Thursday, November 27, 2008

Going all the way



ANALYSIS   By Thitinan Pongsudhirak

 

Bangkokpost.com,Thursday November 27, 2008  

 

By physically shutting down Suvarnabhumi airport, the People's Alliance for Democracy has upped the stakes in Thailand's ongoing political polarisation. It has demonstrated the extent to which it will resort to mob violence to achieve its aims.

The PAD is bent on creating the conditions of ungovernability and then to demand the ouster of Prime Minister Somchai Wongsawat on grounds that Thailand is ungovernable.

Its tactics have warped into a blatant street campaign of intimidation and fear, of coercion and force.

That the PAD has come this far in its thuggish ways is attributable to its powerful backing, without which its relative impunity in the face of flagrant violations of the law can hardly be explained.

The PAD's latest antic at Suvarnabhumi airport will likely narrow its support base, especially in Bangkok as the capital reels from the longer-term impact of the airport closure to business confidence, but its remaining columns will still be deep in their resolve to get their way.

What the PAD wants has not changed. After an unsuccessful bid under the guise of the so-called "new politics," it first demanded the ouster of former prime minister Samak Sundaravej earlier this year, and it is now after Prime Minister Somchai Wongsawat.

To reach its endgame, the PAD has to clear the slate of government, led by the People Power party. As a result, the PAD has bayed for blood, openly inviting a military coup in order to bring up an interim arrangement.

This would allow the PAD to either rewrite the current constitution or come up with an entirely new charter. Its ultimate objective is to fashion the rules of the democratic game to guarantee elite representation in the elected parliament through partial appointments.

Its logic is simple. A one-man, one-vote democratic system will indefinitely return the same parliamentary faces with a similar populist policy agenda that has appealed to the vast majority of the electorate in the Northeast and North, who voted for deposed prime minister Thaksin Shinawatra and his disbanded Thai Rak Thai party for six years and for Mr Samak and Mr Somchai and PPP more recently.

Unsurprisingly, the PAD has openly shown disdain for these rural constituencies as faceless and gullible vote-sellers who should not be counted on equal terms with the PAD's urban minority in Thailand's electorate.

But the PAD faces a daunting uphill task in resetting the political environment and realising its anti-democratic agenda.

Somehow it would have to dislodge the PPP and perhaps its successor Puea Thai party from elected power, and to keep them out.

The PAD would then have to force an interim period during which its cadres would assert themselves in charter alterations. In an age when democratic rule is an emerging norm of the international community, when information is more widely accessible due to new technologies, any anti-democratic movement will be hard-pressed to get away with elite dominance.

Yet the PAD has shown that it is willing to go all the way.

It is willing to hold Thailand captive by disrupting airport operations, and to even cause an international embarrassment as Thailand gears up for its chairmanship of the Asean and East Asia summits in Chiang Mai next month.

Only its backers can pull the plug on the PAD but they may now be too insecure and paranoid to go back.

The longer this crisis goes on, the more exposed and compromised the PAD's backers have become.

And the PAD is continually dragging them down to the cut-and-thrust of Thai politics to their own detriment.

While the stakes are high, with wide and deep longer-term damages, it is not too late for the PAD's backers to rein in this rabid and reckless movement or to pull its plug altogether.

The ultimate danger for the PAD on the one hand and for Thailand on the other is not from the government, army or police - but from the red shirts banded under the United Front for Democracy Against Dictatorship.

Capable of a corresponding sort of mob violence, these UDD red shirts have decidedly displayed patience, order and restraint in their recent mass rallies, in deliberate contrast to the PAD's open incitement of violence and gross distortions of information. Widespread civil strife would be the outcome in the event the UDD turns on the PAD in full force.

A House dissolution, as proposed by army chief General Anupong Paojinda, is a release valve from such a UDD-PAD clash.

Although it would not resolve Thailand's urban-rural structural crisis in the long term, a new slate through new elections would buy time for the various protagonists to come to their senses and for Thai voters to have a say after a year of turmoil and volatility.

It is an option which Prime Minister Somchai should not dismiss out of hand for self-righteous reasons, especially if he is confident of his party's - and successor party's - winning policy platform.

The same goes for the People's Alliance for Democracy - if it still claims to stand for the Thai people.

Thitinan Pongsudhirak is Director of the Institute of Security and International Studies, Faculty of Political Science, Chulalongkorn University.




Thursday, November 13, 2008

เรียนรู้ทฤษฎีแบ่งปันอำนาจหยุดวิกฤติชาติด้วย"ปรับ ครม."




โดย   โคทม อารียา

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : มูลเหตุความขัดแย้ง คือ ความชอบธรรมในการใช้อำนาจ จึงขอเสนอว่ารัฐบาลควรดำเนินการให้คนส่วนใหญ่เห็นว่ามีตนความชอบธรรมมากขึ้น โดยการปรับคณะรัฐมนตรีอย่างกว้างขวาง โดยไม่คำนึงถึงระบบโควตา 

เราสามารถวิเคราะห์วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ในหลายแง่มุม ในที่นี้จะขอนำเสนอแง่มุมหนึ่งว่า มูลเหตุความขัดแย้ง คือ ความชอบธรรมในการใช้อำนาจ

ฝ่ายแรก เชื่อว่าอำนาจที่นำไปใช้นั้น ใช้อย่างผิดทำนองคลองธรรม ทำให้ผู้ใช้อำนาจเช่นนั้นต้องพ้นจากตำแหน่งไป และถ้าไม่ยอมแต่โดยดี ก็ต้องถูกกดดันให้ออกไป 

ฝ่ายที่สอง เห็นว่าการกล่าวโทษว่าใครทำผิดทำนองคลองธรรมนั้น เป็นเพียงการกล่าวอ้างขึ้น  แต่จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ก็ต้องมีกลไกหรือกติกาพิสูจน์ทราบ 

ในระยะต้นของความขัดแย้ง ฝ่ายที่สองจึงเสนอให้ใช้เสียงของมหาชนเป็นผู้ชี้ แต่ฝ่ายแรกปฏิเสธว่าเสียงดังกล่าวถูกบิดเบือนได้ เมื่อถึงทางตันก็มีการรัฐประหารซึ่งไม่ใช่สันติวิธี เพราะมีการ (ขู่ว่าจะ) ใช้ความรุนแรง และมีการใช้กำลังเข้าบังคับ ในช่วงนั้นมีการเน้นการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นกลไกพิสูจน์ทราบดังกล่าว ฝ่ายที่สองแม้จะไม่ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม แต่มีลักษณะจำยอมและมีความกังขาว่า ส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม มีความเกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหารอยู่ดี 

หลังการรัฐประหารเสียงของมหาชนก็ยังชี้ว่าฝ่ายที่สองเป็นผู้มีความชอบธรรมตามกติการัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจ แต่ฝ่ายแรกสามารถชี้ให้เห็นว่ามีการใช้หรือพยายามใช้อำนาจที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรมอยู่ดี ก็เริ่มใช้วิธีการกดดันต่อไป เท่ากับว่ากลับไปสู่ข้อขัดแย้งหลักเดิม คือ ทำอย่างไรจึงจะพิสูจน์ทราบได้ว่า การใช้อำนาจใดถูกหรือไม่ถูกตามทำนองคลองธรรม       

วิธีการที่ฝ่ายแรกใช้ อาจจัดได้ว่าเป็นการสร้างความไร้ระเบียบ เพราะถ้าปล่อยให้เหตุการณ์ดำเนินไปเรื่อยๆ ตามระเบียบเดิมและความเคยชินเดิมๆ สังคมก็จะเฉื่อยเฉย ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้น ไม่คิดค้นหนทางที่จะสร้างระบบระเบียบขึ้นมาใหม่ เพื่อที่จะมาแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นซ้ำซาก 

เป็นธรรมดาที่การสร้างความไร้ระเบียบจะทำให้เกิดความระคายเคืองและมีการต่อต้าน ภาวะไร้ระเบียบทำให้รัฐอ่อนแอลง ประสบความยากลำบากในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจที่ส่อเค้าความรุนแรง เนื่องมาแต่วิกฤติที่มาจากต่างประเทศ ผู้ที่เชื่อใน ทฤษฎีไร้ระเบียบ (chaos theory) เห็นว่าระบบที่ซับซ้อนมีศักยภาพที่จะปรับตัวเอง ปัจจัยต่างๆ ที่ขัดแย้งกันจะขับเคลื่อนระบบจากภาวะไร้ระเบียบสู่ระเบียบใหม่

อย่างไรก็ดี บางส่วนของฝ่ายนี้เห็นว่าภาวะไร้ระเบียบจะมีพลังขับเคลื่อนมากขึ้น เมื่อมีความตึงเครียด มีความโกลาหล มีความเสี่ยงต่ออันตรายอันจะทำให้เกิดการตื่นตัว กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ จะต้องช่วยให้ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ระเบียบใหม่นั้นสั้นลงโดยการเฉียดเข้าไปใกล้วิกฤติหายนะ แต่ก็สามารถหลีกเลี่ยงความหายนะนั้นได้อย่างจวนเจียน (brinksmanship) 

แต่บางส่วนของฝ่ายนี้ เห็นประโยชน์จากภาวะไร้ระเบียบ แต่ไม่ค่อยเชื่อในศักยภาพการปรับตัวเองได้ของระบบ หากเชื่อว่าส่วนบนของสังคมต่างหากที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ความเชื่อเช่นนี้ดูจะสอดคล้องกับโครงสร้างสังคมไทยที่เป็นแบบ "ผู้ใหญ่-ผู้น้อย" เมื่อความขัดแย้งเริ่มยืดเยื้อยาวนาน การขาดความอดทนและความเหนื่อยอ่อนเกิดมากขึ้น ฝ่ายนี้ต้องการเร่งช่วงเปลี่ยนผ่านโดยเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจหรือบารมีมานำการเปลี่ยนแปลง บางคนเรียกร้องให้กองทัพมีบทบาทมากขึ้น บางคนพูดเป็นนัย บางคนพูดตรงๆ ให้ทหารออกมารัฐประหารอีกครั้ง

แม้การพูดเช่นนี้น่าจะผิดกฎหมาย แต่รัฐก็อ่อนแอเกินกว่าที่จะจัดการกับผู้พูดซึ่งเป็นผู้มีบารมีพอสมควร บางคนร้องขอนายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้จะทำเช่นนี้ได้โดยกดดันให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนนี้ก็ตามที แต่ผู้พูดก็เร่งรีบที่จะพูดถึงการรัฐประหาร เพื่อเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราให้รู้แล้วรู้รอดไป

ปฏิกิริยาของฝ่ายที่สองมีหลายแบบ มีคนกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าเมื่อฝ่ายแรกกดดันได้ ฝ่ายเราก็กดดันได้เช่นกัน คนกลุ่มนี้เชื่อว่าการโอนอ่อนผ่อนปรนต่อฝ่ายแรกจะไม่เป็นผล เพราะจะเป็นการแสดงถึงความอ่อนแอ ฝ่ายแรกได้ทีก็จะเพิ่มข้อเรียกร้องไปเรื่อยๆ ฝ่ายแรกเข้าใจแต่ภาษาของพลังกดดัน จะยอมฟังก็ต่อเมื่อเผชิญกับพลังกดดันตอบกลับเท่านั้น 

แต่อันที่จริงแนวคิดของคนกลุ่มนี้ อาจจะเข้าทางแนวคิด "ไร้ระเบียบ" ของฝ่ายแรกก็เป็นได้  เพราะถ้ายิ่งเฉียดความรุนแรงมากขึ้นเท่าใด ก็เท่ากับเป็นการเร่งให้สังคมออกมาขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นเท่านั้น ต่างฝ่ายต่างกดดันก็เท่ากับเป็นการเสริมพลังกันไปให้ระบบเคลื่อนตัวนั่นเอง

มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เห็นว่า ผู้ที่มีอำนาจรัฐจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ นอกจากจะต้องไม่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุแล้ว จะต้องระมัดระวังการสวมรอย รวมทั้งระมัดระวังมิให้ฝ่ายที่สนับสนุนตนไปก่อความรุนแรงด้วย เพราะจะถูกมองว่าตนอยู่เบื้องหลังการกระทำเช่นนั้น 

รวมความแล้วผู้มีอำนาจรัฐเสียเปรียบเมื่อเกิดภาวะไร้ระเบียบ นโยบายที่ใช้จึงมักเป็นการประคับประคองไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลง รัฐตกเป็นฝ่ายรับมากกว่าฝ่ายรุก แม้ไม่ประสงค์จะทำตามข้อเรียกร้องที่เห็นว่าขาดเหตุผล แม้ไม่ประสงค์จะยอมแพ้ต่อแรงกดดันที่เห็นว่าผิดหลักการ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรกับภาวะที่เป็นเสมือนหนามยอกอกนี้ 

มองจากฝ่ายผู้กดดันก็โจมตีว่ารัฐบาลเสนอทางออกประการใด ก็เป็นเพียงการซื้อเวลา  มองจากฝ่ายรัฐบาล ก็มีคำอธิบายว่าต้องการคลี่คลายความขัดแย้ง หรือกำลังหาทางลงที่มีเหตุผลและไม่ผิดหลักการ

แต่จุดอ่อนที่สำคัญของผู้มีอำนาจรัฐในปัจจุบัน คือ ความน่าเชื่อถือ คนจำนวนมากโดยเฉพาะชนชั้นกลางไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นจากระบบโควตา กลายเป็นว่ารัฐมนตรีส่วนใหญ่ คือ คนที่มีพวกมากในพรรคที่มาร่วมกันก่อตั้งรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีไม่สามารถหาคนดี และมีความสามารถที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ จนมีข่าวที่ทำให้เชื่อว่ารัฐมนตรีบางคนไม่ตั้งใจบริหารราชการ บ้าง สาละวนกับงานการเมือง อาทิเช่น เตรียมเข้าสู่สนามเลือกตั้งอีกครั้ง โดยลงพื้นที่หาคะแนนนิยม หรือกำลังแก้เกมการเมืองของฝ่ายตรงกันข้าม ฯลฯ 

บ้างสาละวนกับการแสวงประโยชน์ บ้างต้องการดึงข้าราชการมาเป็นพวกโดยเอื้อประโยชน์แก่ผู้ใกล้ชิด บ้างยอมรับว่ากำลังเรียนรู้งาน และปล่อยให้ข้าราชการเป็นหลักในการเสนอนโยบาย เป็นต้น 

แม้จะมีรัฐมนตรีหลายคนที่ตั้งใจบริหารและมีผลงานเป็นที่น่าพอใจ แต่ยังไม่พอที่จะทำให้ประชาชนเกิดความศรัทธาและความปรารถนาดีต่อคณะรัฐมนตรี จนพร้อมให้ความสนับสนุนให้เป็นผู้นำการแปลงเปลี่ยนวิกฤติ อาทิเช่น เมื่อมีข้อเสนอให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ (ส.ส.ร. 3) ก็มีเสียงตอบรับในตอนต้นพอประมาณ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ 7 ตุลาคม บางฝ่ายที่เคยเห็นด้วยว่าเป็นข้อเสนอที่ยอมรับได้ ก็เปลี่ยนใจไปเล่นบทกดดันอีก ส่วนเสียงสนับสนุนก็แผ่วเบาลง

ดังข้อเสนอข้างต้นว่า มูลเหตุความขัดแย้ง คือ "ความชอบธรรมในการใช้อำนาจ"  โดยอำนาจในที่นี้มักหมายถึงอำนาจบริหารของรัฐบาล ปัจจุบันรัฐบาลต้องการประคับประคองสถานการณ์ แต่ดูเหมือนว่าจะมีพลังไม่พอ การสนับสนุนมีน้อยเพราะมีการมองว่ารัฐมนตรีบางคนใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมหรือไม่มีความเหมาะสมในการใช้อำนาจ จึงขอเสนอว่ารัฐบาลควรดำเนินการให้คนส่วนใหญ่เห็นว่ามีตนความชอบธรรมมากขึ้น โดยการปรับคณะรัฐมนตรีอย่างกว้างขวาง โดยไม่คำนึงถึงระบบโควตา หรือเหตุผลที่มักกล่าวอ้างกันเรื่อยมาว่า ผู้ใดชนะเลือกตั้งก็ได้อำนาจรัฐไปครอง หากต้องคำนึงว่ารัฐบาลอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และช่วงที่ต้องเผชิญกับวิกฤติทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจพร้อมๆ กัน

การปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการเผชิญวิกฤตินั้น สอดคล้องกับ "หลักการแบ่งปันอำนาจ" เพื่อให้เกิดการคานดุลกันภายในอำนาจบริหารเองมากขึ้น อันที่จริงการใช้อำนาจตุลาการมีการคานดุลกันภายในโดยมีหลายศาล และศาลยุติธรรมเองก็แบ่งเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา การใช้อำนาจนิติบัญญัตินอกจากจะมีสองสภาแล้ว ยังมีการทรงลงพระปรมาภิไธย (พระราชอำนาจ) แต่อำนาจบริหารมีแต่เพียงการตรวจสอบภายนอก โดยองค์กรตรวจสอบต่างๆ จึงขาดการคานดุลกันภายใน 

มิหนำซ้ำในระบอบรัฐสภา ผู้ชนะเลือกตั้งจะได้ทั้งอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารไปครอง  และรัฐมนตรีแต่ละคนนอกจากจะใช้ทั้งสองอำนาจแล้ว ยังพะวงอยู่กับบทบาททางการเมืองของตนและการบริหารพรรคการเมืองด้วย จึงขอเสนอว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ อยากจะเห็นรัฐมนตรีที่เน้นบทบาทผู้บริหารเป็นสำคัญ

การแบ่งปันอำนาจบริหาร หมายถึง การให้รัฐมนตรี (หรือที่ปรึกษาอิสระดังจะกล่าวต่อไป) ตรวจสอบกันเองในคณะรัฐมนตรีมากขึ้น ไม่ใช่ใช้วิธี ผลัดกัน "เกาหลัง" คือ "ทีเอ็งข้าไม่ว่า ทีข้าเอ็งอย่าโวย" การแบ่งปันอำนาจบริหารอาจทำได้หลายวิธี แต่หลักเบื้องต้น คือ การได้มาซึ่งรัฐมนตรีผู้มีความรู้ความสามารถ และมีความมั่นคงในหลักการ 

วิธีหนึ่ง คือ นายกรัฐมนตรีปรับคณะรัฐมนตรีโดยเชิญพรรคฝ่ายค้านเข้าร่วมอย่างเป็นทางการหรือกึ่งทางการ อันที่จริงเราไม่ค่อยมีธรรมเนียมปฏิบัติแบบกึ่งทางการ แต่ในหลายประเทศ คำว่ากึ่งทางการหมายความว่า บุคคลของฝ่ายค้านที่มาร่วมรัฐบาลก็ยอมลาออกจากพรรคของตนเป็นการชั่วคราว ในกรณีเช่นนี้ ต้องเจรจาทำความเข้าใจกันอย่างชัดเจน ว่า เป็นการขอความร่วมมือในช่วงเปลี่ยนผ่านของวิกฤติ ถ้าเป็นการตั้งรัฐบาลผสมอย่างเป็นทางการต้องเจรจาทำความเข้าใจกับพรรคที่ร่วมรัฐบาลในขณะนี้ ว่า เป็นการก้าวพ้นวิกฤติ มิใช่การทอดทิ้งเพื่อนที่ร่วมงานกันมา

อีกวิธีหนึ่ง คือ นายกรัฐมนตรีปรับคณะรัฐมนตรี โดยเชิญบุคคลภายนอกในจำนวนเกินกว่า 10 คนเข้าร่วม โดยทำให้สาธารณชนเห็นว่าบุคคลดังกล่าวมิใช่บุคคลที่เป็นพวกรัฐบาล โดยไม่นำพาหลักการ เหตุที่ต้องมีจำนวนมากพอเพราะต้องเข้าไปคานดุลได้ หากเข้าไปเป็นเพียงไม้ประดับ เชื่อว่าหลายคนคงไม่อยากเปลืองตัว อย่างไรก็ดี ต้องทำความเข้าใจกับพรรคที่ร่วมรัฐบาลอยู่ในขณะนี้อย่างดีเช่นกัน

อีกวิธีหนึ่ง คือ การตั้ง "ที่ปรึกษาอิสระ" จากการเสนอชื่อโดยองค์กรที่ไม่ขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหาร  (อาทิเช่น องค์กรตามรัฐธรรมนูญ สภาต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย องค์กรที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นตัวแทนภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาสังคม ฯลฯ) และมีกระบวนการคัดสรรที่โปร่งใส ให้ประจักษ์ว่าจะได้บุคคลที่ต้องการให้คำปรึกษาอย่างอิสระโดยบริสุทธิ์ใจ เพื่อการคานดุลและการใช้อำนาจอย่างชอบธรรม มิใช่เพื่อการค้ำจุนรัฐบาล 

ที่ปรึกษาอิสระอาจมีกระทรวงละ 2 หรือ 3 คน เป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในกิจการของกระทรวงนั้นๆ  หากเกิดเรื่องที่ไม่ชอบมาพากล ก็พร้อมที่จะทักท้วงเป็นการภายใน เมื่อไม่เป็นผลก็มีความกล้าหาญที่จะยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ที่ปรึกษาอิสระหนึ่งคนจากแต่ละกระทรวง สามารถเข้าร่วมประชุมในคณะรัฐมนตรีได้โดยไม่มีสิทธิออกเสียง ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถร่วมกันคานดุลการใช้อำนาจในระดับคณะรัฐมนตรีได้ด้วย

อีกวิธีหนึ่ง คือ ใช้ 2 ใน 3 วิธีข้างต้นนี้ควบคู่กันไป อันที่จริงขอให้ช่วยกันคิดค้นวิธีอื่นอีก หรือดัดแปรวิธีที่เสนอข้างต้นก็ได้ แต่หลัก คือ การแบ่งปันอำนาจบริหาร เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการใช้อำนาจนั้นให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน เพื่อความไว้วางใจว่าคณะรัฐมนตรีจะมีความสุจริตใจ และจะร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อเอื้อต่อการก้าวพ้นวิกฤติ 

ทั้งนี้ ก็เพื่อลดมูลเหตุแห่งความขัดแย้งในเรื่องความชอบธรรมของการใช้อำนาจนั่นเอง 

 

ที่มา   :   กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์, 13  พ.ย.  2551



การเมืองในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


โดย  สมชาย  ปรีชาศิลปกุล


(หมายเหตุก่อนอ่าน จำเป็นต้องกล่าวไว้ก่อนในเบื้องต้นว่า บทความนี้ อาจนำเสนอความเห็นที่ผู้อ่านรู้สึกไม่เห็นด้วย หรืออาจทำให้เข้าใจไปว่าผู้เขียนเป็นฝ่ายเสื้อแดง แต่พึงเข้าใจไว้ว่าบทความชิ้นนี้ผู้เขียนเขียนขึ้นด้วยความรู้สึกว่าระบบกฎหมายในสังคมไทย กำลังเข้าสู่ภาวะเสื่อมทรุดอย่างถึงที่สุด การใช้และการตีความกฎหมายถูกนำมารับใช้ผลประโยชน์ หรือจุดยืนทางการเมืองเฉพาะหน้า โดยปราศจากเหตุผล หรือหลักการทางวิชาการมารองรับ เฉพาะอย่างยิ่งกับข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีการใช้ข้อกล่าวหากันอย่างกว้างขวาง และโดยที่นักกฎหมายส่วนใหญ่ต่างก็หลีกเลี่ยงในการพิจารณาประเด็นปัญหานี้ หรืออาจมีบ้างก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองเป็นสำคัญ บทความชิ้นนี้ ต้องการเสนอให้มีการทำความเข้าใจกับกฎหมายนี้อย่างชัดเจนมากกว่าการใช้เพื่อมุ่งประโยชน์เพียงชั่วคราวเฉพาะกลุ่มเท่านั้น)

 

อาจกล่าวได้ว่าไม่มีห้วงเวลาใดอีกแล้วในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งจะมีการใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกันอย่างพร่ำเพรื่อ เท่ากับที่กำลังเกิดขึ้น ณ เวลาปัจจุบัน

 

การกล่าวหาที่มีต่อการอภิปราย การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การออกข้อสอบของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย การนำพระราชดำรัสมาพิมพ์เป็นสติกเกอร์ การวิจารณ์บทบาทขององคมนตรีในทางการเมือง หรือการขอพึ่ง "พระบารมี" เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการนำข้อหาดังกล่าวมาใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยแทบจะไม่มีการทำความกันให้ชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่เรียกว่าการกระทำความผิดในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

 

การกระทำอันเป็นความผิดที่เรียกกันว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" เป็นบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกสามปีถึงสิบห้าปี"

 

การกระทำที่จะสามารถจัดว่าเป็นความผิดในฐานนี้ จึงต้องมีองค์ประกอบสำคัญสอง ประการ

 

ประการที่หนึ่ง การกระทำนั้นต้องเป็นการกระทำที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย

 

ทั้งนี้ ในส่วนของการแสดงความอาฆาตมาดร้ายว่า จะเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความประสงค์ร้ายต่อบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองในมาตรานี้ ในส่วนความหมายของการดูหมิ่นและหมิ่นประมาทในทางกฎหมายนั้น มีความหมายที่แตกต่างกัน หมิ่นประมาทต้องเป็นการใส่ความ ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง หรือทำให้ถูกคนทั้งหลายดูถูกหรือเกลียดชัง การใส่ความ คือ การยืนยันถึงข้อเท็จจริงอย่างใดๆ เกี่ยวกับบุคคลอื่น โดยอ้างว่าเขาได้กระทำการอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งอาจด้วยคำพูดของตนหรือนำเอาคำพูดของบุคคลอื่นมาบอกเล่าอีกครั้งก็ได้ อาทิเช่น กล่าวหาว่านายอำเภอเป็นเสือผู้หญิง กล่าวหาว่าเขาเป็นคนทุจริตคอร์รัปชันเป็นประจำ เป็นต้น

 

สำหรับการดูหมิ่นหมายถึง การกระทำการเหยียดหยามซึ่งอาจเป็นการกระทำทางกิริยา อาทิเช่น ยกส้นเท้าให้ ถ่มน้ำลายรด หรืออาจเป็นการกล่าวด้วยถ้อยคำ ดังเช่นการด่าด้วยคำหยาบ ด่าว่าอีกฝ่ายเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็นับว่าเป็นการดูหมิ่นได้

 

ประการที่สอง บุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาครอบคลุมเฉพาะพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น บุคคลอื่นนอกเหนือจากที่ได้บัญญัติไว้ไม่ได้รับการคุ้มครองแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นองคมนตรี หรือพระบรมวงศานุวงศ์อื่นใดก็ไม่ได้อยู่ในการคุ้มครองของมาตรานี้

 

จากบทบัญญัติดังกล่าวของกฎหมายอาญา ในการจะวินิจฉัยว่าการกระทำใดที่จะเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ จึงต้องเป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งได้กระทำต่อพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

 

ในกรณีที่การกระทำนั้นๆ มีความชัดเจนว่าเข้าข่ายการกระทำที่กล่าวมา ก็อาจไม่มีปัญหาในการวินิจฉัยแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ความยุ่งยากที่เกิดขึ้นจากความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็คือ มีการกระทำเป็นจำนวนมากที่มีความคลุมเครือว่าจะเข้าข่ายของการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทหรือไม่

 

กรณีที่สามารถนำมาพิจารณาเป็นตัวอย่างได้ อาทิเช่น การกล่าวหาว่าการร้องขอ "พระบารมี" ในการกลับสู่ประเทศไทยของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ถูกอธิบายความจากองค์กรด้านกฎหมายอย่างรวดเร็ว ว่า เป็นการแทรกแซงการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ จึงถือเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

 

ในทัศนะของผู้เขียนมีความเห็นว่า การร้องขอพระบารมีมิได้มีลักษณะของการกระทำที่เข้าข่ายทำให้เสื่อมเสียหรือเป็นการกระทำที่เหยียดหยามต่อพระมหากษัตริย์ จึงยากที่จะเข้าข่ายของการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท เพราะไม่ได้เป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นว่าได้มีการลบหลู่พระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ถึงแม้ว่าการกระทำนี้อาจถูกโต้แย้งได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่ความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมของการกระทำก็เป็นอีกเรื่องต่างหาก มิใช่เป็นเรื่องการกระทำผิดในฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

 

(มากไปกว่านั้น ถ้าหากการกระทำในลักษณะนี้เป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว คำถาม ก็คือว่า บรรดาการเรียกร้องมาตรา 7 หรือนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ก็ไม่ได้มีลักษณะที่แตกต่างกัน ก็ควรย่อมอยู่ในสถานะที่เป็นความผิดด้วย หาก พ.ต.ท. ทักษิณ มีความผิด บรรดานักกฎหมาย นักการเมือง นักวิชาการจำนวนมาก ก็เป็นผู้กระทำผิดเช่นกัน)

 

หรือในการไม่เคารพต่อสัญลักษณ์ที่แสดงถึงบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองไว้ในมาตรานี้ก็ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นการกระทำที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งเป็นประเด็นปัญหาอย่างมาก ทั้งนี้ หลักการสำคัญในการใช้กฎหมายอาญา ก็คือ จะต้องตีความอย่างเคร่งครัด เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ใช้ลงโทษบุคคล การขยายความหรือถ้อยคำที่กำหนดไว้ในกฎหมายไม่อาจกระทำได้ เพราะจะเป็นผลกระทบต่อความมั่นคงในเสรีภาพของประชาชน เพราะฉะนั้น การดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทก็จะต้องปรากฏอย่างชัดเจนในสาระสำคัญว่าได้กระทำการเหยียดหยาม หรือกระทำให้เกิดความเสื่อมเสียเกิดขึ้น

 

ถ้าปล่อยให้มีการขยายความหมายของการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีขอบเขตกว้างขวางรวมออกไปถึงการกระทำที่มีต่อสัญลักษณ์ของบุคคล ก็อาจทำให้เกิดเป็นปัญหาอย่างมาก อาทิเช่น การทิ้งปฏิทินหรือข้าวของซึ่งมีสัญลักษณ์ของบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย หรือแม้กระทั่งการไม่ทำความเคารพต่อสัญลักษณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลง รูปภาพ ก็อาจกลายเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้เช่นกัน ถ้าเช่นนั้น การนำสติกเกอร์ที่มีถ้อยคำว่า "เรารักในหลวง" มาติดกระจกรถยนต์ก็ย่อมเป็นความผิดเหมือนกัน เพราะการตีตนเสมอพระมหากษัตริย์โดยไม่ใช้ราชาศัพท์

 

ข้อเสนอในที่นี้ เป็นการพิเคราะห์ในเชิงกฎหมายว่าการกระทำใดที่จะเข้าข่ายเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ แต่ไม่ได้เป็นการกล่าวถึงในด้านของความเหมาะสมของการกระทำ ซึ่งเป็นประเด็นที่สามารถถกเถียงแลกเปลี่ยนกันได้ แต่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพการกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควรของประชาชนต่อพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน ยังไม่ถือว่าเป็นความผิดที่จะต้องถูกลงโทษแต่อย่างใด

 

ที่มา   :   กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์, 12  พ.ย.  2551   





Wednesday, November 12, 2008

สัมภาษณ์ : สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ว่าด้วยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ



ประชาไท สัมภาษณ์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในค่ำวันที่ 7 พ.ย. ต่อกรณีที่เขาถูกจับกุมตัวในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

 

0 0 0

 

ถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาว่าอย่างไร และคิดว่ามีความผิดตามนั้นหรือไม่

 

คุณถามผู้ต้องหาแล้วจะมีผู้ต้องหาคนไหนที่พูดว่าตัวเองผิด

 

เมื่อคืนนี้ (6พ.ย.) ผมไปถึง จ.ขอนแก่น ประมาณตี 2 เศษ ตำรวจก็เอาถ้อยคำของผมมาอ่านให้ผมฟัง เขาบอกว่าเป็นถ้อยคำของผม ผมถามว่าคุณเอาถ้อยคำนี้มาได้ยังไง คุณมีเทปที่อัดเสียงไหม เขาตอบว่าเขาไม่มีเทปครับ มีคนให้ถ้อยคำเขามา แต่ถ้าพูดอย่างเห็นใจเขาคือผมอนุมานว่าอาจจะมีกลุ่มซึ่งมีอิทธิพลล็อบบี้เขา ให้เล่นงานผม ตำรวจเขาก็กลัวพวกนี้ เขาก็เลยทำเรื่องเล่นงานผม

 

ส่วนถ้อยคำที่เขาอ่านให้ผมฟังเมื่อวานนี้ เขาอ่านบอกว่า เมืองไทยตอนนี้เราถูกล้างสมองให้เคารพพ่อแห่งชาติ แม่แห่งชาติ เราควรจะเคารพพ่อของเราเองแม่ของเราเอง แล้วผมปฏิเสธนะว่าผมไม่ได้พูดอย่างนี้ ผมปฏิเสธถ้อยคำนั้นนะครับ แต่ถ้าผมพูดนี่... เอ๊...ผมว่าเก๋ดีเหมือนกันนะ และในทางกฎหมายก็เอาผิดผมไม่ได้ เพราะกฎหมายเขียนชัดเจนครับหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต้องหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี และองค์รัชทายาท ผมว่าถ้อยคำนั้นไม่ได้หมิ่นเลยทั้ง 3 พระองค์ เพราะติติงเรื่องพ่อแห่งชาติ แม่แห่งชาติ

 

สอง เขาบอกว่า ผมพูดว่าขบวนพยุหยาตราชลมารคสิ้นเปลือง เอาเงินใครมาใช้ ผมเชื่อว่าคนที่มีสติปัญญาต้องเห็นด้วย ซึ่งผมบอกตำรวจไปว่าผมไม่ได้พูด แต่ถ้าผมพูดจริง มันก็เก๋ดีนะ

 

อีกนัยยะหนึ่งคือสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ยอมรับให้คนพูดความจริง ใครพูดความจริงก็เป็นความผิด ต่อไปผมจะเขียนนะ เช่น ขบวนพยุหยาตราไม่ได้มีเฉพาะงานพระราชพิธี แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยจัดเพื่อใช้ต้อนรับ นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ในงานโอเปค คุณรู้ไหมนั่นหมดไปกี่พันล้าน ตัวเลขน่าจะเปิดเผย และเงินเป็นเงินภาษีอากรจากเรา ถ้านำเงินนั้นมาใช้ลอกแม่น้ำเจ้าพระยา ทำคูคลองให้สะอาด นี่เป็นการเพิ่มพูนพระบรมราชกฤษฎาภินิหารให้ฟ้าอยู่เย็น แต่คุณไม่ทำครับ แล้วจะมาโจมตีว่าผมหมิ่นฯ ได้ไง เพราะคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้คือรัฐบาลครับ เพราะเหตุว่าเราเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คนที่อนุมัติเงินทั้งหมดคือรัฐบาล เหมือนเวลานี้มีคนบอกว่างานพระเมรุมาศงานพระศพพระนางฯ คนที่จ่ายเงินคือรัฐบาล ต้องคนไม่รู้จักแยกแยะแล้วมาเล่นงานผม

 

 

ที่ผ่านมาเคยถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้แตกต่างจากครั้งอื่นหรือไม่ท่ามกลางกระแสการเมืองที่มักอ้างอิงเบื้องสูง

 

ต้องเข้าใจว่าคดีเมื่อคืนนี้ 6 พ.ย. ตำรวจแจ้งว่า เป็นกรณีผมพูดที่ขอนแก่น 11 ธ.ค. 2550 แต่ก่อนหน้านั้นในวันที่ 3พ.ย. ผมได้รับหมายเรียกจาก สน.ชนะสงคราม ให้ผมไปมอบตัวกับอัยการคดีกรณีนิตยสารภาษาอังกฤษ Seeds of Peace ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม-เมษายน 2548 ที่ ผมเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ตำรวจบอกว่ามีข้อความที่อาจจะก้าวก่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรณีสวรรคตของพระเชษฐา หนังสือนี้พิมพ์เมื่อ 4 ปีมาแล้ว ซึ่งผมได้เขียนจดหมายไปถึง สน.ชนะสงคราม บอกว่าผมไม่มอบตัวเพราะว่ากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาให้การเพิ่มเติมได้ เรียกพยานเพิ่มเติมได้ ตำรวจจะบอกว่าสรุปแล้วก็สรุปไป แต่ผมปฏิเสธ เช่นเดียวกับกรณีที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อคืนวันที่ 6 พ. ย. ก็เหมือนกัน ตำรวจจะให้ประกันในชั้นศาล ผมบอกว่าไม่ไป ผมจะประกันที่ตำรวจนี่แหละ และผมก็เรียกพยานเพิ่มเติมเอ่ยชื่อพยาน แต่ตำรวจก็บอกต้องไปที่ศาล ในที่สุดแล้วให้ผมประกันเกือบตี 4

 

ผมโดนมาหลายคดี ทุกคดีจะมีหมายเรียก ผมไม่เคยหนี แต่คราวนี้ไม่มีหมายเรียก มีหมายจับมาเลย เห็นผมเป็นอะไร เป็นอาชญากรค้าเฮโรอีนหรือไง ตำรวจจาก สน.บางรัก มาจับผมตอนมืดแล้ว แต่ลงบันทึกประจำวันเป็น16.00น. ทั้งที่ความจริงเป็นเวลา 18.00น. จับผมไปที่ สน.บางรัก เสียเวลาอยู่จนถึง 4 ทุ่ม พอออกจากบางรักแล้วไปจังหวัดขอนแก่น คุณไม่เห็นแก่สิทธิมนุษยชนเหรอ ผมอายุ 76 ปีแล้ว แต่เขาก็พูดจากับผมเรียบร้อยดีนะ โอเค กล่าวโดยสรุปเขาให้ประกัน

 

 

การดำเนินการของตำรวจที่มาเชิญตัว ผิดปกติหรือมีข้อสังเกตหรือไม่

 

คุณอย่าพูดให้ไพเราะ เขาไม่ได้เชิญตัว แต่มีหมายจับ วันที่ 3 พ.ย. ที่ สน.ชนะสงคราม วันที่ 6-7 พ.ย. ที่กรุงเทพฯ-ขอนแก่น และผมได้ยินมาว่า มีอีกหลายคดี เขาจะเอาให้หมดเลย ส่วนว่าทำไมนั้น คุณสมชาย หอมลออ ทนายความของผมซึ่งไปด้วยได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไปว่า น่าสังเกต ว่าคุณทักษิณ โฟนอินที่ราชมังคลาฯ ว่า ไม่มีใครเอาเขากลับเมืองไทยได้นอกจากพระบารมี... หรือ ขบวนการประชาชน

 

ในวันรุ่งขึ้นไทยทีวีมาสัมภาษณ์ผมที่บ้าน ผมให้สัมภาษณ์ไปว่า ที่คุณทักษิณพูดเช่นนี้นี่ แสดงว่าไร้สติสัมปชัญญะ หรือไร้มารยาท เพราะถ้าคุณจะขอพระบารมีปกเกล้าฯ ก็ต้องทำจดหมายส่วนตัวไปกราบบังคมทูล ส่วนท่านจะช่วยได้หรือไม่ ไม่มีใครรู้ เพราะพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่คดีของคุณทักษิณเป็นคดีอาญา ผมไม่เชื่อว่าท่านจะทำอะไรได้

 

แต่ถ้าคุณทักษิณต้องการก็ต้องเขียนเป็นการส่วนตัว ไม่ใช่มาพูดต่อหน้ามหาชน และที่ร้ายไปกว่านั้นคือคุณทักษิณพูดว่า ถ้าไม่ทรงพระกรุณาฯ โดยใช้คำว่า “หรือ” ก็จะใช้มวลชนมาบีบ ผมว่านี่มันหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเลยนะ ใช้มวลชนมาบีบ

 

 

ความเห็นส่วนตัวของอาจารย์เป็นอย่างไร เพราะอาจารย์เคยให้สัมภาษณ์ลงในวารสารฟ้าเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ที่ฝ่ายพันธมิตรฯ โจมตี แต่ขณะนี้กลายเป็นว่ากลุ่มเสื้อแดงกำลังจะมาเล่นงานแทน

 

ก็มีส่วนนะครับ ผมไปพูดที่ขอนแก่น 11 ธ.ค. 2550 ตำรวจไม่มีเทป แต่ตำรวจบอกว่ามีคนมาล็อบบี้ให้จับผมให้ได้ ผมก็เดาว่าคนที่ล็อบบี้คงเป็นคนกลุ่มเสื้อแดง เพราะที่จังหวัดขอนแก่น เสื้อแดงมีอิทธิพลมากแต่อันนี้เป็นเพียงข้ออนุมานของผมนะครับ ผมอาจจะผิดก็ได้ ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขา แต่ที่แน่ๆ มีคนต้องการให้ผมถูกจับ

 

 

สาเหตุเพราะกระแสกวาดล้างสื่อที่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในการโจมตีกันทางการเมืองของทั้ง 2ฝ่ายหรือไม่

 

ผมไม่รู้ ปัญหาคือทางฝ่ายเสื้อแดงก็กล่าวหากลุ่มพันธมิตรฯ ส่วนพันธมิตรฯ ก็กล่าวหากลุ่มเสื้อแดง ผมไม่อยู่ทั้ง 2ฝ่าย แต่ผมเห็นว่าทั้ง 2 ฝ่ายก็มีทั้งอะไรที่ดีและมีข้อบกพร่อง ผมก็คิดว่าไม่แปลกประหลาด ถ้าทั้ง 2 ฝ่าย จะใช้ผมเป็นเครื่องมือ เพราะผมแก่ป่านนี้แล้วใครจะใช้ผมเป็นเครื่องมือก็ไม่ว่าอะไร แต่ที่ผมเป็นห่วงก็คือตอนนี้มีการใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือมาก และพูดอย่างไม่เกรงใจ คุณทักษิณใช้อย่างได้ผลมาก 

 

ผมเชื่อว่ามีมาตรการที่นำมาใช้ในบริบทของสังคมไทย อย่างที่ในสมัยหนึ่งมีคนไปตะโกนในโรงหนังว่า “ปรีดี (พนมยงค์) ฆ่าในหลวง” แต่สมัยนี้มันยิ่งกว่าโรงหนัง ขยายไปคนขับรถแท็กซี่หรือเว็บไซต์อะไรต่างๆ โจมตีเบื้องสูง ผมเชื่อเลยว่าการจับผมก็เป็นไปเพื่อเล่นงานเบื้องสูง นี่มองในแง่ผมนะ

 

ปัญหาคือว่าคนที่เล่นงานผมตามนิตินัยคือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและรัฐบาล รัฐบาลไม่รู้หรือ ตำรวจไม่รู้หรือว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อพระชนมายุ 79 พรรษาว่า ใครก็ตามที่ทำเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นทำร้ายพระองค์ท่านและต้องการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ชัดเจนนะครับ พระราชดำรัสนี้ชัดเจนและรัฐบาลนี้ก็ตั้งหน้าตั้งตาบอกว่าจงรักภักดี คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็บอกว่าทนอยู่เพื่อจะจัดงานพระศพ ทนอยู่เพื่อจะจัดงานเฉลิมฯ นี่ตอแหลนี่ครับ

ถ้าคุณจงรักภักดีจริงๆ ก็ต้องเลิกสิครับ ยุติคดีหมิ่นฯ ให้หมด เพื่อเป็นการเพิ่มพูนพระบรมเดชานุภาพเพิ่มพูนพระบรมราชกฤษฎาภินิหาร แต่คุณไม่ทำ เพราะคุณเป็นรัฐบาลร่างทรงของคุณทักษิณ คุณทำเพื่อประโยชน์ของคุณทักษิณ ชัดเจนนะครับ

 

 

คดีเมื่อเกิดขึ้นแล้วรัฐบาลไม่สามารถยกเลิกได้เองไม่ใช่หรือ

 

ยกเลิกได้ โดยทฤษฎีมันอยู่ในชั้นตำรวจ แต่ถ้าอยู่ในชั้นอัยการหรือศาลแล้วทำอะไรไม่ได้

 

 

ประชาชนควรเข้าใจอย่างไรถึงความแตกต่างระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์กับการโจมตีในลักษณะทำร้าย

 

การวิพากษ์วิจารณ์หรือด่าทอ หรือวิพากษ์วิจารณ์ด้วยมีผลประโยชน์ที่จะเล่นงานทำลายล้าง นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม อีกนัยยะหนึ่ง เมืองไทยมีกฎหมายอาญา ถ้าคุณละเมิดสิทธิอันนี้หมิ่นประมาทจ้วงจาบหยาบช้า ก็มีกฎหมายอยู่แล้ว

 

ในหลวงในฐานะที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินภายใต้รัฐธรรมนูญฯ ก็เป็นคนหนึ่งเหมือนกับเราทั้งหลาย ก็ต้องใช้กฎหมายหมิ่นประมาท แต่ตอนนี้เราไปพยายามสร้างพระเจ้าอยู่หัวเป็นเทวราชไม่ใช่สมมุติเทพ อันนี้เป็นอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง ซึ่งทุกคนต้องมีความกล้าหาญในการพูด

แต่ถ้าคุณพูดเกินเลยความเป็นจริงไปเขาก็เล่นงานคุณได้ เพราะมีกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่แล้ว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7) ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์สุดท้ายในสมัยราชาธิปไตย มีคนไปกราบบังคมทูลพระองค์ว่า มีคนเขียนด่ารัฐบาลโจมตีรัฐบาล ท่านตรัสตอบว่าถ้ามันโจมตีมาดีฟังขึ้น ก็ต้องทำตามที่เขาเสนอ แต่ถ้ามันโจมตีมาอย่างเลวร้ายก็แสดงความบัดซบของมันเอง คนก็จะลืม

 

ต้องเข้าใจครับว่าเรื่องคนด่าเป็นเรื่องห้ามไม่ได้ ถ้าเขาไม่ด่าต่อหน้าก็ต้องด่าลับหลัง แล้วสมัยนี้มีเว็บไซต์ บางทีก็จับไม่ได้ ห้ามไม่ได้ครับ วิธีห้ามมีอย่างเดียวคือ ถ้าเขาพูดมามันจริงก็ต้องแก้ไขเสีย

 

 

ปัญหามันคือเรื่องของการวินิจฉัยว่าแค่ไหนเผยแพร่ได้หรือไม่ได้

 

ปัญหาอยู่ที่ว่าสื่อต้องมีความกล้าให้มากขึ้น พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ทำหนังสือชื่อ ‘ประชาชาติ’ ออก มา ท่านพูดว่าคนเขียนหนังสือพิมพ์ ต้องกล้าเพ่ง กล้าพินิจ กล้าวิพากษ์ กล้าวิจารณ์ ถ้าขาดตรงนี้เสร็จเลย ผมว่าตอนนี้เราขาด อีกนัยหนึ่งคือเราแหย ถ้าเป็นพวกเราเราก็เชียร์ว่าดี ถ้าไม่ใช่พวกเราก็เขียนว่าเหี้ย มันไม่ถูก ต้องมีมาตรฐาน มาตรการ

 

 

คดีหมิ่นฯ ถูกใช้ทั้งฝ่ายสีเหลืองและแดง สถาบันก็ถูกนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวมาก มีข้อแนะนำต่อการเคลื่อนไหวทั้ง 2 ฝ่ายหรือไม่ว่าควรจัดวางสถาบันฯ ไว้ตรงไหน

 

พันธมิตรฯ ก็ใช้สถาบันฯ เป็นเครื่องมือ คุณต้องเข้าใจอันนี้ชัดเจน แม้กระทั่งการเสด็จพระราชดำเนินมางานศพ อันนี้มันชัดซึ่งไม่เป็นคุณต่อสถาบันครับ เพราะถ้าสถาบันฯ เลือกข้างก็อันตรายไม่ว่าเลือกข้างผิดหรือถูกก็ตาม พันธมิตรฯ สนใจอย่างเดียวว่าถ้าสถาบันเลือกข้างอยู่ฝ่ายเขา เป็นอันใช้ได้ อันนี้เป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ในระยะยาว

 

ส่วนฝ่ายเสื้อแดงชัดเจนเลยครับ โจมตีสถาบันฯ ไม่ยับยั้งเลย การให้ข้อเท็จจริงนั้นทำได้ แต่น่าจะต้องใช้ถ้อยคำที่ระมัดระวังและให้ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ต่อมหาชน ไม่ใช้ผรุสวาทอันนี้ไม่ถูกต้อง และเป็นที่น่าเสียใจว่าสังคมไทยยอมรับเรื่องพวกนี้ ต้องเตือนสติคนเรื่องนี้ คุณนำเสนอไปเขามาด่าผมก็ไม่เป็นไร เราต้องพร้อมให้คนด่า ถ้าไม่ให้คนด่าก็หดหัวเสียไม่ต้องพูดอะไรเลย

 

 

ช่วงนี้มีสื่อเว็บไซต์มากขึ้น มีการด่าทอเสรีขึ้น เป็นเสรีภาพที่มากเกินไปหรือไม่

 

มากไปหรือไม่ต้องพิจารณาว่า เขาถูกกดมานาน โดยเฉพาะเรื่องเบื้องสูง ถ้าเขาออกมาแสดงได้โดยจับตัวเขาไม่ได้เขาก็ต้องออกมาแสดง ต้องเห็นใจเขา แต่ถ้าถามผม ผมมองว่าไม่ใช่ของดี แต่เราน่าจะต้องเปิดโอกาสให้เขาเติบโต เหมือนคุณเป็นครูสอนลูกศิษย์ในชั้นเรียน ถ้าเขาเถียงคุณไม่ได้ เขาก็ไปด่าคุณลับหลัง ถ้าคุณเป็นครูที่ดี ต้องให้เขาเถียงคุณได้ ด่าคุณต่อหน้าได้ สังคมจึงจะเจริญงอกงาม เพราะสังคมที่เจริญงอกงามคือสังคมที่มนุษย์สามารถสื่อกันได้ เถียงกันได้ ถกกันได้ ไม่เห็นด้วยกันแต่เคารพอีกฝ่ายหนึ่ง ผมว่าสังคมไทยมีโอกาสเป็นไปอย่างนี้ได้ และจะเติบโตมากขึ้น

 

วารสารฟ้าเดียวกันก็มีข้อบกพร่อง แต่ที่ทำออกมาก็เป็นนิมิตรหมายที่ดี แม้กระทั่งพันธมิตรฯ ก็ช่วยสังคมเยอะนะ แม้ผมไม่เห็นด้วยหลายอย่างเลย แต่ก็ต้องปล่อยให้เขาเติบโต อย่างน้อยพันธมิตรฯ ปลุกให้คนตื่นขึ้น อย่างน้อยเห็นว่าละครน้ำเน่าที่บ้านไม่ได้เรื่องก็มาน้ำเน่าที่พันธมิตรฯ ดีกว่าและหวังว่าจะเป็นน้ำดีกว่าเน่าขึ้นเรื่อยๆ และเขาทำได้มากกว่าทีวีกระแสหลักที่ต้องพึ่งธุรกิจโฆษณา ถ้าเรามองในแง่บวกสังคมไทยก็จะเป็นไปในทางบวกมากขึ้น

 

 

กรณีพันธมิตรฯ เหมือนเติบโตไปได้อย่างเสรี แต่เขาจำเป็นต้องตรวจสอบในตัวเองด้วยหรือไม่

 

ต้องช่วยกัน ผมก็พูดกับเขา เขาก็ฟังผมแต่เขาก็ไม่ได้ทำตาม (หัวเราะ) เราต้องเข้าใจว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ถูกสะกดไม่ให้เผชิญความจริงตั้งแต่ พ.ศ.2490 หรือ ถ้าพูดอย่างไม่กลัวติดคุกก็คือตั้งแต่กรณีสวรรคต ซึ่งสำคัญมาก เพราะเป็นกรณีไม่ยอมเผชิญความจริงที่สำคัญที่สุดแล้วเราก็โจมตีคนที่พูดความ จริงมาตลอดเช่นอาจารย์ปรีดี ตอนนี้สังคมก็เต็มไปด้วยความกึ่งจริงกึ่งเท็จ เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจตรงนี้แล้วเราต้องให้โอกาสคน ให้เขาเติบโต

 

 

ถ้ายกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ น่าจะดีกว่าเดิมหรือไม่

 

ชนชั้นปกครองต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรมมากในการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ชนชั้นปกครองไม่รู้สึกอย่างนี้ เพราะชนชั้นปกครองต้องการเล่นงานฝ่ายตรงกันข้ามด้วยกฎหมายนี้ และเมื่อคุณเป็นฝ่ายตรงข้ามก็จะถูกกฎหมายนี้เล่นงานคุณ  

 

ต้องเปลี่ยนมิติของคน แต่ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ ก็ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ เพราะคนของเราถูกระบบการศึกษาล้างสมอง เป็นความรู้ที่ทำให้เราเป็นทาส

 

กบฎผีบุญครั้งแรกเกิดที่จังหวัดอุบลฯ เราเรียกเขาว่า ‘ผีบุญ’ แต่เขาเรียกตัวเองว่า ‘ท้าวธรรมิกราชผู้มีบุญ’ เพราะเห็นแล้วว่ากรุงเทพฯ ไปรังแกเขา เขาต้องการรักษาวัฒนธรรมของเขา เหมือนที่ยายไฮที่ปากมูลต้องการรักษาในเวลานี้100 กว่าปีมานี้ไม่แตกต่าง แต่เราถูกล้างสมองว่าพวกนี้เป็นคนเลวร้าย ไม่ได้เรื่อง ถ้าจะได้เรื่องต้องเป็นแบบฝรั่ง ต้องเปลี่ยนมิตินี้

 

 

เกรงจะถูกคนอื่นจัดประเภทว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่

 

ก็ไม่เป็นไรครับ ต้องให้อภัยเขา เพราะคนจะรับรู้จากสื่อ แต่มิติของคนเปลี่ยนเยอะนะครับ ผมถูกจับครั้งแรกในปีพ.ศ.2527 เข้าไปในคุกใหม่ ซึ่งตอนนี้เป็นสวนรมณีนาถ ก่อนหน้านั้นคนที่โดนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเข้าไปในคุก คนคุกก็จะรุมกระทืบ แต่เมื่อปี พ.ศ. 2527 ผมเข้าไปในคุก คนในคุกเขาก็รักผมหมดเลย เขาบอกว่ากฎหมายแบบนี้รังแกคน ซึ่งวิธีคิดคนได้เปลี่ยน เป็นนิมิตรหมายที่ดี ผมว่าต้องมองให้ชัด

 

 

แสดงว่าไม่ได้รู้สึกหนักใจ

 

ครับๆ ถ้าคุณหนักใจเพราะโดนคดีนี้ ผมว่าคุณพลาดนะ พลาดที่ตัวคุณคิดว่าคุณใหญ่มาก คนรังแกไม่ได้ ขณะที่คนเป็นอันมากถูกรังแกขนาดไหน แต่สำหรับผม ผมเข้าใจ การถูกกล่าวหาแบบนี้เป็นเรื่องเล็ก

 

 

แล้วกรณี ‘สุชาติ นาคบางไทร’ กับ ‘ดา ตอร์ปิโด’ พอทราบรายละเอียดไหม

 

ดา ตอร์ปิโดนี่ได้ยินเทปเขา แต่สุชาติไม่ได้ยิน

 

 

แล้วควรจัดอยู่ในลักษณะไหน เป็นระดับวิพากษ์วิจารณ์หรือด่าทอ

 

นี่เป็นอีกเรื่อง เป็นเรื่องใหญ่ ผมไม่อยากพูดอะไรในทางลบต่อคนที่ถูกรังแก แต่ดา ตอร์ปิโด สามารถฉลาดพูด แต่การฉลาดพูดเป็นไปในทิศทางทักษิณ คือ สถาบันเดิมเลวหมด พอใช้คำว่าเลวหมดมันเกินไป

 

สอง คนดีคือท่านปรีดี ผมก็เห็นด้วย แต่คนที่ดีเท่าท่านปรีดี คือ คุณทักษิณ อันนี้คือโฆษณาชวนเชื่อ คุณทักษิณมีอะไรดีคล้ายท่านปรีดีมิใช่น้อย โครงการเอาเงินล้านไปให้ชาวบ้านก็ไม่เลว 30 บาท รักษาทุกโรคก็ไม่เลว แต่ท่านปรีดีทำทั้งหมดเพื่อประโยชน์ของราษฎร ส่วนคุณทักษิณทำเพื่อประโยชน์ของตัวเอง เอาเงินของแผ่นดินมาใช้เพื่อประโยชน์ตัวเอง แล้วฉลาด

 

พวกเสื้อแดงอย่าคิดว่าโดนซื้อมาทั้งหมด เขามากันจริงๆ เพราะคุณทักษิณเอาอำนาจให้เขาครับ ที่แล้วมาเงินนั้นพวกขุนนางต้องตัดสินให้เขา เขาทะเลาะกัน เขาแย่งกันเขารู้ ชาวบ้านไม่ได้โง่ขนาดนั้น แล้วเขารู้สึกว่าทักษิณเป็นคนแรกที่ให้ เขาก็จงรักภักดีกับทักษิณ แต่ ดา ตอร์ปิโด เขาพูดเป็นปรีดี พนมยงค์ เลย ก็ไม่ว่าอะไรเพราะมันเป็นการเมือง แต่เขาล่วงล้ำเบื้องสูงขนาดนั้นมันก็มีกฎหมายอยู่น่ะ แต่กฎหมายหมิ่นฯรุนแรงเกินไป เพียงกฎหมายหมิ่นประมาทก็น่าจะโดนแล้ว ก็น่าจะนำกฎหมายหมิ่นประมาทมาใช้กับเขา

เพื่ออะไร เพื่อศักดิ์ศรีของสถาบันเลย ทำไมสถาบันต้องลดตัวลงมาต่อสู้กับดา ตอร์ปิโด เพียงกฎหมายหมิ่นประมาทก็แย่แล้ว อันนี้ผมพูดในภาษาศักดินาเล็กน้อยนะ เพราะคุณมีสถาบันกษัตริย์จะต้องมีศักดินาเล็กน้อย มีศักดินาเล็กน้อยไม่เสียหาย แต่มีศักดินามากเกินไปเสียหาย

 

 

ขณะนี้ คนที่พูดวิพากษ์วิจารณ์สถาบันยังมีความปลอดภัยเทียบได้กับการติดคุกเมื่อ พ.ศ. 2527 จริงหรือ

 

ถ้าคุณอยู่ในคุก คุณปลอดภัย แต่นอกคุก คุณอยู่ในบริบทไหน ตอนนี้มันมีการแบ่งฝ่ายอย่างน่ากลัว อีกนัยยะหนึ่งสังคมไทยกลายเป็นสังคมปศุสัตว์ วัวจะต้องขวิดควาย มันน่าเศร้า

 

ที่สังคมไทยขาดคือการแยกแยะ ศาสนาพุทธใช้คำว่า ‘วิจารณญาณ’ ที่คุณทำสื่อต้องเน้นที่วิจารณญาณ อย่าไปเน้นที่ให้เขามาเห็นด้วยกับคุณ ตรงนี้จะเดินทางถูก

 

เนื้อหาสาระอยู่ที่เราเป็นเพื่อนกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นแม้ว กะเหรี่ยง หรือลาว ถ้าสถาบันกษัตริย์จะอยู่ได้ต้องเป็นเพื่อนกันไม่ใช่เพียงการกราบกราน คนไทยต้องรู้สึกตรงนี้ให้มากขึ้น ในหลวงไปจีนก็ไปควงแขนกับเจ๊ก คนขาว ฝรั่ง แล้วก็มาจับผมเรื่องนี้ แต่เชื่อว่าต่อไปคนจะมาจับผมไม่ได้ เพราะผมพูดเรื่องจริง

 

 

ที่ว่าเราต้องมีศักดินาเล็กน้อย สำหรับคนที่มีสถานะพิเศษ คนไทยควรแสดงออกแค่ไหน

 

แสดงออก เท่าที่คุณอยากแสดงออก สำคัญมากนะครับ ไหว้ครูก็เหมือนกัน ดอกมะเขือ หญ้าแพรกอยากจะทำก็ได้ แต่ถ้าทำแล้วเด็กด่าอยู่ในใจ ผมว่าบ้า ถ้าเด็กอยากไหว้หรือถ่มน้ำลายรดแล้วคุณก็โอเค มาไหว้ได้ นั่นคือการไหว้ที่แท้จริง การไหว้ที่แท้จริงคือการแสดงความจริงใจต่อกันแค่นั้นเอง 

 

มนุษย์โดยเนื้อหาต้องลดความเห็นแก่ตัว ลดความอ้าขาผวาปีก พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่าสิ่งที่ประเสริฐที่สุดคือกัลยาณมิตรและกัลยาณมิตรคือ คนที่พูดในสิ่งที่คุณไม่อยากจะฟัง มันเป็นเสียงแห่งมโนธรรมสำนึก

 

 

กรณีที่เกิดขึ้นกับพันธมิตรฯ โดยเฉพาะงานพระราชทานเพลิงศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค. อาจารย์คิดว่าส่งผลต่อสถาบันอย่างไร

 

แน่นอนครับ คุณยกย่องสถาบันสูงที่สุด วิเศษสุด สถาบันเข้าข้างฝ่ายใดก็เกลือกกลั้ว การมีสถาบันพระมหากษัตริย์คือมีสถาบันซึ่งไม่อยู่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เป็นสถาบันซึ่งสามารถตัดสินในทางจริยธรรม วัฒนธรรม อย่างพระเจ้าแผ่นดินสวีเดน ทุกคนเห็นว่าท่านโง่ แต่ก็เห็นว่ามีท่านดีกว่าไม่มี

 

พระเจ้าแผ่นดินในยุโรปมีฉลาดองค์เดียวคือ พระเจ้าแผ่นดินเดนมาร์ก เป็นผู้หญิง แต่เพราะรู้ว่าท่านฉลาดจึงมีบทบาทเฉพาะทางวัฒนธรรม เพราะถ้ามีบทบาททางการเมืองท่านก็อยู่ไม่ได้

 

สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมีความแนบเนียนที่จะรักษาไว้ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์มีข้อเสียคือมีประเพณีพิธีกรรม ประเพณีพิธีกรรมมีทั้งข้อดีข้อเสีย ยกตัวอย่างกรณีของประเทศอังกฤษ เจ้าหญิงไดอาน่าตาย คนรักใคร่มาก แต่ราชินีไม่สนใจเลยเพราะหย่ากับลูกชายไปแล้ว ขอให้ลดธงครึ่งเสาก็ไม่มีธรรมเนียม ดอกไม้ที่วางหน้าพระราชวังบักกิ้งแฮมก็ไม่สนใจ

 

แต่ตอนนั้นโทนี่ แบลร์ เพิ่งเป็นนายกรัฐมนตรี และเห็นคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์จึงทูลราชินีว่าถ้าไม่เปลี่ยนสถานะ สถาบันมหากษัตริย์จะแย่ ตอนนั้นความนิยมลดลงมาเต็มที่ ราชินีไปอยู่ที่สก็อตแลนด์

 

สถาบันพระมหากษัตริย์ได้เปรียบโดยไม่ต้องทำอะไรมาก มายิ้ม มาจับมือราษฎรบางคน ลดธงลงครึ่งเสาก็ได้กำไรแล้ว อีกนัยยะหนึ่ง ถ้าสถาบันพระมหากษัตริย์จะมีบทบาทต้องรู้จักเปลี่ยนให้เข้ากับกาลสมัย หลายอย่างแก้ไขไม่ได้ แต่ก็ต้องทำสิ่งที่แก้ได้ คดีหมิ่นฯ แม้แก้กฎหมายไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่สามารถยุติคดีได้

 

ไม่ใช่เฉพาะคดีผม แต่คดีอื่นด้วย ถ้าสามารถยอมรับความจริงได้ จะเป็นทางออกของเมืองไทย เราเริ่มฟังความจริงมากขึ้น รับฟังความเห็นที่แตกต่างมากขึ้นอันนี้จะทำให้คนเติบโต สังคมไทยไม่ทำให้คนเติบโต สำหรับผมกรณีของจักรภพ เพ็ญแข กรณีของเด็กสองคนที่ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญน่าจะพูดได้ เพราะว่าไม่ได้ทำอะไรเลวร้าย หรือกรณีประธานสหภาพที่เป็นผู้หญิงก็ตาม ผมว่าเราต้องสนับสนุนคนพวกนี้ ไม่ได้แปลว่าเราจะแก้ปัญหาให้เขาได้ แต่จะเป็นพลังขยับไปเรื่อยๆ อย่าไปหวังแก้ปัญหาทันที ต้องแก้ปัญหาในระยะยาว

 

ที่มา  :  ประชาไท ออนไลน์, 9 พ.ย. 51


ฝ่ายที่ขาดหายไปในการสานเสวนา



โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์


กระบวนการสานเสวนาเป็นกระบวนการที่ใช้ในกรณีของความขัดแย้งสองฝ่าย อันที่จริง ความหมายตามตัวอักษรของคำว่า dialogue คือทวิวัจนา หรือการเจรจาของสองฝ่าย แต่เป้าหมายสำคัญสุดของการสานเสวนาคือ "ฟัง" ทำให้สองฝ่ายที่ขัดแย้งกันได้ "ฟัง" อีกฝ่ายหนึ่ง

เพราะสิ่งที่ขาดหายไปเสมอในกรณีพิพาทก็คือการฟัง

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของไทยปัจจุบัน แม้ว่าฝ่ายที่ขัดแย้งกันอย่างออกหน้าจะมีสองฝ่าย คือนปช.กับรัฐบาลพรรค พปช.ฝ่ายหนึ่ง และ พธม.กับฝ่ายค้านพรรค ปชป.อีกฝ่ายหนึ่ง แต่ที่จริงยังมีฝ่ายที่สามซึ่งเป็นฝ่ายที่ใหญ่มาก คือประชาชนโดยทั่วไปซึ่งไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

ไม่แต่เพียงเป็นฝ่ายที่ใหญ่สุดเท่านั้น กระบวนการสานเสวนาในกรณีใดในโลกก็ตามย่อมพุ่งเป้าไปที่ฝ่ายที่สามนี้เสมอ นั่นคือไม่แต่เพียงสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันได้"ฟัง"กันเท่านั้น ฝ่ายที่สามซึ่งไม่ได้อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็จะได้"ฟัง"ไปด้วย แม้ว่าอาจไม่ได้ฟังโดยตรง แต่ก็ต้องรู้ว่าเนื้อหาหลักคืออะไร (เพราะการเจรจาที่ทำให้"ฟัง"กันได้ดีขึ้นในบางเงื่อนไข อาจควรทำโดยคู่เจรจาเชื่อว่า จะไม่มีใครได้ยินอีกนอกจากฝ่ายที่เข้าร่วมการเจรจา)

เพราะถึงที่สุดของที่สุดแล้ว ฝ่ายที่สามนี้ต่างหากที่เป็นผู้ตัดสินว่า ทางออกของความขัดแย้งคืออะไร

ในส่วนของคู่ความขัดแย้ง ประเด็นที่ขัดแย้งกันนั้นไม่สู้จะชัดนัก ถ้าจะหาส่วนที่เห็นพ้องต้องกันระหว่างสองฝ่ายอาจจะเห็นได้ชัดกว่า

ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ระบบการเมืองที่เป็นอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ไม่เหมาะสม ฝ่าย พธม.+ปชป.เห็นว่ารัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่เวลานี้ไม่เหมาะสม เพราะมาจากการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต ฝ่าย นปช.+พปช.เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ไม่เหมาะสม เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระบบการเมืองเสียใหม่ ฝ่าย พธม.เห็นว่าต้องใช้ "การเมืองใหม่" ซึ่งยังไม่ชัดเจนโดยรายละเอียดว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ส่วน ปชป.ไม่ชัดเจนในเรื่องนี้นัก ได้แต่คอยโหนกระแสและกระพือไฟความขัดแย้งไปเรื่อยๆ       ส่วน นปช.และพปช.(บางส่วน) เห็นว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น

ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ความขัดแย้งที่ปรากฏนี้เป็นเพียงหน้าฉากเท่านั้น ความจริงแล้วมีผลประโยชน์ของคนอื่นชักไยอยู่เบื้องหลัง และหากทำได้ก็อยากจะดึงคนที่อยู่เบื้องหลังออกมาสู่สนามความขัดแย้งอย่างเปิดเผย

เพราะความเห็นพ้องประการหลังนี่แหละที่ทำให้ความไม่ไว้วางใจระหว่างกันมีสูงยิ่ง เพราะต่างเชื่อว่าอีกฝ่ายหนึ่งมีญัตติซ่อนเร้นบางอย่างในข้อเสนอของตนเสมอ ลามไปถึงข้อเสนอของฝ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยก็ถูกมองจากทั้งสองฝ่ายว่า เป็นญัตติแอบแฝงของ "มือที่มองไม่เห็น" แล้วแต่ว่าข้อเสนอนั้นจะถูกใจตัวหรือไม่ จนกระทั่งเกิดปรากฏการณ์ไม่มี "คนกลาง" เหลืออยู่ในสังคมไทย

อันที่จริงความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย เท่าที่เผยให้ปรากฏ เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ นั่นคือแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนระบบการเมืองให้เหมาะสมเท่านั้น ในขณะที่ไม่มีความขัดแย้งเรื่องอื่นปะปนอยู่อีกเลย ทั้งนี้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ,คนตกงานซึ่งจะเพิ่มขึ้น,ความไม่สงบในภาคใต้ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น,รวมไปถึงอนาคตอีกหลายด้านของสังคมไทยซึ่งไม่มีแววว่าจะจัดการได้ ฯลฯ

และเรื่องอื่นๆ นี่แหละที่ฝ่ายที่สาม คือคนส่วนใหญ่ซึ่งไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดสนใจ รวมทั้งเห็นว่ามีความสำคัญเกี่ยวโยงกับชีวิตของเขามากที่สุด แต่ฝ่ายที่สามคือฝ่ายที่ไม่มีปากมีเสียงใดๆ ในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเลย (และทำท่าว่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสานเสวนาอีกด้วย)

กระบวนการสานเสวนาที่จัดกันขึ้นจึงควรให้ความสนใจแก่ฝ่ายที่สามให้มากขึ้น แม้ใน "คำร้องขอต่อมโนสำนึกของพลเมืองไทยทุกคน" ของสภาพัฒนาการเมือง ก็มุ่งหวังว่าจะสร้างพลังของสังคมโดยรวม "... จนกว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งรับที่จะมาร่วมสานเสวนาหาทางออกให้ประเทศไทยอย่างจริงจัง"

นั่นก็คือยอมรับว่าพลังสังคมเป็นพลังสำคัญที่สุด ซึ่งจะทำให้การสานเสวนาเกิดขึ้นได้

แต่การดำเนินงานที่ปรากฏเป็นข่าวมาจนถึงวันนี้ ดูจะเน้นหนักที่การดึงเอาฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งโดยตรง (2+2 คือ 4 ฝ่าย) เข้ามา "สานเสวนา" กัน แทบไม่เห็นการทำงานกับสังคมโดยรวม มากไปกว่าการสัมมนาเปิดตัว และรณรงค์ติดสติ๊กเกอร์ ส่วนการดำเนินการดึงเอาสี่ฝ่ายมา "สานเสวนา" จะประสบความสำเร็จเพียงใดก็ยังไม่แน่นัก เพราะฝ่าย พธม.ตั้งเงื่อนไขแต่แรกว่า การสานเสวนาที่จะยอมรับได้มีเพียงระหว่างฝ่ายตนกับรัฐบาลเท่านั้น

ด้วยท่าทีเช่นนี้ หากเกิดการสานเสวนาขึ้นได้จริง ก็เกรงว่าจะมีแต่การตั้งเงื่อนไขให้แก่กันและกัน มากกว่าการฟังกัน เท่ากับไม่บรรลุเป้าหมายของการสานเสวนา จนกลายเป็นการเจรจาธรรมดาๆ ไม่ใช่การสานเสวนาจริง

ในขณะที่พลังทางสังคมซึ่งหวังว่าจะบีบบังคับให้ทุกฝ่ายเข้าร่วมการสานเสวนาไม่เกิดขึ้น

สิ่งสำคัญในการเริ่มต้นกระบวนการสานเสวนา จึงไม่ใช่การทำให้ฝ่ายที่อยู่ในความขัดแย้งโดยตรงยอมฟังกันและกัน หากอยู่ที่สร้างเงื่อนไขทางสังคมที่เป็นผลบังคับให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องยอมฟังกันและกันก่อน (เงื่อนไขเช่นนี้ในกรณีความขัดแย้งในประเทศอื่นๆ อาจเป็นมติของชาวโลก,ของมหาอำนาจ,ของสังคมที่เห็นแล้วว่า ความขัดแย้งนั้นไม่นำไปสู่อะไรนอกจากความเสียหายแก่ส่วนรวม,หรือของคู่ความขัดแย้งที่พบว่า ไม่มีทางชนะกันอย่างเด็ดขาดได้ ฯลฯ)

องค์กรที่ร่วมจัดการสานเสวนาในครั้งนี้ จึงควรให้ความสนใจด้านนี้ให้มากขึ้นกว่าการรณรงค์ เพราะผู้คนในสังคมไทยมีปัญหาของตัวเองที่ไม่เกี่ยวอะไรกับความขัดแย้งทางการเมืองอีกมากมาย แต่ปัญหาเหล่านี้กลับถูกละเลยหรือลดความสำคัญในสื่อ ทั้งๆ ที่ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นความเป็นความตายของคนส่วนใหญ่ทั้งสิ้น

การรณรงค์ทางสังคม (หากจะเรียกว่าการรณรงค์) จึงควรออกมาในเชิงรูปธรรมที่มีผลต่อนโยบายสาธารณะด้วย องค์กรร่วมจัดอาจจัดการประชุมโต๊ะกลม,การสัมมนา,การเสวนา ฯลฯ ที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาเหล่านี้ด้วย เพื่อนำข้อเสนอที่หลากหลายต่างๆ เข้าสู่สังคม ให้มากกว่า"การเมืองใหม่" หรือ "การต่อต้านรัฐประหาร"

ขอยกเป็นตัวอย่างให้ดูบางเรื่อง

ในยามที่เราหลีกหนีผลกระทบทางเศรษฐกิจของวิกฤตการเงินโลกไม่พ้น รัฐน่าจะต้องเข้ามามีบทบาทในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนกลุ่มต่างๆ มากขึ้น มีเรื่องที่สังคมไทยต้องคุยกันมากทีเดียว เช่นเราควรปรับเปลี่ยนระบบภาษีอย่างไร เพื่อบรรเทาปัญหาและเพิ่มพลังของรัฐในการเข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนกลุ่มต่างๆ 

คงภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7% ก็มีข้อดีหลายอย่าง แต่มองเรื่องนี้จากสายตาพ่อค้าฝ่ายเดียวซึ่งย่อมต้องการรักษากำลังซื้อของตลาดไว้ อาจทำให้รัฐไม่มีเงินเพียงพอที่จะทำหน้าที่ในยามวิกฤตเศรษฐกิจก็ได้ นักวิชาการสามารถคำนวณผลกระทบของการคงภาษีไว้ที่ 7% หรือเพิ่มถึง 10% ให้เห็นเป็นตัวเลขได้ อันเป็นแนวทางสำหรับการสานเสวนากันระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ นับตั้งแต่ผู้บริโภค,นักวิชาการ,นักการเงิน, อุตสาหกร,พ่อค้า ฯลฯ

แม้ไม่อาจสรุปผลอะไรออกมาได้ แต่สังคมโดยรวมจะถูกดึงให้มาสนใจปัญหาอื่นๆ นอกจากความขัดแย้งทางการเมือง

มีปัญหาทำนองนี้อีกมากมายที่สังคมควรได้รับรู้ และร่วมคิด เช่นจะจัดการศึกษากันอย่างไร จึงจะสามารถเพิ่มสมรรถภาพของคนไทยในโลกาภิวัตน์ได้ทันกาล ไม่เฉพาะแต่ในทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่รวมถึงด้านสังคมและวัฒนธรรมซึ่งเปลี่ยนไปอย่างมาก

จะเตรียมการในโลกที่พลังงานฟอสซิลหายากขึ้นได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน,กระแสไฟฟ้า, เชื้อเพลิงเพื่อการผลิต,และเชื้อเพลิงเพื่อการขนส่งคมนาคม

แม้แต่ปัญหาการเมืองก็อาจนำมาคุยกันได้ โดยมีคนหลากหลายกลุ่มเข้าร่วม และนำไปสู่การมองปัญหาการเมืองจากมิติที่หลากหลายกว่าถูก-ผิด

สร้างเวทีของการ"ฟัง"กันและกันขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายฉลาดขึ้นหรือรู้จักคิดอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นั่นก็คือมองเรื่องเดียวกันจากมุมมองหลายมุมได้

พลังสังคมจะเกิดขึ้นจากการกระทำที่เป็นรูปธรรมเช่นนี้ ในขณะที่พลังของกลุ่มขัดแย้งก็จะลดลงไปพร้อมกัน จน-กระทั่งกลุ่มเหล่านี้พร้อมจะเข้าร่วมสานเสวนาตามความประสงค์ได้จริง

หน้า 6

 

ที่มา :  มติชนรายวัน,วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551