่ได้ บางทีผมบ้าๆ ขึ้นมา บางคืนตื่นมาคิด ไปบอกญี่ปุ่นดีไหม บอกว่า ก่อนคุณจะปลดระวางเทคโนโลยีสัก 10 ปี ให้ถ่ายโอนมาเมืองไทย แล้วใน 10 ปีนั้นเราก็จะเทรนเด็กให้ใช้เทคโนโลยีนั้น พอเวลาสลึมสลือคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล ญี่ปุ่นเขาคงไม่เอา เขาก็คงต้องเลือก เพราะไม่ได้มีแค่ประเทศไทยประเทศเดียว ผมคิดแบบนั้น คือคิดแบบ absurd คือถ้าคุณไม่ทำอย่างผมที่ผมคิดแบบ absurd คุณก็ต้องทำแบบที่ผมพูดตะกี๊

 

พอชาวบ้านใช้โทรศัพท์มือถือ คุณบอกฟุ่มเฟือย (หัวเราะ) แต่มีผลการศึกษาพบว่า เมื่อให้โทรศัพท์มือถือกับชาวบ้านในแอฟริกันไป ปรากฏว่าการผลิตสูงขึ้นเลย

 

ผมไปเยี่ยมชาวบ้านที่อุดรธานีกับหนองคายเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว ไป 8-9 หมู่บ้าน มีการจัดการกองทุนหมู่บ้าน เลี้ยงหมูเลี้ยงอะไร ถามป้าคนหนึ่งว่า ป้ามีมือถือหรือเปล่า แกก็ตอบว่า มีค่ะ เอาไว้ทำอะไร ก็เอาไว้เวลาส่งของขายค่ะ แล้วใช้ทำอะไรอีก โทรถึงแฟน แล้วแฟนอยู่ทีไหน แฟนอยู่ซาอุ...เฮ้ย นี่ดีกว่าจิตแพทย์อีกว่ะ โทรศัพท์มือถือนี่ เขาใช้ทำอะไรพวกคุณรู้หรือเปล่า ที่ไปด่าชาวบ้านว่าซื้อมือถือน่ะ ผมถือว่าเป็นวิจารณ์ที่หยาบคายและโอหังมาก

 

 

ในระยะอันใกล้ อนาคตประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้จะยาวนานแค่ไหน

ไม่รู้ มีนักการธนาคารด้านการลงทุนมาคุยอะไรต่ออะไรกับผม หลังสุดที่ถามคือ เมื่อไหร่เมืองไทยจะสงบสักที แล้วบอกว่าคุณจะเป็นอะไรก็ได้ จะเป็นประชาธิปไตย เป็นคอมมิวนิสต์ อะไรก็ได้ แต่ขออย่างเดียว มีกฎหมายที่ชัดเจน มีการแปลกฎหมายที่นิ่ง มีผลผูกพันของสัญญาที่ชัดเจน ความหมายคำว่าการลงทุนโดยต่างชาติคืออะไรกันแน่ เอาให้ชัด ถ้าผมเห็นว่า ความชัดเจนของคุณ ผมไม่ได้ประโยชน์ด้วย ผมก็ไม่มา ตรงไปตรงมา ไม่ได้ซับซ้อนอะไร แค่ต้องให้เกิดความชัดเจน อย่าเอาอารมณ์มาออกแบบแล้วอย่า จันทร์ พุธ ศุกร์ อย่างหนึ่ง

 

เหมือนกับเวลาที่เราอยากไปซื้อถ่านหินที่อินโดนีเซียเพื่อเอามาป้อนโรงงานของเรา เราก็ต้องขอร้องทางการอินโดนีเซียว่า ขอความกรุณาอย่าจันทร์ พุธ ศุกร์ คนละอย่าง ให้ทั้งสัปดาห์เหมือนกัน นั่นคือ อะไรที่เราต้องการ มันก็เป็นความต้องการของคนอื่นเหมือนกัน

 

ผมอยากให้เมืองไทยกลับสู่รากฐาน กลับสู่รากฐานทางความคิด รากฐานในการทำความเข้าใจ ทำมาหากินไป หมายความว่า ไม่มีใครมาเคาะประตูตอนกลางคืนแล้วบอก ขอพาตัวไปหน่อย นี่มันเป็นสิทธิมนุษยชน เวลาที่เราพิจารณาศีลธรรมของความเติบโตทางเศรษฐกิจ (moral of economic growth) ก็ดูจากสถิติทารกที่ออกมาจากท้องแม่ว่าใน 100 คนตายกี่คน แล้วการตายมันลดลง ก็นั่นแหล่ะตัวบ่งชี้ ความชอบธรรมของความเติบโตทางเศรษฐกิจ ไอ้อย่างอื่นมันแค่ side line

 

แล้วเวลาเถียงก็ขอให้เถียงแบบตื่นเต้นทางปัญญาหน่อย อย่าเถียงกันแบบเซ่อๆ เช่น ใส่สายเดี่ยวดีหรือไม่ดี หรือวัฒนธรรมเกาหลีเข้ามา วัฒนธรรมญี่ปุ่นเข้ามา วัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา อีกหน่อยถ้าวัฒนธรรมจีนเข้ามาล่ะ ก็ต้องถาม อ้าว แล้วไอ้พวกเจ๊กที่อยู่เมืองไทยล่ะ อยู่กันมาตั้งนานแล้วมึงจะว่ายังไงเนี่ย เจ๊กใหม่หมายความว่ายังไง เจ๊กเก่าหมายความว่ายังไง นี่มันกระพี้ แล้วทำไมไม่ถามว่า แล้ววัฒนธรรมของมึงไปไหน ไม่รู้เลยเหรอสังคมไทยน่ะ

 

วัฒนธรรมอีสานน่ะ เผอิญไม่ใช่วัฒนธรรมไทย แต่วัฒนธรรมอีสานมันโลกาภิวัตน์ไปตั้งนานแล้ว มันไปเทคโอเวอร์ร้านอาหารในยุโรปมากี่ปี่แล้ว จนเดี๋ยวนี้ศาสตราจารย์ที่ London School of Economics มาที่ TCDC ก็บอกว่า ลอนดอนมีสองอย่าง คือส้มตำกับแกงเขียวหวาน เป็นการล่าอาณานิคมลอนดอนโดยอีสาน เราต้องถามพวกคนที่ไม่ใช่คนอีสาน ต้องถามตัวเองว่า ทำไมอีสานจึงสร้างอาณานิคมในลอนดอนได้ ทำไมไม่เป็นวัฒนธรรมภาคกลาง ต้องถามตัวเองนะ

 

เคยเห็นหมู่บ้านในกรุงเทพฯไหมที่แต่งงานกับฝรั่ง ไม่มีนะ มีแต่คนอีสาน ทำไม เพราะว่าวัฒนธรรมด้านจิตวิญญาณของคนอีสาน ขนาดโกหกยังน่ารักเลย ฝรั่งเขามองอย่างนั้นนะ ดูง่ายดี ไม่ซับซ้อน ไม่ลึกซึ้ง แต่มันส์

 

คนอีสาน เวลากลัวมักโต้ตอบกลับด้วยการสร้างสรรค์ กับอีกประเภทหนึ่ง เวลากลัวมักโต้ตอบโดยเอาภูตผีปีศาจมาบัง เอาภูตผีปีศาจมาเป็นกลไกกำจัดความกลัว

 

เอางี้ดีกว่า ญี่ปุ่น เยอรมัน สวิส ทำไมหลงรักคนอีสาน เพราะมีค่านิยมที่ไม่มีลักษณะไปคุกคามคุณ คุณจะเป็นคนแปลกหน้ามาก็ได้ แต่ความเพี้ยนของคนอีสานไม่คุกคามคุณ ผมอยากให้คนอีสานมีโอกาสมากๆ เพราะมีโครงสร้างความคิดเหมือนคนญี่ปุ่น เพราะคุณญี่ปุ่นเชื่อเรื่องวิญญาณ (animism) จนปัจจุบันนี้ ญี่ปุ่นก็แสวงหาความได้เปรียบจากความเชื่อด้านวิญญาณมาสู่การสร้างสรรค์ค์และการออกแบบ

 

เพราะฉะนั้น ทำอย่างไร วิธีคิดให้เครื่องมือคนอีสานด้วยทักษะทางปัญญา นั่นคือความสามารถในการตีความชีวิตและทักษะด้านเทคนิค

 

คำถามของคุณมันต้อง ‘เล่าเรื่อง’ ถ้าไม่เล่าเรื่องก็เป็นคำถามเฟอะๆ ธรรมดา ไม่มีความหมายอะไร เถียงกันในประชาไทดอทดอมน่ะ ซึ่งผมก็ชอบอ่านนะ มันเป็นกระบวนการออกกำลังทางปัญญา (Intellectual acrobatic exercise)เถียงกันไปเถียงกันมา แต่มันต้องตั้งอยู่บนฐานของข้อมูล

 

เราปฏิเสธว่า ระบบการศึกษาของไทยจากยุค 1950-1970’s นั้นมีประโยชน์มาก แต่จากนั้นมาจนถึงปัจจุบันเราเริ่มเห็นปัญหาแล้ว ง่ายๆ คือสภาหอการค้าญี่ปุ่น จะมาบ่นว่าตั้งแต่ยุคคุณชาติชาย เรามีแรงงานที่มีทักษะไม่เพียงพอ นี่ขนาดในทางที่เราเลือกเดินนะ ที่เราเลือกว่าจะเป็นคนงานให้กับอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ก็มีปัญหา และเป็นปัญหาใหญ่แล้วในตอนนี้

 

ประชาไทต้องไปดูกระบวนการถ่ายโอนแรงงานที่มีทักษะน้อยจะทำอย่างไร คุณต้องทำเรื่องราวแบบนี้ด้วย แล้ว ความเติบโตทางเศรษฐกิจจะบังคับให้คุณเป็นคนมีศีลธรรมเองโดยไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่น คนไทยนั้นเกลียดลาว พม่า เวียดนาม แต่เดี๋ยวนี้บ้านลูกผู้ดีมีลาว พม่ามาเป็นคนใช้ มีคนเวียดนามซักผ้า มันบังคับให้คุณต้องเป็นคนน่ารักน่ะ เพราะคุณต้องอยู่กับเขา คุณเป็นคนชั้นกลางขับรถแคมรี่ เสียค่าทางด่วนมาทำงานในเมือง คุณต้องเชื่อถือคนเหล่านี้ที่เลี้ยงลูกคุณ จะทำอย่างไร ไม่รู้ บางครั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ทำให้คนมีคุณธรรมมากขึ้นนะ

 

 

สังคมที่ชูคุณธรรมจะเป็นปฏิปักษ์กับการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือเปล่า

ไม่สิ มันขึ้นอยู่กับคุณธรรมอะไรที่คุณกำลังพูดถึง คือผมมีความกลุ้มใจมากว่า คุณธรรมที่คุณพูดน่ะ ความดีนั้นดีไฉน แต่ไม่บอกเนื้อหาของความดี ผมมีปัญหาแค่นี้เท่านั้น

 

มีใครบอกว่าความดีไม่ดี แต่เนื้อหาของความดีของคุณคืออะไร แค่นั้นแหละ อย่าเสียเวลาเอ่ยคำงามมากจนเกินไปแล้วไม่ทำอะไรในชีวิต วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมงนะน้องเอ๋ย

 

 

การเมืองทุกวันนี้จะจบยังไง

ผมไม่รู้ ผมคิดว่าทุกๆ คนกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่าน ผมไม่รู้ คาดการณ์ไม่ได้ และผมไม่อยากคาดการณ์เพราะผมกลายเป็นช่างภาพไปแล้ว

 

ที่มา  :  ประชาไทออนไลน์, 27 ตุลาคม 2551