Monday, September 29, 2008

เจรจานอกโต๊ะ

 

 วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11160 มติชนรายวัน

เจรจานอกโต๊ะ

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ทุกครั้งที่มีการ "เจรจา" ระหว่างกลุ่มที่อ้างว่าเป็นองค์กรเคลื่อนไหวด้วยกำลังอาวุธในภาคใต้ กับกลุ่มที่อ้างว่าสามารถเข้าถึงการวางนโยบายของฝ่ายไทย รัฐและสื่อจะทำสองอย่างเหมือนกัน คือ 1/ ไม่เชื่อว่า กลุ่มที่อ้างว่าเป็นองค์กรนั้น เป็นตัวแทนของความเคลื่อนไหวในภาคใต้จริง และ 2/ คนไทยที่ไปร่วมเจรจานั้น กระทำในฐานะเอกชน รัฐไม่เกี่ยว แล้วก็ไม่ได้แถลงอะไรหลังจากนั้นอีก

จะเจตนาหรือไม่ก็ตาม รัฐส่งสัญญาณแก่กลุ่มที่ทำการเคลื่อนไหวตัวจริงว่า รัฐยังไม่พร้อมจะปรับแก้นโยบายที่เกี่ยวกับภาคใต้ตอนล่าง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายปกครองหรือนโยบายปราบปราม


การ "เจรจา" ถูกให้ความหมายที่แคบไป กล่าวคือหมายเฉพาะมีฝ่ายที่เกี่ยวข้องขึ้นนั่งโต๊ะ พบหน้ากันโดยตรง แล้วต่างฝ่ายต่างก็ตั้งเงื่อนไขต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การหยุดยิงหรือสงบศึกได้ ฉะนั้นฝ่ายที่จะขึ้นไปนั่งโต๊ะได้ จึงต้องเป็นตัวแทนของอำนาจที่แท้จริง ตกลงอะไรกันไว้ ก็สามารถปฏิบัติได้จริงในภาคสนาม

ในสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดปัจจุบัน การ "เจรจา" ในความหมายนี้ อาจไม่มีวันเกิดขึ้นได้เลย ด้วยเหตุผลอย่างน้อยสองประการ

1/ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปฏิบัติการด้วยกำลังอาวุธของฝ่ายเคลื่อนไหวในภาคใต้น่าจะมีองค์กรจัดตั้ง เพราะสามารถหาอาวุธจากแหล่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่ปล้นปืนจากฝ่ายไทย ซ้ำเป็นอาวุธที่ร้ายแรงด้วย แสดงว่าต้องมีแหล่งเงินทุนซึ่งไม่ทราบชัดว่าได้จากที่ใด (เรี่ยไร, เก็บภาษี, แหล่งทุนภายในหรือนอกประเทศ, ค้ายาเสพติด, เก็บค่าคุ้มครอง, ฯลฯ หรือทุกอย่างรวมกัน) นอกจากนี้ยังมีเส้นสายพอที่จะส่งคนอย่างน้อยจำนวนหนึ่งออกไปฝึกการรบนอกประเทศ และสามารถประสานการปฏิบัติการในพื้นที่ระดับเมืองใหญ่ของจังหวัดได้

แต่องค์กรจัดตั้งอาจไม่ได้มีองค์กรเดียว และแม้องค์กรปฏิบัติการจะถูกแบ่งย่อยออกไปมากเท่าใดก็ตาม อาจเป็นได้ว่าไม่มีแม้แต่องค์กรรวมศูนย์ที่สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ที่เป็นเอกภาพได้

มีเหตุผลที่จะสงสัยเช่นนี้ได้หลายทาง ความจำเป็นที่จะต้องปิดลับ ทำให้ต้องแยกหน่วยบังคับบัญชาให้เล็กมากๆ และเชื่อมโยงกันน้อยที่สุด ทำให้แต่ละหน่วยมีความเป็นอิสระต่อกันสูง จึงง่ายที่จะเกิดความแตกแยก เพราะแต่ละหน่วยต่างเป็นอำนาจสำเร็จในตัวเอง ประสบการณ์ของความเคลื่อนไหวชาวมุสลิมในตะวันออกกลาง ชี้ให้เห็นว่า หน่วยเคลื่อนไหว (ซึ่งมีชื่อกลุ่มที่หลากหลาย) ล้วนเป็นอิสระต่อกัน และปฏิบัติการตามแนวทางของตนเอง ดูเหมือนจะเกื้อกูลกันเอง แต่ก็ขัดแย้งกันในตัวด้วย เพราะปฏิบัติการหลายอย่างไม่เป็นผลดีแก่เป้าหมายระยะยาวของอีกกลุ่มหนึ่งเป็นต้น ซ้ำยังเกิดแตกแยกถึงจับอาวุธเข้าประหัตประหารกันเอง (เช่นในปาเลสไตน์) ก็มี แม้ในประเทศไทยเอง การเคลื่อนไหวของชาวมลายูมุสลิมในอดีต ก็เคยขัดแย้งถึงกับใช้อาวุธเข้าต่อสู้กันมาแล้ว

ที่จริงแล้ว กองทัพแห่งชาติที่งอกออกมาจากสงครามกองโจรในการปฏิวัติกู้ชาติของหลายประเทศ (นับตั้งแต่ไอร์แลนด์ถึงอุษาคเนย์) ก็มักมีขุนศึกครองอำนาจอยู่ในพื้นที่เฉพาะของตน แม้ยอมรวมตัวอยู่ในกองทัพแห่งชาติเดียวกันก็ตาม

ในกรณีของกองทัพแดงซึ่งสามารถรักษาเอกภาพไว้ได้สืบมา พรรคคอมมิวนิสต์จะเน้นความสำคัญของการประสานงานระหว่างหน่วยย่อยในท้องถิ่นอย่างมาก การประชุมสมัชชากระทำกันมาก่อนที่พรรคจะได้อำนาจรัฐ ยังไม่พูดถึงสมาชิกโปลิตบูโรซึ่งต้องเดินทางออกตรวจเยี่ยมหน่วยต่างๆ อยู่เสมอ และการอบรมเชิงอุดมการณ์ซึ่งทุกหน่วยต้องทำด้วยตำราที่พรรคเห็นชอบ

แน่นอนว่าการกระทำเช่นนี้ย่อมเป็นเหตุให้ฝ่ายรัฐสืบจับ และ/หรือทำลายสายโยงใยของพรรคได้ แต่ก็เป็นความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในกรณีของการเคลื่อนไหวในภาคใต้ 6-7 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐไม่อาจตรวจจับสายโยงใยเหล่านี้ได้เลย... จะประชุมปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์กันโดยฝ่ายรัฐไม่ระแคะระคายเลยเป็นไปไม่ได้ เว้นแต่ว่าองค์กรจัดตั้งประกอบด้วยคนจำนวนน้อยมากๆ แต่หากเป็นเช่นนั้น จะบังคับบัญชาและดำเนินยุทธวิธีอย่างไรให้เป็นเอกภาพ

ฉะนั้นจึงหาตัวแทนของอำนาจที่เป็นเอกภาพไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ที่จะกล่าวว่ากลุ่มที่ขอเจรจาหรือยอมเจรจาเป็นหรือไม่เป็นตัวแทนที่แท้จริง เพราะถึงเป็น ก็มิได้หมายความว่าจะสามารถแทนผู้ปฏิบัติการได้ทุกกลุ่ม

แท้ที่จริงแล้ว ความไม่พอใจรัฐไทยของกลุ่มต่างๆ ได้สั่งสมมานานแล้ว ไม่ว่ากลุ่มเหล่านั้นจะร่วมกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบันหรือไม่ (และร่วมอย่างสกรรมหรืออกรรม active-passive) ถ้าคนเหล่านั้น ได้บอกให้รู้ว่าเขาไม่พอใจเรื่องอะไรบ้าง ก็นับว่าเป็นประโยชน์แก่รัฐอย่างแน่นอน

2/ สถานการณ์จนถึงทุกวันนี้ ไม่สุกงอมให้แก่การเจรจาแบบนั่งโต๊ะ เพราะตามปกติแล้ว การ "เจรจา" จะเกิดขึ้น (ไม่ว่าจะมีคนกลางเป็นผู้เชื่อมประสานหรือไม่) ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายคิดว่าตัวอยู่ในสถานการณ์ที่อาจต่อรองกันได้บนโต๊ะ ทั้งนี้ ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า ไม่มีใครอยากเสียเลือดเนื้อโดยไม่จำเป็น แต่สถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ไม่อยู่ในสภาพดังกล่าว รัฐไทยไม่มีท่าทียอมรับการแยกดินแดนออกจากประเทศไทยได้ อันเป็นเงื่อนไขที่อาจไม่ใช่เป้าประสงค์แท้จริงของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ตั้งให้สูงไว้สำหรับการต่อรอง ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนี้ ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจำเป็นต้องร่นถอยจนปฏิบัติการไม่ได้

เราต่างคิดเหมือนกันว่า ในระยะยาวแล้ว จะจัดการให้ถือไพ่ใบเหนือกว่าได้ ฉะนั้นอย่าพึงหวังว่าจะมีการ "เจรจา" บนโต๊ะที่ใดในโลกนี้ ซึ่งสามารถยุติความรุนแรงลงได้ฉับพลัน

แต่การ "เจรจา" เป็นสิ่งจำเป็น และมีประโยชน์ หากเราไม่จำกัดความการ "เจรจา" ให้แคบเหลือเพียง การได้พบปะพูดคุยกันบนโต๊ะเท่านั้น

เป็นปรกติธรรมดาเช่นกันที่ ในความขัดแย้งใดๆ ทั้งสองฝ่ายต้องพยายามส่งสัญญาณแก่กัน ไม่โดยตรงก็โดยอ้อมหรือโดยท่าที แท้จริงแล้ว หากวิเคราะห์ปฏิบัติการของฝ่ายเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็จะพบสัญญาณต่างๆ มากมาย ทั้งในใบปลิว, เป้าของการก่อความรุนแรง, และการโฆษณาเกลี้ยกล่อมหาสมาชิกใหม่ ฯลฯ รัฐไทยก็อาจทำอย่างเดียวกัน โดยทำให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้ว่า รัฐไทยมีนโยบายจะแก้ไขปรับปรุงอะไรบ้าง   เพื่อทำให้ประชาชนในพื้นที่ยอมรับว่ารัฐมีความยุติธรรมต่อประชาชนทุกหมู่เหล่า เฉพาะในกรณีของสามจังหวัด รัฐอาจทำอะไรมากไปกว่านั้นอีกก็ได้ หากจำเป็น เช่นวางหลักสูตรการศึกษาที่มีลักษณะเฉพาะเพื่อเอื้อต่อวัฒนธรรมและระบบเศรษฐกิจที่แตกต่าง เป็นต้น

รัฐสามารถ "เจรจา" ผ่านช่องทางได้หลายทาง นับตั้งแต่การวางนโยบายให้ชัดและนำไปสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่ รวมถึงการนั่งโต๊ะเจรจากับกลุ่มต่างๆ ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของความเคลื่อนไหวทางการเมือง

เช่นกรณีการเจรจาที่โบกอร์ บนเกาะชวาเมื่อเร็วๆ นี้ มีข้อเรียกร้องที่ชัดเจน เช่นการใช้ภาษามลายูในพื้นที่ เป็นต้น รัฐไทยควรส่งสัญญาณตอบ อย่างน้อยก็รับไว้พิจารณา หากยอมรับก็ต้องเตรียมการอย่างเป็นรูปธรรมว่าจะเป็นไปได้ในลักษณะใดบ้าง

นี่คือการ "เจรจา" อย่างหนึ่ง คู่เจรจาอาจไม่ใช่คนที่นั่งรอบโต๊ะที่โบกอร์เท่ากับประชาชนจำนวนหนึ่งในภาคใต้ ซึ่งมีความคิดทำนองเดียวกัน สัญญาณสำคัญที่ให้แก่ทุกฝ่ายก็คือ รัฐไทยนั้นพร้อมจะปรับแก้สิ่งต่างๆ เพื่อบรรเทาความไม่พอใจที่ประชาชนมีต่อรัฐ การส่งสัญญาณให้รัฐรู้เป็นช่องทางที่จะแก้ปัญหาซึ่งผู้คนต้องเผชิญอยู่ในชีวิตของเขา ได้ดีกว่าและมีประสิทธิภาพกว่าการจับอาวุธขึ้นเรียกร้อง

ความรุนแรงที่เกิดในภาคใต้เป็นปัญหาของไทย เราจึงควรดำเนินการแก้ไขสิ่งที่ประชาชนเห็นว่าเป็นปัญหาอย่างฉับไว และถูกจุด การส่งสัญญาณของกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนความเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่หรือไม่ จึงมีความสำคัญ เพราะช่วยบอกให้เรารู้ว่าเราควรปรับแก้อะไร ในขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณกลับไปให้ได้รู้ว่า จุดสูงสุดที่เราจะโอนอ่อนผ่อนปรนนั้นแค่ไหนกันแน่

กลุ่มคนที่เข้าร่วมในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ควรได้รับสัญญาณจากการ "เจรจา" ทางอ้อมเช่นนี้ เขามีหน้าที่ตัดสินใจเองว่า ควรใช้วิธีต่อรองกับรัฐไทยอย่างไร จึงจะได้ผลที่เขาต้องการ ไม่มากก็น้อย

เราสามารถ "เจรจา" กับกลุ่มที่ร่วมในความเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องขึ้นโต๊ะเลย แต่เขาสามารถรู้ได้ว่า เราพูดอะไร ขอเพียงให้เราฟังเขาก่อนเท่านั้น แทนที่จะรีบบอกปัดและปฏิเสธแต่ต้น

หน้า 6

(http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act01290951&sectionid=0130&day=2008-09-29) 

 

 

 

No comments: